PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2556

จริงหรือ ใครๆก็เป็นนักข่าวได้?

ผศ.ดร. วรัชญ์ ครุจิต   เขียน
2013.10.28


          ในยุคของสื่อดิจิทัล เป็นยุคที่มีความท้าทายอย่างมากสำหรับสื่อมวลชนแบบดั้งเดิม เนื่องจากสื่อดิจิทัลสามารถทำให้ "ใครๆก็เป็นนักข่าวได้" ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ ทำงานอะไร ก็สามารถเป็น "สื่อพลเมือง" หรือ Citizen Journalist ด้วยการสร้างข้อมูลและเผยแพร่ด้วยตัวเอง หรือที่เรียกว่า User-Generated Content ลงในโซเชียลมีเดียต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือ Twitter ซึ่งมีความรวดเร็วทันใจกว่าสื่อแบบดั้งเดิมต่างๆอย่างมาก จนสื่อมวลชนต้องหยิบเอาข่าวจาก แต่ความรวดเร็วนี้เองที่หลายครั้งก่อให้เกิดปัญหาการแพร่กระจายของข้อมูลที่ผิดพลาด ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกหรือความเสียหายต่อชื่อเสียงของบุคคลหรือองค์กรที่ถูกพาดพิงถึง

          ในทางวิชาชีพสื่อมวลชน มีการกำหนดจรรยาบรรณ หรือ Code of Ethics สำหรับนักข่าวมืออาชีพเอาไว้อย่างละเอียด ซึ่งอาจจะมีรายละเอียดมากเกินไปสำหรับประชาชนทั่วไปที่เป็นนักข่าวสมัครเล่น บทความในวันนี้ จึงขอนำเอาหลักจรรยาบรรณที่เรียบเรียงจากหลักการที่สาขาวารสารศาสตร์ Temple University ในประเทศสหรัฐอเมริกา (ซึ่งเป็นสถาบันที่ผู้เขียนเรียนจบในระดับปริญญาเอกทางสาขาสื่อสารมวลชน) ได้เสนอเป็นแนวทางให้กับนักศึกษาสาขาวารสารศาสตร์ได้ยึดถือในขณะที่ยังเรียนอยู่ ซึ่งเป็นรูปแบบที่เข้าใจและปฎิบัติตามได้ง่ายกว่าหลักการของนักข่าวมืออาชีพ จึงเหมาะสำหรับใครก็ตามที่มีส่วนในการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อต่างๆในโลกยุคปัจจุบัน โดยแบ่งเป็นข้อที่ "ต้องทำ" และข้อที่ "อย่าทำ" อย่างละ 5 ข้อดังต่อไปนี้

(https://smc.temple.edu/journalism/files/2011/01/TU-ethics-code-web-version.pdf)

 5 ข้อ "ต้องทำ"

          1. ต้องพูดความจริง (DO Tell the Truth)

          ในยุคนี้ การหาข้อมูลไม่ใช่เรื่องยาก โดยเฉพาะทางออนไลน์ แต่นักข่าวที่ดีจะไม่เผยแพร่ข้อมูลใดๆที่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบมาแล้วว่าเป็นเรื่องจริง เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง อย่าหยุดรายงานข้อมูล

เมื่อเหนื่อยหรือเบื่อ แต่หยุดรายงานข้อมูลเมื่อรายงานข้อมูลที่สำคัญอย่างรอบด้านแล้ว และที่สำคัญคือการเข้าใจบริบทหรือสถานการณ์แวดล้อมของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย แต่ละเหตุการณ์ไม่ได้เกิดขึ้นเองเดี่ยวๆโดยไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งอื่นๆเลย ดังนั้นต้องให้ข้อมูลที่รอบด้านด้วย

          2. ต้องฟังจากหลายด้าน (DO Hear from Many Voices)

          นักข่าวที่ดีต้องพยายามทำความเข้าใจและนำเสนอความเห็นที่หลากหลายอย่างแท้จริงของกลุ่มบุคคลที่อยู่ในข่าว นอกจากนี้ยังต้องระลึกว่าตนเองมีอคติอะไรบ้างและพยายามก้าวข้ามอคติเหล่านั้นในการรายงานข่าว การสัมภาษณ์ หรือการเขียนและการวิเคราะห์ใดๆก็ตาม และหลีกเลี่ยงการเขียนอย่าง "เหมารวม" และยึดหลักการ "เป็นปากเสียงให้แก่ผู้ไม่มีปากเสียง" ("give voice to the voiceless")

          3. ต้องเป็นตัวของตัวเอง (DO Be Independent)

          นักข่าวที่ดีต้องเป็นอิสระจากความผูกพันทางธุรกิจ องค์กร หรือบุคคลใดๆ ดังนั้นนักข่าวที่ดีจึงควรหลีกเลี่ยงและไม่รับของขวัญ การได้รับการปฎิบัติอย่างเป็นพิเศษเกินพอดี เพื่อให้ได้ลงข่าวหรือลงข่าวในด้านที่ต้องการ นอกจากนั้นการสนิทสนมกับแหล่งข่าวมากเกินไป ก็เป็นสาเหตุให้นักข่าวเกิดความลำเอียงได้เช่นกัน

          4. ต้องรับผิดชอบงานของตัวเอง (DO Be Accountable For Your Work)

          นักข่าวที่ดีต้องเล่าเรื่องอย่างรอบด้านด้วยความถูกต้อง แต่เมื่อตนเองทำผิด ก็ต้องยอมรับความผิดและแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องให้สาธารณชนรับรู้อย่างเร็วที่สุด

          5. ต้องตั้งคำถามตลอดเวลา (DO Ask Questions)

          การเป็นนักข่าวไม่ใช่เรื่องง่าย หลายครั้งเหตุการณ์อาจซับซ้อนและตอบไม่ได้ง่ายๆว่าสิ่งนี้เหมาะสมทางจรรยาบรรณหรือไม่ ดังนั้นวิธีหนึ่งก็คือการการถามคำถามเหล่านี้กับตัวเอง

          1. ตอนนี้ฉันรู้อะไรบ้าง และฉันต้องรู้อะไรอีกบ้าง

          2. เป้าหมายทางการทำข่าวของฉันคืออะไร

          3. มีเรื่องทางจรรยาบรรณอะไรบ้างที่ต้องคำนึงถึง

          4. มีนโยบายขององค์กรต่างๆหรือแนวทางวิชาชีพใดบ้างที่ต้องคำนึงถึง

          5. จะนำคนที่มีความคิดเห็นที่หลากหลายเข้ามาช่วยร่วมตัดสินใจได้อย่างไร

          6. มีใครเป็นผู้เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบจากการทำข่าวของฉันบ้าง ความรู้สึกของผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้คืออะไร

          7. ถ้าเหตุการณ์กลับกันจะเป็นอย่างไร ถ้าฉันเป็นคนหนึ่งในข่าว ฉันจะรู้สึกอย่างไร

          8. ผลสืบเนื่องจากการทำข่าวของฉันครั้งนี้คืออะไรบ้าง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

          9. มีทางอื่นๆบ้างหรือไม่ในการเริ่มความรับผิดชอบของฉันในการทำข่าว และลดผลกระทบในทางลบที่อาจเกิดขึ้นได้

          10. ฉันจะสามารถอธิบายเหตุผลในการทำข่าวนี้ได้หรือไม่ ต่อทั้งเพื่อนร่วมงาน ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และสาธารณชน



5 ข้อ "อย่าทำ"

          1.อย่าสร้างเรื่อง (DON'T Fabricate)

          นักข่าวที่ดีห้ามนำข้อมูลที่เป็นเท็จมานำเสนอว่าเป็นเรื่องจริง ห้ามสร้างข้อมูล แหล่งข่าว คำพูดหรือเนื้อหาอื่นใดขึ้นมาเอง หลีกเลี่ยงการใช้ "แหล่งข่าวที่ไม่สามารถเปิดเผยตัวตน" เนื่องจากไม่ว่าจะเป็นแหล่งข่าวจริงหรือไม่ แต่คนจะคิดว่าเป็นแหล่งข่าวที่นักข่าวสร้างขึ้นมาเอง

          2. อย่าแอบอ้างผลงานผู้อื่น (DON'T Plagiarize)

          นักข่าวที่ดีจะไม่ใช้ข้อความ ไอเดีย และภาพ เสียง วีดิโอ หรือสิ่งใดๆของผู้อื่นโดยอ้างว่าเป็นของตัวเอง หากจะใช้จะต้องใช้เครื่องหมายระบุว่าแหล่งข้อมูลดั้งเดิมมาจากไหน นอกจากนี้ยังต้อง
ระวังเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ด้วย

          3. อย่าปลอมเป็นผู้อื่น (DON'T Misrepresent)

          อย่าแสดงตนเองว่าเป็นผู้อื่นที่ตนเองไม่ได้เป็น การพยายามทำตัวเป็น "สายลับ" เพื่อสืบข้อมูลลับนั้นอาจนำไปสู่อันตรายและอาจทำให้ได้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ต้องบอกแหล่งข่าวให้ชัดเจนว่าตนเองเป็นใคร มาจากที่ไหน และข้อมูลหรือภาพที่ได้มาอาจเผยแพร่ไปสู่สาธารณะได้

          4. อย่าทำนิสัยเสีย (DON'T Behave Badly)

          อย่าประพฤติตัวในทางที่จะนำความเสียหายมาสู่ตัวเองและต้นสังกัด ควรจะทำตัวเช่นเดียวกับนักข่าวมืออาชีพ ไม่เสียมารยาท หยาบคาย หรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น รวมถึงการแต่ง
กายให้เหมาะสมด้วย

          5. อย่าทนอยู่ในความเงียบ (DON'T Suffer in Silence)

          หากไม่แน่ใจว่าควรทำอย่างไร หรือตกอยู่ในสถานการณ์ที่อึดอัดแต่บอกใครไม่ได้ และข้อแนะนำทั้งหมดนี้ก็ช่วยไม่ได้ อย่าทนเก็บอยู่คนเดียว ควรปรึกษาผู้ใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญและเชื่อใจได้

          นี่ก็คือหลักการของการเป็น "นักข่าว" ที่ดี ที่ท่านผู้อ่านก็คงจะเห็นว่าเป็นหลักการพื้นฐานที่ไม่ได้เรียกร้องอะไรมากมายไปกว่า "สามัญสำนึก" เลย ผู้ที่ไม่สามารถทำได้ตามหลักการนี้ จึงไม่อาจเรียกได้ว่าเป็น "นักข่าว" (journalist) อย่างแท้จริงได้ แต่อาจเป็นได้แค่เพียง "ผู้ส่งสาร" (sender) เท่านั้นเอง

http://www.theglobalmoving.com/intellectual_detail.php?id=LzHOSDI6Fne9CaA2

ไม่มีความคิดเห็น: