PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ปรากฏการณ์การเมืองไทย กับบทพิสูจน์ความตงฉินของกกต. : โดย รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

ปรากฏการณ์การเมืองไทย กับบทพิสูจน์ความตงฉินของกกต. : โดย รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร




ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบ้านเราทุกครั้งความสนใจของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกเหนือจากจะเพ่งไปที่ตัวผู้สมัคร และนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ แล้ว กกต.หรือคณะกรรมการการเลือกตั้งก็เป็นหนึ่งในกระแสของความสนใจเช่นเดียวกัน

กกต.หรือคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นหนึ่งในองค์กรอิสระที่กำเนิดมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปีพุทธศักราช 2540 หรือรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ซึ่งสาระสำคัญของการก่อเกิดองค์กรดังกล่าวคงจะเป็นผลมาจากวิกฤตทางการเมืองเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 อันนำไปสู่การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปทางการเมือง

รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนหรือฉบับการปฏิรูปการเมืองเนื้อหาสาระที่สำคัญได้มีการปรับปรุงแก้ไขออกแบบโครงสร้างการเมืองให้มีประสิทธิภาพและเสถียรภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มกลไกการตรวจสอบอำนาจรัฐและนักการเมือง ที่น่าสนใจยิ่งรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน

มิติของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ส่งผลต่อการเมืองไทยมาจนถึงปัจจุบันคือการบัญญัติให้มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นองค์กรอิสระทำหน้าที่ควบคุมและจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมแทนกระทรวงมหาดไทยที่มีบทบาทในการจัดการมาอย่างยาวนาน ซึ่งคณะกรรมการชุดแรกได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2540

อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่มีคณะกรรมการการเลือกตั้งจากชุดแรกถึงปัจจุบันจะพบว่าคณะกรรมการแต่ละชุดจะมีกระแสที่สังคมต้องจับตาในลักษณะที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตัวบุคคล รูปแบบ ลีลาหรือสีสันในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งที่เป็นไปตามกฎหมายหรือการใช้เทคนิคในการก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบจนส่งผลให้มีการฟ้องร้องจนถึงขั้นเข้าห้องขังมาแล้วก็มี

คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดปัจจุบันประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 7 คน ซึ่งบุคคลเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องแสดงออกให้เห็นถึงความรู้ ความสามารถ และการแบกรับกับปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยที่กำลังอยู่ในห้วงเวลาที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของประเทศ

ตลอดระยะเวลาที่คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดนี้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ได้รับความสนใจจากสังคมและสื่อมวลชนมาอย่างต่อเนื่อง แต่หนึ่งในปรากฏการณ์ที่ กกต.จะต้องพิสูจน์ในความรู้ความสามารถและเข้าสู่การจับตาของสังคมไทยและต่างชาติซึ่งถือได้ว่าเป็นโจทย์หรือการบ้านข้อแรกที่มีความสำคัญและส่งผลต่อการเมืองคงจะหนีไม่พ้นปรากฏการณ์อันเนื่องมาจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 และจากปรากฏการณ์ดังกล่าว กกต.ก็มีมติเป็นเอกฉันท์ในการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติที่เสนอชื่อบัญชีนายกรัฐมนตรีขัดต่อ พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

จากการบ้านหรือโจทย์หินข้อแรกผ่านไปได้ไม่นาน กาลเวลาล่วงมาถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 โจทย์หรือการบ้านข้อที่สองที่ถูกโยนเข้าสู่ กกต.ก็ตามมาติดๆ เมื่อเลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพในฐานะประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ยื่นคำร้องเรื่องขอให้พิจารณาและวินิจฉัยว่าการกระทำเข้าข่ายกระทำความผิดต่อกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญ และให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคพลังประชารัฐ

สาระสำคัญของการยื่นเรื่องเพื่อให้พิจารณายุบพรรคพลังประชารัฐในครั้งนี้ ผู้ยื่นได้ชี้ให้เห็นถึงการทำผิดกฎหมายของพรรคดังกล่าวทั้งก่อนและหลังพระราชกฤษฎีกาจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 เป็นการทั่วไป โดยมีรายละเอียด 4 ประเด็น ประกอบด้วย 1.ความเชื่อมโยงกลุ่มบุคคลโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขอจัดตั้งพรรคการเมืองในลักษณะที่ผิดกฎหมาย 2.กลุ่มบุคคลเข้าครอบงำการจัดตั้งพรรค พปชร.ได้กระทำผิดกฎหมายโดยเรียกหรือรับผลประโยชน์อื่นใดเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.

3.กลุ่มบุคคลเข้าครอบงำการจัดตั้งพรรค พปชร.ได้กระทำผิดกฎหมายโดยเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายกระทำการใดๆ เพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง และ 4.พรรค พปชร.กระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งในตอนท้ายของคำร้องได้ระบุไว้ว่า หากพบว่าเป็นการฝ่าฝืนหรือกระทำความผิดต่อกฎหมายขอให้ กกต.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรค พปชร. และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค พปชร. รวมทั้งบุคคลที่กระทำการเข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย (มติชน 16 กุมภาพันธ์ 2562 หน้า 2)


การยื่นคำร้องเพื่อให้พิจารณาเกี่ยวกับการกระทำของพรรคพลังประชารัฐในครั้งนี้ หากไปศึกษาในรายละเอียดของสาระสำคัญแห่งมูลเหตุ และเปรียบเทียบกับการกระทำของคณะกรรมการบริหารของพรรคไทยรักษาชาติที่ กกต.ได้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปก่อนหน้านี้นั้น เชื่อว่าคงจะเป็นที่สนใจและติดตามจากสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้โดยเฉพาะความเท่าเทียมและบรรทัดฐานทางกฎหมาย

อย่างไรก็ตามถ้าจะมองด้วยความเป็นธรรมก็คงจะต้องให้ความเห็นใจ กกต.เช่นเดียวกัน เพราะประเด็นหรือสาระที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้งตลอดจนเรื่องการร้องเรียนคงจะมีหลากหลาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น กกต.ก็จำเป็นที่จะต้องเร่งหรือแสดงให้สังคมเชื่อมั่นในเชิงประจักษ์ว่าองค์กรนี้พร้อมจะเป็นที่พึ่งและความหวังของคนไทยที่จะนำมาซึ่งความโปร่งใส บริสุทธิ์ยุติธรรมสำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง

ด้านพรรคพลังประชารัฐในกรณีเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบในการเลือกตั้งนั้น นายวิเชียร ชวลิต ในฐานะนายทะเบียนสมาชิกพรรค กล่าวตอนหนึ่งว่า “ที่ประชุมพรรคได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบให้คณะกรรมการบริหารพรรค ผู้สมัคร ส.ส. ผู้ช่วยหาเสียง และสมาชิกทุกคนปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยพรรคจะจัดทำประกาศเพื่อแจ้งเตือนผู้เกี่ยวข้องและจะติดประกาศไว้ที่พรรคเพื่อให้สาธารณชนรับทราบทั่วกันด้วย พปชร.ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยและครรลองของกฎหมายโดยเฉพาะรัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน และพรรคเน้นย้ำให้ทุกพรรคการเมืองช่วยกันทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้สุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรม ปฏิบัติตามกฎหมาย และเคารพกติกาทางการเมือง” (มติชน 16 กุมภาพันธ์ 2562 หน้า 10)

สำหรับการเลือกตั้ง ส.ส.ที่กำหนดไว้ในวันที่ 24 มีนาคม 2562 นั้น เชื่อว่าก่อนจะถึงวันนั้นนับจากนี้ไปนอกจากพรรคการเมืองจะระดมสรรพยุทธ์และกลวิธีต่างๆ เพื่อให้ชนะใจประชาชนเจ้าของอำนาจอันแท้จริงแล้ว กรณีการเรียกร้องก็คงจะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ กกต.ต้องรับหน้าเสื่อในการพิจารณาดำเนินการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เพื่อด้วยความมุ่งมั่นและความตั้งใจของคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้ง 7 คน ที่เสนอตัวเข้ามาเพื่อทำงานที่ถือได้ว่าเป็นงานสำคัญของประเทศคงจะพร้อมแล้วกับการที่จะแบกรับภาระอันยิ่งใหญ่ให้เดินไปสู่เป้าหมายภายใต้กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง กรณีศึกษาและบทเรียนในอดีตที่คณะกรรมการการเลือกตั้งรุ่นพี่ได้ดำเนินการไว้คงจะเป็นองค์ประกอบหรือแนวทางที่สำคัญสำหรับการนำไปสู่การปฏิบัติหน้าที่เพื่อการเมืองไทย และคนไทยทั้งประเทศ

เหนือสิ่งอื่นใดเรื่องของการใช้กฎหมายในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เกิดความโปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม ซึ่งจะมีผลต่อความเชื่อมั่นและความศรัทธาของสังคมและประชาชนนั้นถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญขององค์กรอิสระอย่าง กกต.จะพึงนำไปสู่การปฏิบัติ

กรณีที่ว่าด้วยการนำกฎหมายไปสู่การปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2520 ความตอนหนึ่งว่า “กฎหมายทั้งปวงจะธำรงความยุติธรรมและความถูกต้องเที่ยงตรงมีความศักดิ์สิทธิ์และประสิทธิภาพเต็มเปี่ยมหรือไม่เพียงไรนั้น ขึ้นอยู่กับการใช้ หากนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์หรือด้วยเจตนาไม่สุจริตต่างๆ กฎหมายก็เสื่อมความศักดิ์สิทธิ์และกลายเป็นภัยต่อประชาชน”

เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดซึ่งจะส่งผลให้การเลือกตั้งโปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม หาก กกต.ทั้งคณะมีการน้อมนำพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวปฏิบัติด้วยแล้วเชื่อว่าประโยชน์ทั้งมวลก็จะตกแก่ประชาชนและประเทศชาติได้อย่างอเนกอนันต์

รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

ไม่มีความคิดเห็น: