PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2561

โยนหินถามทาง

คอลัมน์เดินหน้าชน โยนหินถามทาง โดย : เทวินทร์ นาคปานเสือ


ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในโลกโซเชียลมีเดีย สำหรับ “กฎเหล็ก” เกี่ยวกับการทำข่าว “นายกรัฐมนตรี” ขณะไป เปิดงานที่เมืองทองธานี เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
โดยมีการตั้งโต๊ะเช็กชื่อ สังกัด เบอร์โทรศัพท์ จดหมายเลขบัตรประชาชนสื่อมวลชน พร้อมงัดมาตรการมาโชว์ สรุปสาระสำคัญดังนี้
หนึ่ง ต้องเคารพทั้งก่อน-หลังถ่ายภาพ
หนึ่ง สุภาพบุรุษใส่สูท สุภาพสตรีสวมชุดกระโปรง รองเท้าหุ้มส้น
หนึ่ง กล้องต้องผ่านการตรวจสอบจากตำรวจสันติบาล
หนึ่ง อนุญาตเฉพาะช่างภาพที่ลงทะเบียนพร้อมอนุญาตเท่านั้น
หนึ่ง การถ่ายภาพควรอยู่ห่างจากนายกฯ 5 เมตรเป็นอย่างน้อย ฯลฯ
รวมถึงกำหนดมารยาทการบันทึกภาพดังนี้
ห้ามถ่ายภาพหน้าตรงขณะนายกฯอยู่ในห้องรับรอง
ห้ามถ่ายภาพขณะเดินขึ้น-ลงจากที่สูง เช่น บันได
ห้ามถ่ายขณะรับประทานอาหาร
และหากฝ่าฝืนจะถูกริบปลอกแขนและห้ามบันทึกภาพ และอื่นๆ
โดยมาตรการดังกล่าวออกโดยกองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1
ย้อนกลับไปดูโครงการของกองบัญชาการตำรวจสันติบาลและขอบเขตอำนาจหน้าที่สำคัญดังนี้
หนึ่ง กองบังคับการอำนวยการ ดูแลงานธุรการ งบประมาณ สวัสดิการ
หนึ่ง กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 ดูแลด้านการข่าว ความมั่นคง กระจายอยู่ทั่วประเทศ
หนึ่ง กองบังคับการตำรวจสันติบาล 2 ดูแลด้านการข่าว ความมั่นคงในเขต กทม.เป็นหลัก
หนึ่ง กองบังคับการตำรวจสันติบาล 3 ดูแลบุคคลสำคัญ และสถานที่สำคัญต่างๆ
หนึ่ง กองบังคับการตำรวจสันติบาล 4 วิเคราะห์ สังเคราะห์ ประมวลผลข่าวที่เกิดขึ้นทั้งหมด

นอกจากนี้ยังมีศูนย์พัฒนาด้านการข่าว ที่มีระดับรองผู้บังคับการเป็นหัวหน้าศูนย์ฯ รับผิดชอบเกี่ยวกับการอบรม
อย่างไรก็ตาม พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช รองผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ยืนยันว่า ปกติการทำงานของตำรวจสันติบาลกับสื่อก็เข้าใจกันมาตลอด พูดคุยประสานกันด้วยดี ไม่ได้มีข้อกำหนดอะไรเป็นพิเศษเช่นนี้
ก่อนตั้งข้อสังเกตปกติอำนาจหน้าที่ในการดูแลปฏิบัติร่วมกับสื่อมวลชนในภารกิจของนายกฯ เป็นอำนาจหน้าที่ของกองบังคับการตำรวจสันติบาล 3
ไม่ใช่กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1
ระเบียบเอกสารดังกล่าวจึงไม่ปกติ!
ซึ่งผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลสั่งให้ตรวจสอบ “ต้นตอ” มาตรการดังกล่าวแล้ว
ส่วนผลจะเป็นอย่างไรไม่นานคงรู้กัน!?
และท้ายสุด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีออกมาชี้แจงว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นของเก่าตั้งแต่ปี 2558 พร้อมระบุว่า สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สงสัยคือทำไมเพิ่งมาใช้วันนี้ เพราะไม่ใช่นโยบายของนายกฯ
และขอให้ไปทบทวนและยกเลิกคำสั่งซะ!
ทำให้ประหวัดไปถึงคำสั่ง ม.44 ของ คสช. ออกกฎเหล็ก 2 ฉบับ เกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพ การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก และเพิ่มความปลอดภัยในรถโดยสารสาธารณะช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่ประชาชนจะเดินทางกลับภูมิลำเนา
โดยรถปิกอัพห้ามนั่งกระบะท้าย นั่งแค็บ
ครั้งนั้นก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ต่อต้าน-ล้อเลียน อย่างหนักในโลกโซเชียลมีเดีย
จนรัฐบาล “ยอมถอย”!
พร้อมอนุโลมนั่งกระบะหลังหรือแค็บไปพลางๆ ก่อน จนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามระเบียบคำสั่งคุมสื่อมวลชนครั้งนี้เป็นที่น่าสังเกต ไม่ว่าจะออกโดยกองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 หรือ 3 ก็ตาม น่าจะมีการประสานกับทีมอารักขานายกฯ หรือสำนักนายกรัฐมนตรีก่อนหรือไม่?
จู่ๆ สันติบาลจะงัดระเบียบมาใช้เลยละหรือ
หรือเป็นความคิดแบบศักดินาที่ต้องการ “โยนหินถามทาง”!?!
เทวินทร์ นาคปานเสือ
https://www.matichon.co.th/politics/news_1072740

ไม่มีความคิดเห็น: