PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2557

รัฐบาลเดิมพันประเทศ

รัฐบาลนับหนึ่ง เดิมพันประเทศ

วันอาทิตย์ที่ 14 กันยายน 2557, 00:00 น.


เป็นสัญญาณเริ่มต้นภารกิจเดิมพันสูงของรัฐบาล คสช.

ภายหลังวันที่ 12 ก.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง แถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสนช.

นโยบายรัฐบาล "ประยุทธ์ 1" ภายใต้สโลแกนใหม่ "จริงใจ จริงจัง ยั่งยืน" กระชับห้วนสั้นกว่าเดิม ครอบคลุมงานทั้งหมด 11 ด้าน ประกอบด้วย

การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ การรักษาความมั่นคงของรัฐและการต่างประเทศ การลดความเหลื่อมล้ำของสังคม การศึกษา ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม การยกระดับด้านสาธารณสุข

การเพิ่มศักยภาพด้านเศรษฐกิจ การส่งเสริมบทบาทและการใช้โอกาสในประชาคมอาเซียน การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม

การรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากร การสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน การส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาล และการ ป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติ มิชอบในภาครัฐ

และการปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

ทั้ง 11 ด้านมีฐานที่มาจาก 5 แหล่ง คือ

จากยุทธศาสตร์ตามแนวพระราชดำริ "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" จากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 จากปัญหาประเทศและความต้องการของประชาชน

และจากนโยบายคสช. อาทิ โรดแม็ป 3 ระยะ หลักค่านิยม 12 ประการ เป็นต้น

ในส่วนของคสช.นั้น ในการประชุมครม.นัดพิเศษ ตามฤกษ์วันที่ 9 เดือน 9 เพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจวิธีทำงานและการเตรียมตัวเข้าสู่ภารกิจรัฐมนตรี

พล.อ.ประยุทธ์สั่งหัวหน้าฝ่ายแต่ละฝ่ายของ คสช. รายงานผลปฏิบัติงานในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมานับตั้งแต่การเข้าควบคุมอำนาจวันที่ 22 พ.ค.2557 ให้รัฐมนตรีทุกคนได้รับทราบ

เพื่อรับช่วงทำงานแบบไร้ตะเข็บรอยต่อ

สําหรับบทบาทคสช.นับจากนี้เป็นต้นไป นับตั้งแต่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณตน ซึ่งถือเป็นการเข้ารับหน้าที่โดยสมบูรณ์

จนถึงขั้นตอนการแถลงนโยบายต่อสนช. หลักกิโลเมตรแรกในการกลับสู่โครงสร้างอำนาจฝ่ายบริหารปกติ

หากว่ากันตามทฤษฎี คสช.ซึ่งถือเป็นกลุ่ม "อำนาจพิเศษ" จึงต้องปรับลดระดับการทำงานลง ไม่สามารถออกประกาศคำสั่งหรือเรียกบุคคลมารายงานตัวได้อีก ยกเว้นใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกหรือการจัดระเบียบภายในของคสช.เอง

แต่นั่นก็เป็นแค่ในทางทฤษฎี ในทางปฏิบัติไม่ใช่ปัญหา เพราะถึงจะเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างไร รัฐบาลชุดนี้ก็ยังหล่อหลอมเป็นเนื้อ เดียวกับคสช.อยู่ดี

หัวหน้า คสช.เป็นคนเดียวกับนายกรัฐมนตรี รองหัวหน้ากับคณะที่ปรึกษาคสช.ก็เป็นทีมเดียวกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีกครึ่งค่อนคณะ

แตกต่างกันก็ในเรื่องทางเทคนิค เช่น การยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช. ที่คสช.ไม่ต้องยื่น แต่ถ้าเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีต้องยื่นตามระเบียบ

ย้อนกลับยังเรื่องนโยบายรัฐบาล

สิ่งที่แตกต่างจากรัฐบาลที่ผ่านมาทุกชุดตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีอธิบายไว้ว่า ถ้าหากเป็นรัฐบาลปกติจะมีภารกิจ ข้อเดียวคือการบริหารราชการแผ่นดิน

แต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 เป็นครั้งแรกที่กำหนดให้รัฐบาลมีภารกิจมากถึง 3 ข้อ ได้แก่ การบริหารราชการแผ่นดิน การปฏิรูป และการสร้างความปรองดองสมานฉันท์

ลึกลงไปในรายละเอียด เรื่องการบริหารราชการแผ่นดินจะครอบคลุมปัญหา 11 ด้านตามที่แถลงไว้เป็นนโยบาย

แต่ละด้านมุ่งสอดแทรกเรื่องป้องกันและปราบปราบการทุจริตคอร์รัปชั่น การปฏิรูป และการเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยไว้ในฐานะเป็นวาระแห่งชาติ

แบ่งการทำงานเป็น 3 ระยะ

ระยะเร่งด่วนเฉพาะหน้า ทำภายใน 1-2 เดือนหลังการแถลงนโยบาย ระยะกลาง ทำต่อจากระยะเร่งด่วน พยายามให้เสร็จภายใน 1 ปี ส่วนระยะยาว 5-10 ปี เป็นการวางรากฐานให้รัฐบาลชุดต่อไปเข้ามารับช่วง

ส่วนเรื่องการปฏิรูป กำลังจะมีสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือสปช. จากการสรรหาจำนวน 250 คน คาดว่าเสร็จสิ้นภายในไม่เกินต้นเดือนต.ค.นี้

ด้านการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ รัฐบาลจะนำมาทำต่อจากคสช. หัวใจสำคัญคือการขจัดเงื่อนไขความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ

รวมถึงปัญหายุติธรรมสองมาตรฐาน

มีการวิเคราะห์ว่าในห้วงเวลานับจากนี้ หลังการเปลี่ยนผ่านบทบาทจากคสช. มาเป็นการบริหารประเทศโดยคณะรัฐบาล

สิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีและคณะต้องเผชิญ จะเป็นปัญหาที่มีลักษณะแตกต่างออกไปจากเมื่อครั้งเป็นคสช.เพียงโดดๆ ตั้งแต่ปัญหาจุกจิก ไปจนถึงปัญหาขนาดใหญ่

ยกตัวอย่างเรื่องติดตั้งไมโครโฟนห้องประชุม ครม. ราคาตัวละ 1.4 แสน หรือทีวีเครื่องละ 5 แสน ที่ตกเป็นข่าวครึกโครมทางหน้าหนังสือพิมพ์นานนับสัปดาห์

ในตอนแรกรัฐมนตรีกับอธิบดีต่างก็บ่ายเบี่ยงโยนเรื่องกันไปมา

กว่าจะตัดสินใจออกมาแถลงชี้แจงทำความเข้าใจให้เรื่องซาลงไปได้ รัฐบาลต้องเสียหายด้านภาพลักษณ์ความพอเพียงไม่ฟุ้งเฟ้อไปพอสมควร

ล่าสุดกระแสบีบรัดให้นายกฯ ต้องตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเรื่องราวข้อเท็จจริง สังคมจึงต้องเฝ้าติดตามผลสอบว่าจะออกมารูปไหน เรื่องเล็กจะบานปลายเป็นเรื่องใหญ่หรือไม่

ส่วนปัญหาระดับใหญ่นั้น ตลอด 3 เดือนเศษที่ผ่านมา เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่าปัญหาด้านความมั่นคงไม่ใช่เรื่องใหญ่ของรัฐบาลและคสช.อีกต่อไป

แม้จะมีกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านเหลืออยู่บ้าง แต่ก็อยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้แบบสบายๆ ไม่มีจุดไหนตึงมือเหมือนในช่วงแรก

ดังนั้นสิ่งที่เป็นตัวชี้เป็นชี้ตายจริงๆ ของแทบทุกรัฐบาลคือ ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ปัญหาเกี่ยวกับปากท้องชาวบ้าน ราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค การค้าการลงทุน ปัญหาพลังงาน

รวมถึงปัญหาธุรกิจการท่องเที่ยวซึ่งกำลังได้ผลกระทบรุนแรง จากการที่จนแล้วจนรอดคสช.ก็ยังไม่ประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก

ถึงแม้จะมีเสียงเรียกร้องว่าควรยกเลิกในบางจังหวัดพื้นที่ท่องเที่ยว เพื่อเรียกบรรยากาศความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับคืนมาก็ตาม 

ปัญหาเหล่านี้ต้องเร่งแก้ไขด้วยการลงมือทำทันที ไม่ใช่แก้ไขด้วยการดีแต่พูด หรือหลอกตัวเองไปวันๆ โดยเฉพาะบรรดาข้าราชการที่คอยป้อนข้อมูลเอาอกเอาใจ ผู้มีอำนาจ ว่าทุกอย่างกำลังดีขึ้นเองหลังจากมีรัฐบาล

เพราะการเปิดรับความจริงเท่านั้นที่จะนำไปสู่ทางออกของปัญหาที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะปัญหาเล็กหรือใหญ่ก็ตาม

ไม่มีความคิดเห็น: