PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ถอดรหัสการเมือง” เดือน ก.ย.” ลุ้นคลายล็อก-“บิ๊กตู่”เซอร์ไพรส์?

ถอดรหัสการเมือง” เดือน ก.ย.” ลุ้นคลายล็อก-“บิ๊กตู่”เซอร์ไพรส์?

การเมืองห้วงเดือนกันยายน หากเป็นไปตามกรอบเวลาที่ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และ พ.ร.ป.การได้มาซึ่งส.ว.ที่คาดว่าจะมีการโปรดเกล้าฯลงมา เพื่อเริ่มนับหนึ่งกระบวนการจัดการเลือกตั้งตามโรดแมปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)
ปัจจัยแรกระหว่างที่รอ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มีผลบังคับใช้ในอีก 90 วัน คือ ช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้ คสช.จะต้องคลายล็อกให้พรรคการเมืองทั้งเก่าและใหม่กว่า 100 พรรค จัดประชุมพรรคได้เพื่อเตรียมการเรื่องสมาชิกพรรคในการทำไพรมารีโหวต คัดเลือกผู้สมัครส.ส.ของแต่ละพรรค
มือกฎหมายของรัฐบาล อย่าง “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ได้เตรียมการคลายล็อกให้พรรคการเมืองไว้ 6 ข้อ เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคสช.ในวันที่ 28 สิงหาคม ให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 เป็นครั้งที่ 2
ข้อเสนอคลายล็อกทั้ง 6 ข้อ ให้พรรคการเมืองได้ขยับทำกิจกรรมได้นั้น คือ 1.พรรคการเมืองจัดประชุมใหญ่ เพื่อรับสมัครสมาชิกเพิ่มเติมได้ 2.ให้ความเห็นเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งได้ 3.สามารถดำเนินการเกี่ยวกับไพรมารีโหวตได้ 4.ตั้งกรรมการเพื่อสรรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ 5.ติดต่อประสานงานกับสมาชิกได้ และ 6.การดำเนินการอื่นๆ แต่ไม่ใช่การหาเสียงเลือกตั้ง
ในส่วนของพรรคการเมือง ห้วงที่คลายล็อกให้แต่ละพรรคเปิดเช็กชื่อรับสมัครสมาชิกพรรคเพิ่มเติมได้ ในส่วนนี้จะมีความชัดเจนว่า อดีต ส.ส.ที่อยู่ในลิสต์บัญชีที่ถูกดูด ไปร่วมงานกับกลุ่มสามมิตร กว่า 200 คน จะไปยืนยันสมาชิกพรรคกับพรรคการเมืองใด การยืนยันสมาชิกพรรคในรอบนี้จะชัดเจนว่า ใครจะอยู่ ใครจะไป จากพรรคต้นสังกัด
เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 97 กำหนดไว้ว่า ผู้ที่จะสมัครส.ส. จะต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 90 วัน จนถึงวันเลือกตั้ง หากเป็นไปตามปฏิทินของกกต. กำหนดวันเลือกตั้งเร็วที่สุดไว้ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562
บรรดาอดีตผู้สมัครส.ส. ไม่ว่าจะผ่านสารพัด “ดีล” ทั้งเรื่อง “คดีความ” และ “ค่าตัว” ที่จะลงสนามสู้ศึกเลือกตั้ง จะต้องมีพรรคต้นสังกัดที่ชัดเจน

จะเล่นลูก “กั๊ก” ยังไม่เลือกพรรคใด เพื่อหวังเพิ่มค่าตัวต่อไปอีกคงไม่ได้ เพราะด่านแรกของการลงรับสมัครเลือกตั้งส.ส. คือ 1.จะต้องเป็นสมาชิกพรรค ก่อนจะไปลุ้นในด่านที่ 2 คือ การทำไพรมารีโหวตของแต่ละพรรคว่าจะผ่านการคัดตัว ได้เป็นผู้สมัครส.ส.ของพรรคหรือไม่
ขณะเดียวกันหากเป็นไปตามที่ “บิ๊กตู่” ลั่นสัจจะวาจาไว้ว่า จะบอกด้วยตัวเองถึงความชัดเจนในอนาคตทางการเมืองว่าจะ “เลิกเล่น” หรือ “ไปต่อ” ในเส้นทางการเมือง ในรูปแบบใด
ซึ่งในช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา “บิ๊กตู่” บอกกับประชาชนชาวกทม.ที่ส่งเสียงเชียร์ให้เป็นนายกฯต่อไปอีกนานๆ ระหว่างที่ลงพื้นที่ตรวจการจราจรรอบกรุงเทพฯว่า “ไม่ได้จะลงรับสมัครเลือกตั้ง แต่จะกลับมาได้อย่างไรนั้น ต้องไปดูที่รัฐธรรมนูญด้วย”
แน่นอนตามรัฐธรรมนูญ 2560 เปิดช่องทางการได้มาของ“นายกรัฐมนตรี” ไว้อยู่ 2 วิธี 1.นายกฯคนใน คือ แต่ละพรรคจะต้องเสนอผู้ที่จะเป็นนายกฯไว้ในบัญชีของพรรคไว้ 3 รายชื่อ ไว้เป็นจุดขายในการเลือกตั้ง และ 2.นายกฯคนนอก คือ จะเป็นว่าที่่นายกฯที่อยู่นอกเหนือ 3 รายชื่อว่าที่นายกฯที่แต่ละพรรคจะเสนอ โดยนายกฯคนนอก จะเกิดขึ้นได้เมื่อทั้งรัฐสภา คือ ส.ส.และส.ว.ทั้ง 750 คน โหวตเลือกนายกฯ คนใน ได้เสียงไม่เกินกึ่งหนึ่งคือ 376 เสียง
ยิ่งดูจากนัยยะที่ “บิ๊กตู่”ส่งสัญญาณผ่านสื่อล่าสุด มีแนวโน้มว่าหากจะคัมแบ็กกลับมาสู่เส้นทางนายกฯ คงไม่พ้น “นายกฯคนนอก”
แต่ท้ายที่สุด คงต้องดูความชัดเจนในเดือนกันยายนนี้ ว่า “บิ๊กตู่” จะมีเซอร์ไพรส์ในเรื่องการเมือง ของตัวเองอย่างไร

ไม่มีความคิดเห็น: