PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

สถานการณ์ข่าว 14พ.ย.57

สนช.งด

สนช. งดประชุม ขณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ชัดรายชื่ออนุกรรมาธิการ 11 คณะ วันนี้ ยัน พร้อมทำงานสัปดาห์หน้า

ความเคลื่อนไหวที่รัฐสภา วันนี้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีคำสั่งงดประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่ยังมีสมาชิก สนช. มาประชุมส่วนงานกรรมาธิการวิสามัญชุด
ต่าง ๆ หลายคณะ อาทิ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการผังเมืองและการใช้พื้นที่ คณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระ
ราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม ขณะเดียวกัน เวลา 09.30 น. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นัดประชุม โดยวันนี้จะมีความชัดเจนรายชื่อในคณะอนุกรรมาธิการทั้ง 11 คณะ ที่จะเดินหน้าจัดทำรัฐธรรมนูญ พร้อมประชุมได้ในสัปดาห์เป็นต้นไป และจากนี้ไป คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะยังเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ควบคู่ไปกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การทำงานเป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนด
------
"จเร" เตรียมเปิดโครงการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถ สปช. - กมธ.รธน. ขณะช่วงบ่าย "เทียนฉาย" บรรยายพิเศษ

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดโครงการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถในการปฏิบัติงานสนับสนุนกระบวนการนิติบัญญัติ สปช. และคณะ กมธ.ยกร่าง รธน.อย่างมืออาชีพ ประจำปีงบประมาณ 2558 เพื่อบูรณาการองค์ความรู้และความเข้าใจในการปฏิบัติงานของสำนักกรรมาธิการ 1, 2 และ 3 เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของ สปช. ทั้งนี้ งานจะเริ่ม เวลา 08.30-15.30 น. ที่ห้องประชุมรักตะกนิษฐ โรงแรมสวนดุสิตเพลส มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ซึ่งในเวลา 09.30 น. นายจเร  พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จะเป็นประธานในพิธีเปิดสัมมนาและบรรยายพิเศษเรื่อง “แนวทางการดำเนินงานเพื่อรองรับการดำเนินงานของคณะ กมธ.สปช. และคณะ กมธ.ยกร่าง รธน.”

นอกจากนี้ ในเวลา 13.00 น. นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.จะมอบนโยบาย และบรรยายพิเศษเรื่อง “มุมมองในการปฏิรูปประเทศ ทิศทางในการดำเนินงานของ สปช. และคณะ กมธ.”
---------
กมธ.ยกร่าง รธน. ทยอยร่วมประชุมแล้ว จับตาสถานะ สนช. - สปช. รวม 3 คน หลัง ป.ป.ช. มีมติส่งสำนวนถอด 38 ส.ว.

บรรยากาศที่รัฐสภา การรักษาความปลอดภัย ยังเป็นไปอย่างเข้มงวด ถึงแม้ไม่มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ล่าสุด กรรมาธิการเข้าประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนญแล้ว โดยมี นาย
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการดำเนินการประชุม ซึ่งวันนี้จะรวมรายชื่อในสัดส่วนต่างๆ ของคณะอนุกรรมาธิการทั้ง 11 คณะ ต้องเสร็จสิ้นในวันนี้ เพื่อประกาศแต่งตั้งและดำเนินงานในสัปดาห์หน้า ขณะเดียวกัน ภายหลัง คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติส่งรายงานไต่สวน 38 ส.ว. กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมิชอบ ประเด็นที่มา ส.ว. มาให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาถอดถอด พบว่ามีรายชื่อสมาชิก สปช. 2 คน คือ นายดิเรก ถึงฝั่ง พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ และสมาชิก สนช. 1 คน คือ พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์ ดังนั้น ต้องติดตามสถานะว่า ทั้ง 3 คน มีความเหมาะกับการปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหรือไม่
---------------
สปช. "เสรี" จ่อชงโครงสร้างทางการเมือง เชื่อ รธน.ถาวร แก้ขัดแย้งได้ ขอ สผ. จัดสรรงบประมาณโปร่งใส

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า ต้องการเสนอให้มีโครงสร้างทางการเมืองที่สมบูรณ์ และสร้างความเข้มแข็ง พร้อมคานอำนาจ เพื่อให้ประเทศมีความสงบสุข นอกจากนี้ ยังกล่าวว่า ในการทำหน้าที่ของ สปช. จะต้องไม่มีการถอยหลัง และเชื่อว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องมีการเดินไปข้างหน้า และแก้ปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ต้องการให้ทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดสรรงบประมาณการใช้จ่ายให้ชัดเจน โปร่งใส รวมถึงการกำหนดเงินประจำตำแหน่ง เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้งบประมาณ
--------------
"เทียนฉาย" มอบนโยบายแก่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เน้นย้ำทำงานรวดเร็ว มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้มอบนโยบาย และบรรยายพิเศษเรื่อง “มุมมองในการปฏิรูปประเทศ ทิศทางในการดำเนินงานของ สปช. และคณะ กมธ.” ให้แก่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการทำงานที่รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ ยังได้กล่าวถึงวิธีการลงคะแนนแบบใส่ซองแล้วเปิดซองเพื่อนับคะแนน มองว่าการนับแบบนี้มันล่าช้าเกินไป จึงเสนอว่าในวันจันทร์ที่ 17 พฤศจิกายน นี้ ที่จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ 5 คณะ ให้เขียนใส่กระดาษที่แจกเลย ไม่ต้องใส่ซอง

นอกจากนี้ นายเทียนฉาย ยังกล่าวว่า รู้สึกกังวลในการทำงานของสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร หากระบบการทำงานยังคงเป็นแบบเดิม การปฏิรูปประเทศคงไม่สำเร็จทันกรอบระยะเวลา 1 ปี
อย่างไรก็ตาม ต้องการให้มีการกำหนดนิยามคำว่า "การมีส่วนร่วมของประชาชน" อย่างชัดเจน
-------------------
เทียนฉาย รับ การปฏิรูปต้องปรับเปลี่ยนแนวคิด ควรยึดตามกรอบ ใน รธน.ชั่วคราว 

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า การปฏิรูปต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวความคิด หลักการ รวมทั้งองคาพยพ ต้องอาศัยการปรับรื้อระบบหรือโครงสร้างก่อนถึงจะสามารถแก้ปัญหาได้ ซึ่งเป้าหมายของการปฏิรูปควรยึดกรอบตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) ซึ่งมี 6 ข้อ คือ ต้องทำให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมันมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข มีความเหมาะสมกับสังคมไทย มีระบบเลือกตั้งที่สุจริตและเป็นธรรม มีกลไกขจัดการทุจริต คอร์รัปชั่นที่มีประสิทธิภาพ ขจัดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม มีกลไกของรัฐที่ให้บริการกับประชาชนทั่วถึง สะดวก และรวดเร็ว และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปได้แบ่งออกเป็น 18 ด้าน เพื่อไปสู่เป้าหมายทั้ง 6 ข้อ โดยอาจมีการแบ่งประเด็นแยกย่อยออกไปอีก เพื่อให้ชัดเจนและครอบคลุมมากขึ้น
--------------
"เทียนฉาย" ยัน ม.35 ไม่กระทบการยกร่าง รธน. ย้ำเป็นกลาง 17 พ.ย. นี้ เปิดศูนย์รับฟังความเห็นเป็นทางการ 

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ในการเปิดรับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน จะเปิดศูนย์อย่างเป็นทางการในวันจันทร์ที่ 17 พฤศจิกายน นี้ ซึ่งจะเปิดรับความคิดเห็นอย่างเสรี ตามมาตรา 35 โดยมีความเป็นกลาง ไม่อคติ โปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม และจะทำอย่างมีกระบวนการ

นอกจากนี้ การรับฟังความเห็นประชาชนสามารถทำได้ท่ามกลางกฎอัยการศึก และไม่มีปัญหาต่อการทำงานของ สปช. ในการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งในสัปดาห์หน้าจะมีความชัดเจนโดยจะต้องนำเรื่องนี้หารือต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขณะเดียวกัน ต้องมีกลไกที่จะทำให้กรรมาธิการปฏิรูปทั้ง 18 คณะที่ความเชื่อมโยงกัน

ทั้งนี้ ด้วยเวลาที่จำกัด สปช. อาจจะไม่สามารถปฏิรูปได้ในประเด็นที่ปลีกย่อยแต่จะต้องปฏิรูปในเรื่องหลัก ๆ ให้สำเร็จตามกรอบระยะเวลา
------------------
กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เผย 3 พรรคการเมืองตอบรับแล้ว คาดเพื่อไทยมาต้นเดือนธันวาคม พร้อมยืนยันเลื่อนหารือไม่กระทบกรอบทำงาน

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้เปิดให้กรรมาธิการพิจารณาในหมวดที่ 7 การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และภาค 3 นิติธรรม ศาล และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ รวมถึงได้รายชื่อของอนุกรรมาธิการ ทั้ง 10 คณะ อย่างไม่เป็นทางการเรียบร้อยแล้ว พร้อมรอประกาศแต่งตั้งเป็นทางการในวันที่ 17 พฤศจิกายน นอกจากนี้ ยังรายงานความคืบหน้าในการเชิญพรรคการเมืองต่าง ๆ และกลุ่มที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกัน ซึ่งยังไม่มีฝ่ายใดปฏิเสธการเข้าร่วมชี้แจงความเห็น โดยได้ประสานเป็นการภายในแล้ว แต่อาจมีการเลื่อน หรือเปลี่ยนแปลงกำหนดการ

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้มีพรรคการเมืองที่ตอบรับเข้าร่วมแล้ว 3 พรรค คือ พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังชล และพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนพรรคเพื่อไทย คาดว่า จะเข้าร่วมช่วงต้นเดือนธันวาคม พร้อมยืนยันการเลื่อนกำหนดการหารือออกไปใหม่ส่งผลกระทบต่อกรอบการทำงานของกรรมาธิการ
--------------
"เทียนฉาย" ไม่ทราบรายละเอียด ทหารบีบ ไทยพีบีเอส ยุติการนำเสนอ รายการเสียงประชาชนต้องฟังก่อนปฏิรูป

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกรณีทหารกลุ่มหนึ่งเดินทางเข้าพบผู้บริหารไทยพีบีเอส ให้ยุติการนำเสนอ รายการเสียงประชาชนต้องฟังก่อนปฏิรูป และ ถอด นางสาวณาตยา แวววีรคุปต์ ออกจากการเป็นผู้ดำเนินรายการ เนื่องจากไม่พอใจการตั้งคำถามและมีเนื้อหาพาดพิงการรัฐประหารรวมอยู่ด้วย ว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดของเรื่องนี้  แต่การรับฟังความเห็นในส่วนของ สปช. จะต้องรอการตั้งกรรมาธิการการมีส่วนร่วมก่อน รวมถึงกระบวนการเทคนิควิธีในการรับฟังความเห็น ซึ่งจะมีความชัดเจน ในวันจันทร์ที่ 17 พ.ย. นี้

นอกจากนี้ มองว่ากรณีที่เกิดขึ้น ไม่ได้นำมาเป็นเกณฑ์ที่จะรับฟังความเห็นประชาชนของ สปช. และการตีกรอบของ คสช. จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินการดังกล่าวด้วย เนื่องจาก สปช. ดำเนินการตามกรอบของรัฐธรรมนูญ ซึ่งอยู่คนละส่วนกัน
/////
ถอดถอน

"กฤช" รับ เจตนาแก้ไข รธน. ที่มา ส.ว. เผย ยังไม่ได้พูดคุยกลุ่มเพื่อน ยัน เคารพการตัดสินใจผู้มีอำนาจ

นายกฤช อาทิตย์แก้ว อดีต ส.ว.กำแพงเพชร และผู้ถูกกล่าวหาลำดับที่ 267 กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. เปิดเผยสำนักข่าว INN หลัง ป.ป.ช. มีมติส่งสำนวน 38 อดีต ส.ว. ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาถอดถอน นั้น ว่า มีเจตนาแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. หากมีโอกาสและสามารถทำได้ เนื่องจากเป็นนโยบายขณะหาเสียง และพร้อมต่อสู้ แต่ยังไม่ได้มีการพูดคุยถึงการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวกับเพื่อน ส.ว. อีก 37 คน ซึ่งอาจจะมีการพูดคุยกับในกลุ่มเล็กที่สนิทกันก่อน

อย่างไรก็ตาม หากมีโอกาสเป็น ส.ว. อีกครั้ง และรัฐธรรมนูญ ยังไม่เป็นประชาธิปไตย ยืนยันว่าจะแก้ไขอีกครั้งอย่างแน่นอน ทั้งนี้ เคารพในการตัดสินใจของผู้มีอำนาจ และ สนช. จะรับเรื่องหรือมีมติในเรื่องดังกล่าวอย่างไร ก็ต้องรอ
-------------------
"จเร" เผย หลังมี 5 กมธ. จ่อตั้งคณะทำงานรวบรวมข้อเสนอแนะ ขณะ 17 พ.ย. ปธ.สปช. เปิดศูนย์รับฟังความเห็นปฏิรูป

นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การดำเนินของสำนักงานเลขาธิการฯ ขณะนี้ จะทำงานร่วมกันโดยแบ่งเป็นทีมการทำงาน เพื่อให้มีเจ้าหน้าที่เพียงพอ ทั้งนี้ มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการติดตามให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมาธิการรับฟังความเห็นประชาชน ซึ่งจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

นอกจากนี้ หลังจากตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 5 คณะ แล้ว สำนักงานสภาผู้แทนราษฎร จะต้องตั้งคณะทำงานเพื่อสนับสนุนและรวบรวมข้อมูล พร้อมเสนอต่อคณะกรรมาธิการ ซึ่งในส่วนการรับฟังความเห็นประชาชน จะใช้ 3 ช่องทาง คือ ไปรษณีย์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และเว็บไซต์รัฐสภา รวมทั้งจะเปิดรับฟังความเห็นผ่านรายการวิทยุรัฐสภา และสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 17 พ.ย. ช่วงบ่าย ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ จะเป็นประธานเปิดศูนย์รับฟังความคิดเห็นในการปฏิรูป ภายในอาคารรัฐสภา เพื่อรับข้อเสนอจากประชาชนที่สามารถเข้ามายื่นเรื่องด้วยตนเอง โดยเจ้าหน้าที่จะรวบข้อเสนอต่างๆ เป็นรายวัน เพื่อเสนอต่อคณะอนุกรรมาธิการรับฟังความเห็นพิจารณา จากนั้น จึงรายงานให้ประชาชนรับทราบ
---------------
"พล.อ.เลิศรัตน์" เชื่อ เพื่อไทย เข้าร่วมถก กมธ.ยกร่าง แนะพรรคทำหนังสือขอ คสช. ชี้ ทำประชามติ ต้องแก้ รธน.ชั่วคราว

พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มั่นใจว่า ทุกพรรคการเมืองและกลุ่มคู่ขัดแย้งจะเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นต่อคณะกรรมาธิการยกร่างร่างรัฐธรรมนูญ เพราะคงต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น แต่อาจจะติดในเรื่องของห้วงเวลาที่อาจต้องขอเลื่อนออกไปบ้างเพื่อการเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่มีกระแสข่าวจะไม่เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นนั้น เห็นว่า อาจยังไม่พร้อมมาตามกำหนดเชิญ สำหรับข้ออ้างของพรรคการเมือง ที่ระบุว่า ยังไม่พร้อมให้ความเห็น เพราะไม่สามารถประชุมกรรมการบริหารพรรคได้ เนื่องจากติดคำสั่งห้ามของ คสช. นั้น พรรคการเมืองสามารถทำหนังสือ ถึง คสช. เพื่อขอประชุมกรรมการบริหารพรรคตามเงื่อนไขได้ และจะได้การตอบรับโดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม หากจะมีการทำประชามติ ทาง คสช. และรัฐบาล ต้องกลับไปแกรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ก่อน
----------------
ปธ.สนช. - รองฯ เตรียมหารือ กรณีถอดถอน 38 อดีต ส.ว. "พล.ต.กลชัย" ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวหรือไม่

นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติส่งรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อพิจารณาถอดถอน 38 ส.ว. กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว. ว่า ตามกระบวนการเมื่อสำนวนมาถึง ประธาน สนช. จะต้องบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมภายใน 30 วัน เพื่อพิจารณาถอดถอน ส่วน พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์ ที่เป็นสมาชิก สนช. จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวหรือไม่ คงต้องมาพิจารณาก่อนว่าตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่กำหนดว่า สนช. ทำหน้าที่ ส.ส.-ส.ว. แต่ถือว่าเป็น ส.ส.-ส.ว. หรือไม่

ขณะที่ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คือ นายดิเรก ถึงฝั่ง และ พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ นั้น คงไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ในวันจันทร์ที่ 17 พฤศจิกายนนี้ ประธาน และ รองประธาน สนช. จะหารือกันเพื่อความชัดเจน
-------------
ประธาน ป.ป.ช. เผย อาจส่ง "วิชา - สรรเสริญ" เข้ารายงานข้อมูลต่อ สนช. วันแถลงเปิดคดี "ยิ่งลักษณ์"

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีการส่งตัวแทนเข้าร่วมในวันแถลงเปิดคดีถอดถอนของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในกรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวว่า ขณะนี้ ยังไม่ได้รับหนังสือนัดหมายจากประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่เบื้องต้นคาดว่าจะส่ง นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. และตัวแทนคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีกล่าวเป็นผู้เข้าให้ข้อมูลกับ สนช. ซึ่งอาจจะมีการนำข้อมูลตัวเลขการสรุปปิดบัญชีข้าวของกระทรวงการคลังที่พบว่ามีความเสียหายกว่า 6 แสนล้านบาท รายงานต่อ สนช. ด้วย

อย่างไรก็ตาม นายปานเทพ เปิดเผยว่า สำหรับการตัวแทนคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในคดีโครงการรับจำนำข้าวของ นางสาวยิ่งลักษณ์ คือ นายวิชา มหาคุณ ซึ่งเป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงในคดีกังกล่าว
------------------
ป.ป.ช. บวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สนง. ครบรอบ 15 ปี ขณะ 17 พ.ย. "อ.เฉลิมชัย" บรรยายพิเศษ “ทุจริตคิด โกงชาติ จะพินาศทั้งราษฎร์รัฐ”

วันนี้ ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีการจัดทำพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในสำนักงาน เนื่องจากอยู่ในช่วงครบรอบ 15 ปี ของ สำนักงาน ป.ป.ช.
โดย นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า ในวันนี้ทาง ป.ป.ช. ได้จัดพิธีทางศาสนาเนื่องในวันสถาปนาสำนักงาน โดยได้
มีการสักการะศาลเจ้าที่ ศาลตายายประจำสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อเป็นสิริมงคล โดยในวันที่ 17 พ.ย. 2557 จะมีการบรรยายพิเศษ เรื่อง “ทุจริตคิด โกงชาติ จะพินาศทั้งราษฎร์รัฐ” โดย อ.เฉลิมชัย โฆษิต
พิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ และวันที่ 18 พฤศจิกายน มีการสัมมนาวิชาการ “คอร์รัปชันในระบบราชการ : ต้องทำอะไรต่อ?” ซึ่งถือเป็นกิจกรรมเนื่องในวันครบรอบ 15 ปี ป.ป.ช.

อย่างไรก็ตาม วันนี้ เวลา 14.29 น. คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะเดินทางไปบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สำนักงาน ป.ป.ช. ถนนพิษณุโลก ด้วยเช่นกัน
----------------
ปธ.ป.ป.ช. เผย ประชุมร่วม อสส. ครั้งต่อไป ต้องได้ข้อสรุปคดี "ยิ่งลักษณ์" ยัน หาก อสส. ไม่ส่งฟ้อง จะดำเนินการเอง

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงการประชุมของคณะทำงานร่วมอัยการสูงสุด (อสส.) และ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาคดีโครงการรับจำนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า กรณีที่ อสส. ขอให้ไต่สวนพยานเพิ่มเติมนั้น ป.ป.ช. เห็นว่าพยานเดิมนั้นเพียงพอแล้ว แต่ในส่วนของเอกสารจะพยายามหาเพิ่มเติให้ ซึ่งในการประชุมครั้งที่แล้ว ทาง อสส. รับปากว่าจะนำข้อเสนอของทาง ป.ป.ช. ไปพิจารณา

ทั้งนี้ ตามหลักการแล้วในการประชุมครั้งต่อไปควรได้ข้อสรุปว่า ทาง อสส. จะเป็นส่งสำนวนคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ ซึ่งทาง
ป.ป.ช. ยืนยันว่า ต้องการให้ อสส. เป็นผู้ส่งฟ้อง แต่หาก อสส. ไม่ส่ง ทาง ป.ป.ช. ก็จะนำเรื่องมาดำเนินการเอง

ขณะที่ นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ประชุมครั้งต่อไป แต่มีการตั้งคณะทำงานแต่ละฝ่ายเพื่อประสานงานกันในเบื้องต้นแล้ว

--------------
"นิคม" ไม่กังวลโดนถอดถอน แถลงค้าน ป.ป.ช. 12 ธ.ค. ขอ สนช. พิจารณารอบคอบ ขณะกำหนดวันลงมติ 26 ธ.ค. 

นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา เปิดเผย สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 57 จะเป็นการประชุมนัดแรกของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อกำหนดวันแถลงเปิดคดีถอนถอน พร้อมทั้งพิจารณาพยานหลักฐานเพิ่มเติม ทั้งนี้ ไม่มีความกังวลต่อการชี้แจงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. แต่ในวันดังกล่าว จะไม่ได้เดินทางไปด้วยตนเอง แต่จะเดินทางไปในวันแถลงเปิดคดี โดย สนช. จะประชุมทั้งหมด 5 ครั้ง และวันลงมติคือวันที่ 26 ธันวาคม 57 โดยต้องได้เสียง 3 ใน 5 ขณะที่เชื่อว่า สนช. จะใช้วิจารณญาณพิจารณาอย่างรอบคอบ

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 12 ธันวาคม 57 ป.ป.ช. จะเดินทางไปแถลงต่อ สนช. และ นายนิคม จะแถลงค้านพร้อมหลักฐาน เชื่อว่า ในวันดังกล่าวหากมีการถ่ายทอด ประชาชนจะเข้าใจและทราบถึงข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว ว่าผู้ใดที่เจตนาจงใจไม่ปฏิบัติตามหลักนิติธรรม
----------------
"วิชา" ระบุ สนช.-สปช. มีชื่ถูกถอดถอน ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ชี้ เพราะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเดิมแล้ว

นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีที่มีรายชื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จำนวน 3 ราย อยู่ในสำนวนถอดถอนอดีต 38 ส.ว. กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว. โดยมิชอบที่ ป.ป.ช. มีมติส่งให้ สนช. พิจารณาถอดถอนว่า บุคคลดังกล่าวไม่จำเป็นต้องยุติปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เนื่องจากขณะนี้ไม่ได้มีบทบาทหน้าที่เป็น ส.ว. แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ยังคงปฏิบัติหน้าที่เป็น สนช. และ สปช. ต่อไปได้ เนื่องจากทั้ง 3 คน ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเดิมแล้ว

อย่างไรก็ตาม หาก สนช. เห็นว่า ทั้งสามคนจำเป็นต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน ก็เป็นหน้าที่ของ สนช. ที่ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความต่อไป แต่ ป.ป.ช. เห็นว่าไม่จำเป็น
////////////
นายกฯเคลื่อนไหว

นายกฯ เข้าปฏิบัติงานทำเนียบแล้ว ก่อนเดินทางบันทึกเทปกล่าวถวายราชสดุดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ความเคลื่อนไหวที่ทำเนียบรัฐบาล ล่าสุดในช่วงนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้เดินทางเข้ามาที่ทำเนียบรัฐบาลแล้ว เมื่อเวลาประมาณ 10.05 น. โดยคาดว่าเข้ามาปฏิบัติงานตามปกติ เนื่องจากในช่วงเช้า ไม่มีวาระงานพิเศษ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาประมาณ 15.00 น. นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี จะเดินทางไปบันทึกเทปโทรทัศน์ กล่าวคำถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2557 ที่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.5) ถนนพหลโยธิน เขตพญาไท กรุงเทพฯ
-----------------
โฆษกรัฐบาล ประชุมตัวแทนทุกกระทรวง เตรียมแถลงผลงาน 3 เดือน 

ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับผู้แทนทุกกระทรวง เพื่อวางแนวทางการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร โดยกล่าวก่อนการประชุมว่า เป็นการเตรียมวางแผนนำเสนอผลงานของรัฐบาลในรอบ 3 เดือน ซึ่งจะมีการแถลงให้ประชาชนได้รับทราบในช่วงต้นเดือน ธ.ค. หลังได้รวบรวมและสรุปผลการดำเนินงานทั้งหมด ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายที่ดำเนินการไปแล้ว และประสบผลสำเร็จ โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร การขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจ การแก้ไขปัญหาเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชน การสนับสนุนการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองในประเทศ

ขณะเดียวกัน โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังระบุว่า ส่วนของขวัญที่เตรียมจะมอบให้กับประชาชนในช่วงปีใหม่นั้น จะมีทั้งเรื่องของการดำเนินงานด้านกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และร่างกฎหมายที่ค้างการพิจารณาให้มีความทันสมัย รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพของศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศ และศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ โดยให้ กระทรวงมหาดไทย เข้าดำเนินการอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งการดูแลประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในต่างประเทศด้วย
----------------
พล.อ.อนุพงษ์ รับ ผังเมืองยังมีปัญหาด้านกฎหมาย เร่งแก้ปัญหา รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ ลุยต้านคอร์รัปชั่น 

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์หลังจากที่ประธานหอการค้าไทย สภาหอการค้าไทย และคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) เข้าพบ ว่า ได้มีการ
เสนอแนวความคิดที่จะทำให้การทำงานของ กรอ. ดีขึ้น ทั้ง กรอ. จังหวัด และ กรอ. กลุ่มจังหวัด รวมถึงในเรื่องของผังเมืองที่ยังมีปัญหาทางกฎหมายอยู่มาก เนื่องมาจากนโยบายที่นายกรัฐมนตรี
จะทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะหากจะให้ผังเมืองเกิดขึ้นได้เร็วก็อาจต้องแก้ไขกฎหมาย เพื่อตอบสนองโครงการแล้วจึงจะนำข้อสรุปไปเสนอต่อรัฐบาล นอกจากนี้ ยังได้หารือกันถึงเรื่องที่นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ถึงแนวทางขององค์กรต่อต้านคอรัปชั่น อย่างไรก็ตาม ในการหารือครั้งนี้ สภาหอหารค้า และ กรอ. ไม่ได้มีการเสนอให้ คสช. ยกเลิกกฎอัยการศึกแต่อย่างใด
-------------------
นายกฯ บันทึกเทปอาเศียรวาท วันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. พร้อมคณะได้เดินทางมาที่สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เพื่อบันทึกเทปอาเศียรวาท เนื่องใน
โอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบรอบ 87 พรรษา 5 ธันวาคม 2557 ซึ่งการบันทึกเทปวันนี้มี 6 คณะ ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นประธานนำกล่าวอาเศียรวาท ขณะเดียวกันยังมี คณะกระทรวงกลาโหม คณะกระทรวงการต่างประเทศ และคณะกองบัญชาการกองทัพเรือด้วย โดยจะมีการออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบบก ในวันที่ 5 ธันวาคมนี้
////////////
สปช.สายสื่อ เรียกร้อง คสช. - รัฐบาล ยกเลิกประกาศ 97 - 103 อ้างเหตุทหารบุก TPBS กดดันการทำงาน

นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านสื่อ กล่าวว่า สื่อมวลชนมีความสำคัญอย่างมากในช่วงที่มีการปฏิรูปประเทศ การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การทำหน้าที่ของสื่อจะเป็นตัวชี้ว่า การปฏิรูปครั้งนี้จะสำเร็จหรือไม่ อยู่ที่บทบาทของสื่อ หากสื่อสามารถทำหน้าที่ได้โดยไม่ถูกขัดขวาง มีเสรีภาพบนความรับผิดชอบ ที่ผ่านมาตนได้นำปัญหาและอุปสรรคของการทำหน้าที่ของสื่อ ไปแจ้งต่อที่ประชุมวิป สปช. โดยเฉพาะประกาศ คสช. ฉบับที่ 97 และ 103 ที่เป็นอุปสรรคของสื่อในการเชิญบุคคลไปปออกรายการทีวี ทั้งนี้ เพื่อให้ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. สื่อสารไปยังนายกรัฐมนตรีและคณะคสช. ถึงอุปสรรคว่าควรมีการผ่อนคลาย ให้สื่อสามารถทำหน้าที่ได้อย่างตรงไปตรงมา อย่างกรณีเรื่องที่เกิดขึ้นกับรายการ “เสียงประชาชน” ของสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส (TPBS) ที่มีข่าวว่า มีทหารกลุ่มหนึ่งเข้าไปกดดัน จะทำให้เกิดความเข้าใจผิด และสร้างภาพลักษณ์ และบรรยากาศที่ไม่ดีของการทำหน้าที่ของสื่อ


ไม่มีความคิดเห็น: