PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

30กันยา 57 พลเอกประยุทธ์ จะอยู่ในสภาพเดียวกับพลเอกเกรียงศักดิ์ ..?

อยากให้อ่านอันนี้จากมติชนกันนะครับ เพราะสภาวการณ์นี้ กำลังจะเกิดกับ พลเอกประยุทธ์ ในห้วงหน้านี้ เหมือนๆกันเป๊ะๆเลย..กรณีขึ้นเป็นนายกฯโดยไม่ต่ออายุราชการ ผบ.ทบ.

สภาวะ ตีนลอย พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ทาง "การทหาร"

ถามว่าตอนที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็น "ผบ.ทบ." เมื่อเดือนตุลาคม 2521 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นึกถึงตำแหน่ง "นายกรัฐมนตรี" หรือไม่

หากใครไปถามตอนนั้นท่านคง "ปฏิเสธ"

เป็นการปฏิเสธด้วยความสุภาพ ด้วยความนุ่มนวล ตามแบบฉบับของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่สำคัญ ห้วงเวลาของการดำรงตำแหน่งนี้ เป็นห้วงเวลาที่พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นทั้ง "ผู้บัญชาการทหารสูงสุด" และ "นายกรัฐมนตรี"

รู้ทั้งรู้ว่าทำไมจึง "แต่งตั้ง"

ทาง 1 โยก พล.อ.เสริม ณ นคร จากกองทัพบกไปเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทาง 1 ดัน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จากผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก เพราะในเดือนเมษายน 2522 ก็จะมีการเลือกตั้ง

เป็นการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 ซึ่ง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ มาดหมายจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป โดยมี "กองทัพ" เป็นฐานค้ำยันสำคัญ

กองทัพในที่นี้เป็นผลจากการร่วมกันทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ในนาม "คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" และกระชับยิ่งขึ้นในการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520

รัฐประหารเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นายกรัฐมนตรีอาจคือ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร แต่รัฐประหารเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520 แม้ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ จะต้องการอำนาจในฐานะหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน

แต่อย่าลืมว่า พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ คือ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน

ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 ก็เป็นการร่างบนพื้นฐานที่ต้องการสืบทอดอำนาจของทหาร ไม่ว่าจะในนามคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน หรือในนามอื่นใดก็ตาม เพราะบทเฉพาะกาลยังให้อำนาจวุฒิสภาเหนือกว่าสภาผู้แทนราษฎร

พล.อ.เสริม ณ นคร จึงเป็นรองนายกรัฐมนตรีขณะที่เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด
และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จึงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมขณะที่เป็นผู้บัญชาการทหารบก อำนาจของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จึงมาจาก "กองทัพ" มิใช่ "พรรคการเมือง"

แม้ว่า พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จะเสนอชื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ให้เป็นผู้บัญชาการทหารบก เพื่อหวังให้เป็นฐานะ 1 ทางการเมือง แต่ความเป็น "อนิจจัง" ก็ดำรงอยู่อย่างเที่ยงแท้ แน่นอน

ด้าน 1 กำลังทางการทหารก็ค่อยๆ เหออกจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ไปทางยัง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ เป็นการเหออกเมื่อความนิยมในตัว พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลดลง
ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ หยิบยื่นให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นั่นแหละคือแม่เหล็กแท่งมหึมา ขณะเดียวกัน ด้าน 1 กำลังทางด้านการเมืองก็แปรเปลี่ยน

ไม่เพียงแต่ พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร และ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ จากพรรคชาติไทยเท่านั้นที่เข้ามาห้อมล้อม หาก นายเกษม ศิริสัมพันธ์ จากพรรคกิจสังคม ตลอดจน นายวีระ มุสิกพงศ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ ก็เข้ามาห้อมล้อมเห็นว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เหมาะในตำแหน่ง "นายกรัฐมนตรี"

ที่สำคัญเป็นอย่างมาก บรรดาสมาชิกวุฒิสภา "สายทหาร" และ "สายข้าราชการ" ก็เริ่มเข้าไปห้อมล้อม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เช่นเดียวกับฝ่ายการเมืองแม้ว่าคนเหล่านั้นจะได้รับแต่งตั้งจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก็ตาม

สภาวะอันไม่จีรัง ยั่งยืนในตำแหน่ง "นายกรัฐมนตรี" ของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จึงดำเนินไป
ด้วย 1 เพราะการผงาดขึ้นมาของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ขณะเดียวกัน ด้วย 1 เพราะการเสื่อมลงตามกฎแห่งอนิจจัง ไม่เที่ยงแท้ ของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในทางการเมือง

ที่สำคัญเพราะไม่ได้มี "ตำแหน่ง" ใดๆ ในทาง "การทหาร" อยู่อีกแล้ว
หมายเหตุ : 30กันยา 57 พลเอกประยุทธ์ ก็จะอยู่ในสภาพเดียวกับพลเอกเกรียงศักดิ์ เช่นกัน ..

ไม่มีความคิดเห็น: