PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2561

ปิดสนามม้านางเลิ้ง ตำนานขุมทรัพย์สีเขียว

ปิดสนามม้านางเลิ้ง ตำนานขุมทรัพย์สีเขียว



“กำเหนิดสนามม้าแข่งในประเทศไทย” หนังสือของพระยาประดิพัทธภูบาล (คอยู่เหล ณ ระนอง) ซึ่งได้จัดพิมพ์ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ครั้งเมื่อประพาสเมืองระนอง ในปี พ.ศ.2502 ความตอนหนึ่งระบุว่า...
หลังจากก่อตั้งสนามม้า “ราชกรีฑาสโมสรกรุงเทพฯ” มาแล้วหลายปีก็เกิดขัดแย้งขึ้นในสโมสรนี้ เนื่องจากเวลานั้นมีฝรั่งเข้ามาเมืองไทยมากและได้นำกีฬาต่างๆหลายชนิดเข้ามาเผยแพร่
อาทิ คริกเก็ต ฟุตบอล ฮอกกี้ เทนนิส จำเป็นต้องนำรายได้จากการแข่งม้ามาบำรุงกีฬาต่างๆเหล่านั้นด้วย เป็นเหตุให้เจ้าของม้า...ส่วนใหญ่เป็นคนไทยไม่พอใจและร้องเรียนว่าเงินรางวัลไม่เพียงพอในการบำรุงม้า
โดยกรรมการฝ่ายไทยซึ่งเป็นกรรมการมาแต่ดั้งเดิมคือพระยาประดิพัทธภูบาลและพระยาอรรถการประสิทธิ์มีการเสนอเพิ่มเงินรางวัลขึ้นอีกร้อยละ 50 แต่ข้อเสนอของฝ่ายไทยไม่ได้รับการสนับสนุน
“พวกเรามีพระยาอรรถการฯและข้าพเจ้าจึงมาใคร่ครวญหาวิธีสร้างสนามม้าขึ้นใหม่ โดยจะใช้ที่นาของข้าพเจ้าที่บางซื่อ แต่หลายคนติว่าไกลไปตกลงเอาที่...นางเลิ้งของหลวงอีก
ข้าพะเจ้าและพระยาอรรถการฯจึงทำหนังสือทูลเกล้าฯถวายรัชกาลที่ 6 ขอตั้งสนามม้าแข่งเพื่อบำรุงม้าพระองค์โปรดให้พระยาวรพงศ์พิพัฒน์เป็นบิดาของพระยาปราบพลแสน...เวลานั้นเป็นอธิบดีกรมอัศวราช ภายหลังเป็นเสนาบดีกระทรวงวัง มีหนังสือมายังข้าพเจ้าว่าอนุญาต
หากกรมขุนพิษณุโลกทรงทราบและทรงเกรงเป็นเรื่องการเมือง จึงมีลายพระหัตถ์มาถึงข้าพเจ้าว่า ถ้าสโมสรจะมีการประชุมเมื่อใดขอให้บอกเลขาส่วนพระองค์(พระยาสุรเสนา)มาประชุมด้วย เพื่อได้ทรงทราบรายการต่างๆทั้งทรงแนะนำขออย่าได้เป็นการเมือง เพราะกลัวจะเป็นฝรั่งกับไทยทะเลาะกัน...”
โดยได้พระราชทานที่ดินประมาณ 200 ไร่ ที่อยู่บริเวณนอกเขตผดุงกรุงเกษมใกล้กับทุ่งส้มป่อย (นางเลิ้ง) และในวันที่ 18 ธันวาคม 2459 รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดสนาม พร้อมพระราชทานนาม “ราชตฤณมัยสมาคมฯ” และรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ...พระองค์ได้ส่งม้าในคอกส่วนพระองค์เข้าแข่งขันด้วย โดยใช้เสื้อสีน้ำเงินยันต์สีขาว
ปัจจุบัน “สนามม้านางเลิ้ง” หรือ “ราชตฤณมัยสมาคมฯ” สนามม้าเก่าแก่แห่งหนึ่งในประเทศไทยกำลังจะกลายเป็นตำนาน ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมามีรายงานข่าวปรากฏว่า ราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นผู้เช่าอาคารและที่ดินหมดสัญญาเช่ากับ “สำนักงานทรัพย์สินฯ” ไปแล้วเกือบ 20 ปี ประกอบกับสำนักทรัพย์สินฯเองมีความจำเป็นต้องการใช้ที่ดินสนามม้านางเลิ้งเพื่อประโยชน์ด้านอื่นๆ ต่อไป จึงมีหนังสือแจ้งยืนยันการยกเลิกสัญญาเช่า ขอให้ขนย้ายทรัพย์สินออกไปภายใน 180 วัน
มุมหนึ่ง...ก็มองกันว่าการปิดสนามม้านางเลิ้งอย่างถาวร อาจช่วยแก้ปัญหาสังคมการพนันกลางเมืองใหญ่ได้เปราะหนึ่ง แต่อีกด้านก็ทำให้รัฐขาดรายได้ก้อนโต เพราะเงินพนันม้าแข่งทุก 100 บาทจะไหลเข้ากระเป๋ารัฐบาล 30 บาท
อัตราค่าเช่าที่ดิน 200 ไร่ ในราคาปีละ 50,000 บาท หรือเฉลี่ยตกไร่ละ 250 บาท...แค่ตารางวาละ 62 สตางค์เท่านั้นเอง ในวันที่โลกเปลี่ยน ยุคสมัยเปลี่ยนเช่นนี้...คงไม่ต้องถามหาความคุ้มไม่คุ้ม
หากจะเดินหน้าสร้างสนามม้าแห่งใหม่ให้ได้มาตรฐานเท่า “สนามม้านางเลิ้ง” คะเนกันว่าต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท และยังต้องคำนึงถึงปุจฉาสำคัญ...ยุคนี้กีฬาม้าแข่งฟู่ฟ่ามากน้อยแค่ไหน
ในอดีตดั้งเดิมเคยมีคนมานั่งเชียร์นั่งลุ้นกันคึกคักนัดละ 2 หมื่นคน วันนี้มีแค่ไม่เกิน 5 พันคน ยิ่งถ้าต้องย้ายออกไปนอกเมืองหรือออกไปต่างจังหวัด แน่นอนว่าผู้ชมคงไม่เยอะขนาดนี้ มีความเสี่ยงสูงมากที่จะขาดทุน
จุดเริ่มต้นการ “แข่งม้า” ของ “สยามประเทศ”...คงต้องย้อนกลับไปราวพุทธศักราช 2440 สมัยรัชกาลที่ 5 เสด็จกลับจากการประพาสยุโรปทางฝ่ายราชการจัดพระราชพิธีรับเสด็จ และกลุ่มผู้เคยผ่านยุโรปมาจำนวนหนึ่งจึงมีแนวคิดที่จะจัดแข่งม้าถวาย
ประธานการจัดการแข่งขันครั้งนั้น คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยาลาภพฤฒิธาดาและมีกรรมการร่วมหลายคนทั้งเชื้อพระวงศ์ ข้าราชการชั้นสูง สำหรับสถานที่จัดการแข่งขันครั้งนั้นคือ “ทุ่งพระเมรุ” หรือ “ท้องสนามหลวง” โดยใช้พื้นที่เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น
การแข่งขันมีลักษณะใช้ม้าเทียมรถจากคอกต่างๆเข้าร่วม ผู้ขี่ก็คือคนขับรถม้ามีการถ่วงน้ำหนักโดยนำก้อนอิฐมอญห่อผ้ามัดติดเอวไว้กับคนขี่ พร้อมกับให้มีการ “แทงโต๊ด” ด้วย
มีบันทึกไว้ว่า...การแข่งขันวันนั้นวุ่นวายพอควร เนื่องจากตามกติกาผู้ที่ชนะเข้าเส้นชัยที่ 1 และที่ 2 ต้องไม่ทำอิฐมอญร่วงหล่น แต่ครานั้นผู้ที่เข้าที่ 1 และ 2 ล้วนทำอิฐหล่นทำให้ถูกปรับแพ้ ทำให้ผู้ชมเกิดความไม่พอใจ มีการกล่าวหาว่ามีการโกงกัน
อย่างไรก็ตาม รัชกาลที่ 5 พระองค์ได้ทอดพระเนตรแล้วรู้สึกพอพระราชหฤทัยในการแข่งขัน และนี่ถือเป็นการแข่งขันม้าในสยามประเทศอย่างฝรั่งเป็นครั้งแรก
สำหรับ “สนามม้านางเลิ้ง” นั้น เริ่มขึ้นเมื่อพระยาประดิพัทธภูบาลและพระยาอรรถการประสิทธิ์ คิดสร้างสนามม้าขึ้นและจะใช้ที่ดินของพระยาประดิพัทธฯที่บางซื่อ แต่มีเสียงติงว่าอยู่ไกลเกินไป
สนามม้านางเลิ้ง...นับเป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมที่ว่ากันว่า ควรได้ไปดูให้เห็นกับตากันสักครั้ง “วีระพล สิงห์น้อย” เจ้าของเพจ “FOTO_MOMO” บรรยายบันทึกไว้อย่างเห็นภาพว่า ลอนโค้งคอนกรีตขนาดมหึมาเรียงรายติดกันเป็นหลังคาผืนใหญ่ หากเราผ่านไปแถวๆนี้ในบางวันอาทิตย์อาจจะได้เห็นกลุ่มคนรักอาชาออกันแน่นขนัดด้านหน้าเพื่อทยอยเข้าไปในอาคาร...ที่นี่คือ “สนามม้านางเลิ้ง” เรียกกันติดปากว่า...“สนามไทย”
อัฒจันทร์...สวยงามตั้งแต่หลังคา ยื่นคลุมบริเวณที่นั่งได้หมด คานคอนกรีตที่ยื่นออกไป 40 เมตร ทำให้มีร่มเงา ไม่ร้อน ไม่มีเสาใดๆมาบังตา...นี่เป็นหลังคาคอนกรีตเสริมแรงยุคแรกๆของเมืองไทย
ด้านหลังอัฒจันทร์ เป็นพื้นที่ของม้าและบุคคลที่เกี่ยวข้องใช้เตรียมตัวก่อนและหลังการแข่งขัน อาคารคอกม้า 2 ชั้นนี้รองรับจำนวนม้าแข่งได้เยอะมาก กั้นเป็นคอกม้าหลายคอกและมีส่วนอาบน้ำของม้า ทำทางลาดขึ้นลงไว้เป็นระเบียบเรียบร้อยมาก...ถัดไปใกล้ๆประตูที่ม้าจะลงสู่สนามหญ้า จะมีลานทรายเล็ก...
ที่มีอาคารรูปวงกลมตรงกลางเรียกว่า “สนามเดินวน” เพื่อให้ตรวจความพร้อมของม้าและจ๊อกกี้ เป็นอาคารที่สร้างอย่างเรียบง่าย แต่มีสัดส่วนที่สวยงาม มีเสน่ห์ยิ่งนัก
เปิดสนามครั้งแรก เก็บค่าสมาชิกคนละ 1 บาทต่อเดือน ทุกวันอาทิตย์จะมีการจัดแข่งม้าสลับกันระหว่างสนามไทยและสนามฝรั่ง บรรยากาศก่อนเริ่มแข่งจะเห็นผู้คนจำนวนมากเตรียมตัวมาตั้งแต่รั้วทางเข้า มีทั้งแผงร้านค้าใช้เช่ากล้องส่องทางไกล ทั้งคนเดินเร่ขายใบโปรแกรม คนเก่าแก่เล่าว่า...มีแม่ค้าที่เปิดแผงให้เช่ารองเท้าด้วย เพราะที่นี่ไม่อนุญาตให้ลากรองเท้าแตะเข้ามา เพื่อความเป็นสุภาพชนนั่นเอง
“แต่...ภาพความคึกคักนั้นคงจะกลายเป็นตำนาน อย่างที่ทราบกันว่าพื้นที่แห่งนี้ต้องส่งคืนให้สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ภายในปลายปี 2561 นี้” วีระพล ว่า
102 ปี “สนามม้านางเลิ้ง” ปิดตัวลงแล้ว คงเหลือไว้เพียงตำนาน “ขุมทรัพย์สีเขียว”.

ไม่มีความคิดเห็น: