PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2562

จนไม่จริง

ศึกเลือกตั้งครั้งนี้จะออกมาอย่างไร??

แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญการทำโพลยังมึนตึ้บไปตามๆกัน

เพราะเป็นการเลือกตั้งใหญ่ครั้งแรกในรอบ 8 ปี

เพราะมีประชาชนแห่ไปใช้สิทธิมากเป็นประวัติการณ์

เพราะมีคนรุ่นใหม่ (อายุ 18 ถึง 25 ปี) จะใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกกว่า 7 ล้านคน

ใครที่คิดว่าคนรุ่นเปิดซิงจะถูกชักจูงได้ง่ายที่สุด

ปรากฏว่าคาดผิดเต็มเปา!!

เอาเข้าจริง กลุ่มคนรุ่นใหม่ มีความเชื่อมั่นตัวเองสูง ถ้าชื่นชอบพรรคไหนจะเทคะแนนเสียงให้พรรคนั้น โดยไม่มีการลังเล หรือเปลี่ยนใจ

ส่วน “กลุ่มวัยกลางคน” ที่กำลังดิ้นรนทำมาหากิน การจะตัดสินใจเลือกพรรคไหน ต้องพิจารณานโยบายแก้เศรษฐกิจเป็นสำคัญ

ถ้าหลายพรรคนโยบายคล้ายกัน จะเลือกพรรคที่เชื่อว่าจะทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้จริง

“แม่ลูกจันทร์” ชี้ว่า “กลุ่มคนรุ่นเก่า” (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ซึ่งมีจำนวนกว่า 10 ล้านคน จึงกลายเป็นเป้าใหญ่ที่พรรคการเมืองต้องแย่งชิงคะแนนเสียงกันสุดลิ่มทิ่มประตู

สูตรสำเร็จที่ทุกพรรคการเมืองใช้ดึงดูดคะแนนเสียงจากกลุ่มคนสูงวัย

คือ...นโยบายเพิ่มเบี้ยยังชีพคนชรา

เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จาก 600 บาท เป็น 1,000 บาทต่อเดือน

บางพรรคจะเพิ่มเบี้ยยังชีพคนชรา จาก 600 บาท เป็น 1,800 บาทต่อเดือน เพิ่มพรวดเดียว 3 เท่าตัว

บางพรรคถึงขั้นประกาศจะเพิ่มเบี้ยคนชรา เป็น 2,000 บาทต่อเดือน

“แม่ลูกจันทร์” ในฐานะผู้สูงอายุที่จ่ายภาษีเงินได้บำรุงประเทศ

และไม่เคยใช้สิทธิรับเบี้ยยังชีพคนชราจากรัฐบาล

“แม่ลูกจันทร์” เห็นด้วยและสนับสนุนนโยบายเพิ่มเบี้ยยังชีพคนชรา จากเดือนละ 600 บาท เป็นเดือนละ 1,000 บาท หรือมากกว่าเดือนละ 1,000 บาทก็ยิ่งดี

เพื่อให้ประชากรสูงอายุ ซึ่งไม่มีรายได้ ไม่มีเงินเก็บออม ไม่มีลูกหลานเลี้ยงดู สามารถดำรงชีวิตได้อย่างพอเพียง

แต่ “แม่ลูกจันทร์” ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลเอาเงินภาษีประชาชนไปหว่านแหแจกเบี้ยยังชีพคนชราที่ไม่มีฐานะยากจน

ปีที่แล้ว (2561) รัฐบาลใช้งบ 7 หมื่นล้านบาท อัดฉีดเบี้ยยังชีพคนชรา 8.4 ล้านคน

ปรากฏว่ามีคนชราที่มีฐานะยากจนจริงๆ เพียง 3.6 ล้านคน

ที่เหลืออีก 4.8 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุที่ไม่ยากจน

ในจำนวนนี้มีกว่า 3 ล้านคน ที่มีฐานะมั่นคง มีรายได้พอเลี้ยงตัวอย่างสบาย

เท่ากับรัฐบาลใช้เงินภาษีประชาชนกว่า 3 หมื่นล้านบาทต่อปี ไปแจกฟรีให้กับผู้สูงอายุที่ไม่ยากจน

ปัญหาน่าห่วงคือ ประชากรผู้สูงอายุของไทยเพิ่มขึ้นๆ กว่า 2 แสนคนต่อปี

ภาระรายจ่ายเบี้ยยังชีพคนชราจะเป็นปัญหาใหญ่ในระยะยาว

“แม่ลูกจันทร์” ย้ำว่าก่อนจะเพิ่มเบี้ยยังชีพคนชรา จาก 600 บาท เป็น 1,000 บาท หรือ 1,500 บาทต่อเดือน

ควรคัดกรองคนชราที่มีฐานะดีออกไปก่อน ให้เหลือแต่คนชราที่มีฐานะยากจนและเดือดร้อนจริงๆ

หากยังแจกเบี้ยยังชีพคนชราแบบเหวี่ยงแห แจกไม่เลือกใครจนใครรวยอย่างที่ทำกันในปัจจุบัน

ไม่ว่าพรรคไหนจะเป็นรัฐบาลก็ถังแตกแน่นอน

เตือนแล้วนะ...ไม่เชื่อก็ตามใจ.

“แม่ลูกจันทร์”

ไม่มีความคิดเห็น: