เปิดชื่อ 3 สนช.สาย “วงษ์สุวรรณ” ไม่รับเรื่องถอดถอน “นิคม -สมศักดิ์” อ้างปรองดอง
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
6 พฤศจิกายน 2557 23:46 น.
เปิดเผยรายชื่อ 3 สนช. “ธานี - ชัชวาลย์ - บุญเรือง” คนใกล้ชิด “พัชรวาท วงษ์สุวรรณ” ไม่รับเรื่องถอดถอน “นิคม - สมศักดิ์” อ้างสนองนโยบายปรองดองของ คสช. ขณะที่กลุ่ม 40 ส.ว. ผนึกสายวิชาการยันต้องรับเรื่องไว้ก่อนเนื่องจากไม่มีกฎหมายให้ปฏิเสธ แต่เชื่อสุดท้ายไม่สามารถเอาผิดทั้งคู่ได้ เพราะต้องใช้เสียงถึง 132 เสียงขึ้นไป อีกทั้งรัฐธรรมนูญปี 50 ไม่มีผลบังคับใช้แล้ว ขณะที่ สนช. สายทหารหลายรายหนีไปทอดกฐิน
วันนี้ (6 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผลการลงคะแนนที่ออกมาให้รับเรื่องคดี นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ และ นายนิคม ไวยรัชพานิช ไว้พิจารณา 87 - 75 เสียงนั้น ถือเป็นสิ่งที่ผิดคาดพอสมควร เพราะก่อนหน้านี้สมาชิกส่วนใหญ่ซึ่งเป็นทหารมีความเห็นไม่อยากให้รับเรื่องไว้พิจารณา แต่ปรากฏว่า เมื่อถึงวันลงมติ มีสมาชิก สนช. ไม่ยอมเข้าร่วมประชุมถึง 30 คน ส่วนใหญ่เป็น สนช. สายทหาร โดยให้เหตุผลว่า เดินทางไปร่วมงานทอดกฐินของกองทัพบก ขณะเดียวกันในช่วงก่อนการลงมติ มีผู้แสดงตนว่าอยู่ในห้องเป็นองค์ประชุมถึง 190 คน แต่มีผู้ใช้สิทธิลงมติเพียง 177 คน โดยอีก 13 คน ไม่ยอมลงมติแต่อย่างใด
ทั้งนี้ สำหรับการอภิปรายในที่ประชุมลับ มีผู้ลุกขึ้นอภิปราย 24 คน โดยมี สนช. 21 คน นำโดย นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม นายตวง อันทะไชย นางพิไลพรรณ สมบัติศิริ นายมนุชญ์ วัฒนโกเมนร นายมนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด นายสมชาย แสวงการ นายทวีศักดิ์ สูททวาทิน นายกล้านรงค์ จันทิก นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อภิปรายสนับสนุนให้ที่ประชุมรับเรื่องไว้พิจารณาเนื่องจากเห็นว่า สนช.ต้องรับเรื่องไว้พิจารณาตามกฎหมายของ ป.ป.ช. ที่ส่งเรื่องมาให้ เทียบเคียงได้กับการพิจารณาคดีของศาลเวลารับฟ้อง ที่จะยังไม่ไปดูเนื้อหาของคดี แต่จะดูว่า ผู้ฟ้องมีอำนาจฟ้องหรือไม่ และคำฟ้องถูกต้องหรือไม่ และผู้รับมีอำนาจรับหรือไม่ อีกทั้งสังคมยังจับตามองเรื่องนี้อยู่ หากไม่รับเรื่องจะชี้แจงอย่างไร
ส่วน สนช.อีก 3 เสียง เห็นว่า ไม่ควรรับเรื่องไว้พิจารณา ได้แก่ นายธานี อ่อนละเอียด พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ และพล.ต.ท.บุญเรือง ผลพาณิชย์ คนใกล้ชิด พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ โดยให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญปี 50 ไม่มีผลบังคับใช้แล้ว จึงไม่สามารถรับเรื่องไว้ถอดถอนได้ อีกทั้งเพื่อความปรองดองตามนโยบาย คสช. จึงไม่ควรเอาผิดอีก
ทั้งนี้ เมื่อมีการเสนอให้ประชุมและลงมติรับ ทำให้สมาชิก สนช. มีความกล้ามากขึ้นที่จะแสดงความเห็นและกล้าลงมติ ทำให้ สนช. บางส่วนที่ยังไม่ตัดสินใจ หันมาลงมติให้รับเรื่องไว้ก่อน อย่างไรก็ตาม ผลคะแนนที่ออก สนช. หลายคนวิเคราะห์ไปในทางเดียวกันว่า ในที่สุดคงไม่สามารถลงมติถอดถอนนายสมศักดิ์และนายนิคมได้ในขั้นตอนการลงมติ เนื่องจากต้องใช้เสียง 3 ใน 5 ของ สนช. ทั้งหมด หรือ 132 เสียงขึ้นไป และส่วนใหญ่ก็ไม่มีบทลงโทษได้ เพราะ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดตามฐานของ รธน. 50 ซึ่งสิ้นสภาพไปแล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น