PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2556

จบการเจรจาBRNวันแรกขอลบบช.ดำแลกความสงบ



จบการเจรจาBRNวันแรกขอลบบช.ดำแลกความสงบ

(28/3/56)การเจรจาในประเทศมาเลเซีย ของวันนี้ได้จบลงแล้วและจะมีการเจรจากันต่อวันพรุ่งนี้(29/3/56) โดยทางแกนนำ BRN ตกลงจะหยุดเหตุรุนแรง พร้อมขอให้ฝ่ายความมั่นคงไทย ลบรายชื่อในบัญชีดำ และสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้


“ภราดร”ยันสถิติป่วนใต้ลดลงเพราะเจรจา

              ก่อนหน้าใันวันเดียวกัน พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาลเซีย ถึงเหตุการณ์ลอบวางระเบิดที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อเช้าวันที่ 28 มี.ค.ซึ่งเป็นวันพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการนัดแรกระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นจากต่างรัฐ นำโดยขบวนการบีอาร์เอ็นว่า เหตุรุนแรงเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย และอาจเป็นเพราะกลุ่ม
ที่พูดคุยกับรัฐบาลไทยยังไม่สามารถสื่อสารไปยังระดับปฏิบัติทุกกลุ่มในพื้นที่ได้ แต่เชื่อว่าเมื่อการพูดคุยเดินหน้าไป สถานการณ์จะดีขึ้น

              พล.ท.ภราดร กล่าวต่อว่า สถานการณ์ความไม่สงบตลอดเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ภายหลังลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับขบวนการบีอาร์เอ็น มีแนวโน้มลดความถี่และความรุนแรงลง แม้จะมีการกระจายตัวของเหตุการณ์บ้าง แต่เป้าหมายก็ยังเป็นเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลผู้ถืออาวุธ ไม่ใช่ประชาชนทั่วไปที่เป็นเป้าหมายอ่อนแอ ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าเป็นผลมาจากกระบวนการสันติภาพ

              สำหรับการพูดคุยกับแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็นและกลุ่มอื่นๆ ในวันที่ 28 มี.ค.คาดหวังว่าจะมีการกำหนดรูปแบบการพูดคุยที่ชัดเจน ตลอดจนประเด็นต่างๆ ที่จะต้องพูดคุยกันในระยะต่อไป โดยอาจจัดตั้งคณะทำงานกลุ่มย่อยเข้าไปทำงาน และประชุมกันบ่อยครั้งขึ้น

              โอกาสนี้ พล.ท.ภราดร ยังคาดหมายว่าการพูดคุยสันติภาพในครั้งต่อไป น่าจะได้พบปะกับแกนนำคนอื่นของขบวนการ โดยเฉพาะแกนนำที่มีสถานะสูงกว่า นายฮัสซัน ตอยิบ

              สำหรับภารกิจในช่วงเช้าที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ของคณะทำงานพูดคุยสันติภาพฝั่งตัวแทนรัฐบาลไทยนั้น ช่วงเช้า คณะทำงานทั้ง 9 คนได้รับประทานอาหารร่วมกันที่โรงแรมเจดับบลิวแมริออต ซึ่งใช้เป็นสถานที่พัก จากนั้นได้ประชุมนอกรอบเพื่อซักซ้อมความเข้าใจ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เสร็จแล้วจึงเดินทางโดยรถยนต์ไปยังสถานที่จัดประชุม ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าเป็นโรงเรียนฝึกตำรวจมาเลเซีย สถานที่เดิมที่เคยใช้จัดประชุมเมื่อ 28 ก.พ.หรือไม่

            ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ทีมพูดคุยสันติภาพชาย แดนใต้ 15 คนฝ่ายไทย เจรจาที่มาเลย์ กับกลุ่มขบวนการ นำโดย"ฮัสซัน ตอยิบ" แห่งบีอาร์เอ็น มี "รอซี" แกนนำ พูโล และเบอร์ซาตู ร่วมเวทีด้วย เลขาฯ สมช. หัวหน้าคณะไทย ย้ำมุ่งเน้นเรื่องลดสถิติการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ ยังไม่มีเรื่องเขตปกครองพิเศษ รองโฆษกเพื่อไทยสวนกลับปชป.อย่ากวนน้ำให้ขุ่น ไม่ต้องห่วงการเจรจา ไม่เสียดินแดนแน่นอน

         เลขาฯ สมช.กล่าวว่า สำหรับภาคประชาสังคม และภาคประชาชนนั้น ตัวแทนเหล่านี้แจ้งความประสงค์ว่าไม่ต้องการให้เปิดเผยชื่อ เพื่อความปลอดภัย จึงไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อได้ สำหรับรูปแบบการเจรจาบนโต๊ะนั้น ยังไม่สามารถกำหนดหัวข้อและตัวบุคคลได้ เพราะต้องรอดูฝั่งตัวแทนบีอาร์เอ็น ก่อนว่ามีจำนวนเท่าไหร่ และมีใครบนโต๊ะเจรจาบ้าง จึงจะกำหนดหัวข้อและตัวบุคคล เพื่อให้มีความสมดุลกันได้

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีมีข่าวว่า นายฮัสซัน ตอยิบ ตัวแทนบีอาร์เอ็น ไม่พอใจที่ฝ่ายไทยนำภาคประชาชนในพื้นที่ไปพูดคุยด้วย พล.ท. ภราดรกล่าวว่าเป็นเพียงกระแสข่าวที่ออกมาจากฝั่งที่ไม่เห็นด้วย

กับการเจรจาครั้งนี้ ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เมื่อถามถึงกรณีที่บีอาร์เอ็นเตรียมยื่นข้อเสนอ 9 ข้อต่อฝ่ายไทย เลขาฯ สมช. กล่าวว่าไม่เป็นความจริงอีกเช่นกัน เป็นเพียงรายงานข่าวที่ปล่อยมาจากกลุ่ม
ที่ไม่เห็นด้วยกับการเจรจา และเป็นกลุ่มที่มีความเห็นต่าง อีกทั้งการเจรจาครั้งนี้ไม่มีการพูดคุยเรื่องเขตปกครองพิเศษ แต่ไปคุยเพื่อให้ลดสถิติการก่อเหตุ

"แนวทางของรัฐบาลคือต้องการให้เกิดความสงบสุข ประชาชนเดินทางได้อย่างสะดวก และประกอบอาชีพได้อย่างปลอดภัย ไม่ทำร้ายกันอีก เมื่อเหตุการณ์สงบแล้วทางฝ่ายเขาจะให้เราทำอะไรก็
บอกมา แต่ยืนยันว่าไม่มีเรื่องเขตปกครองพิเศษ ไม่แน่นอน ทำไม่ได้ ขอให้เลิกคิดเรื่องนี้"

"การสร้างสันติภาพชายแดนใต้ อยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญไทย ไม่เสียดินแดนแน่นอน เพราะการเจรจาครั้งนี้จะไม่พูดคุยเรื่องเขตปกครองพิเศษ เป็นห่วงก็แต่กลุ่มการเมืองบางกลุ่มที่จะกลัว เพราะเห็นว่าสันติภาพกำลังจะเกิดขึ้นจากการเจรจา เรื่องนี้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ผู้หลักผู้ใหญ่ต่างเห็นด้วยกับการเจรจา แล้วนายถาวรเป็นใคร ถึงดิ้นรนกวนน้ำให้ขุ่นขนาดนี้

สำหรับประวัติและภูมิหลังในเบื้องต้นของแต่ละคนนั้น นายฮัสซัน ตอยิบ หรือฮาซัน ตอยิบ หรืออาแซ เจ๊ะหลง อายุ 68 ปี เกิดที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส จบการศึกษาจากปอเนาะพ่อมิ่ง อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี และปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยปาจาจารัน ประเทศอินโดนีเซีย ปัจจุบันอยู่ที่รัฐตรังกานู ประเทศมาเลเซีย เมื่อปีพ.ศ.2519 หลังจากจบการศึกษาปริญญาตรี กลับมาเปิดปอเนาะที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส แต่ถูกทางการไทยเพ่งเล็ง จนต้องปิดปอเนาะ และหลบหนีไปอยู่มาเลเซีย ต่อมาปี 2538 ร่วมก่อตั้งบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต และปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาองค์กรนำ หรือดีพีพี มีตำแหน่งรองเลขาธิการ รับผิดชอบฝ่ายต่างประเทศ และปลูกฝังอุดมการณ์ของบีอาร์เอ็น

ส่วนนายมะโฉลง หรืออับดุลลาห์ บิน อิสมาแอล อายุ 63 ปี เกิดที่บ้านโฉลง หมู่ 1 ต.ปุโรง อ.กรงปินัง จ.ยะลา จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านเศรษฐกิจการเมือง มหาวิทยาลัยแบกแดด ประเทศอิรัก ปัจจุบันเปิดร้านอาหารอยู่ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย นายมะโฉลงเป็นประธานบีอาร์เอ็น คองเกรส และยังได้รับความไว้วางใจให้เป็นประธานขบวนการร่วมเพื่อเอกราชปัตตานี หรือเบอร์ซาตู แทนนายวันการ์เด เจ๊ะหมาน อีกด้วย และทางการข่าวยังทราบอีกว่า นายมะโฉลงเป็นผู้ติดต่อประสานงานต่างประเทศของบีอาร์เอ็น เพื่อส่งสมาชิกไปฝึกที่ประเทศแถบตะวันออกกลาง

ขณะที่ นายรอซี ลูโบ๊ะโต๊ะเป็ง อายุ 39 ปี เกิดที่บ้านลูโบ๊ะโต๊ะเป็ง อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาศาสนา จากประเทศอียิปต์ เคยทำงานอยู่ที่สถานทูตอิรัก ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ก่อนลาออกมาทำธุรกิจส่วนตัว ปัจจุบันเปิดร้านอาหารอยู่ในมาเลเซีย

วันเดียวกัน ที่โรงแรมปาร์ควิว รีสอร์ต อ.เมือง จ.ปัตตานี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาฯ ศอ.บต. พร้อมด้วยนายเสรี ศรีหะไตร และนายขวัญชาติ ศุภรานันท์ รองผวจ.ปัตตานี ร่วมรับฟังข้อสรุปผลการหารือร่วมกัน ระหว่างผู้นำชุมชนพื้นที่ที่เกิดเหตุซ้ำซากและบ่อยครั้ง โดยผู้นำชุมนุมสะท้อนปัญหาหลายเรื่อง เริ่มตั้งแต่การโยกย้ายข้าราชการในพื้นที่ ไม่ได้สอบถามความคิดเห็นของประชาชน ทำให้ข้าราชการที่ทำงานเข้ากับประชาชนได้อย่างดี ต้องถูกย้ายออกนอกพื้นที่โดยไม่มีเหตุอันควร ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการทำงาน

นอกจากนี้ มีพบปัญหาว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติกับผู้ต้องสงสัยอย่างไม่เป็นธรรม มักใช้ความรุนแรง หรือกระทำเกินกว่าเหตุ อีกทั้งการปิดล้อมตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ ไม่แจ้งกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านทราบก่อน แสดงถึงการไม่ให้เกียรติ ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างผู้นำท้องที่กับเจ้าหน้าที่รัฐ ส่งผลให้ชาวบ้านมองผู้นำท้องที่ในภาพลบ ส่วนการจับกุมคุมขังนั้น ก็ซ้อมทรมาน ทำให้เกิดความคับแค้นใจ หรือเป็นการสร้างเงื่อนไข ในบางครั้งกักขังหน่วงเหนี่ยวบีบบังคับด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม เมื่อศาลตัดสินว่าไม่ได้กระทำผิด ทำให้คนเหล่านี้เกิดความคับแค้นใจที่เคยอยู่ในห้องขังโดยที่ไม่ได้กระทำผิด

พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า จะนำข้อสรุปไปแก้ไขและปรับแก้ต่อไป หากพบว่าปัญหาไหนมาจากเจ้าหน้าที่รัฐก็จะแก้ไข สิ่งสำคัญคือต้องคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน อยากฝากดูแลให้ความเป็นธรรมกับคนที่มีรายชื่อในบัญชีดำ คนพวกนี้ลำบากมาก โดยเฉพาะคนที่ติดหมายจับคดีความมั่นคง ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงอยากให้กลับไปดูว่าพวกเขามีความเดือดร้อนด้านไหนบ้าง ทั้งอาชีพและการศึกษาบุตร เพื่อลดความรู้สึกและบาดแผล จะทำอย่างไรที่จะหยุดเลือด และหยุดความสูญเสีย



'ประยุทธ์'ลั่น9ข้อเสนอBRNเป็นไปไม่ได้

'ประยุทธ์'ลั่น9ข้อเสนอบีอาร์เอ็นเป็นไปไม่ได้ เชื่อพวกค้านเจรจาบึ้มชายแดนใต้ ชี้ไฟใต้ยังไม่จบถ้ารัฐไม่ตอบสนองโจร มองแง่ดีคุยโจรยังดีกว่าถือปืนไล่ล่า

               เมื่อเวลา 15.00 น.วันที่ 28 มี.ค.2556 ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะของพล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) เดินทางไปพูดคุยกับแกนนำบีอาร์เอ็นที่ประเทศมาเลเซียว่า คงต้องรอผลการพูดคุยว่าจะออกมาอย่างไร ซึ่งการพูดคุยครั้งนี้เป็นการไปแนะนำตัวและสร้างความเข้าใจ โดยทางเลขาสมช.พูดไว้ว่า การพูดคุยในครั้งนี้เพื่อให้สถานการณ์ลดความรุนแรงขึ้น

               ส่วนเหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา คิดว่าส่วนหนึ่งอาจมาจากการคัดค้านการเจรจาเพราะผู้ก่อความไม่สงบมีหลายกลุ่ม ย่อมมีกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าก่อนหรือหลังพูดคุยก็มีเหตุระเบิดมาตลอด ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่การกดดันเจ้าหน้าที่ในการเจรจา เพราะทุกวันกดดันเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว แต่เราต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความสงบ

ทั้งนี้การพูดคุยเป็นเพียงทำให้เหตุการณ์ลดลง แต่จะลดลงได้หรือไม่ยังไม่รู้ ซึ่งมองว่าการบังคับใช้กฎหมาย การสร้างความเข้าใจ การไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม
ถือว่า ยังเป็นสิ่งสำคัญ ถ้ากลุ่มนี้พูดกันไม่ได้ก็หากลุ่มอื่นมาพูด ส่วนกรณีที่มีการติดแผ่นป้าย”รัฐปัตตานี”ในพื้นที่ภาคใต้นั้น ถือเป็นการแสดงบทบาทของเขา และเขาพยายามใช้ความรุนแรงมาต่อสู้
เพื่อให้ได้สิ่งที่เขาเรียกร้อง

               “การพูดคุยดีกว่าไม่ได้พูด การให้เขาออกมายังดีกว่า ถือปืนไปไล่ล่ากัน การพูดคุยต้องคุยทุกกลุ่มไม่ใช่เฉพาะกลุ่มนี้กลุ่มเดียว ให้ตกลงกันมาให้ได้แล้วค่อยมาคุยกันต่อ ซึ่งเป็นเรี่องของสมช. ทั้งนี้การพูดคุยต้องเป็นภาพใหญ่และคนในท้องถิ่นต้องได้รับผลประโยชน์ สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึง คือ การรักษาอำนาจรัฐไว้ให้ได้ การบังคับใช้กฎหมายและแผ่นดินนี้แบ่งแยกไม่ได้ ส่วนประชาชน คือ ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และต้องเป็นกลุ่มคนที่พึงพอใจ ตราบใดที่ยังมีความรุนแรงอยู่ก็ต้องพูดคุยเพื่อให้สถานการณ์ลดลง และประชาชนปลอดภัย การสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นที่ปลายด้ามขวานของเราประกอบด้วยหลายมิติ การไปพูดคุยครั้งนี้ เพื่อลดปัญหาความไม่เข้าใจกันในเรื่องประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ แต่ปัญหาอื่นยังไม่มีการพูดคุยกัน ทำให้ยังคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงตราบใดที่กลุ่มคนเหล่านี้ยังไม่ได้รับการตอบสนองในสิ่งที่เขาต้องการ แต่ถ้าเขาต้องการอย่างนั้นก็ต้องลดความรุนแรง ทั้งนี้ในฐานะที่เราเป็น "รัฐ" และเจ้าหน้าที่จำเป็นที่เราต้องกำหนดทิศทางให้ได้”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

               พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่อยากให้พูดถึงข้อเสนอ 9 ข้อของบีอาร์เอ็น เพราะจากที่อ่านดูนั้นยาก และยังเป็นไปไม่ได้ อีกทั้งต้องใช้เวลาและต้องมาพูดคุย พิสูจน์ทราบกันก่อน รวมถึงการลดความบาดเจ็บและสูญเสีย ต้องมาแก้กันทีละข้อ จะแก้ทีเดียว 9 ข้อเลยไม่ได้ ซึ่งเขาพยายามเรียกร้องให้มากเข้าไว้ เราต้องดูว่าอันไหนเรายอมรับได้บ้าง แต่ต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมาย ส่วนข้อเสนอที่จะให้มีการถอนทหารออกจากพื้นที่ คงยังไม่ได้ ถ้าจะถอนทหารออกมาได้นั้น ตนได้วางการแก้ปัญหาไว้แล้ว และเสนอไปยังรัฐบาลแล้วคือการแก้ปัญหา 3 ระยะที่มีอยู่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระยะที่สอง และได้ดำเนินการลดทหารถึง 6 กองพัน แต่เราได้เพิ่มกำลังประจำท้องถิ่นลงไป

               “เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นเราจะค่อยๆถอนทหารออก เหลือเฉพาะทหารในกองทัพภาคที่ 4 การทำงานในวันนี้เราทำภายใต้ยุทธศาสตร์เดียวกันรวมถึงกำหนดระยะเวลา และในวันนี้เรามีการทำงานด้านมั่นคง พัฒนา และการพูดคุย เดินคู่ขนานไปด้วยกัน แต่ต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญ คือ ประชาชนยังอยู่ในอันตรายอยู่ จึงต้องสำนึกและระมัดระวัง รวมถึงทหารและตำรวจ เพราะวันนี้เราอยู่ในที่สว่าง เขาอยู่ในที่มืด จะทำอย่างไรให้เขาออกมาในที่สว่าง ซึ่งก็คือ การพูดคุย ทุกวันนี้เราทำงานภายใต้ 9 ยุทธศาสตร์ของรัฐบาล และ 6 ยุทธศาสตร์ของกอ.รมน. จากการประเมินจาก 3 เดือนที่แล้ว เราได้ 79 % แต่ในเดือนนี้เราได้เพิ่มขึ้นเป็น 83% โดยได้เพิ่มจากความพึงพอใจของประชาชน แต่ในส่วนที่เรายังควบคุมไม่ได้ คือ การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งเป็นตัวถ่วง ทำให้คะแนนรวมตกไป ส่วนการพัฒนาต้องใช้เวลา ซึ่งผมได้เสนอไปยังรัฐบาลผ่านกระทรวงกลาโหมคือ การพัฒนาเฉพาะหน้า ซึ่งต้องเรียนให้ผอ.ศอ.บต.เร่งพัฒนาในระดับตำบลสันติสุข และนำไปสู่การแก้ปัญหาในระดับกรรมการหมู่บ้าน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า”ผบ.ทบ.กล่าว

ปัตตานีพบใบปลิวตำหนิรัฐเกลื่อนงานคุรุวีรชน

              ผู้สื่อข่าวปัตตานีรายงานว่า ในจัดงานรำลึกคุรุวีรชนชายแดนใต้ ครั้งที่ 5 เพื่อสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของครูและบุคคลากรทางการศึกษาในจังหวัดชายภาคใต้ ที่ไม่ยอมย่อท้อต่อความยาก

ลำบาก ด้วยพลังใจที่เข้มแข็งตลอดระยะที่เกิดเหตุการณ์ที่ผ่านมา และจากสถานการณ์ความไม่สงบตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน มีครูที่เสียชีวิตรวม 159 ปีนั้น พบว่ามีใบปลิวที่มีข้อความตำหนิรัฐ

ถูกทิ้งไว้ภายในงาน เช่น  28 มีนาคม รัฐบาลสิ้นคิด ร้องขอโจร เจรจากันนะคุณโจร  นอกจากนั้นด้านหลัง ระบุอีกว่า เป็นบันทึก ที่กล่าวตำหนิและแช่งผู้ที่ทำลายแผ่นดิน  ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้นำเก็บไว้
เพื่อตรวจสอบลายนิ้วมือต่อไป

"สุกำพล"เรียกผบ.เหล่าทัพถก ห่วงสื่อเสนอข่าวมั่นคง 

"สุกำพล"เรียกผบ.เหล่าทัพถก ห่วงสื่อเสนอข่าวมั่นคง ด้าน"ประยุทธ์"วอนอย่าเสนอข่าวทำคนเข้าใจทหารผิด ขณะที่"ผบ.ทอ."ชี้ข่าวทหารละเอีดดอ่อน

ผู้สื่อข่าวรายงาน(28มี.ค.56)ว่า ก่อนการประชุมสภากลาโหม พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ได้เชิญพล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) และผู้บัญชาการเหล่าทัพ ได้หารือนอกรอบ โดยได้มีการหารือถึงการทำงานของสื่อมวลชนกับความมั่นคงของประเทศ โดยพล.อ.อ.สุกำพล มีความเป็นห่วงจึงได้ฝากผู้บัญชาการเหล่าทัพทำความเข้าใจกับสื่อมวลชน โดยใช้เวลาพูดคุยประมาณ 30 นาที

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องดังกล่าวว่า สื่อมวลชนถือว่ามีความสำคัญสูงสุดในการทำให้ประเทศชาติเกิดความมั่นคง และทำให้เกิดความเข้าใจกันของคนภายในชาติ สิ่งสำคัญเราต้องทำความเข้าใจในทุกมิติ ทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และศิลปะวัฒนธรรม ซึ่งถือว่าเป็นแก่นของคนในชาติ ทั้งนี้สถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ถือเป็นสถาบันหลักที่จะทำให้การก้าวเดินไปสู่ความมั่นคงกับประเทศต่างๆในอาเซียนเกิดความเป็นระบบ ทั้งนี้รมว.กลาโหมได้กำชับในที่ประชุมสภากลาโหม โดยได้ชื่นชมการทำงานของสื่อทุกคนและได้กำชับกับผบ.เหล่าทัพว่าขอให้ช่วยคุยกับสื่อให้เข้าใจบทบาทความมั่นคง เพราะว่าการนำเสนอข่าวในบางครั้งอาจจะด้วยความปรารถนาที่แสดงข้อคิดเห็นในสิ่งที่มองเห็น คิดว่าต้องการเป็นปากเสียงให้กับประชาชน แต่บางครั้งอาจลืมไปว่าเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอยู่จะเกิดความเสียหายหรือไม่

"ไม่ต้องการให้สื่อปกป้องกองทัพ ขอแค่ป้องกันความเข้าใจผิดให้กับกองทัพ เพราะสิ่งที่ทำนั้นมีเจตนาดีทั้งสิ้น ตั้งแต่มีการตั้งกองทัพบกขึ้นมาตั้งแต่ร.5 ไม่เคยมีนโยบายทำให้ประชาชนเดือดร้อน และไม่มีนโยบายสร้างอำนาจ ผมไม่เคยคิด อำนาจทหารมีอย่างเดียว คือ ปกครองผู้บังคับบัญชา ถ้าไม่มีอำนาจตรงนี้ทหารจะไม่เป็นทหาร จะกลายเป็นโจรทั้งหมด"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ด้านพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) กล่าวภายหลังการประชุมว่า เท่าที่ตนได้รับทราบนั้นรมว.กลาโหมมีความเป็นห่วง ซึ่งตรงกับที่กองทัพอากาศดำเนินการอยู่ 2ประเด็น คือประเด็นที่ 1 เรื่องสื่อกับความมั่นคง ที่สื่อจะต้องเข้าใจบทบาทของความมั่นคง โดยตนพยายามที่จะให้สื่อได้เห็นภาพว่าในอนาคตสื่อจะต้องมีการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์

และประเด็นที่ 2 คือสื่อจะต้องเข้าใจในเรื่องการนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวกับความมั่นคง เนื่องจากเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนดังนั้นจะต้องระวัดระวังเรื่องการนำเสนอข่าว ในส่วนของกองทัพอากาศพยายาม
ให้สื่อมวลชนด้านความมั่นคงเห็นการทำหน้าที่ในประเทศสากลในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งถือว่าเป็นกรอบใหญ่ที่กองทัพอากาศให้ความสำคัญ

///////////////////
(ข่าวปล่อบ9ข้อเรียกร้องBRN)
วันพุธที่ 27 มีนาคม 2013 เวลา 08:29 น.  
'BRN'ยื่น9ข้อเรียกร้อง ถอนทหาร-นิรโทษหมด เขตปค.-โมเดลอาเจ๊ะ 'วงใน'หยามเจรจาเหลว


เปิด 9 ข้อเรียกร้อง BRN จี้ถอนทหาร-ตั้งเขตปกครองพิเศษ 3 จว.ใต้-ยึดโมเดลอาเจ๊ะ-นิรโทษหมด พร้อมออกลีลา "ตั้งเงื่อนไข" ปัดรับภาคประชาชนเข้าร่วมถก อ้างไม่ใช่คู่ขัดแย้ง ขณะที่ "รอยเตอร์"
อ้างสัมภาษณ์ฝ่ายปฏิบัติการ BRN ไม่เชื่อเจรจาสร้างสันติได้ เหตุ "ฮาซัน ตอยิบ" คุมนักรบไม่ได้

แหล่งข่าวระดับสูงของมาเลเซีย เปิดเผยถึงการเจรจาระหว่างตัวแทนฝ่ายไทยกับตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็น ในวันที่ 28 มี.ค.นี้ ที่ประเทศมาเลเซียว่า ฝ่ายขบวนการกำหนดบุคคลที่เจรจาครั้งนี้ 5 คน โดยมีนายฮาซัน ตอยิบ เป็นหัวหน้าคณะ มีบุคคลจากขบวนการบีอาร์เอ็น โคออดิเนต จำนวน 2 คน จากขบวนการพูโล 1 คนและจากการขบวนการ BIPP จำนวน 1 คน โดยข้อเรียกร้องที่ขบวนการบีอาร์เอ็นกำหนดไว้แบบไม่เป็นทางการ เบื้องต้นมี  9 ข้อ คือ

1.ผู้ที่จะมาเจรจาต้องเป็นตัวแทนจากรัฐบาลไทยเท่านั้น

2.รับรองในอัตตลักษณ์ ภาษา ชาติพันธุ์ มลายู

3.ถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ชายแดนภาคใต้ พร้อมยกเลิกกฎหมายพิเศษ

4.ให้กองกำลังท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลแทน

5.จัดพื้นที่ชายแดนภาคใต้เป็นเขตปกครองพิเศษ

6.ให้ประเทศมาเลเซียเป็นตัวกลางและสำนักนายกรัฐมนตรีของ 2 ประเทศในการเจรจา เพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล (นายนายิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และนายอับดุลเลาะ บาดาวี

อดีตนายกรัฐมนตรี เท่านั้น)

7.การเจรจาครั้งนี้ไม่ต้องผ่านโอไอซีและองค์กรจากยุโรป

8.ให้นิรโทษกรรมผู้กระทำผิด

9.การปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ยึดโมเดลของเขตปกครองพิเศษอาเจ๊ะ ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งข้อเรียกร้องทั้งหมดจะต้องเสนอผ่านสันติบาลประเทศมาเลเซียก่อนส่งไปยังฝ่ายเจรจาของไทย

อย่างไรก็ตาม มีรายงานจากฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนใต้ว่า ขณะนี้นายฮาซัน ตอยิบ รองเลขาธิการ และคณะกรรมการของบีอาร์เอ็น แสดงความไม่พอใจกับการที่สภาความมั่นคงแห่งชาติของ
ไทยได้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน ในการกำหนดกรอบการพูดคุยสันติภาพ 2 ฝ่าย ที่จะมีขึ้นในวันที่ 28 มี.ค.ที่เกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย โดยทางฝ่ายบีอาร์เอ็นได้ส่งสัญญาณถึงพล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสมช.ว่า การพูดคุย 2 ฝ่ายเพื่อยุติความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ควรมีกรรมการจากภาคประชาชน

"กลุ่มบีอาร์เอ็นเห็นว่าคู่ขัดแย้งครั้งนี้เป็นเรื่องของรัฐบาลกับบีอาร์เอ็น และบีอาร์เอ็นไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งหากมีปัญหาบีอาร์เอ็นสามารถที่จะสื่อสารกับประชาชนในพื้นที่ได้ ดังนั้นน่าจะทำให้การเดินทางไปพูดคุยสันติภาพรอบ 2 อาจต้องมีการทบทวนและปรับเปลี่ยนตัวคณะกรรมการ"หน่วยข่าวระบุ

สำนักข่าวรอยเตอร์ โดย "แอนดรูว์ อาร์.ซี. มาร์แชล" เขียนรายงานพิเศษสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทย เกี่ยวกับการเจรจาสันติภาพที่กำลังจะเกิดขึ้น ตอนหนึ่งในการสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติการของบีอาร์เอ็นคนหนึ่ง ที่ใช้นามแฝงว่า "อับดุลเลาะห์" เชื่อว่า การเจรจาครั้งนี้คงไร้ความหมาย เนื่องจากฮาซัน ตอยิบ ที่อ้างเป็นหัวหน้า ไม่มีความสามารถที่จะควบคุมนักรบรุ่นใหม่ได้ และชาวมาเลย์-มุสลิมจำนวนอีกหลายหมื่นจะสู้ต่อ

วงถกสันติภาพจบแล้ว BRN ลั่น หยุดป่วน แลกรัฐลบชื่อบัญชีดำ ขณะ ปัตตานี ยังมีเหตุตัดต้นไม้-โปรยตะปูเรือใบ

(28/3/56)ได้เกิดเหตุ คนร้ายตัดต้นไม้ และโปรยตะปูเรือใบ บนถนนสาย 42 จากบ้านกะลาพอ ถึงบ้านตะบิ้ง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้นำกำลังเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุแล้ว ในส่วนของ
การเจรจาในประเทศมาเลเซีย ได้จบลงแล้ว โดยทางแกนนำ BRN ตกลงจะหยุดเหตุรุนแรง พร้อมขอให้ฝ่ายความมั่นคงไทย ลบรายชื่อในบัญชีดำ และสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัด
ชายแดนภาคใต้

ไม่มีความคิดเห็น: