PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ฎีกายืนปรับ1.3แสนคนเก็บขยะขายซีดีเก่า ก่อนเข้าคุกเพราะไม่มีเงินจ่าย

'ฎีกา' ยืน พิพากษาปรับ 133,400 บาท 'หนุ่มลูกจ้างชั่วคราวกทม.' เก็บขยะขายซีดีเก่า แผ่นละ 20 ไม่มีใบอนุญาต ผิด พ.ร.บ.ภาพยนตร์-วีดิทัศน์ ไม่มีเงินจ่าย ขังแทน 1 ปี

                           13 พ.ย. 57  ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก  ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.3060/2552 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 6 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายรัต (ขอสงวนนาม) อายุ 28
ปี ลูกจ้างชั่วคราว เก็บขยะ ประจำเขตสะพานสูง กองรักษาความสะอาด กรุงเทพมหานคร เป็นจำเลย ในความผิดฐาน ประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำนำภาพยนตร์ ซึ่งเป็นแผ่นวีซีดีภาพยนตร์ ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551

                           โดยอัยการโจทก์ ยื่นฟ้อง บรรยายพฤติการณ์ความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 51จำเลยประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำนำภาพยนตร์ ที่เป็นแผ่นวีซีดีภาพยนตร์อันเป็นวัสดุที่มีการบันทึกภาพและเสียง ซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการเปิดจำหน่ายเป็นแผงลอย ไม่มีเลขที่ ตั้งอยู่ริมบาทวิถี ในตลาดนัดใกล้สี่แยกกรุงเทพกรีฑา เขตบางกะปิ กทม. และได้รับเงินตามราคาแผ่นวีซีดีภาพยนตร์ที่ได้จำหน่ายในราคาแผ่นละ 20 บาท โดยไม่ได้รับใบอนุญาต เหตุเกิดที่แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กทม. ซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวน ขณะที่ชั้นพิจารณา จำเลยให้การปฏิเสธ นำสืบต่อสู้ว่า จำเลยเป็นพนักงานเก็บขยะ ประจำเขตสะพานสูง กองรักษาความสะอาด กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นลูกจ้างชั่วคราว เก็บขยะระหว่างเวลา 04.00 - 10.00 น. เมื่อเก็บขยะแล้วจะแยกขยะที่พอขายได้ไปขายที่แผงลอยตลาดหน้าหมู่บ้านนักกีฬา โดยขายปะปนกับหม้อหุงข้าว และรองเท้าเก่า ต่อมาถูกตำรวจ สน.หัวหมาก จับ โดยยอมรับว่าขายจริง แต่ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการ

                           ต่อมาศาลชั้นต้น มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 53 เห็นว่าจำเลยกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์ ฯ มาตรา 38 วรรคหนึ่ง และ ม.79 ให้ปรับ 200,100 บาท แต่คำรับสารภาพจำเลยใน
ชั้นสอบสวนมีประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง เห็นควรลดโทษให้ 1 ใน 3 คงปรับจำนวน 133,400 บาท หากจำเลยไม่ชำระ ให้กักขังแทนค่าปรับไม่เกิน 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 ขณะที่จำเลย ยื่นอุทธรณ์ และเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 55 ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ซึ่งจำเลย ได้ยื่นฎีกาสู้คดี

                           ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว รับฟังได้ตามทางนำสืบว่า เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 51 จำเลย ได้นำแผ่นวีซีดีภาพยนตร์ 83 แผ่น และแผ่นซีดีเพลง 13 แผ่น มาวางขายกับพื้น บริเวณตลาดนัดสี่แยกกรุงเทพกรีฑา แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กทม. ต่อมาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.หัวหมาก เข้าจับกุม ชั้นสอบสวนให้การรับสารภาพ ขณะที่ของกลาง ซึ่งเป็นหลักฐานพยานในชั้นสอบสวน มีเจ้าพนักงานของรัฐตรวจสอบ และมีบันทึกคำรับสารภาพในชั้นจับกุมที่มีลายมือชื่อจำเลย

                           ส่วนที่จำเลย ฎีกาว่า พ.ร.บ.ภาพยนตร์ ฯ ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ฯ จึงใช้บังคับกับคดีนี้ไม่ได้นั้น เห็นว่า ฎีกาของจำเลยไม่มีรายละเอียดว่า พ.ร.บ.ดังกล่าว ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ หมวดใด เรื่องใด เพราะอะไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง และที่จำเลยต่อสู้ว่า ไม่มีเจตนาประกอบธุรกิจค้าแผ่นซีดี ในลักษณะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ การกระทำผิดของจำเลยจึงไม่ต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้น ศาลเห็นว่า แม้จำเลยจะยกประเด็นขึ้นฎีกา แต่ไม่มีข้อความใดเป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ซึ่งไม่เป็นไปตามบทบัญญัติอำนาจฎีกา ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคแรก จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น จำเลยจึงมีผิดตามฟ้อง ที่ศาลล่างพิพากษามานั้นชอบแล้ว พิพากษายืน

                           ภายหลังอ่านคำพิพากษาฎีกาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่า นายรัต จำเลย ไม่มีเงินชำระค่าปรับ จำนวน 133,400 บาท เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ จึงได้ควบคุมตัวนายรัต จำเลยไปกักขัง
แทนค่าปรับตามคำพิพากษาต่อไป

                           ขณะที่นายรัต ลูกจ้างชั่วคราว กทม. เปิดใจก่อนถูกควบคุมตัวไปกักขังว่า เตรียมใจมาแล้วว่า ต้องถูกตัดสินโทษ ซึ่งรับสารภาพมาแต่ต้นว่าเป็นคนขายซีดีจริง โดยตนก็ไม่รู้กฎหมาย ขณะที่เวลานั้นตนไม่ได้ขายซีดีอย่างเดียว แต่นำเอาสิ่งของอื่นที่ได้มาจากกองขยะ มาวางขายด้วย

                           นายรัต กล่าวอีกว่า วันนี้ ยังไม่มีค่าปรับที่จะจ่ายได้ทันที แต่จะลองให้ภรรยาไปหายืม หรือกู้เงินนอกระบบ มาชำระค่าปรับ ซึ่งหนทางเหมือนจะมืดมน ไม่รู้จะไปพึ่งใคร ตอนนี้สงสารแต่ลูก ซึ่งที่ผ่านมาทำงานเก็บขยะอยู่ที่เดิม โดยตั้งแต่เกิดเหตุ ตนก็ไม่กล้านำอะไรมาขายอีก
-------------
                ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตาม มาตรา ๓๐ ในการ กักขังแทนค่าปรับ ให้ถืออัตรา สองร้อยบาทต่อหนึ่งวัน และ ไม่ว่าในกรณี ความผิดกระทงเดียว หรือ หลายกระทง ห้าม กักขัง เกินกำหนด หนึ่งปี เว้นแต่ ในกรณีที่ ศาลพิพากษา ให้ปรับตั้งแต่ แปดหมื่นบาทขึ้นไป ศาลจะสั่งให้ กักขังแทนค่าปรับ เป็นระยะเวลา เกิน หนึ่งปี แต่ ไม่เกิน สองปี ก็ได้
               ในการ คำนวณระยะเวลานั้น ให้นับวันเริ่ม กักขังแทนค่าปรับ รวมเข้าด้วย และ ให้นับเป็น หนึ่งวันเต็ม โดยไม่ต้องคำนึงถึง จำนวนชั่วโมง
              ในกรณีที่ ผู้ต้องโทษปรับ ถูกคุมขัง ก่อนศาลพิพากษา ให้หักจำนวนวัน ที่ถูกคุมขังนั้น ออกจาก จำนวนเงินค่าปรับ โดยถืออัตรา สองร้อยบาทต่อหนึ่งวัน เว้นแต่ ผู้นั้น ต้องคำพิพากษา ให้ลงโทษ จำคุกและปรับ ในกรณีเช่นว่านี้ ถ้า จะต้องหักจำนวนวัน ที่ถูกคุมขัง ออกจากเวลาจำคุก ตาม มาตรา ๒๒ ก็ให้หักออกเสียก่อน เหลือเท่าใด จึงให้หักออก จากเงินค่าปรับ
เมื่อ ผู้ต้องโทษปรับ ถูกกักขังแทนค่าปรับ ครบกำหนดแล้ว ให้ปล่อยตัว ในวันถัดจาก วันที่ครบกำหนด ถ้านำเงินค่าปรับมาชำระครบแล้วให้ปล่อยตัวไปทันที
////////////
(ข่าวเดิม)

อัยการสำนึก-ตร.ปลอบใจ ฟ้องคนเก็บขยะขายซีดีเก่า

โดย ทีมข่าวอาชญากรรม
17 สิงหาคม 2553 16:25 น.

อธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา แสดงความเห็นใจคนเก็บขยะ กทม.ที่ถูกศาลพิพากษาปรับเป็นเงินหลักแสน หลังจากที่ไปเก็บซีดีหนังเก่ามาขายตามตลาดนัด หาเงินค่าคลอดลูกให้ภรรยา ย้ำต่อไปจะทบทวนการวินิจฉัยสั่งคดี โดยเฉพาะคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ขณะที่โฆษกศาลยุติธรรม ระบุ ศาลพิจารณาพิพากษาไปตามตัวบทกฎหมาย ด้านโฆษกตำรวจรุดเข้าเยียวยา มอบเงินส่วนตัวครึ่งแสนให้ชำระหนี้ที่ไปกู้มาต่อสู้คดี ส่วนตำรวจ สน.หัวหมาก ที่เกี่ยวข้องกับคดีโยกย้ายกันไปหมดแล้ว 
     
       วันนี้ (17 ส.ค.) นายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา กล่าวถึงคดีที่ นายสุรัตน์ มณีนพรัตน์สุดา พนักงานเก็บขยะ กทม.ถูกศาลพิพากษาปรับ 133,400 บาท ฐานเป็นผู้ประกอบการจำหน่ายให้เช่าภาพยนตร์ฯ โดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ พ.ศ.2551 ที่ประกาศใช้วันที่ 4 มี.ค.2551 ทำให้เกิดความกังวลและข้อวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ประชาชนและพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยอย่างกว้างขวางว่า รู้สึกเห็นใจ นายสุรัตน์ แต่ตนไม่เห็นสำนวนนี้ และไม่รู้ว่าสั่งฟ้องศาลไปแล้วด้วย ถ้ารู้จะเรียกมาดูอีกครั้งก่อน น่าเสียดายที่จำเลยไม่ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม เข้าในระหว่างการพิจารณาของอัยการ เพื่ออัยการจะได้เรียกพยานมาสอบ หรือสั่งพนักงานสอบสวนไปสอบเพิ่มเติมตามมาตรา 143 ว่า การที่ นายสุรัตน์ ที่มีอาชีพเป็นลูกจ้าง กทม.เก็บขยะมาขาย จะเข้าลักษณะเป็นผู้ประกอบกิจการจำหน่าย ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้หรือไม่ ความจริงกฎหมายก็ออกมา 2 ปีแล้ว แค่คนทั่วไปไม่รู้ ดังนั้น หากคำนึงถึงสภาพของคนที่เก็บขยะอย่างนี้ เขาจะมีเจตนาพิเศษไปกระทำผิดตามกฎหมายนี้หรือไม่
     
       นายกายสิทธิ์ กล่าวว่า ต่อไปอัยการจะทบทวนการวินิจฉัยสั่งคดี โดยเฉพาะหลักการไม่ฟ้องคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะมาใช้อย่างเคร่งครัด ดังเช่นคดีเด็กที่ขโมยซาลาเปา 2 ลูกมาเลี้ยงน้องที่อดอยาก ที่อัยการเคยสั่งไม่ฟ้องไปแล้ว คดีนี้จะว่าไปแล้วก็คล้ายคดีลักมะม่วงมาบรรเทาความหิวโหยเมื่อหลายสิบปีก่อน ซึ่งเราไม่ควรลงโทษกับคนเหล่านี้
     
       ผู้สื่อข่าวถามว่า นางนพรัตน์ อัญมณี น้องสาว นายสุรัตน์ บอกว่า ขณะถูกตำรวจจับ เวลานั้นก็มีการขายสินค้าแผ่นซีดีเถื่อน แต่ตำรวจไม่จับ มาจับคนจน นายกายสิทธิ์ ตอบว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็อาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เอาเป็นว่าเรื่องนี้หากนายสุรัตน์ ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ตามมาตรา 193 ทวิ แล้ว เขาต้องส่งสำเนาอุทธรณ์ให้อัยการอยู่แล้ว ซึ่งอัยการจะพิจารณาให้ อาจจะไม่อุทธรณ์ขอให้เพิ่มโทษตามมาตรา 212 และอาจไม่อุทธรณ์ต่อสู้คดีกับนายสุรัตน์อีก ส่วนเรื่องดุลพินิจในการจับกุมนั้น ตนจะเชิญตำรวจมาถกปัญหานี้อีกครั้ง
     
       ขณะเดียวกัน ที่สำนักงานศาลยุติธรรม นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า ได้ติดตามข่าวคดีนี้แล้ว แต่ยังไม่ได้เรียกสำนวนมาดู เชื่อว่า ที่ศาลพิพากษาครั้งนี้เป็นไปตามการบังคับตามกฎหมาย ที่โทษปรับขั้นต่ำที่สุด คือ ปรับ 200,100 บาท และศาลได้พิจารณาหาทางลดโทษให้แล้ว โดยลดให้เหลือ 133,400 บาท ศาลจะมีดุลพินิจเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ซึ่งต้องพิจารณาไปตามข้อกฎหมาย ที่อาจจะไม่ค่อยเป็นไปในทางเดียวกับกระแสสังคมเสมอไป
     
       สำหรับคดีนี้จำเลยเคยรับสารภาพในชั้นสอบสวน เท่ากับเป็นการปิดปากตัวเอง ศาลจึงต้องพิจารณาลงโทษตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ น่าจะใช้ลงโทษผู้ค้าราย
ใหญ่มากกกว่าพวกปลาซิวปลาสร้อย
     
       “คดีนี้ยังมีทางออก จำเลยสามารถอุทธรณ์ทั้งข้อเท็จจริงข้อกฎหมาย ขอลดโทษให้เบาลงก็ได้” โฆษกศาลยุติธรรม กล่าว
     
       เมื่อถามว่า ศาลมีแนวทางที่จะตัดสินคดีให้สอดคล้องกับความรู้สึกของสังคมหรือไม่ นายสิทธิศักดิ์ กล่าวว่า คดีแบบนี้ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก ศาลจึงไม่มีบัญชีอัตราในการลงโทษ จึงถือเป็นดุลพินิจของผู้พิพากษาแต่ละคน เอาเป็นว่า คดีนี้รอให้จำเลยอุทธรณ์เข้ามา ขอให้เป็นดุลพินิจของศาลสูงว่าจะมีดุลพินิจอย่างไร
     
       ที่สภาทนายความ ว่าที่ พ.ต.สมบัติ วงศ์กำแหง โฆษกสภาทนายความ แถลงว่า ตาม พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 คำว่า ในมาตรา 38 ที่ว่า ให้เอาผิดกับผู้ประกอบกิจการจำหน่ายให้
เช่าภาพยนตร์ วีดิทัศน์ ถ้าฝ่าฝืนให้ปรับ 2 แสน ถึง 1 ล้านบาทนั้น ต้องดูนิยามคำว่า “ผู้ประกอบการ” ซึ่งควรจะหมายถึง ผู้ประกอบการเป็นกิจวัตร อาชีพประจำ เช่น เปิดร้านเป็นกิจจะลักษณะหรือไม่
ซึ่งคำนี้น่าจะถือว่าเป็นองค์ประกอบความผิด ถ้าการกระทำของนายสุรัตน์ไม่ครบองค์ประกอบความผิด ก็ต้องถือว่า การกระทำนั้นไม่มีความผิด ตำรวจจะจับไม่ได้ ดังนั้นการที่นายสุรัตน์ เป็นพนักงานเก็บขยะ หารายได้เสริมโดยปูเสื่อและวางแผ่นหนังเก่าขาย ไม่น่าจะมีลักษณะเป็นผู้ประกอบการ อันเป็นกิจจะลักษณะดังความในมาตรา 38 ตำรวจไม่น่าจับ
     
       โฆษกสภาทนายความกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังต้องดูเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา ได้บัญญัติไว้ว่า ผู้กระทำผิดต้องมีเจตนาด้วยเสมอ คือ รู้สำนึกในการกระทำ โดยประสงค์ต่อผลหรือย่อม
เล็งเห็นผล ต่อการกระทำที่เกิดขึ้น ดังนั้นหากเขาไม่มีเจตนาจะขายเป็นล่ำเป็นสัน แต่ขายเพื่อเอาเงินไปซื้อข่าวให้ลูก อย่างนี้จะเรียกว่ามีเจตนากระทำผิดหรือไม่ ดูเทียบกับคดีเด็กขโมยซาลาเปาในห้างค้าปลีกเมื่อ 10 ปีก่อน อัยการก็สั่งไม่ฟ้องเป็นบรรทัดฐานมาแล้ว อย่างไรก็ตามนายสุรัตน์ยังมีสิทธิ์อุทธรณ์ และฎีกาต่อไปได้
     
       “ตำรวจเป็นด่านแรกในการกลั่นกรองคดี ไม่ให้คนต้องถูกลงโทษทางอาญาโดยไม่จำเป็น มิฉะนั้นคนจนที่ไม่มีสันดานเป็นโจร ต้องมาติดคุก นายสุรัตน์อาจจะกระทำผิดในฐานอื่น เช่น วางสิ่งของเกะกะบนทางวิถี ก็จับปรับไป แต่ข้อหาหนัก ๆ ตำรวจน่าจะพิจารณาด้วยความระมัดระวัง ว่าคนจนเขาจะเอาเงินค่าปรับสองแสนบาทมาจากไหน” โฆษกสภาทนายความ กล่าว
     
       วันเดียวกัน เมื่อเวลา 10.00 น.นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมว่าที่ร้อยตรี สมสิทธิ์ คงธนสารสิทธ์ ผอ.สำนักงานเขตสะพานสูง และคณะเดินทางไปที่ห้องเลขที่ 2/1 ชั้น 2 อาคารรุ่งอรุณบ้านเช่า เลขที่ 40/2531 ถนนสุขาภิบาล 2 ซอย 15 แยก 3 ชุมชน 40 ไร่ แขวงและเขตประเวศ เพื่อเข้าเยี่ยม นายสุรัตน์ นางส้มโอ มณีนพรัตน์สุดา อายุ 23 ปี ภรรยา และลูกสาวอีก 2 คน คือ ด.ญ.จันทิมา มณีนพรัตน์สุดา อายุ 7 ขวบ กับ ด.ญ.สกลดา มณีนพรัตน์สุดา อายุ 1 ขวบ 3 เดือน
     
       นายองอาจ กล่าวว่า จะประสานสภาทนายความให้ความช่วยเหลือในขั้นตอนการยื่นอุทธรณ์ โดยในวันพรุ่งนี้ (18 ส.ค.) เวลา 14.00 น.จะให้ทางสำนักงานเขตพาไปสภาทนายความ และในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น ก็อยากให้ใช้ดุลพินิจในการจับกุมมากกว่านี้
     
       ด้าน นายสุรัตน์ กล่าวว่า ในวันเกิดเหตุ ตนกับภรรยาได้นำของเก่าที่เก็บมาจากกองขยะ เช่น หม้อหุงข้าว กระเป๋า และซีดี 30 แผ่น ไปวางขายแผ่นละ 20 บาท โดยยืนยันว่า เก็บมาจากกองขยะทั้งหมด และยังขายใครไม่ได้เลยด้วย จนกระทั่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 5 คน เข้ามาจับกุมไป สน.หัวหมาก ขณะนั้นกลัวมาก จึงให้ภรรยาติดต่อพ่อให้ช่วยประกันตัวออกมาสู้คดีดังกล่าว
     
       “ไม่ทราบว่าการขายซีดีนั้นต้องมีใบอนุญาต ส่วนสาเหตุที่นำมาขาย ก็เพราะเงินเดือนน้อย อีกทั้งช่วงนั้นภรรยากำลังท้องลูกคนที่สองได้ 3 เดือน จึงต้องการหาเงินเก็บไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการคลอด อย่างไรก็ตาม ผมและครอบครัวขอเคารพในการตัดสินของศาล ส่วนเงินประกันตัวเมื่อวานนี้นั้น ต้องขอขอบคุณ พี่เชน ทนายความของผมที่ช่วยหาหลักทรัพย์มาประกันตัว ถ้าไม่ได้พี่เชนช่วย ผมคงไม่ได้ออกมาแน่” นายสุรัตน์ กล่าว
     
       ขณะที่ นางส้มโอ ภรรยา นายสุรัตน์ กล่าวว่า ในวันที่ถูกจับกุมนั้น กำลังนั่งขายของอยู่กับสามี พอตำรวจมาเชิญตัวสามีไปโรงพัก ก็รู้สึกกลัวมาก ทำอะไรไม่ถูก ได้แต่นั่งร้องไห้ พอตั้งสติได้ก็โทร.ไปหาพ่อสามีให้ช่วยมาประกันตัวตอนนั้นทันที ตนก็ยังไม่มีงานทำ อีกทั้งยังตั้งท้องอยู่ จึงกลัวว่าถ้าสามีติดคุกตนไม่รู้จะหาเลี้ยงลูกอย่างลำพังได้อย่างไร
     
       ต่อมาเวลา 14.00 น.พล.ต.ท.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้ช่วย ผบ.ตร.ในฐานะโฆษก ตร.เดินทางเข้าเยี่ยมนายสุรัตน์ และนางส้มโอ เพื่อชี้แจงให้ทั้งสองเข้าใจ พร้อมเปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ที่ทางสำนักงานเขต จะพานายสุรัตน์เดินทางไปสภาทนายความนั้น ทางตำรวจก็จะส่งตัวแทนไปร่วมประสานงานด้วย เพื่อศึกษาแนวทางในการต่อสู้คดีอย่างไรบ้าง สำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมนั้น เบื้องต้นได้สอบถามจาก ผกก.สน.หัวหมาก ก็ทราบว่า ส่วนใหญ่ย้ายออกไปหมดแล้ว อย่างไรก็ตาม จะทำการติดตามสอบถามจากชุดจับกุมดังกล่าว เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องก่อนเพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบในการใช้กฎหมายจับกุมในอนาคตต่อไป
     
       พล.ต.ท.พงศพัศ กล่าวต่อว่า สำหรับ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 นั้นเป็นกฎหมายใหม่ ที่พี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบถึงเนื้อหาสาระของข้อกฎหมายตัวนี้มากนัก ซึ่งหลังจากนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ตัวกฎหมายฉบับนี้ให้ รวมถึงกฎหมายฉบับอื่นที่ออกใหม่ เพื่อให้พี่น้องประชาชนให้ได้รับทราบถึงเนื้อหาสาระ เพื่อจะได้ปฏิบัติได้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป
     
       พล.ต.ท.พงศพัศ กล่าวด้วยว่า จากการสอบถาม นายสุรัตน์ และ นางส้มโอ ทราบว่า ขณะนี้มีหนี้สินอยู่จำนวน 50,000 บาท จากการไปหยิบยืมเงินมาจากญาติมาใช้ในการต่อสู้คดี ซึ่งในวันพรุ่งนี้ก็จะมอบเงินส่วนตัวจำนวน 50,000 บาท ให้กับทั้งคู่นำไปใช้หนี้เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมีหนี้สินเพิ่มขึ้นมาอีก

ไม่มีความคิดเห็น: