PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันเสาร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2556

"การเปลี่ยนแปลงโลกของสื่อ เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก" ในยุคที่โซเชียลเน็ตเวิร์คบุกมาถึง

"สุทธิชัย" ร่วมเปิดมุมมองธุรกิจยุคเทคโนโลยีหมุนเร็ว ซึ่งเขาเชื่อว่า "โซเชียล มีเดีย" ที่มีพลังอิทธิพลสูงต่อเกมทางธุรกิจ พร้อมประเมินโลกยุคใหม่ไร้พรมแดน การเปลี่ยนแปลงเกิดเรียลไทม์ หากไม่พร้อมรับมือมีผลต่อความอยู่รอดของธุรกิจ ขณะที่ IBM เผยผลสำรวจชี้อีก 5 ปีข้างหน้า ซีอีโอทั่วโลกกว่า 57% จะหันมาใช้โซเชียล เน็ตเวิร์ค ติดต่อสื่อสารทางธุรกิจรับโลกเปลี่ยนสู่ยุคเศรษฐกิจเชื่อมโยงถึงกัน (connected economy) ส่งผลให้ซีอีโอยุคใหม่-องค์กรธุรกิจไทย ต้องเร่งปรับตัว หาแนวทางใหม่สร้างความความเติบโต แข่งขันได้ในตลาดโลก

โดยเฉพาะบทบาทและหน้าที่ของสื่อ ที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเสริมความน่าเชื่อถือ บทบาทของสื่อจะไม่หายไป ขณะเดียวกันจรรยาบรรณวิชาชีพยิ่งสำคัญมากขึ้น เพื่อจะได้มีคนที่คอยกลั่นกรองเนื้อหา

สุทธิชัย หยุ่น ประธานเครือเนชั่น กรุ๊ป กล่าวว่า โซเชียล มีเดีย ทำให้อำนาจการสั่งการเดิมของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) เบาบาง และอาจหายไปในที่สุด นับเป็นการปฏิวัติกระบวนการบริหารที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน และเป็นไปได้ว่าอีก 2 ปีข้างหน้า อาจได้เห็นการเปลี่ยนแปลงไปแบบโดยสิ้นเชิง โดยมีพลังของกลุ่มฝูงชนเป็นตัวขับเคลื่อน

"โซเชียล มีเดีย มีพลังมหาศาลหากใช้เป็น เราใช้โครงสร้างที่มีอยู่ทั่วโลกนี้ มาสร้างประสบการณ์ร่วมกัน เชื่อว่า จะทำให้เกิดพลังที่มหาศาลอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน"

โดยเขากล่าวต่อว่า รูปแบบของบริษัทจะเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบคอนเวอร์เซชั่น คอมพานี (Conversation Company) ที่มีการพูดคุยกันตลอดเวลา ขณะที่การบริการลูกค้าจะกลายเป็นแบบถึงลูกถึงคนผ่าน โซเชียล มีเดีย มีลูกค้าเป็นตัวตัดสินความอยู่รอดของธุรกิจแบบทุกที่ ทุกรูปแบบ และทุกเวลา

"การปรับตัววงการสื่อเองมีลักษณะเปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ แนวโน้มในไทยสื่อสิ่งพิมพ์ยังอยู่ได้ เนื่องจากลักษณะนิสัยการอ่านรวมถึงพฤติกรรมยังมีอยู่ ขณะที่โซเชียลมีเดียที่เป็นทางใหม่เข้ามาเสริมการบริหารเพื่อต่อยอดธุรกิจต่อไป"

จึงเป็นหน้าที่ของสื่อที่ต้องใช้เทคโนโลยีเสริมความน่าเชื่อถือ บทบาทของสื่อจะไม่หายไป ขณะเดียวกันจรรยาบรรณวิชาชีพยิ่งสำคัญมากขึ้น เพื่อจะได้มีคนที่คอยกลั่นกรองเนื้อหา จัดแจงให้ดูดีเรียบร้อย ท่ามกลางโลกโซเชียล อินเทอร์เน็ตทำให้ข้อมูลล้นหลาม ผู้บริโภครู้สึกได้ว่ามีคนที่รู้ข้อมูลจริงจัดแจง จัดการให้ เครือเนชั่นเองได้หลอมรวมทุกแพลตฟอร์มเข้าไว้ด้วยกันเพื่อพัฒนาคอนเทนท์ทั้งแบบเอ็กซ์คลูซีฟ และที่ประชาชนทั่วไปต้องการ พูดได้ว่าเป็นเรื่องการหลอมรวมฝูงชนและความเป็นมืออาชีพเข้ามาไว้ด้วยกัน

"ความน่าเชื่อถือคือตัวกำหนดความอยู่รอด เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องทำให้เกิดความยั่งยืน ไม่ว่าเทคโนโลยีจะมารูปแบบไหนก็ตาม เชื่อว่าหากทำได้ฝูงชนจะเข้ามาหาเราเอง ผมเชื่อว่าแนวโน้มเทคโนโลยีนั้นมาแน่ ขึ้นอยู่ว่าจะช้าหรือเร็ว ฉะนั้นบริษัทจึงขอขึ้นรถไฟก่อนดีกว่าอยู่ชานชาลาแล้วรอให้เกิดความเสียหายมากเกินกว่าจะรับมือได้" สุทธิชัย กล่าว

IBMเผยCEOยุคใหม่ใช้ "โซเชียล เน็ตเวิร์ค" ขับเคลื่อนธุรกิจ

ทั้งนี้ ไอบีเอ็มได้ทำการสำรวจความเห็นซีอีโอทั่วโลกกว่า 1,700 คน จาก 64 ประเทศ และ 18 กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งระบุว่าบรรดาซีอีโอกำลังเปลี่ยนแปลงลักษณะการทำงานด้วยการเพิ่มความโปร่งใส เปิดกว้าง และขยายขีดความสามารถพนักงาน รวมถึงการหันมาใช้เครื่องมือสื่อสารยุคใหม่ เช่น โซเชียล เน็ตเวิร์ค ในธุรกิจมากขึ้นรับยุคที่เศรษฐกิจมีความเชื่อมโยงถึงกัน (Connected Economy) ผลสำรวจดังกล่าวนี้ ถือเป็นแนวทางพาองค์กรให้เตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

ทั้งนี้ ไอบีเอ็มเผยผลสำรวจชี้อีก 5 ปีข้างหน้า ซีอีโอทั่วโลกกว่า 57% หันใช้โซเชียล เน็ตเวิร์ค ติดต่อสื่อสารทางธุรกิจมากขึ้น รับโลกเปลี่ยนสู่ยุคเศรษฐกิจเชื่อมโยงถึงกันชัดเจน (connected economy) ส่งผลให้ซีอีโอยุคใหม่-องค์กรธุรกิจไทย ต้องเร่งปรับตัว หาแนวทางใหม่สร้างความความเติบโต แข่งขันได้ในตลาดโลก

นางพรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ไอบีเอ็มสำรวจความเห็นซีอีโอทั่วโลกกว่า 1,700 คน จาก 64 ประเทศ และ 18 กลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า เทคโนโลยีถูกมองเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กร โดยซีอีโอกว่าครึ่งหนึ่งทั้งจากทั่วโลก และในอาเซียน มีแผนใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความสะดวกในการร่วมมือและประสานงานกับองค์กรภายนอก ขณะที่ 47% ของซีอีโอในอาเซียนกำลังปรับเปลี่ยน เพื่อส่งเสริมการประสานงานร่วมกันภายในองค์กรอย่างเหมาะสม

แนวโน้มดังกล่าวเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีข้อดีที่เห็นได้อย่างชัดเจน โดยผลสำรวจ ระบุว่า บริษัทที่มีผลประกอบการดีกว่าบริษัทอื่น มีแนวโน้มมากกว่า 30% ที่บอกว่าการเปิดกว้างการใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือสำคัญในการประสานงาน และสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกัน ถือเป็นปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลต่อองค์กรของตน ซึ่งปัจจุบัน ผู้บริหารซีอีโอกำลังปรับใช้รูปแบบใหม่ในการทำงาน โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกภายในองค์กรและเครือข่ายเพื่อคิดค้นแนวคิดและโซลูชั่นใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลกำไรและขยายธุรกิจให้เติบโต

ชี้ซีอีโอใช้โซเชียลเพิ่ม 57% ใน 5 ปี

ผลสำรวจยังพบว่า ซีอีโอจะเปลี่ยนการใช้อีเมล และโทรศัพท์ ที่แต่เดิมเป็นช่องทางหลักในการสื่อสารเพื่อกระชับความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับลูกค้า คู่ค้า และพนักงานรุ่นใหม่ในอนาคต โดยหันไปใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือ โซเชียล เน็ตเวิร์ค เป็นช่องทางใหม่สำหรับติดต่อสื่อสารโดยตรง

ปัจจุบันมีซีอีโอเพียงแค่ 16% ที่ใช้แพลตฟอร์มโซเชียล บิซิเนส (Social Business) เพื่อเชื่อมต่อกับลูกค้าแต่ละราย แต่คาดว่า ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มเป็น 57% ภายในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า แนวโน้มนี้มีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในอาเซียน ทั้งนี้เพราะคาดว่า การใช้โซเชียล เน็ตเวิร์คในอาเซียนจะเพิ่มเป็น 68% จากอัตราปัจจุบัน 25% ขณะที่ผู้บริหารซีอีโอในอาเซียนมีแผนปรับเปลี่ยนจากการติดต่อสื่อสารรูปแบบเดิมๆ ไปสู่การใช้โซเชียลมีเดีย ควบคู่ไปกับการติดต่อพบปะกันเป็นการส่วนตัว

ขณะที่ ผู้บริหารซีอีโอตระหนักว่า การควบคุมสั่งการอย่างเข้มงวดไม่ได้ช่วยส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการปรับปรุงผลประกอบการด้านการเงิน ผู้บริหารเหล่านี้ พบว่า โซเชียล เน็ตเวิร์ค ซึ่งเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สามารถรองรับการประสานงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้บริหารซีอีโอในอาเซียนสามารถใช้ประโยชน์จากโซเชียล เน็ตเวิร์ค และมุ่งเน้นการประสานงานร่วมกันทั้งภายในและภายนอกองค์กรร่วมกับลูกค้าและคู่ค้า

สำหรับข้อมูลอื่นๆ ที่สำรวจพบครั้งนี้ เช่น ซีอีโอหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบัน 71% ของซีอีโอทั่วโลกมองว่าเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะส่งผลกระทบต่ออนาคตขององค์กรในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยนับเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญกว่าสภาพเศรษฐกิจและสภาพตลาด

ขณะที่ผู้บริหารซีอีโอในอาเซียน 68% เห็นว่า เทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อองค์กรของตน แต่ขณะเดียวกัน ผู้บริหารจากทั่วโลก 69% ผู้บริหารในอาเซียน 87% มองว่าทักษะ เป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่สุด รองลงมาคือ ปัจจัยเกี่ยวกับตลาด นอกจากนี้ ผู้บริหารในภูมิภาคอาเซียน 72% ยังระบุด้วยว่าทรัพยากรบุคคลเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนสำหรับองค์กร ดังนั้นจึงคาดการณ์ได้ว่าจะมีความต้องการที่สูงมากสำหรับบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในภูมิภาคอาเซียน

ไอบีเอ็ม ชี้ 3 ปัจจัยหลักคิดซีอีโอ

3 ปัจจัยหลักที่ซีอีโอ ต้องคำนึง ได้แก่ 1.บุคลากร โดยคุณลักษณะที่เป็นที่ต้องการ คือ ความสามารถการทำงานร่วมกับผู้อื่น 75% ความสามารถการสื่อสาร 67% ความคิดสร้างสรรค์ 61% และความยืดหยุ่น 61% 2.ความสัมพันธ์กับลูกค้าจากเดิมที่มองเชิงแมส เปลี่ยนเป็นเข้าถึงเชิงปัจเจกบุคคลมากขึ้น โดยการใช้สื่อที่จะถูกให้ความสำคัญสูงสุด 3 อันดับแรกในอีก 3-5 ปีข้างหน้า คือ พบปะโดยตรง 67% โซเชียลมีเดีย 57% และเว็บไซต์ 55% จากปัจจุบันใช้อยู่ 80%, 16% และ 47% ตามลำดับ ส่วนปัจจัยที่ 3.ความร่วมมือกันระหว่างพันธมิตรทางธุรกิจที่จะกลายเป็นรูปแบบของคอมมูนิตี้และแบบไม่เคยพบมาก่อนมากขึ้น

นอกจากนี้ คุณลักษณะของผู้นำที่จะประสบความสำเร็จในยุคแห่งการเชื่อมโยงนี้ 61% มองว่า ต้องหายใจเข้าออกเป็นลูกค้า 60% เป็นผู้นำที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจไม่ใช่แค่สั่งการ และ 58% เป็นคนที่เปิดกว้างไม่คิดที่จะทำงานคนเดียว

ไม่มีความคิดเห็น: