PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2561

วิถี‘หม่อมเต่า’ ‘ตัวแปร’ทางการเมือง นายกรัฐมนตรี

วิถี‘หม่อมเต่า’ ‘ตัวแปร’ทางการเมือง นายกรัฐมนตรี


นับวันการตัดสินใจ “ถอน” ตัวจากตำแหน่งหัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทยของ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ พร้อมกับร่วมผลักดัน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เข้าดำรงตำแหน่ง
จะยิ่งสะท้อนลักษณะในทาง “ยุทธศาสตร์” อย่างเด่นชัด
เฉพาะหน้าที่เห็นก็คือ ส่งผลให้แคนดิเดตในตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” มีเพิ่มขึ้นนอกเหนือจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ตรงนี้ต่างหากที่มากด้วยความแหลมคม
คิดหรือว่า การตัดสินใจเช่นนี้ของ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ จะเป็นการตัดสินใจในเชิงปัจเจก โดยมิได้มีการหารือกัน “ภายใน”
อย่างน้อย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ต้องรับรู้
ยิ่งเมื่อ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ โพสต์บอกเล่าความเป็นมาในทางความคิดที่ไม่เสนอตัวเข้าไปแข่งขันพร้อมกับชูภาพ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เข้าไปอยู่ในระนาบ
“พญาครุฑ” ตัวหาญ ก็ยิ่งมีความเด่นชัด
พลันที่ปฏิมาของ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เท่ากับ “พญาครุฑ” ก็แทบไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องนำไปวางเรียงเคียงกับเงาร่างของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
เพราะ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็แค่ “ออกซ์ฟอร์ด”
ขณะที่รากฐานของ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ดำเนินไปอย่างที่ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ นิยามอย่างรวบรัด
นั่นก็คือ มาจากเคมบริดจ์แห่งอังกฤษ มาจากฮาร์วาร์ดแห่งสหรัฐ
ภายในชั่วข้ามคืนปฏิมาของ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ก็อยู่ในระนาบเดียวกันและอาจจะเหลื่อมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยอัตโนมัติ
แม้จะระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยเป็น ผบ.ทบ.

แต่อย่าลืมเป็นอันขาดว่า ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เคยเป็นปลัดกระทรวงการคลัง และเคยเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
คนหนึ่งเป็น “พลเอก” อีกคนหนึ่งเป็น “หม่อมราชวงศ์”
ในเบื้องต้นท่าทีของ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อาจยังต้องระมัดระวังเมื่อประสบเข้ากับคำถามต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เหมือนกับยัง “หนุน” แต่ก็มี “เงื่อนไข”
นั่นก็คือ มิได้หนุนอย่างชนิดสุดลิ่มทิ่มประตู ตรงกันข้าม เป็นการหนุนบนพื้นฐานที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องเข้ามาอยู่ในกฎกติกา
มิใช่แหวกเมฆมาอย่างที่เคยมาดหมาย
ท่าทีเช่นนี้เป็นท่าทีเดียวกันกับที่พรรคภูมิใจไทยระบุ เป็นท่าทีเดียวกันกับที่พรรคชาติไทยระบุ เป็นท่าทีที่แม้กระทั่งพรรคพลังชลก็ระบุ
มิใช่ท่าทีแบบ “สามก๊ก” หากแต่เป็น “สามกั๊ก”
ด่านที่สำคัญอย่างที่สุดจึงอยู่ที่ผลของ “การเลือกตั้ง” ว่าจะออกมาอย่างไร พรรคที่หนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มาเท่าไหร่
“จำนวน” ส.ส.ต่างหาก คือ ปัจจัย “ชี้ขาด”
อย่าว่าแต่นามของ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล จะค่อยๆ ขึ้นมาเป็น “ตัวแปร” ในฐานะตัวเลือก 1 หากแม้กระทั่ง 1 ใน “สาม ส.” ภายใน “กลุ่มสามมิตร” ก็มีโอกาส
นี่คือ ความเป็นจริงของ “การเมือง”
การเมืองมีลักษณะ “เปิด” และยิ่งเข้าสู่กระสวนของ “การเลือกตั้ง” ลักษณะเปิดยิ่งจะมีสถานะเข้าครอบงำ
ถึงตอนนั้นบรรดา “ตัวแปร” ก็จะสำแดง “บทบาท”

ไม่มีความคิดเห็น: