PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

"วิษณุ"กางไทม์ไลน์เลือกตั้งยันยังเป็น 24 พ.ย. ชี้ รัฐบาล-คสช. ยังมีอำนาจเต็ม จนกว่าครม.ชุดใหม่จะถวายสัตย์ฯ

"วิษณุ"กางไทม์ไลน์เลือกตั้งยันยังเป็น 24 พ.ย. ชี้ รัฐบาล-คสช. ยังมีอำนาจเต็ม จนกว่าครม.ชุดใหม่จะถวายสัตย์ฯ

8 พฤศจิกายน 2561 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงปฏิทินการทำงานของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ว่า ปฏิทินนี้ได้หารือกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)
คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยวันที่ 9 ธ.ค. จะมีการจัดงานอุ่นไอรัก จากนั้นวันที่ 11 ธ.ค. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนุญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะมีผลบังคับใช้เป็นวันแรก ซึ่งต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วันนับแต่วันนั้น ซึ่งจะไม่เกินวันที่ 9 พ.ค.62 โดยหลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้แล้ว กกต.จะต้องยกร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. และส่งให้ ครม.พิจารณาเพื่อนำความขึ้นทูลเกล้าฯ
จากนั้นเมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ลงมา ภายใน 5 วัน กกต.จะต้องออกประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง วันรับสมัคร ส.ส. และจำนวน ส.ส.ในแต่ละเขต โดยใช้ระยะเวลา 5 วัน และกรอบการรับสมัครต้องออกมาไม่เกิน 25 วัน นับแต่ประกาศใช้ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ส่วนรายชื่อที่พรรคการเมืองจะเสนอเป็นนายกฯ 3 รายชื่อ จะต้องเสนอภายในกรอบระยะเวลา 5 วัน ที่เปิดรับสมัคร ส.ส.
นายวิษณุ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้เมื่อมีประกาศใช้ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.แล้ว ก็จะมีการปลดล็อกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในเวลาใกล้เคียงกัน ส่วนวันเลือกตั้ง จากการพูดคุยกับทุกฝ่ายแล้ว คาดการณ์กันว่า กกต.จะประกาศให้เป็นวันที่ 24 ก.พ.62 เพราะเร็วกว่านั้นไม่ได้ เนื่องจากเตรียมการไม่ทัน และขณะนี้ยังไม่มีการพูดคุยว่าเป็นอย่างอื่น เมื่อเลือกตั้งแล้ว กกต.ต้องประกาศผลภายใน 60 วัน จะตรงกับวันที่ 24 เม.ย.62
ส่วนการเปิดประชุมสภาครั้งแรก จะมีขึ้นภายใน 15 วัน นับแต่ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้ง จะตรงกับวันที่ 8 พ.ค.62 โดยจะเสด็จเปิดประชุมสภา หลังจากนั้นจะมีการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา รวมถึงลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อได้นายกฯ แล้ว จะนำรายชื่อกราบบังคมทูลฯ ซึ่งหลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ลงมา นายกฯจะแต่งตั้ง ครม. เพื่อเสนอขึ้นทูลเกล้าฯ และในวันที่ครม.ชุดใหม่ เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับตำแหน่ง ครม.เดิมและคสช.จะสิ้นสุดลงในวันนั้น โดยครม.ชุดใหม่จะต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาภายใน 15 วันนับจากปฏิญาณตน คาดว่าจะเป็นช่วงเดือน มิ.ย.62
ส่วนการได้มาซึ่ง ส.ว.นั้น ในระหว่างวันที่ 16 – 27 ธ.ค. กกต.จะดำเนินการคัดเลือก ส.ว. ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ ให้ได้ 200 คน ในวันที่ 2 ม.ค.62 เพื่อส่งรายชื่อให้ คสช.คัดเลือกเหลือ 50 คน และมีสำรองอีก 50 คน พร้อมกันนี้ คสช.จะต้องตั้งคณะกรรมการสรรหา 9-12 คน เพื่อคัดเลือก ส.ว.ให้ได้ 400 คน ภายในวันที่ 9 ก.พ.62 เพื่อเสนอให้ คสช.พิจารณาให้เหลือ 194 คน โดยมีสำรอง 50 คน และส.ว.โดยตำแหน่งคือ ผบ.เหล่าทัพ อีก 6 คน รวมเป็น 250 คน โดยรายชื่อดังกล่าว คสช.ต้องพิจารณาให้เสร็จภายในวันที่ 27 เม.ย.62 เพราะกฎหมายกำหนดให้ คสช.พิจารณาให้แล้วเสร็จภายหลังประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.ภายใน 3 วัน
นอกจากนี้นายวิษณุ ได้ชี้แจงเกี่ยวกับสถานะรัฐบาลปัจจุบัน ว่า ถ้าเป็นรัฐบาลรักษาการจะเกิดขึ้นต่อเมื่อนายกฯ สิ้นสภาพ ครม.พร้อมใจกันลาออก มีการยุบสภา หรือรัฐบาลอยู่ครบเทอม ซึ่งก่อนจะมีรัฐบาลใหม่จำเป็นที่รัฐบาลเดิมต้องอยู่รักษาการ แต่การเสนอโครงการใหม่ การแต่งตั้งข้าราชการ การอนุมัติงบประมาณ การใช้บุคลากรของรัฐ จะมีข้อจำกัด ต้องขออนุญาต กกต. แต่สำหรับรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้สิ้นสุดลง จึงไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ และยังคงมีอำนาจเต็ม
อีกทั้งบทเฉพาะกาลยังเขียนให้ ครม.ที่อยู่ในตำแหน่งก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 60 ทำงานจนกว่า ครม.ชุดใหม่จะเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน ส่วนการปฏิบัติตัวของรัฐมนตรีใน ครม.ชุดปัจจุบัน ในส่วนที่ไปเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองต้องระมัดระวังในการใช้เวลาราชการ ทรัพย์สิน บุคลากร และสถานที่ราชการ เพื่อใช้แก่พรรคการเมืองที่ตนไปสังกัด ส่วน ครม.ที่ไม่ได้เกี่ยวพันกับพรรคการเมืองก็ต้องวางตัวเหมือน ครม.ในอดีต ที่กำหนดไว้ชัดเจนว่าต้องเป็นกลาง
จากการพูดคุยกับประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีความเห็นตรงกันว่า รัฐบาลจะเสนอกฎหมายได้ถึงวันที่ 28 ธ.ค. จากนั้นสนช.จะไม่รับร่างกฎหมายเพิ่มแล้ว โดยสนช.จะพิจารณากฎหมายจนถึงวันที่ 15 ก.พ.62 หากมีเหตุจำเป็นต้องออกกฎหมาย รัฐบาลจะใช้วิธีออกเป็นพระราชกำหนด หรือคำสั่งตามมาตรา 44.

ไม่มีความคิดเห็น: