PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

คนบันเทิงกับม็อบ ต้านทักษิณ

วันนี้ คนบันเทิงกับการชุมนุมทางการเมือง ได้กลายมาเป็นปรากฏการณ์และเป็นหัวข้อที่ผู้คนในสังคมไทยกำลังพูดถึง

ไม่เพียงมวลมหาประชาชนเรือนมหาศาลที่หลั่งไหลมาจากทั่วทุกสารทิศ แต่ยังไม่เคยปรากฏมาก่อนในหน้าประวัติศาสตร์ของการชุมนุมทางการเมือง ที่มีผู้คนจากทุกภาคส่วนทุกสาขาวิชาชีพได้มารวมตัวกันมากมายเช่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่าบรรดาดารานักร้องนักแสดงจากแวดวงบันเทิงที่ขานรับมาร่วมกิจกรรมทางการเมืองกันอย่างมากหน้าหลายตา

การก้าวออกมาของ "บุคคลสาธารณะ" จากฟากบันเทิง ซึ่งมีทั้งดารารุ่นอาวุโส จนถึงดารารุ่นใหม่ที่กำลังมีผลงานประดับวงการ ได้กลายมาเป็น "ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์" ไปโดยปริยาย เพราะไม่ใช่เรื่องปกตินัก ที่คนบันเทิง, ซึ่งโดยปกติทั่วไป , ไม่เคยข้องเกี่ยวกับเรื่องการเมือง หรือพาตัวเองมาอยู่ในพื้นที่ของความขัดแย้ง จะออกมาแสดงจุดยืนของตนเช่นนี้

ด้วยเหตุนี้ เวทีบนถนนราชดำเนิน จึงมิได้มีเพียง "ขาประจำ" ที่เคยร่วมเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปี 2549 อย่างบรรดาศิลปินเพลงเพื่อชีวิตหลายวง , นักร้องเพลงร็อกอย่าง ร็อค ร็อคเคสตรา , พงษ์พัฒน์ วชิระบรรจง หรือนักแสดงเจนเวทีอย่าง ตั้ว ศรัญญู วงศ์กระจ่าง เท่านั้น แต่ในวันนี้ มีทั้งคนที่ขึ้นเวทีอภิปราย อย่าง แตงโม ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ , โตโน่ ภาคิน คำวิลัยศักดิ์, มัดหมี่ พิมดาว พานิชสมัย หรือจะเป็นดารานักแสดงที่ร่วมชุมนุม ตั้งแต่ ตุ๊ก ดวงตา ตุงคะมณี เรื่อยไปจนถึง มอส ปฏิภาณ ปฐวีกานต์ , อี๊ด วงฟลาย ฯ

ไหนจะมีดารานักแสดงอีกนับไม่ถ้วนที่แสดงจุดยืนผ่านทางโซเชียลมีเดีย อย่าง เฟซบุ๊ค และ อินสตาแกรม ไม่ว่าจะเป็น คิมเบอร์ลี เทียมศิริ , ณัฏฐ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา , แหม่ม คัทลียา , แอน ทองประสม ฯลฯ

คนบันเทิงในการชุมนุมทางการเมืองจึงเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่น่ามองข้าม และน่าจะมีความหมายมากกว่าแค่เพียง "สีสัน" เท่านั้น

-------------------------------------

รศ. ไชยันต์ ไชยพร อาจาร์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย แสดงความเห็นว่า โดยพื้นฐานบรรดานักแสดง นักร้อง ศิลปินในวงการบันเทิง ไม่ได้แตกต่างจากประชาชนทั่วไป ซึ่งย่อมจะมีทั้งคนที่มีทัศนะความคิดเห็นทางการเมือง และในเวลาเดียวกัน ก็ย่อมมีคนที่ไม่มีความตื่นตัวทางการเมืองรวมอยู่ด้วย

แต่ในสถานการณ์สังคมการเมืองปัจจุบันที่ทุกคนต่างให้ความสนใจ ย่อมมีผู้คนในแวดวงบันเทิงออกมาติดตามความเคลื่อนไหว ติดตาม ตื่นตัว จนถึงขั้นออกมาแสดงจุดยืน หรือเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งในแง่นี้ ย่อมหมายความว่า พวกเขาต้องสละเวลาจากงานที่ทำ เพื่อมาเข้าร่วม และในอีกด้านหนึ่ง ยังมีความสุ่มเสี่ยงต่อเรตติ้ง หรือคะแนนนิยม เมื่อสังคมไทยอยู่ในช่วงเวลาของการแบ่งสีแบ่งกลุ่มอย่างชัดเจนเช่นนี้

“คงต้องยอมรับว่า ดารานักแสดงก็เหมือนคนไทยโดยทั่วไป เกิดความรู้สึกร่วมกันในประเด็นที่ว่า เขาทนไม่ไหวจริงๆ ต่อปัญหาของประเทศ และต้องการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งโดยสถานะของเขา โดยปกติอาจไม่ต้องการออกมาแสดงตนแบบนี้ แต่เมื่อชั่งน้ำหนักดูแล้ว ระหว่างอนาคตการเมือง กับอนาคตของเขา เขาก็ต้องตัดสินใจเลือก”

มุมมองของ ไชยันต์ ตรงกับความคิดของ คฑาหัสต์ บุษปะเกศ นักเขียนบทละครโทรทัศน์ ที่เป็นตัวแทนของคนแวดวงบันเทิงว่า ปัจจุบัน สถานการณ์ของประเทศดำเนินมาอย่างยาวนาน จนถึงขีดสุดแล้ว

"ผมคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องของคนทั้งประเทศที่ต้องมีส่วนร่วม อย่างที่เห็นกันว่า ตอนนี้ คนทุกภาคส่วน ทุกวงการ ทุกวิชาชีพ ทั้งหมอ ครูบาอาจารย์ นิสิตนักศึกษา ต่างได้ออกมาปฏิเสธการใช้อำนาจไปในทางที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม ไม่ว่าจะเป็นหอการค้า สภาอุตสาหกรรม ฯ คนบันเทิงเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง เราไม่คิดว่าเราจะสร้างแรงสะเทือนมากมายอะไร แต่เราไม่ใช่ไทยเฉยอีกต่อไป เราได้แต่หวังว่าการลุกฮือขึ้นมาของคนทั้งสังคมขนาดนี้ น่าจะทำให้ผู้บริหารประเทศ น่าจะได้หันกลับมาทบทวนบ้างว่าเกิดอะไรขึ้น หากไม่หลงกับคำป้อยอกับคนรอบข้างจนเกินไป"

นักเขียนบทละคร เจ้าของผลงาน "เหนือเมฆ" ที่เคยถูก "เซ็นเซอร์" ไม่ให้ออกอากาศทางช่อง 3 มาก่อนหน้านี้ ยังเพิ่มเติมด้วยว่า ที่ผ่านมาภายใต้ระบบการเมืองอำนาจนิยม การเมืองเสียงข้างมากผูกขาดความชอบธรรมนั้น มีเรื่องที่ผู้คนไม่สามารถยอมรับได้มากมาย ดังที่ปรากฏเป็นข่าวทุกเมื่อเชื่อวัน แม้กระทั่งคนวงการบันเทิงก็ไม่เว้น พลอยได้รับผลกระทบนี้ด้วยเช่นกัน

-------------------------------------

ด้าน พรเทพ เฮง นักวิจารณ์บันเทิง วิเคราะห์โดยมองจากแง่มุมพัฒนาการของสื่อว่า โดยอดีตที่ผ่านมา แม้คนบันเทิงบางส่วนอาจจะสนใจความเป็นไปของบ้านเมือง แต่ด้วยโครงสร้างทางอำนาจ และกลไกต่างๆ ที่สื่ออยู่ภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐ ทำให้ธุรกิจบันเทิง ทั้งหนัง เพลง ทีวี หรือแม้กระทั่งแวดวงหนังสือ ต่างพยายาม “เซนเซอร์ตัวเอง” มาโดยตลอด เดิมที ไม่มีใครอยากออกมาวิพากษ์วิจารณ์การเมือง เพราะกลัวจะเกิดปัญหา จนกระทั่งมาถึงยุคสมัยของโซเชียลมีเดียนในวันนี้ ทำให้คนบันเทิงมีพื้นที่แสดงออกของตัวเองอย่างชัดเจน

“ต้องขอบคุณเทคโนโลยีโซเชียลมีเดียว ที่ทำให้การเมืองไทยในวันนี้พัฒนาไปอีกขั้น โดยเฉพาะคนจากฟากบันเทิงซึ่งเคยจำกัดการแสดงออก ได้มีพื้นที่ของตัวเอง ผ่านเฟซบุ๊ค อินสตาแกรม ในการสื่อถึงจุดยืน มุมมอง หรือการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ในยุคการเปลี่ยนผ่านของการปฏิรูปสื่อ โดย กสทช. พอดี”

“เดิมทีนั้น ดารามีเฉพาะพื้นที่ข่าวบันเทิง หากจะทำอะไรออกไปจากสายงาน หรือไปแสดงจุดยืนในเรื่องอื่นๆ ก็เสี่ยงที่จะถูกนำเสนออย่างผิดเพี้ยนจากสื่อกระแสหลักได้ เรียกว่ามีความเสี่ยงอยู่มาก แต่เมื่อทุกวันนี้ พวกเขามีพื้นที่ของตัวเอง พวกเขาจะโพสต์ข้อความ ความเห็นความคิดต่อเรื่องต่างๆ ได้อย่างชัดเจน และตรงประเด็น โดยไม่ต้องห่วงว่าจะถูกเข้าใจผิด”

“ในเวลาเดียวกัน สื่อกระแสหลักก็อาศัยพื้นที่ของโซเชียลมีเดียเหล่านี้ มารายงานให้สาธารณะได้รับรู้อีกขั้นหนึ่ง ไม่เพียงเท่านั้น หากมีกระแสความเข้าใจผิดใดเกิดขึ้น ดารายังใช้พื้นที่ของตัวเองแก้ต่างได้อีกด้วย ซึ่งเป็นภาวะที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”

ในมุมมองของนักวิจารณ์บันเทิงคนนี้ นอกจากนวัตกรรมของสื่อแล้ว ภาวะความรู้สึกอัดอั้นต่อการเมืองในประเทศ การหมกเม็ดแสวงหาผลประโยชน์เฉพาะตนของคนในพรรครัฐบาล ที่สั่งสมมาเป็นเวลายาวนาน และเมื่อมาถึงการผ่านร่างพรบ.นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง อย่างไม่นึกถึงความถูกต้องชอบธรรม คือจุดระเบิดของเรื่องนี้ ทั้งที่เดิมทีนั้น หลายคนก็ไม่ได้ให้ราคาแก่พรรคฝ่ายค้าน อย่างประชาธิปัตย์แต่อย่างใด

“อย่าลืมว่า ดาราเป็นบุคคลสาธารณะ พวกเขามีต้นทุนสูงทางสังคม การออกมาแสดงความคิดเห็นต่อบ้านเมือง เป็นเรื่องน่าชื่นชม ตราบใดก็ตามที่พวกเขาไม่กระทำผิดกฎหมาย และมีความรับผิดชอบต่อการแสดงออกของตัวเอง” พรเทพ กล่าว

-------------------------------------

ปรากฏการณ์ที่คนในวงการบันทิงออกมาแสดงตนนั้น ไชยันต์ เรียกว่าเป็น “สำนึกพลเมือง” เช่นเดียวกันกับคนจากสาขาวิชาชีพอื่น ซึ่งด้านหนึ่งเป็นภาพสะท้อนของความก้าวหน้าของการเมืองไทยที่มีพัฒนาการไปอีกขั้น เพราะหากบุคคลทุกกลุ่มทุกวิชาชีพ และทุกภาคส่วนของสังคม ออกมาแสดงความตื่นตัวทางการเมืองเช่นนี้ ย่อมเป็นนิมิตหมายที่ดีแก่การเมืองของประเทศในระยะยาว

“เราได้เห็นสังคมดารา ดาวดวงที่กำลังเจิดจรัสก้าวออกมาแสดงสปิริต ผมคือว่าเป็นการแสดงออกถึงสำนึกพลเมือง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะในความจริงนั้น มนุษย์เราต่างมีหลายบทบาทหน้าที่ด้วยกัน เช่น ในฐานะมนุษย์ เรามีสำนึกในความเป็นมนุษย์ ในฐานะพลเมืองของประเทศ เรามีสำนึกของความเป็นพลเมือง หรือการที่เรามีอาชีพแตกต่างกันไป แต่ละคนก็ยังมีสำนึกในวิชาชีพอยู่ด้วย ซึ่งการมี 'สำนึกพลเมือง' หมายความว่า คนเหล่านี้ต้องมีจิตใจเสียสละ อย่างการสละเวลาอันมีค่าของพวกเขาออกเคลื่อนไหว ออกมาสำแดงพลัง ซึ่งในด้านหนึ่ง ยังต้องเสี่ยงกับเรื่องของคะแนนนิยม เสี่ยงต่อการไม่มีงานทำ หรืออย่างน้อยก็เสียเวลา แทนที่จะไปทำมาหากิน”

อย่างไรก็ตาม ในฐานะนักวิชาการ ไชยันต์ ย้ำว่าการแสดงออกของคนในวงการบันเทิง หากออกมาจากจิตใจด้านใน จากพลังบริสุทธิ์ ไม่ว่าจะไปสนับสนุนฝ่ายไหนก็ตาม เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ในการคิดเห็นแตกต่าง ยกเว้นเพียงคนในวงการบันเทิงบางคนที่ออกมาเคลื่อนไหวบนเวทีม็อบ เพื่อมุ่งผลประโยชน์ของตนเอง หรือเพราะอามิสสินจ้าง นั่นเป็นเรื่องหนึ่ง

ขณะที่ คฑาหัสต์ บุษปะเกศ มองว่า จุดเริ่มต้นของการออกมาของดารานักแสดงนักร้องนั้น ลึกๆ แล้วเป็นเรื่องปัจเจกหรือเรื่องของแต่คน เพราะในวงการนี้ไม่มีใครสามารถชี้นำใครได้ แต่เมื่อทุกคนก้าวออกมา ย่อมจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ รู้สึกและปรารถนาจะมีส่วนร่วมในความเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย ภาพรวมในที่สุด จึงกลายเป็นกระแสที่จุดติดขึ้นในทันที

"ต้องการจะบอกว่า พลังนี้เป็นพลังบริสุทธิ์ เลิกคิดเรื่องการจ้างวานได้เลย คนบันเทิง ใครจะไปจ้างได้ เพราะราคาค่าตัวในแต่ละงานก็มากโขอยู่แล้ว ถ้าเขาไม่มีใจมา เขาคงไม่มากัน" นักเขียนบทละครคนเดิม กล่าวเพิ่มเติม

ด้วยความเป็นดารานักแสดง หรือคนในวงการบันเทิง ซึ่งเป็นเสมือน “คนของประชาชน” หรือเป็นบุคคลที่มีคนรักใคร่ในผลงาน ทั้ง พรเทพ และ ไชยันต์ ต่างยอมรับว่า การออกมาเคลื่อนไหว แสดงจุดยืนทางการเมืองเช่นนี้ ก่อให้เกิดน้ำหนักแก่ความคิดอ่านของผู้คนในสังคมอย่างแน่นอน

พรเทพ อธิบายว่า “ในสถานการณ์ที่อ่อนไหวแบบนี้ ย่อมเป็นเรื่องปกติ ที่ต้องมีทั้งคนรักและคนเกลียด ซึ่งอย่างน้อยๆ ดาราก็ต้องประเมินด้วยตัวเองว่า ต้องการแลกหรือไม่ จึงไม่น่าแปลกใจหากเราจะเห็นดารารุ่นเก่า ดาราอาวุโส อายุ 40-50 ออกมาเปิดหน้ามากกว่าดารารุ่นใหม่ เพราะคนพวกนี้มีวุฒิภาวะ มีสถานะทางสังคมมั่นคงขึ้น และไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องหน้าที่งาน”

ขณะที่ ไชยันต์ เห็นว่า “ถ้าเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ก็ยิ่งตอกย้ำความรักใคร่ชอบพอ แต่สำหรับบางคนที่อาจจะชื่นชอบศิลปินดารา แต่เมื่อเขาออกมาในฝ่ายตรงข้าม อาจจะทำให้เกิดอาการชะงักขึ้น

ได้ว่า ทำไมดาราที่เราชอบ ถึงออกมาเคลื่อนไหวแบบนี้ เขาคิดอย่างไรถึงทำอย่างนั้น ซึ่งสมัยก่อน ในสังคมไทย บุคคลที่มีบทบาทนำในชุมชนต่างๆ อย่าง พระ หรือ ครู ก็มีฐานะคล้ายๆ กัน คือมีน้ำหนักในการชี้นำทิศทางของสังคม” ไชยันต์ กล่าว

ทางออกของเรื่องความรักใคร่ชอบพอในผลงานของศิลปิน กับความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ตรงกันข้ามนั้น ไชยันต์ เสนอแนะง่ายๆ ว่า เรื่องแบบนี้ต้องแยกแยะผลงานออกจากตัวตนของศิลปินคนนั้นๆ ว่าไม่เกี่ยวข้องกัน พร้อมๆ กับยกประสบการณ์ของตนเองมาเล่าให้ฟังว่า

“ผมชื่นชอบบทเพลงของ อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง นะ โดยเฉพาะเพลง 'ทัดทาน' ทุกวันนี้ ก็ยังชื่นชอบเพลงนี้อยู่ แต่ผมไม่ชอบพฤติกรรมและความเคลื่อนไหวทางการเมืองของอริสมันต์ เรื่องแบบนี้คงต้องแยกแยะว่า มันไม่เกี่ยวกัน” นักวิชาการด้านการปกครอง สรุปในที่สุด.

ไม่มีความคิดเห็น: