PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2561

น.3คอลัมน์ : ท่าที ความพร้อม การเมือง ‘การเลือกตั้ง’ ปัจจัย คือ ‘คสช.’

น.3คอลัมน์ : ท่าที ความพร้อม การเมือง ‘การเลือกตั้ง’ ปัจจัย คือ ‘คสช.’


การนัดพบระหว่าง คสช.ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยืนอยู่ในฐานะประธานกับอีก 30 พรรคการเมืองเพื่อคุยเรื่อง “การเลือกตั้ง”
ถือเป็นเหมือน “พิธีกรรม”
ทั้งยังเป็นพิธีกรรมอันแทบไม่มีความจำเป็นอะไรเลย จึงมีพรรคการเมืองอย่างน้อย 2 พรรค คือ พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ ที่ปฏิเสธ
ไม่ปฏิเสธอย่างธรรมดา หากแต่ปฏิเสธในแบบ “วิพากษ์”
ขณะเดียวกัน กล่าวสำหรับพรรคการเมืองในจำนวน 30 พรรคที่ตอบรับคำเชิญ หากจับตาดูอย่างเกาะติดจะเห็นว่าเป็นการส่งคนไปในลักษณะ “ตัวแทน”
พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ไป
แม้กระทั่งพรรคภูมิใจไทยซึ่งถือว่ามีสายสัมพันธ์แนบแน่นอย่างยิ่งกับ คสช. นายอนุทิน ชาญวีรกูล ก็บังเอิญติดธุระในต่างประเทศ
“พิธีกรรม” นี้จึงเป็นไปอย่างแกน-แกน
ถามว่าทำไมการหารือระหว่าง คสช.กับพรรคการเมืองครั้งนี้จึงไม่ได้รับความสนใจทั้งๆ ที่เป็นข้อกำหนดอันตราไว้ในคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 53/2560
คำตอบ 1 เพราะเป็นการใช้ “อำนาจ” นอกเหนือ “หน้าที่”
เด่นชัดยิ่งว่า ภาระหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติต้องเป็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ไม่ใช่เรื่องของ “คสช.”
คำตอบ 1 เพราะสภาวะลักลั่นในการดำเนินการ แรกทีเดียวมอบหมายให้ นายวิษณุ เครืองาม แต่ทำไปทำมากลายเป็นเรื่องของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลอยตัว
พลันที่ตกอยู่บนบ่าของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พรรคการเมืองจำนวนไม่น้อยก็นึกถึงบรรยากาศของการประชุมในเรื่องปรองดองเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560
เพราะในที่สุดก็ได้มาเพียง “น้องเกี่ยวก้อย”
มีความแจ่มชัดในลักษณะสะสมมาตั้งแต่เรื่องโรดแมป “เลือกตั้ง” กระทั่งปรากฏคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 53/2560 มาแล้วว่า
ความไม่พร้อมในเรื่อง “เลือกตั้ง” มิใช่มาจาก “พรรคการเมือง”
ตรงกันข้าม ปัจจัยสำคัญก็คือ ความไม่พร้อมของ “คสช.” เห็นได้จากการเลื่อนโรดแมปจากที่เคยไปให้สัญญากับ นายชินโสะ อาเบะ เมื่อปี 2558 การไปประกาศในที่ประชุมสหประชาชาติเมื่อปี 2559 การไปประกาศต่อ นายโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อปี 2560
แต่ก็เลื่อนแล้วเลื่อนอีก
ยิ่งเมื่อคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 53/2560 ออกมายิ่งแสดงแจ้งชัดอย่างเป็นรูปธรรมว่า ใครกันแน่ที่ต้องการเตะถ่วง หน่วง ยื้อ การเลือกตั้ง เพื่อต้องการความได้เปรียบเหนือกว่า นับแต่เรื่องของ “สมาชิกพรรค” กระทั่งเรื่อง “การหาเสียง”
เป็น “คสช.” และพรรค คสช. ไม่ใช่ฝ่ายอื่น
ท่าทีและการเคลื่อนไหวของ คสช.จึงมิได้สร้างความมั่นใจ เพราะในที่สุดแม้กระทั่งการเลือกตั้งที่ว่าจะมีภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ก็ยังไม่แน่นอน
การหารือที่จัดโดย คสช.จึงเป็นเพียง “พิธีกรรม”
ท่าทีของพรรคการเมืองจึงเป็นท่าทีอันแสดงอย่างแจ้งชัดว่า หาก คสช.มีความพร้อมเมื่อใดก็ประกาศออกมาได้เลย ทุกพรรคการเมืองล้วนพร้อม
พร้อมต่อสู้แม้จะมาจาก “กติกา” ที่ คสช.เป็นผู้กำหนด

ไม่มีความคิดเห็น: