PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ผ่า 4 ปี คสช.รอเวลา “ประชาชน” ตอบคำถาม : ดีพอไหม? “ประยุทธ์” ไปต่อ

ผ่า 4 ปี คสช.รอเวลา “ประชาชน” ตอบคำถาม : ดีพอไหม? “ประยุทธ์” ไปต่อ



บรรยากาศคึกคัก ห้วงเวลาโรงเรียนทั่วประเทศเปิดเทอมใหม่
ในห้วงจังหวะสถานการณ์ทางการเมืองก็เวียนมาบรรจบใกล้ครบเทอม 4 ปี กับการที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำกองทัพ “รัฐประหารเงียบ” เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
ยึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินจากรัฐบาลนักการเมือง
ดำรงสถานะ “รัฏฐาธิปัตย์” เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ควบตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจพิเศษควบคุมเกมอำนาจประเทศไทยมาอย่างยาวนานกว่ารัฐบาลทหารโดยทั่วไป
เทียบกับรัฐบาลเลือกตั้งถือว่าอยู่ครบเทอม 4 ปีเลยทีเดียว
ท่ามกลางเสียงเจี๊ยวจ๊าววุ่นวาย ห้วงท้ายเทอมได้เวลาตรวจการบ้าน คสช.
โดยเฉพาะฝ่ายของนักการเมืองอาชีพที่ตั้งป้อมรุมถล่มตั้งแต่หัววัน ตามอารมณ์แบบที่ “เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เจ้าแม่เมืองกรุง “เต็งหนึ่ง” ผู้ถือธง “นอมินี” หัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนต่อไป กับ “เดอะมาร์ค” นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นเวทีเสวนาของคณะกรรมการพฤษภา 35
ประสานโจมตีรัฐบาลทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ พูดเหมือนนัดกันมา
อัด 4 ปี คสช.พาประเทศถอยหลัง แย่กว่า “พฤษภาทมิฬ”
“เจ๊หน่อย–เดอะมาร์ค” สคริปต์เดียวกัน คสช.สืบทอดอำนาจ ปฏิรูปไม่ได้คืบไปไหน
แทบจะเขียนข่าว เดาสคริปต์ล่วงหน้าได้ ตามฟอร์มนักการเมืองทั้งเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ต้องโจมตีรัฐบาลคสช. ล่อเป้า พล.อ.ประยุทธ์ ตามไฟต์บังคับ
เพราะถ้าชื่นชมสมยอม ก็เท่ากับการันตีความชอบธรรมให้ทหาร
ยอมรับสภาพนักการเมืองคือ “ตัวปัญหา”
ตามรูปการณ์แบบที่เห็นๆกันอยู่ทนโท่ ตอนมีสภาผู้แทนราษฎรแล้วไม่รักษาไว้เอง ทั้งเพื่อไทย ทั้งประชาธิปัตย์พฤติกรรมฉาวโฉ่ แก่งแย่งอำนาจผลประโยชน์
ยื้อยุดฉุดกระชาก ลากเกมในสภาไปเล่นกันบนถนน ปลุกม็อบมาประจันหน้า ทำให้บ้านเมืองติดล็อก ถ้าทหารไม่ออกมา คนไทยมีหวังฆ่ากันตาย ประเทศไทยต้องกลายเป็นรัฐล่มสลาย
พูดง่ายๆเพิ่งทำฉิบหายกันมา 4 ปี คนยังไม่ลืม ลำพังเสียงของนักการเมือง ยี่ห้อเพื่อไทย ค่ายประชาธิปัตย์พูดไปก็ไร้น้ำหนัก ด่า คสช.ก็ยิ่งย้อนมาเข้าเนื้อ คนไม่เชื่อน้ำยา
รังแต่จะโดนสมน้ำหน้าเสียมากกว่า
จะดูมีพลังขึ้นมาหน่อยก็บรรดานักวิชาการ นักศึกษาในขบวนการกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่เคลื่อนไหวกดดันรัฐบาล คสช.มาอย่างต่อเนื่อง และนัดชุมนุมใหญ่กันในวันที่ 22 พฤษภาคม จ่อลากยาวแบบข้ามวันข้ามคืน
เป็นจุดที่ฝ่ายความมั่นคง คสช.ต้องเฝ้าระวัง
แต่พลังแท้จริงยังปลุกไม่ขึ้นสักเท่าไหร่ เพราะตามเงื่อนไขสถานการณ์เคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ทั้งในมุมของข้อเรียกร้อง ทั้งแนวร่วมที่คุ้นหน้าคุ้นตาเป็นขาประจำกลุ่มฝักใฝ่เสื้อแดง นปช.
มันก็ตรงกับธงของ “นายใหญ่” ที่กำกับเกมอยู่ต่างประเทศ
เรื่องของเรื่องทั้งนักการเมือง ทั้งมวลชนคนอยากเลือกตั้ง ยังสลัดไม่พ้นวาระแฝง
จุดสำคัญมันอยู่ที่มุมของประชาชนเสียงส่วนใหญ่มากกว่า ในฐานะเจ้าของฉันทามติที่มอบให้ พล.อ.ประยุทธ์ใช้อำนาจพิเศษในการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการปฏิรูป
นี่ต่างหากคือคนที่จะตรวจการบ้านครบเทอม 4 ปี คสช.
เบื้องต้นเลย ยึดเอาตามโจทย์สถานการณ์ ณ นาที พล.อ.ประยุทธ์แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจในวันทำรัฐประหาร ในช่วงบ่ายของวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
“ตามสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ กทม. เขตปริมณฑล และพื้นที่ต่างๆของประเทศในหลายพื้นที่เป็นผลให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บและเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินอย่างต่อเนื่อง และเหตุการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มขยายตัวจนอาจจะเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวม
เพื่อให้สถานการณ์ดังกล่าวกลับเขาสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ประชาชนในชาติเกิดความรักความสามัคคีเช่นเดียวกับห้วงที่ผ่านมา ตลอดจนเพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและอื่นๆ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทุกพวกทุกฝ่าย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย กองทัพบก กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงมีความจำเป็นต้องเข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 เวลา 16.30 น.เป็นต้นไป”
ท่ามกลางบรรยากาศบ้านเมืองกำลังลุกเป็นไฟ
แต่พลันที่ พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจยึดอำนาจเงียบ ล็อกแกนนำฝ่ายต่างๆทั้งฝั่งรัฐบาลรักษาการของพรรคเพื่อไทย ฝ่ายค้านพรรคประชาธิปัตย์ แกนนำม็อบ กปปส. หัวขบวนเสื้อแดง นปช.
ทำให้บรรยากาศลดโทนวิกฤติลงทันที ม็อบสลายตัวกลับบ้าน
ไร้ความรุนแรง ไม่มีเหตุปะทะ ไม่มีการสูญเสียเลือดเนื้อ
นี่คือเครดิตความเชื่อมั่นในตัวของ พล.อ.ประยุทธ์และทีม คสช.ทำให้บ้านเมืองกลับสู่ความสงบ
ขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมรับว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาล คสช.สามารถคุมสถานการณ์ความมั่นคงในประเทศได้ดีระดับหนึ่ง ทั้งในมุมของม็อบป่วนเมือง การสร้างสถานการณ์ท้าทายอำนาจรัฐของกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้าน คสช. รวมถึงเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ลดลงไป
มันคือฟอร์มที่ได้เปรียบของรัฐบาลทหารกับงานด้านความมั่นคง
ซึ่งนั่นก็ตรงกันข้ามกับแรงเสียดทานจากนานาชาติ ตามเงื่อนไขสถานการณ์โลกเสรีประชาธิปไตยจะไม่คบค้าสมาคมกับรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ ประเทศไทยภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกยกเลิกความร่วมมือทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง รวมถึงการฝึกร่วมทางทหาร โดยเฉพาะจากพี่เบิ้มสหรัฐอเมริกา
แต่นั่นก็แค่สถานการณ์สั้นๆในห้วงปีแรกเท่านั้น
เพราะหลังจากนั้น รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ได้พยายามชี้แจงแสดงให้เห็นความจำเป็นในการเข้าควบคุมสถานการณ์ขัดแย้ง แก้ปัญหาประชาธิปไตยในแบบฉบับของประเทศไทย พร้อมทั้งใช้อำนาจพิเศษเชิงบวกในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ การประมง การยกระดับคุณภาพการบินพาณิชย์ ทลายปมปัญหาสะสม
จนปลดล็อกธงแดงองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) รวมถึงการกลับมาอยู่ในบัญชีเทียร์ 2 ประเทศที่เฝ้าจับตาปัญหาการค้ามนุษย์ ทำให้สินค้าประมงยังส่งออกยุโรป-สหรัฐฯได้
และถึงจุดหนึ่งที่เป็นไฮไลต์ ถึงขั้นที่ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” แห่งสหรัฐอเมริกา ต่อสายตรงเชิญให้พล.อ.ประยุทธ์เดินทางไปเยือนกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
เป็นผู้นำทหารจากการยึดอำนาจที่ได้รับเกียรตินั่งในห้องรูปไข่ ทำเนียบขาว
เท่านี้ พล.อ.ประยุทธ์ก็สลัดทิ้ง “ปมด้อย” ผู้นำรัฐประหารได้หรูเกินคาด
หันไปทางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ติดลบจากวิกฤติ ม็อบอาละวาดยึดเมือง นักลงทุนหนีกระเจิง แต่หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ดึงมืออาชีพอย่างนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มานั่งรองนายกฯ
เศรษฐกิจก็กลับมาติดเครื่อง รัฐบาลเดินหน้าเมกะโปรเจกต์เรือธง ทั้งโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า มอเตอร์เวย์ ดันภาพรวมตัวเลขจีดีพีโตขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 4 และแนวโน้มโตได้ต่อเนื่อง การส่งออกเป็นบวก ความสามารถในการแข่งขัน ความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับคืนมา
แม้จะมีเสียงท้วงเรื่องเศรษฐกิจฐานราก ปัญหาปากท้อง แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่โดนกันทุกรัฐบาล เพราะมันเป็นปัญหาสะสมในเชิงระบบทุนนิยม ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่ต้องใช้เวลา
ขณะที่การสร้างความปรองดอง แม้จะยังไม่มีอะไรออกมาเป็นรูปเป็นร่าง แต่อย่างน้อยนายกรัฐมนตรีก็เดินทางไปได้ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ไม่มีม็อบมาต่อต้าน
เทียบกับสถานการณ์ก่อนที่ คสช.จะเข้ามา ผู้นำต้องหลบๆซ่อนๆหนีม็อบไล่ล่า
พล.อ.ประยุทธ์นำประเทศกลับสู่ภาวะปกติสุขแล้วเป็นส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตาม จุดที่เป็นปมค้างคาใจหนีไม่พ้นปัญหาทุจริต ตามสภาพรัฐบาลทหารที่ตรวจสอบไม่ได้
แต่บังเอิญยุคนี้เป็นโลกของสังคมโซเชียลมีเดียทรงอิทธิพล ทำอะไรหลบๆซ่อนๆในมุมมืดไม่ได้
ท่ามกลางปรากฏการณ์ไล่จับโกงงบประมาณช่วยเหลือคนยากไร้ในกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ การโกงเงินทอนพระ การทุจริตเงินกองทุนการศึกษาของเด็กด้อยโอกาสในกระทรวงศึกษาธิการ ฯลฯ
ที่เรื่องแดงขึ้นมาประจานพร้อมๆกันในยุคของรัฐบาลทหาร คสช.
แต่อีกมุมก็เพราะรัฐบาล “ลุงตู่” ที่เดินหน้าลุย
ล้างบางเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการเลว ขบวนการทุจริตที่ผูกปีโกงกันมาจนกลายเป็นวัฒนธรรม ผ่านมาไม่รู้กี่รัฐบาลต่อรัฐบาล
โดยรูปการณ์มันชัดว่า ทีม “นายกฯลุงตู่” เอาจริงเอาจังกว่ายุคอื่น
ซึ่งนั่นก็สวนทางกับปรากฏการณ์ “หยิกเล็บเจ็บเนื้อ” ในหมู่เพื่อนพ้องน้องพี่ ที่ถูกฝ่ายไล่ล่าทุจริตตามแกะรอยประจาน ไม่ว่าจะรายการ “แหวนพ่อ นาฬิกาเพื่อน” ของพี่ใหญ่ สถานการณ์ “เสือซุ่ม สิงห์เงียบ” ของพี่รอง หรือปมไม่ชอบมาพากลของเพื่อนรัก
และโดยธรรมชาติทหารอาชีพ “บิ๊กตู่” ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง บวกกับความเกรงใจพี่ๆน้องๆ
ทำให้ต้องเหนื่อยกับภาระการกระเตงตัวถ่วงมาตลอด
ดูแล้วก็ไม่ยังไม่ถึงขั้นพระพุทธรูป “บิ๊กตู่” มีทั้งด้านสวยงามและรอยตำหนิ
เอาเป็นว่า ตรวจการบ้านครบ 4 ปี คสช. มีทั้งด้านลบ ด้านบวก เพียงพอที่ประชาชนจะให้คำตอบกับการขอโอกาสคุมอำนาจช่วงเปลี่ยนผ่านอีก 5 ปี ไม่ให้นักการเมืองพาประเทศย้อนกลับไปลงเหววิกฤติ
“ประยุทธ์” ดีพอหรือไม่ ที่จะตีตั๋วไปต่อ.
“ทีมการเมือง”

ไม่มีความคิดเห็น: