PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เปิด! เอกสาร146 สส.ปชป.ยื่นถอดถอน "ยิ่งลักษณ์"


เขียนวันที่
วันอังคาร ที่ 26 พฤศจิกายน 2556 เวลา 16:00 น.
เขียนโดย
isranews
หมวดหมู่
yingluck01
เช้าวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 ก่อนเริ่มต้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ “สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์” ประธานผู้แทนราษฎร ได้แจ้งต่อที่ประชุมสภาว่า ได้รับเอกสารคำร้องขอถอดถอนบุคคลที่ถูกอภิปรายทั้ง 2 ทั้ง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และ “จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ” รมว.มหาดไทย จาก “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เอกสารดังกล่าวเป็นสิ่งที่สมศักดิ์เคยเรียกร้องจากฝ่ายค้าน พร้อมขู่ว่าหากไม่ส่งมาให้ จะไม่บรรจุญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจตามคำร้องของ ส.ส.ปชป.จำนวน 146 คน
เมื่อประธานสภาฯ เจ้าของฉายา “ขุนค้อน” ได้รับเอกสารดังกล่าว ก็สั่งการให้แจกจ่ายไปยัง ส.ส.ทั้ง 492 คนในห้องประชุม แม้จะมีเสียงประท้วงคัดค้านจาก ส.ส.ปชป.เป็นเวลากว่าชั่วโมง โดยอ้างว่าเป็น “เอกสารลับ”
สำหรับเอกสารยื่นถอดถอนนายกฯ ยิ่งลักษณ์ มีด้วยกัน 2 ฉบับ
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ขอนำมาเปิดเผย ดังนี้
-----
(ฉบับที่ 1)
เรื่อง        ขอให้ถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกจากตำแหน่งตามบทบัญญัติ มาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
กราบเรียน             ประธานวุฒิสภา
ด้วยข้าพเจ้าผู้ลงลายมือชื่อท้ายคำร้องฉบับนี้ ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ตามบทบัญญัติมาตรา 271 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ขอยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภา เพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอน นางสาวยิ่งลักษณ์   ชินวัตร              ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกจากตำแหน่งตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยมีข้อกล่าวหาและพฤติการณ์ดังนี้
ข้อ 1.ผู้ถูกร้อง ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติกฎหมาย กล่าวคือ ที่ผ่านมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2)พ.ศ.2554 และได้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 19 เมษายน 2554 ซึ่งมาตรา 103/7 วรรคหนึ่งได้บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้และในมาตรา 103/7 วรรคสี่ นอกจากกรณีตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นสมควรเพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เนื่องจากการใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.เห็นสมควรในการกำหนดมาตรการเพื่อให้หน่วยงานของรัฐรับไปปฏิบัติ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจสั่งให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการไปตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดมาตรการในเรื่องนั้น แล้วรายงานให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบก็ได้ และเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ซึ่งมาตรา 103/8 ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่รายงาน   ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อสั่งการให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง โดยหน่วยงานของรัฐจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการดังกล่าวและให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่ติดตามผลดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีในกรณีดังกล่าวด้วย
หน่วยงานของรัฐฝ่าฝืนหรือไม่ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องมีความผิดทางวินัยหรือเป็นเหตุที่จะถูกถอดถอนจากตำแหน่งหรือต้องพ้นจากตำแหน่งแล้วแต่กรณี
ซึ่งจากข้อเท็จจริง ในหลักเกณฑ์ของกฎหมายย่อมเห็นโดยชัดแจ้งว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการที่จะให้ความสำคัญกับการป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างในทุกหน่วยงานของรัฐเพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้ จึงได้กำหนดให้ คณะรัฐมนตรีสั่งการให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง และในวันที่ 1 สิงหาคม 2554 ประธานกรรมการ ป.ป.ช.ได้ทำหนังสือ ถึง นายกรัฐมนตรี เรื่อง การให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้และการกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม พร้อมแนบรายงานซึ่งเป็นรูปแบบดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้และการกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม แต่คณะรัฐมนตรีก็ไม่ได้เห็นชอบกับรายงานที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้เสนอ และ คณะรัฐมนตรีก็ไม่ได้สั่งการให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง แต่ประการใด ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็ยังได้ทำหนังสือขอให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีโดยให้เหตุผลว่ามติคณะรัฐมนตรียังไม่คลอบคลุมตามเจตนารมณ์ของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แต่ก็ได้มีมติคณะรัฐมนตรีไม่รับข้อเสนอของ คณะกรรมการ ป.ป.ช.
ข้อ 2.ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ต่อมาเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556 หลังจากที่มีการเปิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว และได้มีการยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แล้วคณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลาง และการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยมติคณะรัฐมนตรีให้มีผลในวันที่ 11 สิงหาคม 2556 ซึ่งก็ปรากฏข้อเท็จจริงต่อมาว่ามีหน่วยงานของรัฐอีกหลายหน่วยงานได้ละเลยเพิกเฉยไม่สนใจใยดีต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ยังไม่ดำเนินการดังกล่าวเป็นเหตุให้มีการทุจริตกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งนายกรัฐมนตรีทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วแต่หาได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ข้อ 3.จากข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า ผู้ถูกร้อง นายกรัฐมนตรีได้มีพฤติกรรมดังจะกล่าวต่อไปนี้
3.1) ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติกฎหมาย คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 103/7 และ
3.2) ส่อว่าจงใจที่จะกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 และ
3.3) ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ในการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐมนตรีต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและ กฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 178
3.4) การกระทำตาม ข้อ 3.1 ข้อ 3.2 ข้อ 3.3 จากการที่ ผู้ถูกร้อง นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน มีการทุจริตกันหลายโครงการ และเป็นผลทำให้เกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก
ซึ่งตามพฤติกรรมของผู้ถูกร้อง ย่อมรับฟังโดยชัดแจ้งว่าเป็นกรณีที่ใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายอย่างสิ้นเชิง
ข้อ 4.ผู้ถูกร้องเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยหลักความเป็นจริงแล้วมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จำต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญตามกฎหมายโดยเคร่งครัดเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง ซึ่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2)พ.ศ.2554 ก็มีเจตนารมณ์ในการที่จะป้องกันและปราบปรามการทุจริตงบประมาณของประเทศ ซึ่งถือได้ว่าเป็นเชื้อร้ายอยู่ในสังคมในขณะนี้ แต่สิ่งที่ผู้ถูกร้องได้กระทำกลับตรงกันข้ามกับหลักกฎหมายและหลักความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง การจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลาง กฎหมายได้กำหนดไว้ให้หน่วยงานของรัฐซึ่งอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของตนจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง ย่อมแสดงให้เห็นถึงเจตนาโดยชัดแจ้งว่า นอกจากไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแล้วยังมีเจตนาที่จะให้มีการทุจริตโดยปราศจากเงื่อนไขใดๆมาขวางกั้น
ผู้ถูกร้องนายกรัฐมนตรี มีพฤติกรรมส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันเข้าลักษณะที่จะต้องถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 270
ผู้ร้องดังมีรายนามแนบท้าย ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 271 ประกอบ มาตรา 270 ร้องขอมายังท่านในฐานะประธานวุฒิสภาเพื่อให้ดำเนินการส่งเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการไต่สวน และดำเนินการเพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอน ผู้ถูกร้อง ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต่อไป
ส่วนรายละเอียด ข้อมูลพยานหลักฐานต่างๆ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะส่งต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ต่อไป
จึงเรียนมาเพื่อโปรดดำเนินการตามกระบวนการตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ต่อไป
ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
(นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์
-----
(ฉบับที่ 2)
เรื่อง        ขอให้ถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกจากตำแหน่งตามบทบัญญัติ มาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
กราบเรียน             ประธานวุฒิสภา
ด้วยข้าพเจ้าผู้ลงลายมือชื่อท้ายคำร้องฉบับนี้ ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ตามบทบัญญัติมาตรา 271 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ขอยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภา เพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์   ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้ถูกร้อง
ผู้ถูกร้องเป็น นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน โดยขอให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยมีข้อกล่าวหาและพฤติการณ์ดังนี้
ข้อ 1.ผู้ถูกร้องได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันอังคารที่ 23 สิงหาคม 2554 หนึ่งนโยบายที่ผู้ถูกร้องได้แถลงคือ การยกระดับราคาสินค้าเกษตรและให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยดูแลราคาสินค้าเกษตรให้มีเสถียรภาพที่เหมาะสม คำนึงถึงกลไกราคาตลาดโลก นำระบบรับจำนำสินค้าเกษตรมาใช้ในการสร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้แก่เกษตรกร เริ่มต้นจากการรับจำนำข้าวเปลือกเจ้าและข้าวเปลือกหอมมะลิ ความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 ที่ราคาเกวียนละ 15,000 บาท และ 20,000 บาท ตามลำดับ และต่อมาผู้ถูกร้องก็ได้รับผิดชอบดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติตามนโยบายนี้ทั้งหมด
จากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าขณะนี้เป็นที่ทราบกันดีว่านโยบายดังกล่าวสร้างปัญหาให้กับประเทศ เป็นการทำลายกลไกการซื้อขายตามปกติโดยสิ้นเชิง มีการทุจริตกันทุกขั้นตอนอย่างกว้างขว้าง ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตในเรื่องความชื้น น้ำหนักข้าว การสวมสิทธิ์ ตลอดจนกระบวนการต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการจัดเก็บดูแลรักษาข้าว ค่าขนส่งข้าว ค่าสีแปร ค่าตรวจคุณภาพข้าว ค่ารมควัน ค่าประกันภัยข้าว และอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นเหตุให้รัฐต้องซื้อข้าวในราคาสูง แต่เมื่อมีการระบายข้าว ก็ทราบดีว่ามีขบวนการทุจริตกันอย่างกว้างขวาง และก็ขายข้าวในราคาที่ต่ำ ส่งผลให้เกิดการขาดทุน และยังส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าว การกระทำของผู้ถูกร้องและรัฐบาล ที่พยายามกล่าวว่ามีการระบายข้าวแบบจีทูจีในหลายประเทศ แต่จากข้อเท็จจริงกลับพบว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด พฤติการณ์ของผู้ถูกร้องล้วนแล้วแต่เป็นพฤติการณ์ที่ทำผิดต่อกฎหมายทั้งสิ้น
ข้อ 2.ผู้ถูกร้องได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันอังคารที่ 23 สิงหาคม 2554 มีนโยบายในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยยึดหลักความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาล เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริต ผู้ถูกร้องยังได้เน้นย้ำถึงการป้องกันและการปราบปรามการทุจริต โดยในวันอังคารที่ 2 กรกฎาคม 2556 ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการบริหารประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นให้ถือเป็นภารกิจและหน้าที่อันสำคัญของคณะรัฐมนตรีชุดนี้ และสำหรับข้าราชการทุกคนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายการเมืองหรือฝ่ายประจำ เพราะไม่เพียงแต่เป็นนโยบายสำคัญที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา แต่ยังเป็นปัจจัยหลักที่จะให้การบริหารบ้านเมืองเจริญก้าวหน้าและสัมฤทธิ์ผลและผู้ถูกร้องยังแถลงว่ารัฐบาลต้องยึดหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีมาโดยตลอด การทำงานต้องโปร่งใส เปิดเผย และพร้อมให้ตรวจสอบ (Open Government) ที่ผู้ถูกร้องกล่าวมานั้นล้วนแล้วแต่ตรงกันข้ามกับความเป็นจริงแทบทั้งสิ้น เพราะการทุจริตยังคงมีอยู่
ข้อ 3.จากข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า ผู้ถูกร้องเป็นนายกรัฐมนตรีได้มีพฤติกรรมดังจะกล่าวต่อไปนี้
3.1) ส่อว่าจงใจที่จะกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ
3.2) ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ในการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐมนตรีต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและ กฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 178
3.3) การกระทำตาม ข้อ 3.1 ข้อ 3.2 จากการที่ ผู้ถูกร้องเป็นนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน มีการทุจริตกันอย่างกว้างขวาง และเป็นผลทำให้เกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก
ซึ่งตามพฤติกรรมของผู้ถูกร้อง ย่อมรับฟังโดยชัดแจ้งว่าเป็นกรณีที่ใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายอย่างสิ้นเชิง
ข้อ 4.ผู้ถูกร้องเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยหลักความเป็นจริงแล้วมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จำต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญตามกฎหมายโดยเคร่งครัดเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง การมีเจตนารมณ์ในการที่จะป้องกันและปราบปรามการทุจริตงบประมาณของประเทศ ซึ่งถือได้ว่าเป็นเชื้อร้ายอยู่ในสังคมในขณะนี้ แต่สิ่งที่ผู้ถูกร้องได้กระทำกลับตรงกันข้ามกับหลักกฎหมายและหลักความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง ย่อมแสดงให้เห็นถึงเจตนาโดยชัดแจ้งว่า นอกจากไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแล้วยังมีเจตนาที่จะให้มีการทุจริตงบประมาณแผ่นดินอีกด้วย
ผู้ถูกร้อง เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีพฤติกรรมส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย อันเข้าลักษณะที่จะต้องถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 270
ผู้ร้องดังมีรายนามแนบท้าย ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 271 ประกอบ มาตรา 270 ร้องขอมายังท่านในฐานะประธานวุฒิสภาเพื่อให้ดำเนินการส่งเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการไต่สวน และดำเนินการเพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอน ผู้ถูกร้อง ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป
ส่วนรายละเอียด ข้อมูลพยานหลักฐานต่างๆ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะส่งต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ต่อไป
จึงเรียนมาเพื่อโปรดดำเนินการตามกระบวนการตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ต่อไป
ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
(นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์

ไม่มีความคิดเห็น: