PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

นปช.แดง เสียนักวิชาการคนสำคัญ"วรพล พรหมิกบุตร"เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ดร. วรพล พรหมิกบุตร  อดีตคณบดีคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการคนสำคัญของ นปช.ได้ เสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน  ณ โรงพยาบาลภูมิพล เวลาประมาณหนึ่งทุ่มของวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา
อ.วรพลถือ เป็นนักวิชาการกลุ่มแรก ๆ ที่ออกมาคัดค้านการรัฐประหาร 19 กย 49 ในขณะที่นักวิชาการไทยส่วนใหญ่สนับสนุนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นนักวิชาการคนแรกๆที่ขึ้นเวที นปก.สนามหลวง
                  หลังรัฐประหาร ปลายปี 2549 ได้ชวนกลุ่มนักวิชาการ ตั้งคณะนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตยและสันติวิธี มีอาจารย์สุธาชัย และอาจารย์วสันต์ ลิมป์เฉลิมเข้าร่วม ทำเวทีเสวนา แสดงจุดยืนต้านรัฐประหารหลายครั้ง

                  ในเหตุการณ์เมษาเลือดปี 2552 และชุมนุมใหญ่มีนา-พฤษภา 2553 อ.วรพล ขึ้นเวที นปช.ด้วย หลังจากสลายการชุมนุม ถูกออกหมายจับ และเข้ามอบตัว สุดท้าย จนท.ก็ไม่ดำเนินคดี
อ.วรพล ถือเป็น นักวิชาการคนสำคัญของ นปช. โดยก่อนเสียชีวิต ยังได้ไปทำหน้าที่ อบรมที่ โรงเรียน นปช.ดอนเมือง เมื่อวันที่ 10พย.56
โดยในบล็อคไทยอีนิวส์ ได้มี นักวิชาการ นปช.หลายคน เข้ามาเขียนอาลัย
ไม่ว่าจะเป็น สมบัติ บุญงามอนงค์
"อ.วรพล พรหมมิกบุตร เป็นนักวิชาการกลุ่มแรก ๆ ที่ออกมาคัดค้านการรัฐประหาร 19 กย 49 ในขณะที่นักวิชาการไทยส่วนใหญ่สนับสนุน พธม ไปก่อนหน้านี้ ผมได้คุยกับ อ.ล่าสุดตอนที่ไปกินแมคที่ราชประสงค์ครั้งก่อน แล้วแกชวนผมไปยื่นหนังสือที่พรรคเพื่อไทย แต่ผมไม่ได้ไป ผมขอแสดงความเสียใจต่อมิตรสหายและครอบครัวของ อ.มา ณ ที่นี่ด้วย ต่อการสูญเสียในครั้งนี้ ภาระกิจที่ อ.ได้ร่วมไว้เป็นหน้าที่ของคนที่ยังอยู่ได้สานต่อเจตนารมณ์ ปชต ของ อ.ครับ"
Jaran Ditapichai
"บ่ายวันอาทิตย์ที่๑๐ พ.ย. ผมกับดร.วรพล ร่วมวิเคราะห์สถานการณ์ที่โรงเรียนนปช. วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง ผมพูดก่อน พอเสร็จ รีบไปเมืองทองธานี โดยไม่คิดว่าวันนั้น เห็นท่านเป็นครั้งสุดท้าย ดร.วรพลเป็นนักวิชาการคนแรกๆที่ขึ้นเวที นปก.สนามหลวง หลับเถิดอาจารย์ ภารกิจต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย พวกเราจักสานต่อ"
หรือ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
ผมเพิ่งทราบข่าว อาจารย์วรพล พรหมิกบุตร เสียชีวิตแล้ว น่าเสียดายมาก เพิ่งเจอกันที่งาน บก.ลายจุด ต่อต้านนิรโทษกรรมเหมาเข่ง ที่ร้านแม็ค เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคมนี้
ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวท่านด้วยครับ
ก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีนักวิชาการเพียงสองคนที่เขียนบทความคัดค้านพวกพันธมิตรเสื้อเหลืองที่กำลังขับไล่นายกฯทักษิณ เขียนกันเป็นประจำต่อเนื่องหลายเดือน คนหนึ่งก็คือผมเอง เขียนในคอลัมน์ "มองมุมใหม่" วันพฤหัส ที่กรุงเทพธุรกิจรายวัน และอาจารย์วรพล เขียนในคอลัมน์วันพุธ ที่กรุงเทพธุรกิจเหมือนกัน แต่ตอนนั้นเรายังไม่ได้เจอกัน ต่างคนต่างเขียนวิพากษ์วิจารณ์พวกพันธมิตรในเวลานั้นว่า จะนำเอาระบอบเผด็จการเข้ามา และก็เป็นความจริง
มาเจอกันหลังรัฐประหาร ปลายปี 2549 ท่านมาชวนให้ตั้งคณะนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตยและสันติวิธี ตอนนั้นมีอาจารย์สุธาชัย และอาจารย์วสันต์ ลิมป์เฉลิมเข้าร่วม ทำเวทีเสวนา แสดงจุดยืนต้านรัฐประหารหลายครั้งด้วยกัน ทั้งที่โรงแรมรอแยล และขึ้นเวทีสนามหลวงของกลุ่มคนวันเสาร์ด้วย
ตอนที่ นปก. เดินขบวนไปหน้าบ้านสี่เสาฯของพล อ.เปรมในวันที่ 22 กรกฎาคม 2550 แล้วเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ มวลชนโดนก๊าซพริกไทย อาจารย์วรพลได้ออกไปสังเกตุการณ์และก็โดนก๊าซพริกไทยด้วย
หลังจากการเลือกตั้งปี 2550 ก็ไม่ได้เจอกันมากนัก ตอนเหตุการณ์เมษาเลือดปี 2552 และชุมนุมใหญ่มีนา-พฤษภา 2553 ท่านก็ไปขึ้นเวที นปช.ด้วย หลังจากสลายการชุมนุม ก็โดนออกหมายจับ จนต้องไปมอบตัว สุดท้าย จนท.ก็ไม่ดำเนินคดี
วันนี้ เราสูญเสียนักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตยคนสำคัญไปหนึ่งคน ขอบคุณที่ได้ร่วมเส้นทางกันจนถึงวันนี้!
////
สำหรับ ศพของ ดร.วรพล พรหมมิกบุตร ตั้งบำเพ็ญกุศล ที่วัดพระศรีมหาธาตุ ศาลา 5  พิธีรดน้ำศพ วันนี้ (13 พ.ย. 2556)ช่วงบ่าย ที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน
///////

//////////
บทความสุดท้าย "วรพล พรหมิกบุตร"วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ เวลา ๑๐.๔๗น. ก่อนที่จะเสียชีวิตในช่วงค่ำวันเดียวกัน
////////////
วรพล พรหมิกบุตร: การเมืองไทยปลาย๒๕๕๖ : กองทัพประชาชนแห่งประเทศไทย
โดย รองศาสตราจารย์ ดร. วรพล  พรหมิกบุตร

ส่วนที่ ๓

  ม็อบมวลชนขนาดกระเป๋า (pocket-sized mob) แต่แกนนำตั้งชื่อเรียกยิ่งใหญ่ระดับประเทศว่า “กองทัพประชาชนแห่งประเทศไทย” (กปท.) แถลงคำประกาศการยึดอำนาจทางการเมืองเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน และอ้างว่าจะเดินทางเข้าเฝ้าเพื่อคืนพระราชอำนาจให้สถาบันกษัตริย์

  นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีผู้ประกาศการยึดอำนาจโดยไม่มีกำลังทหารของกองทัพหนุนหลัง (แม้แต่การประกาศคำแถลงการยึดอำนาจโดยคณะราษฎรในเดือนมิถุนายน ๒๔๗๕ ก็มีกำลังทหารของกองทัพหนุนหลัง) แต่แกนนำและคณะเสนาธิการ กปท. ประกาศให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพต่าง ๆ เดินทางไปพบหรือรายงานตัวต่อพวกตนในวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน (ซึ่งในทางปฏิบัตืจะไม่มีผลเกิดขึ้น) การประกาศยึดอำนาจครั้งนี้มีผู้สังเกตการณ์ให้ข้อสังเกตทางเว็ปไซต์ต่าง ๆ ว่าคณะผู้ประกาศการยึดอำนาจยังไม่สามารถแม้แต่จะยึดสถานีโทรทัศน์ไว้สักแห่งเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อการยึดอำนาจของตนต่อไป (ซึ่งแม้แต่สถานีโทรทัศน์เอเอสทีวีและสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสก็ไม่สามารถอนุญาตให้ กปท. ไปนั่งแถลงการยึดอำนาจในสถานีของตนเพราะผู้บริหารสถานีโทรทัศน์นั้นจะถูกจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างแน่นอน)

  การประกาศการยึดอำนาจนั้นถูกพิจารณาจากสาธารณชนจำนวนมาก (แม้แต่จากบรรดาผู้มีเจตนาต้องการให้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยพ้นไปจากการเมืองไทย) ว่าเป็นกิจกรรม “หลุดโลก” ของอดีตนายทหารระดับพลเอกจำนวนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กับพลตรีจำลอง ศรีเมืองในปัจจุบันและพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ในอดีต

  อย่างไรก็ตาม  การแถลงคำประกาศนั้นเป็นการแถลงที่มีการประชุมหารือกำหนดเนื้อหากันไว้ล่วงหน้าก่อนการแถลงต่อสื่อมวลชน (ไม่ใช่การแถลงอย่าง “กลอนพาไป” ตามกระแสเหตุการณ์บนเวทีนักปราศรัยการเมืองทั่วไป)  คำแถลงนั้นเป็นการเปิด “ช่อง” ให้ตนเองสามารถถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเชิญตัวไปสอบสวนข้อเท็จจริงตามกฎหมายว่ามีเจตนายึดอำนาจด้วยวิธีการขัดรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่  ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถใช้ดุลยพินิจได้ว่าเป็นการแถลงที่ไม่สามารถดำเนินการยึดอำนาจเช่นนั้นได้จริง จึงอาจปล่อยตัวไปพร้องตั้งเงื่อนไขไม่ให้แกนนำ กปท. ก่อความวุ่นวายต่อไปอีก หรืออาจควบคุมตัวไว้สอบสวนภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด  ผลทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นได้ต่อเนื่องคือการสลายตัวไปเองของผู้ชุมนุมมวลชนกองทัพประชาชนแห่งประเทศไทย และการโดดเดี่ยวแกนนำม็อบประชาธิปัตย์ที่ถนนราชดำเนิน หากแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ยังดึงดันการต่อสู้เพื่อโค่นล้มรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ต่อไปตามลำพัง  กลยุทธ์การโดดเดี่ยวนี้มีความแนบเนียน และไม่กระทบความรู้สึกของม็อบ กปท. ที่เป็นมวลชนของตนมากนัก  ขณะที่แนวร่วมการชุมนุมกลุมอื่นที่มุ่งล้มล้างรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ (เช่นม็อบประชาธิปัตย์และบรรดาอธิการบดีมหาวิทยาชั้นนำของรัฐจำนวนมาก) ก็ไม่สามารถประกาศคำตำหนิแกนนำ กปท. ให้สาธารณชนเชื่อได้ว่าทรยศหักหลังกันในหมู่ผู้มีเจตนาโค่นล้มอำนาจรัฐบาลที่เอาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมและบรรดาข้ออ้างอื่นมาปราศรัยบังหน้าเพื่อเรียกร้องการมีส่วนร่วมของชนชั้นกลางกรุงเทพฯในการชุมนุมสร้างสถานการณ์

วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
10:47 น.

ไม่มีความคิดเห็น: