PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

"ธีระชัย":วิธีประกัน รัฐขาดทุนเท่าไหร่ ชาวนาก็ได้ประโยชน์เท่านั้นเต็มๆ

จากเฟซบุ้คคุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล

วิธีประกัน รัฐขาดทุนเท่าไหร่ ชาวนาก็ได้ประโยชน์เท่านั้น เต็มๆ

- แต่วิธีจำนำ รัฐขาดทุนเท่าไหร่ ชาวนาได้ประโยชน์เพียงบางส่วน ที่เหลือ จะตกหล่น เบี้ยบ้ายรายทาง แถมบางส่วนออกไปนอกประเทศ

- ผมขอให้ความเห็นทางวิชาการ เปรียบเทียบจำนำข้าวกับประกันราคา ว่านโยบายไหนดีกว่ากัน

- ขอเริ่มต้นว่า ผมไม่ขัดข้องที่จะมีการช่วยเหลือชาวนา แต่ที่ผ่านมา การถกเถียงเรื่องนี้มีการปะปนประเด็นกันไปมา จนทำให้เข้าใจเรื่องได้ยาก พูดกันที่ไร ก็อารมณ์เสีย ด่ากันไปๆ มาๆ ทำให้มองประเด็นวิชาการไม่ชัด

- เรื่องนี้มี 2 มิติซ้อนกันอยู่

- มิติที่หนึ่ง คือการช่วยเหลือชาวนา ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ที่ทุกคนเห็นด้วยนั้น วิธีการที่ใช้ ไม่ว่าจะเป็นการประกัน หรือการจำนำ คำถามคือ วิธีนั้นก่อภาระต่อรัฐเป็นเงินเท่าใด และรัฐจะเอาเงินจากไหมมาใช้เพื่อช่วยเหลือชาวนา

- เงินที่จะใช้ช่วยเหลือชาวนานั้น จะใช้เงินจากการเก็บภาษีต่างๆ เพิ่มขึ้น หรือจะใช้เงินจากการเพิ่มหนี้สาธารณะ

- ในมิตินี้ ถ้าใช้เงินจากการเก็บภาษี ก็จะไม่กระทบเครดิตของประเทศ แต่ถ้าใช้เงินจากหนี้ อาจจะกระทบเครดิตของประเทศอย่างแรง

- ประเด็นหลักในมติที่หนึ่ง ก็คือ จะต้องมีการประเมินตัวเลขขาดทุน และประเมินภาระต่อรัฐ ให้ถูกต้องน่าเชื่อถือ และต้องชี้แจงให้ชัดว่าภาระดังกล่าว รัฐบาลจะหาเงินจากไหนมาใช้รองรับโครงการนี้

- ถ้าไม่เปิดเผยตัวเลข หรือให้ตัวเลขที่ไม่น่าเชื่อถือ บริษัทจัดอันดับเครดิตและนักเศรษฐศาสตร์ ก็จะประเมินกันเอง และหากขาดทุนถึงขั้นที่ประเทศถูกเตือนหนักๆ หรือถูกลดเครดิต ก็จะไม่ต่างอะไรกับสถาบันระดับโลก เขาให้ vote of no confidence แก่รัฐบาล

- ดังนั้น ในมิติที่หนึ่งนี้ ไม่ว่าวิธีจำนำข้าวหรือประกันราคา ต้องมีคำตอบเรื่องภาระของรัฐ และต้องมีการเปิดเผยข้อมูลเหมือนๆกัน

- มิติที่สอง คือถามว่าวิธีการช่วยเหลือชาวนา วิธีใดที่ทำให้เงินผ่านไปถึงมือชาวนาเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่ากัน ในมิติที่สองนี้ ผมต้องอธิบายอย่างระมัดระวังมาก เพราะมิฉะนั้น ผู้อ่านจะคิดว่าผมเอนเอียงในด้านการเมือง

- ผมได้เข้าอบรมหลักสูตร ปปร. รุ่นที่ 12 ที่สถาบันพระปกเกล้าในปี 2551/2552 และได้พบ ดร ธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้จัดการ ธกส. เราปรึกษากันแล้ว เห็นว่าโครงการจำนำข้าวที่ดำเนินการไปหลายครั้งในอดีตนั้น ทำให้เกิดภาะต่อรัฐอย่างมาก ไม่คุ้มกับผลดีที่ตกแก่ชาวนา

- เราสองคนจึงได้ร่วมกันทำเอกสารวิชาการขึ้น ร่วมกันเสนอแนวคิด ให้รัฐบาลในอนาคต ควรจะใช้วิธีประกันราคา แทนการจำนำ เอกสารดังกล่าวเผยแพร่ต่อสื่อในปี 2552 และมีหนังสือพิมพ์บางฉบับได้นำไปอ้างอิงด้วย

- ดังนั้น ในวันนี้ ที่ผมพูดถึงวิธีประกันราคา จึงยืนยันได้ว่าไม่ใช่การพูดเพื่อเข้าข้างพรรคประชาธิปัตย์

- ทั้งนี้ ภายหลังที่ได้มีการเผยแพร่เอกสารวิชาการดังกล่าว ต่อมาเมื่อ ปชป. เข้ามาเป็นรัฐบาล ปชป. ก็ได้เปลี่ยนไปใช้นโยบายประกันรายได้ ซึ่งมีหลักคิดคล้ายคลึงกับที่เราเสนอในเอกสารวิชาการ

- แต่ผมขอยืนยันว่า ปชป. ไม่เคยติดต่อสอบถามหรือพูดคุยกับผม ไม่ว่าในเรื่องเอกสารวิชาการ หรือในเรื่องโครงการประกันรายได้ของ ปชป. แต่อย่างใด และผมไม่ทราบว่า ปชป. ได้อ่านเอกสารวิชาการของผมหรือไม่ด้วยซ้ำ

- กลับมาในประเด็นว่าวิธีการใด (ก) เม็ดเงินจะผ่านไปถึงมือชาวนามากกว่ากัน และ (ข) วิธีใดจะก่อภาระแก่รัฐน้อยกว่ากัน

- ในเรื่อง (ก) เม็ดเงินน้้น ทั้งสองวิธี เงินผ่านไปถึงมือชาวนา

- ในการเปรียบเทียบ ผู้อ่านต้องทำใจเป็นธรรมเสียก่อนนะครับ ท่านต้องยกเอาความรักเกลียดชอบชังทางการเมืองออกไปเสียก่อนชั่วคราว จึงจะเข้าใจแง่มุมทางวิชาการ

- การเปรียบเทียบ ต้องเริ่มต้น ด้วยสมมุติฐาน ว่ามีการตั้งระดับการช่วยเหลือที่เท่ากันเสียก่อน คือ กรณีรับจำนำ ก็รับในราคา 15,000 บาทต่อตัน กรณีประกันราคา ก็ประกันในราคา 15,000 บาทต่อตัน

- ถ้าคิดแบบง่ายๆ โดยยังไม่ต้องดูองค์ประกอบอื่นๆ มากมาย การประกันย่อมมีโอกาสทำให้เม็ดเงิน ผ่านไปถึงมือชาวนาเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่าแน่นอน

- เพราะวิธีการประกันนั้น ทำได้ง่ายกว่า ขั้นตอนน้อยกว่า

- (1) ค่าใช้จ่ายในการบริหารต่ำกว่า (2) ไม่ปวดหัวเรื่องหาสถานที่เก็บข้าว (3) ไม่กังวลเรื่องข้าวหาย (4) ไม่ต้องเสียเงินให้แก่ชาวนาเขมร ชาวนาลาว และต่อไปชาวนาพม่า (5) ไม่มีการเวียนเทียนข้าว (6) ไม่มีสต๊อกลม (7) ไม่มีข้าวเสื่อมสภาพ (8) โรงสีไม่สามารถกดราคาแก่ชาวนาโดยอ้างว่าข้าวมีคุณภาพต่ำ (9) โรงสีไม่สามารถขยักเงินแก่ชาวนาโดยอ้างว่าข้าวมีความชื้นสูง (10) ไม่มีข้อครหาว่ารัฐขายข้าวในราคาถูกเกินไป หรือ (11) ขายแบบ G to G ทั้งที่ไม่ใช่ หรือ (12) ขายให้แก่พรรคพวกโดยเลี่ยงไม่มีการประมูลแข่งราคากันตามระเบียบราชการ

- ถ้าหากวิธีจำนำจะเหนือว่าวิธีประกัน ก็เฉพาะในเรื่อง (ข) ในประเด็นว่าวิธีจำนำ อาจจะก่อภาระแก่รัฐน้อยกว่าก็ได้

- ถามว่าจะก่อภาระต่อรัฐน้อยกว่าได้อย่างไร

- แนวคิดของผู้ที่สนับสนุนเรื่องนี้ คือหวังว่า การที่รัฐกักตุนเก็บข้าวเอาไว้แต่ผู้เดียว จะทำให้ราคาตลาดโลกสูงขึ้น จึงเท่ากับ จะเอากำไรของผู้ส่งออกมาเป็นของรัฐ และบีบให้ประชากรโลกต้องยอมซื้อข้าวในราคาที่แพงขึ้น เพื่อลดภาระของรัฐ

- ความหวังดังกล่าวจะเป็นจริง ก็ต่อเมื่อปริมาณข้าวในตลาดโลกจากแหล่งอื่นมีไม่มากนัก

- แต่ในขณะนี้ การปลูกข้าวเพื่อส่งออกได้ขยายวงไปหลายประเทศแล้ว ไม่ว่าเวียดนาม อินเดีย และต่อไป พม่าก็จะเป็นแหล่งที่สำคัญ

- นอกจากนี้ เนื่องจากโกดังเก็บข้าวในไทย ไม่ได้มีการลงทุนแบบมาตรฐานโลก ข้าวที่เก็บจึงเสื่อมสภาพเร็ว ยิ่งเก็บนาน ก็ยิ่งขายได้ราคาต่ำลงๆ

- และถึงแม้การกักตุนสต๊อกเอาไว้ สมมุติอาจจะมีผลทำให้ราคาตลาดโลกสูงขึ้นก็ตาม ราคาที่สูงขึ้น จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว ตราบที่รัฐบาลไทยยังกักตุนข้าวเอาไว้เท่านั้น แต่เนื่องจากสต๊อกข้าวไทยมีปริมาณมหาศาล ดังนั้น เมื่อใดที่รัฐบาลไทยนำข้าวออกขาย ราคาในตลาดโลกก็จะลดลง

- ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ผมจึงเห็นว่าการประกันจะทำให้เม็ดเงิน ผ่านลงไปถึงมือชาวนา เต็มเม็ดเต็มหน่วย กว่าการจำนำมาก

- วิธีประกัน รัฐขาดทุนเท่าไหร่ ชาวนาก็ได้ประโยชน์เท่านั้น เต็มๆ

- แต่วิธีจำนำ รัฐขาดทุนเท่าไหร่ ชาวนาได้ประโยชน์เพียงบางส่วน ที่เหลือ จะตกหล่น เบี้ยบ้ายรายทาง แถมบางส่วนออกไปนอกประเทศ

- ส่วนที่ตกหล่นไปนี้ นอกจากจะสร้างภาระแก่ผู้เสียภาษีโดยไม่จำเป็นแล้ว ยังเป็นการสร้างนิสัยที่ไม่ดี ให้เกิดขึ้นในแวดวงบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ประโยชน์ที่ไม่ควรได้จากขบวนการจำนำอีกด้วยครับ

ไม่มีความคิดเห็น: