PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สมช.วิเคราะห์"ม็อบแช่แข็งรีเทิร์น"จับตาช็อตต่อช็อตต้าน"นิรโทษ"


วันที่ 04 สิงหาคม พ.ศ. 2556 เวลา 13:41:42 น.

ที่มา:มติชนรายวัน สัมภาษณ์พิเศษ โดย ปิยะ สารสุวรรณ


หมายเหตุ - พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้สัมภาษณ์ ?มติชน? ถึงการประเมินสถานการณ์การชุมนุมของ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มหน้ากากขาว กลุ่มคณะเสนาธิการร่วม พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อต่อต้านการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ภายหลังที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ระหว่างวันที่ 1-10 สิงหาคมนี้

@ ในฐานะฝ่ายความมั่นคงอ่านเกม-แก้ยุทธวิธีการชุมนุมของกลุ่มคณะเสนาธิการร่วมอย่างไร

อ่านเกมกันตลอด เพราะทุกท่านก็จบเสนาธิการ เราก็จบเสนาธิการ ซึ่งต้องอ่านเกม กันช็อตต่อช็อต ซึ่งรูปแบบคงไม่เหมือนเดิม เพราะเขาก็มีพัฒนาการไปตามสถานการณ์ เมื่อรัฐบาลประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯแล้ว เขาจะมีวิธีการรุก รับ ร่น ถอย อยู่ตลอดเวลา เช่นเดียวกับรัฐบาลเหมือนกัน

@ ความเหมือนและความแตกต่างของม็อบองค์การพิทักษ์สยาม (อสพ.) ภายใต้การนำของ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือเสธ.อ้าย กับกลุ่มกองทัพประชาชน โค่นล้มระบอบทักษิณ

ความแตกต่างและความเหมือนอยู่ที่ตัวผู้นำ เพราะถ้าเกิดผู้นำมีการจูงใจ มีประเด็น มีเนื้อหา สภาวะแวดล้อมอื่นเกื้อกูล และมีสปอนเซอร์เกื้อกูล การดำรงของม็อบก็จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ แต่ตอนนั้น (ม็อบเสธ.อ้าย) เกิดมีข้อจำกัดเรื่องเอกภาพในการบริหารจัดการและการสนับสนุน ดังนั้น จึงแตกต่างกันที่ผู้นำมวลชน

@ ผู้นำคราวนี้ที่ใช้ชื่อว่าคณะเสนาธิการร่วมเป็นอย่างไร

ตอนนี้เขาใช้เป็นคณะ ทำให้มีความรอบคอบขึ้น และมีความหลากหลายขึ้น เพราะฉะนั้น เขาจึงยืนยันว่าในวันนี้ (4 สิงหาคม) จะมีการชุมนุม แต่นับจากนี้ต้องดูกลยุทธ์เขาว่า จะเดินกลยุทธ์อย่างไรต่อไป เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐได้ประกาศพื้นที่เขตควบคุม โดยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ความ

มั่นคงฯไว้แล้ว ซึ่งฝ่ายนั้นก็คงกำลังคิดอยู่ว่า ถ้าเขาจะเข้ามาในพื้นที่ที่มีการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ จะทำอย่างไรไม่ให้ขัดกับข้อกฎหมาย โดยอาจจะไปชุมนุมนอกเขตพื้นที่ที่ไม่ได้ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เป็นไปชุมนุมในพื้นที่ใกล้เคียงกันแทน

@ ประเมินว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเคลื่อนไหว

เปลี่ยนแปลงรูปแบบแน่ เพราะเขามีบทเรียนจากการเคลื่อนไหวของม็อบเสธ.อ้าย มาอยู่แล้ว และแน่นอนทุกคนก็ไม่ประสงค์ที่จะทำอะไรที่ผิดข้อกฎหมาย เพราะ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ก็มีบทลงโทษในการจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท เป็นต้น เพราะฉะนั้น จึงเป็นการป้องกันป้องปรามอยู่แล้ว ดังนั้นเขาจึงต้องระมัดระวัง

@ มีการเปลี่ยนรูปแบบเป็นการชุมนุมนอกพื้นที่ที่ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ

ถูกต้อง เพื่อเรียกร้อง เพราะสิ่งที่เขาพึงประสงค์คือการบ่มกระแส เพาะกระแสขึ้นมา ซึ่งการเพาะกระแสไม่จำเป็นต้องเพาะในพื้นที่ เพราะสามารถเพาะนอกพื้นที่ สื่อสังคมโซเชียลมีเดีย สื่ออื่นๆ ซึ่งหากมวลชนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และมีการเคลื่อนไหวเข้ามาในพื้นที่ควบคุม จึงทำให้ต้องระมัดระวังเช่นกัน และต้องติดตามสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา ขณะนี้เขากำลังเพาะกระแสให้มีพลังมากขึ้นเป็นการรอการประสานความร่วมมือระหว่างกลุ่มตัวเองไปผสมกับภาคการเมืองที่มีความเห็นต่างด้วย ซึ่งหากมาร่วมกันได้ จะทำให้เกิดความยุ่งยากในการแก้ไข

@ ปัจจัยใดที่ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมมีพลังจนทำให้เกิดเป็นจุดเปลี่ยน

กลยุทธ์ เทคนิคในการชี้แจง ข้อกฎหมาย จูงใจให้พี่น้องประชาชนเชื่อว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไม่มีความเสมอภาค หรือเฉพาะเจาะจง จะไปช่วยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งถ้าเขาสามารถอธิบายความตรงนั้นได้ ถึงแม้ว่าข้อเท็จจริงอาจจะไม่ใช่ แต่เขาสามารถใช้ศิลปะในการอธิบาย จูงใจ โดยปฏิบัติการข่าวสารให้เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมมีปัญหา ตรงนั้นมันจะอันตราย

@ เมื่อสังเกตการณ์การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในสภาขนานไปกับการชุมนุม ซึ่งสภาจะเป็นการพิจารณาเพียงวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ แสดงว่าการชุมนุมก็อาจจะยืดเยื้อไปจนถึงการพิจารณาวาระที่ 3 ของสภา

อยู่ที่การอธิบายความและการเดินรูปแบบ แน่นอนว่าการรับหลักการไม่มีปัญหา คาดว่าจะมีการพิจารณาเพียงวันเดียวก็จบ แต่ในชั้นกรรมาธิการ ฝ่ายสภาจะต้องมีการประชาสัมพันธ์เนื้อหาอย่างต่อเนื่อง คือไม่มีการแปรเนื้อหาให้เปลี่ยนไปจากเนื้อหาในขั้นรับหลักการ ตลอดไปถึงการพิจารณาในวาระที่ 3 ซึ่งคาดว่ากลุ่มผู้ชุมนุมคงชุมนุมยืดเยื้อ เพราะประเด็นยังไม่จบ ซึ่งประเด็นที่เขาต่อต้านคือ การเปลี่ยนแปลงเนื้อหาเพื่อนิรโทษกรรมให้กับแกนนำด้วย เพราะฉะนั้นเขาก็เฝ้าระแวงอยู่แล้ว ทั้งนี้ จะมีการชุมนุมยืดเยื้อหรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในสภาตั้งแต่ช่วงวาระที่ 2 ขั้นตั้งคณะกรรมาธิการแปรญัตติในสภา

@ การชุมนุมอาจจะมีโอกาสยืดเยื้อ

เมื่อเข้าสู่วาระ 2 จะต้องดูห้วงเวลาของขั้นกรรมาธิการว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาเท่าไร แล้วก็ดูสถานการณ์การชุมนุมว่า จะมีการปักหลักชุมนุมกันอยู่หรือไม่ หรือว่าการชุมนุมนั้นจะมีการมาชุมนุมในการพิจารณาวาระที่ 3 ซึ่งเป็นวาระสุดท้ายก่อนออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ อย่างเดียวหรือไม่ ดังนั้น ก็ต้องดูว่าจะประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯต่อในลักษณะใด ทั้งนี้ ในช่วงวันที่ 12 สิงหาคม คงจะไม่มีการประกาศ ส่วนจะประกาศช่วงใด อย่างไรก็ต้องมาพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ทั้งนี้ จะต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ถ้ามีความจำเป็นต้องประกาศต่อ เพราะไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยากอะไร

@ การเพาะกระแสของคณะเสนาธิการร่วมเพื่อรอผู้ชุมนุมกลุ่มอื่นมาสมทบ

เขารอตัวเขาเองด้วยในการกำหนดยุทธวิธีว่าจะชุมนุมที่จุดใด อย่างไร แต่แน่นอนว่าภาคการเมืองก็สมประโยชน์ ซึ่งก็คงไม่ต้องถึงขั้นต้องไปพูดคุยชักจูงกันมา เพราะต่างฝ่ายถือว่าสมประโยชน์กัน โดยแต่ละฝ่ายคงไปออกแบบยุทธวิธีและความลับของตัวเองไว้

@ ประเมินรูปแบบการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างไร

ขณะนี้เป็นรูปแบบของการโจมตีในเนื้อหา เพื่อรณรงค์และเชื้อเชิญคนให้เข้ามามากๆ โดยการพูดเปิดเนื้อหา ใช้ปฏิบัติการข่าวสารตรงจุดนี้ ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ถึงเขามามากก็จะเป็นปัญหาโดยธรรมชาติ ปัญหาโดยธรรมชาติคือ จะมีโอกาสแทรกซ้อนของมือที่สามเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น ตรงนี้เจ้าหน้าที่จึงต้องระมัดระวังเรื่องมือที่สาม

@ การป้องกันไม่ให้มือที่สามสร้างสถานการณ์

เจ้าหน้าที่การข่าวต้องเกาะติดทั้งหมดตรงพื้นที่ที่มีการชุมนุม และมีการติดต่อประสานงานกับ

แกนนำผู้ชุมนุมตลอดเวลา เพื่อสะท้อนปัญหาสื่อสารว่า แกนนำสามารถควบคุมมวลชนได้หรือไม่ แต่ถ้าควบคุมไม่ได้แกนนำก็ต้องรับผิดชอบหากเกิดปัญหาขึ้นมา ซึ่งจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย เพราะฉะนั้น แกนนำต้องคิดให้ดี เพราะถือว่าเป็นผู้นำคนเข้ามาร่วมชุมนุมจนทำให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บ

@ สายสัมพันธ์ของคณะเสนาธิการร่วมกับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี จะเป็นการส่งสัญญาณว่าประวัติศาสตร์อาจจะซ้ำรอย 19 กันยายน 2549

คงไม่สามารถพัฒนาการไปถึงขั้นนั้น เพราะจากที่ประชาชนมีบทเรียนทั้งประเทศ เพราะเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 ได้ส่งผลกระทบให้ประเทศมีปัญหาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนสายสัมพันธ์ก็เป็นเรื่องส่วนตัว ซึ่ง พล.อ.สุรยุทธ์คงไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวด้วย

@ ประเมินสถานการณ์ว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้หรือไม่หากพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลเปลี่ยนแปลงเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในขั้นแปรญัตติ ชั้นกรรมาธิการจนทำให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เข้าร่วมการชุมนุมด้วย ทำให้ม็อบต่างๆ สามารถจุดกระแสมวลชนติด

ณ ตอนนี้หลังจากสืบสภาพ วิเคราะห์ สังเคราะห์แล้ว เชื่อมั่นว่าพรรครัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาล ไม่มีการแก้เนื้อหาในวาระที่ 2 ขั้นกรรมาธิการอย่างแน่นอน โดยยืนยันชัดเจนว่าไม่มีการแก้ไข ส่วนฝ่ายค้านก็คงจะต่อต้านเพราะไม่เห็นด้วยก็ว่ากันไป

@ หากตั้งสมมติฐานมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาหน่วยงานความมั่นคงสามารถรับมืออยู่หรือไม่

คิดว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ แต่ก็อยู่ในขั้นเหนื่อย อย่างไรก็ตาม คงไม่ถึงขั้นเป็นเหตุให้เกิดสถานการณ์บานปลาย แต่ก็เป็นมูลเหตุในจังหวะที่สองของพรรคประชาธิปัตย์ หากมีการเปลี่ยนแปลงแล้วมีโอกาสที่จะนำไปสู่เหตุบานปลายแต่ก็อยู่ในขั้นที่จะสามารถควบคุมได้ ซึ่งฝ่ายตรงข้ามก็จะต้องมีการปรับยุทธวิธีโดยการหาช่องทางร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมก็คงไม่ถึงขั้นแตกหัก ทั้งนี้ ยืนยันว่าพรรครัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลจะไม่เปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระของกฎหมาย เพื่อยอมให้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมผ่านการพิจารณาของสภา ในวาระที่ 3 ไปได้

ไม่มีความคิดเห็น: