PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2557

มติชนวิเคราะห์ ...นับถอยหลัง เข้าสู่′นาทีสุดท้าย′ จับสัญญาณ′แตกหัก′ ?!

วิเคราะห์

ยังอยู่ในเกมรอคอยมะม่วงหล่น ที่การเผชิญหน้าตึงเครียดมากขึ้นเป็นลำดับ

เสียงระเบิด เสียงปืน ประทัดยักษ์ ดังสนั่นใกล้บริเวณชุมนุม และอาคารสถานที่ต่างๆ ไม่เว้นแต่ละวัน

การจับกุมหน่วยซีลที่มารับจ๊อบเป็นการ์ดให้แกนนำม็อบ ก็ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างเหล่าทัพกับม็อบ กปปส.

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ประกาศไม่เจรจากับใครทั้งสิ้น เป็นสัญญาณที่ส่งตรงไปยังวงเจรจาที่ถกกันเงียบๆ วางตัวนายกฯคนกลางและรัฐบาลกลาง

ทำเอาวงเจรจาต้องพักประเมินสถานการณ์

ก่อนที่นายสุเทพจะพลิกเกม หันมาเล่นเชิง ท้าให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาเจรจาในสถานที่เปิดเผย คุยกันสองต่อสอง ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์

ทางฝ่ายรัฐบาลไม่รับข้อเสนอนี้ เพราะตามรูปการณ์ ออกไปทาง "ดีเบต" มากกว่าที่จะเป็นการเจรจาหาทางออก

แรงบีบจากขั้วอำนาจตรงข้าม ต่อรัฐบาลเพื่อไทย หนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ

โดยเฉพาะการเตรียมจะลงดาบฟัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในข้อหาละเลยเพิกเฉยให้มีการโกงจำนำข้าว ซึ่งคาดว่า จะทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯปลาย มี.ค.นี้

ทำให้พรรคเพื่อไทย ต้องงัดเอาข้อมูลความล่าช้าในการพิจารณาการระบายข้าวในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมัยเป็นนายกฯ ตั้งแต่ปี 2553 เวลาผ่านไป 4 ปียังไม่มีความคืบหน้า ขึ้นมาสู้

น.ส.ยิ่งลักษณ์เอง ออกมาตอบโต้แรงบีบแรงกดดัน ด้วยการประกาศว่าจะทำงานในหน้าที่จนนาทีสุดท้าย

รวมถึงที่ให้สัมภาษณ์เมื่อ วันที่ 28 ก.พ. ที่เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี อ.เมือง จ.เชียงใหม่

ต้องบอกว่าเราเป็นผู้รักษากติกา รักษาประชาธิปไตย ถ้าในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือเป็นทหารก็ต้องบอกว่าทหารต้องทำหน้าที่ของตนเองจนนาทีสุดท้าย ทหารต้องรักษาพื้นที่

ต้องตายสนามรบ วันนี้ดิฉันก็ต้องตายในสนามประชาธิปไตย

นี่คือหน้าที่ การที่ประเทศจะเป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นจากต่างชาติได้ ก็คือการที่เราต้องเดินตามกรอบของประชาธิปไตย ในฐานะที่เป็นผู้นำรัฐบาล ไม่สามารถบอกประเทศอื่นว่าตนเองจะไม่รักษา

ประชาธิปไตย จะให้คนอื่นมาฉีกรัฐธรรมนูญได้ เป็นใครที่อยู่ในหน้าที่ปฏิบัติก็ต้องทำหน้าที่ของตนเอง

เช่นเดียวกับทหารที่ต้องทำหน้าที่ของตนเองในสนามรบจนนาทีสุดท้ายเช่นเดียวกัน

และที่ทำให้สถานการณ์เข้มข้นขึ้นมาอีก ยังได้แก่ การเข้ามาสู่เกมของผู้สนับสนุนรัฐบาล รวมถึง แนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.

ด้วยการออกมาแสดงปฏิกิริยาต่อคำตัดสินของศาลแพ่ง ที่สั่งยกเลิกข้อห้าม 9 ข้อ จาก 12 ข้อ ในมาตรการตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

และไปชุมนุมปิดสำนักงาน ป.ป.ช. โดยใช้มุขเดียวกับ กปปส.ที่ไปปิดทำเนียบ สถานที่ราชการต่างๆ

นปช.นัดชุมนุมประชาชนที่ทุ่งศรีเมือง อุดรธานี ในวันที่ 1 มี.ค. ก่อนจะปฏิบัติการย้อนเกล็ด กปปส. ด้วยเคลื่อนออกไปปิดหน่วยงานองค์กรอิสระ ที่มีสำนักงานในภาคอีสาน

และยังมีการเคลื่อนไหวของนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ หรือแรมโบ้อีสาน ที่ประกาศว่า จะระดมกองกำลังอาสาปกป้องประชาธิปไตย จำนวนนับแสนคน

เริ่มเปิดรับสมัครที่ภาคอีสาน ตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค.เป็นต้นไป

การปราศรัยของคนเสื้อแดง กล่าวถึงการปฏิบัติ 2 มาตรฐาน วิกฤตการเมืองที่ทำให้ความแตกแยกของประชาชนในแต่ละภาครุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ความเคลื่อนไหวของเสื้อแดง กลายเป็นประเด็นอ่อนไหวในเชิงความมั่นคง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ได้สั่งการในฐานะรองผอ.กอ.รมน. ให้ผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ติดตามความเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง ด้วยอาการซีเรียส

และให้สัมภาษณ์ถึงการเคลื่อนไหวของเสื้อแดง หลังเป็นประธานเปิดเวทีมวยลุมพินีแห่งใหม่ เมื่อวันที่ 28 ก.พ. ว่า

ได้นำเรียนให้นายกรัฐมนตรีทราบแล้ว ในคำสั่งไม่ได้ให้จับตาใครเป็นพิเศษ ให้ดูแลทุกกลุ่มที่ฝ่าฝืนกฎหมายความมั่นคง รวมถึงการพูดจาว่าสิ่งไหนผิด บางอย่างต้องเข้าใจว่า เป็นคำพูด การกระทำ

ยังไม่เกิด หากการกระทำที่สมบูรณ์ความผิดก็จะเกิดขึ้น และสามารถดำเนินคดีได้

ส่วนกรณีการสวนสนามตำรวจบ้านที่ จ.พะเยา โดยใช้ธงสีแดงแทนธงชาติไทยนั้น เรื่องนี้ได้เตือนไปหมดแล้วว่าอย่าทำอย่างนั้นอีก

และยังตอบคำถามเรื่องการปฏิวัติ ว่าการปฏิวัติที่ผ่านมาเพราะมีเหตุการณ์รุนแรง ความไม่เป็นธรรม แต่ในวันนี้โลกเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน ประชาชนก็เปลี่ยน พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ไปถึงตรง

นั้นเพราะเป็นเรื่องที่อันตราย

คงไม่สัญญาว่าการปฏิวัติจะมีหรือไม่มี แต่การดำเนินการดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องในทางนิตินัย ซึ่งการปฏิวัติทุกครั้งเพื่อให้สถานการณ์ยุติ แล้วยุติได้หรือไม่ก็ต้องไปนั่งวิเคราะห์กัน ทุก

สถานการณ์ต้องแก้ไขด้วยกฎหมาย หากแก้ไม่ได้ก็ต้องใช้วิธีพิเศษ

ส่วนจะเป็นวิธีพิเศษอย่างไรก็ต้องไปว่ากัน --พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

เมื่อต่างฝ่ายต่างระดม "ตัวช่วย" ออกมาเข้าแนวรบ ขณะที่วันชี้ชะตานายกฯและรัฐบาลใกล้เข้ามาเรื่อยๆ

เหมือนจะเป็นสูตรเดิมที่เคยใช้สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์

แต่ปัจจัยตัวแปร แตกต่างออกไป โดยเฉพาะท่าทีจากต่างประเทศ และขบวนการหนุนรัฐบาลในต่างจังหวัดที่ส่งสัญญาณเหมือนพร้อมแตกหัก

สถานการณ์จากนี้ไปน่าจะอ่อนไหวและหมิ่นเหม่มากขึ้น

ด้วยอุณหภูมิจากวิกฤตยืดเยื้อที่ร้อนระอุอยู่แล้ว

และจากการฉวยโอกาส การจ้องหาจังหวะป่วนของกลุ่มที่ยังหวังพึ่งพา "วิธีพิเศษ"

...........................................................................................

(ที่มา:มติชนรายวัน 2 มี.ค. 2557)

ที่มา: http://bit.ly/1kvPMnh  

ไม่มีความคิดเห็น: