PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2556

ก.ล.ต.ส่งดีเอสไอฟ้อง "ฉาย บุนนาค"ปั่นหุ้น "ไมด้าลิสซิ่ง-แมกซ์ เมทัลฯ


ก.ล.ต.ส่งดีเอสไอฟ้อง "ฉาย บุนนาค"กับพวกรวม 13 ราย โทษฐานปั่นหุ้น "ไมด้าลิสซิ่ง-แมกซ์ เมทัลฯ"

ก.ล.ต. กล่าวโทษนายฉาย บุนนาค กับพวกรวม 13 ราย ได้แก่ นายสรศักดิ์ วงศ์ชินศรีสกุล นางมะลิวัลย์ วงศ์ชินศรี นางสาววทันยา วงษ์โอภาสี นายสุพิชยะ ฉายเหมือนวงศ์ นายปัณณทัต กล่อมสมร นายพาวิตต์ นาถะพินธุ นายศรัณย์ ส่งโชติกุลพันธ์ นายเทพฤทธิ์ สีหิสราภิสิทธิ์ นางสาวดวงกมล เกียรติสุขเกษม นายมีศักดิ์ มากบำรุง นางสาวสุรัสวดี เกตุทัต และนายไท บุญปราศภัย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2556 กรณีเป็นผู้รู้เห็นและผู้สนับสนุนในการสร้างราคาหลักทรัพย์บริษัทไมด้า ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (ML) ในปี 2551 และ 2553 และบริษัทแมกซ์ เมทัล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (MAX) ในปี 2553

ก.ล.ต. ได้รับแจ้งจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าพบ สภาพการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ผิดปกติในหุ้น ML ในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม 2551 ถึงเดือนพฤษภาคม 2551 และช่วงเดือนสิงหาคม 2553 และหุ้น MAX ในช่วงเดือนกันยายน 2553 และจากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบพยานหลักฐานน่าเชื่อว่า นายฉายกับพวก ได้สั่งซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของบุคคลต่าง ๆ จำนวนมาก

โดยมีพฤติกรรมอำพรางในลักษณะการเข้าไปส่งคำสั่งซื้อขายในปริมาณมากหลายระดับราคา มีการครอง bid และ offer ผลักดันราคา จับคู่ซื้อขายกันเองภายในกลุ่ม กระตุ้นการซื้อขายด้วยการทยอยส่งคำสั่งซื้อหรือเคาะซื้อด้วยจำนวนย่อย ๆ ที่ระดับราคาเดียวกัน หลายรายการ ตลอดจนพยุงราคาหลักทรัพย์ เพื่อให้บุคคลทั่วไปหลงผิดไปว่าหลักทรัพย์นั้นมีการซื้อขายกันมากหรือราคาเปลี่ยนแปลงไป โดยมีพฤติกรรมการซื้อขายในลักษณะต่อเนื่อง ส่งผลให้การซื้อ หรือขายหลักทรัพย์นั้นผิดไปจากสภาพปกติของตลาด เพื่อชักจูงให้บุคคลทั่วไปทำการซื้อขายหลักทรัพย์นั้น ก.ล.ต. เห็นว่าการกระทำของนายฉายกับพวกมีหลักฐานน่าเชื่อว่าเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 243 (1) (2)

และมาตรา 244 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา นอกจากนี้ การซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านบัญชีของบุคคลต่าง ๆ น่าเชื่อว่าเป็นการซื้อขายเพื่อประโยชน์ของนายฉาย แต่ไม่พบว่านายฉาย ได้เคยรายงานการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งหลักทรัพย์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดแต่อย่างใด เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 246 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ด้วย จึงกล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ดังนี้

(1) หุ้น ML ในช่วงปี 2551 กล่าวโทษนายฉาย บุนนาค นายสรศักดิ์ วงศ์ชินศรีสกุล และนางมะลิวัลย์ วงศ์ชินศรี ในฐานะมีส่วนรู้เห็นหรือตกลงร่วมกันในการสร้างราคาหลักทรัพย์ และนางสาววทันยา วงษ์โอภาสี ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทหลักทรัพย์ ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือนายฉายในการส่งคำสั่งซื้อขายที่เป็นการสร้างราคาหลักทรัพย์

(2) หุ้น ML ในเดือนสิงหาคม 2553 กล่าวโทษนายฉาย บุนนาค นายสุพิชยะ ฉายเหมือนวงศ์ ในฐานะมีส่วนรู้เห็นหรือตกลงร่วมกันในการสร้างราคาหลักทรัพย์ และนายปัณณทัต กล่อมสมร นายพาวิตต์ นาถะพินธุ นายศรัณย์ ส่งโชติกุลพันธ์ นายเทพฤทธิ์ สีหิสราภิสิทธิ์ และนางสาวดวงกมล เกียรติสุขเกษม ในฐานะเจ้าของบัญชีที่ให้การสนับสนุนช่วยเหลือนายฉายในการสร้างราคาหลักทรัพย์ และนายไท บุญปราศภัย ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือนายฉายในการสร้างราคาหลักทรัพย์

(3) หุ้น MAX ในเดือนกันยายน 2553 กล่าวโทษนายฉาย บุนนาค ในฐานะมีส่วนรู้เห็นหรือตกลงร่วมกันในการสร้างราคาหลักทรัพย์ ตลอดจนนางสาววทันยา วงษ์โอภาสี ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทหลักทรัพย์ ซีมิโก้ จำกัด(มหาชน) นายปัณณทัต กล่อมสมร นายพาวิตต์ นาถะพินธุ นายศรัณย์ ส่งโชติกุลพันธ์ นายเทพฤทธิ์ สีหิสราภิสิทธิ์ นางสาวดวงกมล เกียรติสุขเกษม นายมีศักดิ์ มากบำรุง และนางสาวสุรัสวดี เกตุทัต ในฐานะเจ้าของบัญชีที่ให้การสนับสนุนช่วยเหลือนายฉาย ในการสร้างราคาหลักทรัพย์ และนายไท บุญปราศภัย ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือนายฉาย ในการสร้างราคาหลักทรัพย์

การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นอำนาจและดุลพินิจของศาลยุติธรร

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น: