PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2556

มิคสัญญี′อียิปต์′ บทพิสูจน์ "รัฐประหาร"

มติชน วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2556 เวลา 13:09:57 น.


อียิปต์ขับไล่ประธานาธิบดีพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว 2 คน และได้เห็นการประท้วงนับครั้งไม่ถ้วนในช่วงเวลา 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา

25 กรกฎาคม 2554 ผู้ชุมนุมประท้วงชาวอียิปต์เรือนล้านที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการลุกฮือในตูนิเซีย รวมตัวกันบนท้องถนนในกรุงไคโร เพื่อชุมนุมประท้วงขับไล่ประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค

หลังจากพยายามใช้ความรุนแรงปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ในที่สุด มูบารัค ผู้นำเผด็จการที่ปกครองประเทศมาเกือบ 30 ปี ต้องยอมก้าวลงจากตำแหน่ง ส่งต่ออำนาจการปกครองให้กับสภากลาโหม เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์

2 ปีหลังการชุมนุมประท้วงใหญ่เพื่อขับไล่มูบารัค ชาวอียิปต์พบว่าพวกเขาต้องถอยกลับมาที่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง


ครานี้เป็นการประท้วงที่นำไปสู่การขับไล่ โมฮัมเหม็ด มอร์ซี ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งโดยระบอบประชาธิปไตยคนแรกของประเทศออกจากตำแหน่ง บางคนขนานนามว่าเป็น "การปฏิวัติครั้งที่ 2" ของอียิปต์

"ลองคิดถึงผู้คนหลายล้านที่ยินดีกับชัยชนะในการเลือกตั้งของมอร์ซี คนเหล่านี้ที่ตั้งความหวังไว้กับมอร์ซี" ฟาวาซ เกอร์เจส ผู้อำนวยการศูนย์ตะวันออกกลางศึกษาของวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์แห่งลอนดอน (แอลเอสอี) กล่าว

"หนึ่งปีหลังจากนั้น ชาวอียิปต์หลายล้านคนที่สนับสนุนมอร์ซีบอกว่า เขาต้องไป"

พวกเขาได้ตามที่ปรารถนาเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา เมื่อกองทัพอียิปต์ก่อรัฐประหารโค่นมอร์ซีลงจากอำนาจ

มอร์ซี เป็นชาวมุสลิมผู้เคร่งครัดที่มีแนวคิดไปในทิศทางเดียวกับกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี เมื่อเดือนมิถุนายน 2555 โดยชนะแบบได้คะแนนเสียงฉิวเฉียด 51.7 เปอร์เซ็นต์ จากการสามารถดึงเสียงสนับสนุนได้จากชาวอียิปต์ทุกกลุ่ม

ทว่าหลังจากนั้น มอร์ซีถูกฝ่ายตรงข้ามวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลของเขาไม่ได้ทำอะไรเลยนอกจากพุ่งเป้ารวบอำนาจแบบเบ็ดเสร็จนับตั้งแต่ขึ้นครองตำแหน่ง และยังล้มเหลวที่จะนำมาซึ่งความคาดหวังของประชาชนชาวอียิปต์ถึงเสรีภาพและความยุติธรรมในสังคม

มอร์ซียังถูกกล่าวหาถึงความเป็นเผด็จการ โดยบังคับใช้นโยบายอนุรักษนิยมตามความต้องการของตน ผ่านการบังคับใช้กฤษฎีกาและเสียงข้างมากที่เกินมาเพียงเล็กน้อย เขาทำตัวเป็นศัตรูกับฝ่ายตุลาการ ตำรวจ และสื่อมวลชน

ชาวอียิปต์ยังผิดหวังกับการก่ออาชญากรรมรุนแรงและความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจ ที่ไม่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการที่ดีขึ้นเลยนับตั้งแต่ขับไล่มูบารัคออกไป การว่างงานยังคงสูง ราคาอาหารถีบตัวขึ้น ไฟฟ้าดับบ่อยๆ และต้องเข้าแถวยาวเหยียดเพื่อรอเติมน้ำมัน

จนเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2556 จัตุรัสตาหรีร์ กลายเป็นจุดศูนย์กลางของกลุ่มผู้ประท้วงอีกครั้ง ในการชุมนุมครบรอบ 2 ปี จุดเริ่มต้นการปฏิวัติต่อต้านมูบารัค เพียงแต่ครั้งนี้ต่างออกไปเล็กน้อย เมื่อเป้าหมายที่ฝูงชนผู้โกรธแค้นตะโกนขับไล่คือมอร์ซี

หลังจากนั้น เกิดการประท้วงในวงกว้างนับตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน นำไปสู่การตัดสินใจของกองทัพที่รัฐประหารโค่นอำนาจมอร์ซี

ทว่าอีกด้านหนึ่งก็ยังคงมีผู้สนับสนุนมอร์ซีอยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน

และพิสูจน์ว่า การรัฐประหารไม่สามารถแก้ปัญหาทางการเมืองได้ แม้จะอ้างการสนับสนุนจากประชาชนก็ตาม

8 กรกฎาคม กลุ่มผู้สนับสนุนมอร์ซี ปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 51 คน หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม กลุ่มผู้สนับสนุนมอร์ซียังคงชุมนุมเป็นรายวัน การปะทะกันครั้งนี้ทวีความรุนแรงขึ้น มีผู้เสียชีวิต 80 คน

กระทั่งเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ที่รัฐบาลรักษาการของอียิปต์ภายใต้ประธานาธิบดีอัดลีย์ มันซูร์ ประกาศว่าจะสลายค่ายผู้ชุมนุมที่ปักหลักอยู่ที่มัสยิดราบา อัล อาดาวิยาภายใน 24 ชั่วโมง

และเข้าสลายจริงในวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา จนมีผู้เสียชีวิตไป 638 คน เป็นอย่างน้อย

ผู้สังเกตการณ์ภายนอกบอกว่า การขับไล่มอร์ซีออกไปก่อนที่จะหมดวาระดำรงตำแหน่งเป็นการขัดขวาง หลีกเลี่ยงไม่ใช้กระบวนการทางประชาธิปไตย และเป็นย่างก้าวที่ค่อนข้างอันตราย

"การชุมนุมประท้วงเป็นสัญญาณของการมีประชาธิปไตยที่แข็งแกร่ง แต่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลควรจะกระทำที่หีบเลือกตั้ง ไม่ใช่ผ่านการใช้ความรุนแรง" เอ็ด ฮุสเซน นักวิชาการอาวุโสด้านตะวันออกกลางศึกษาที่สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกล่าว

และได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การขับมอร์ซี

พ้นจากตำแหน่ง ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าการประท้วงและความรุนแรงจะยุติลง กลุ่มภราดรภาพมุสลิมยังคงได้รับการสนับสนุนมากอย่างมีนัยสำคัญในอียิปต์ และคนกลุ่มนี้ได้ระเบิดความไม่พอใจออกมา

จนมาถึงจุดที่นำไปสู่อันตรายแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ส่งผลให้อียิปต์เกิดความไร้เสถียรภาพมากยิ่งขึ้น

และยังไม่รู้ว่าหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป

หน้า 9 มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม 2556

ไม่มีความคิดเห็น: