PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2558

แก้ไข รธน.ม.68 ยึดอำนาจหรือคานอำนาจ

"การไปพ่วงมาตรา 68 เข้ามาในร่างแก้ไขมาตรา 237 วรรคสองด้วยนี้ ผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นฝีมือการร่างของนักกฎหมายประเภทเทคนิค คือนักกฎหมายที่ไม่มีจิตวิญญาณของนักกฎหมาย (legal mind) และไม่มีความเคารพในกฎของกฎหมาย (the Rule of Law)พวกนี้ร่างกฎหมายตามความประสงค์ของผู้มีอำนาจและมีความรู้ที่จะใช้เทคนิคทางกฎหมายอธิบายให้ดูเป็นเหตุผลได้"

 ที่มา แนวหน้า 1เม.ย.2556

เป็นที่ทราบกันดีว่าขณะนี้ สส.พรรครัฐบาลร่วมกับสมาชิกวุฒิสภาจำนวนหนึ่งยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับ ปัจจุบันโดยแยกยื่น 3 ฉบับ แต่มีหลักการแก้ไขมากกว่า 3 เรื่องหรือ 3 ประเด็น
ถึงแม้ทุกฉบับจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับประชาชนและระบอบการปกครองของประเทศ แต่ในบทความนี้ผู้เขียนจะขอยกฉบับที่อ้างในหลักการว่าจะแก้ไขมาตรา 237 วรรคสอง เรื่องการยุบพรรคการเมืองมาวิพากษ์วิจารณ์เท่านั้น
เหตุที่ยกฉบับนี้ขึ้นมาก็เพราะมีรายการหมกเม็ดด้วยเทคนิคการร่างกฎหมายโดยพ่วงมาตรา 68 ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นหัวใจของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เพราะเป็นบทมาตราที่ให้สิทธิแก่ประชาชนทุกคน ในการที่จะพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ผู้เขียนขอย้ำอีกที่นะครับว่า มาตรา 68 ไม่ได้หมายความถึงสิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่เป็นสิทธิของประชาชนคนไทยที่จะพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐธรรมนูญจะแก้ไขอย่างไรก็ได้ แต่จะไปเปลี่ยนระบอบการปกครองของประเทศไม่ได้
ไอ้ที่ไปเจรจาอะไรกันเรื่องจะตั้งรัฐปัตตานีอยู่ตอนนี้ก็ระวังให้ดีครับเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาเมื่อไหร่เจอคนใช้สิทธิตามมาตรา 68 พ่วงด้วยความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยความมั่นคงของรัฐแน่ๆ
การไปพ่วงมาตรา 68 เข้ามาในร่างแก้ไขมาตรา 237 วรรคสองด้วยนี้ ผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นฝีมือการร่างของนักกฎหมายประเภทเทคนิค คือนักกฎหมายที่ไม่มีจิตวิญญาณของนักกฎหมาย (legal mind) และไม่มีความเคารพในกฎของกฎหมาย (the Rule of Law) พวกนี้ร่างกฎหมายตามความประสงค์ของผู้มีอำนาจและมีความรู้ที่จะใช้เทคนิคทางกฎหมายอธิบายให้ดูเป็นเหตุผลได้
มาตรา 68 จึงถูกแฝงเข้าไปร่วมด้วยช่วยกันในการแก้ไขมาตรา 237 วรรคสอง เพราะมาตรา 237 วรรคสองนี้ไม่มีพรรคการเมืองใดชอบแน่ๆ เนื่องจากเป็นบทที่ทำให้พรรคการเมืองถูกยุบได้โดยง่าย ผู้ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงฉลาดมากที่พ่วงการแก้ไขมาตรา 68 เข้าไปอย่างแนบเนียน
ปรากฏว่ามีสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 4-5 คนที่ไปลงชื่อเสนอร่างฉบับนี้เพราะเห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 237 วรรคสอง แต่พอรู้ความจริงว่ามีการพ่วงมาตรา 68 เข้าไปด้วยจึงพากันไปถอนชื่อจากการเป็นผู้เสนอร่าง
ซึ่งเป็นที่มาของวลีที่ว่า เป็นถึงสมาชิกวุฒิสภาให้เขาหลอกได้ก็สมควรไปตายเสีย
แต่ผู้เขียนเป็นห่วงประชาชนธรรมดามากกว่า เพราะถ้าประชาชนถูกหลอกแล้วคงไม่มีสิทธิที่จะไปบอกให้ประชาชนไปตายเสีย จึงได้เขียนบทความนี้ขึ้นเพื่อชี้แจงในความรู้ด้านกฎหมายที่ผู้เขียนพอมีอยู่บ้าง
ก่อนอื่นผู้เขียนมีความเห็นส่วนตัวว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 237 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ เพราะมาตรานี้ไม่เป็นธรรมในการที่จะไปลงโทษพรรคการเมืองซึ่งเป็นสถาบันทางการเมืองที่สำคัญและมีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกรรมการบริหารพรรค การยุบพรรคการเมืองทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ และถึงแม้จะถูกยุบแต่ก็ยินยอมให้ไปเข้าพรรคใหม่ที่เตรียมไว้ดูเป็นเรื่องแปลกในสายตาชาวโลก
แต่เมื่อมีการพ่วงการแก้ไขมาตรา 68 เข้ามาด้วยในการแก้ไขมาตรา 237 วรรคสองนี้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องพูดจาทำความเข้าใจกันให้มากหน่อย หลักการที่เสนอใหม่คือ แก้ไขมาตรา 68
ให้การใช้สิทธิของประชาชนในการพิทักษ์รักษาระบอบการปกครองของประเทศต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุดเท่านั้น ถ้าอัยการสูงสุดไม่เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นอันจบเรื่อง
ผู้เสนอร่างแก้ไขมาตรา 68 ฉบับนี้ออกมาให้เหตุผลต่างๆ นานา เป็นต้นว่า กฎหมายไม่ชัดเจน การให้อัยการสูงสุดมากลั่นกรองทำให้มีประสิทธิภาพขึ้น ถ้ายื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงแล้วจะกำหนดให้ยื่นต่ออัยการสูงสุดทำไม เป็นต้น
แต่ที่ผู้เขียนติดใจก็คือความเห็นของผู้เสนอร่างบางท่านที่บอกว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีสิทธิที่จะพิจารณาเรื่องมาตรา 68 เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการขัดแย้งกันของผลประโยชน์ทางอำนาจ
นอกจากนั้นท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นประธานรัฐสภาด้วยได้ออกมาแสดงความเห็นด้วยว่า การแก้ไขมาตรา 68 เป็นเรื่องการคานอำนาจ
ดังนั้นผู้เขียนจึงเห็นว่าควรที่จะมีการทำความเข้าใจกันให้ถูกต้องก่อนว่า อำนาจตามมาตรา 68 เป็นของผู้ใด
ต้องตอบปัญหาและทำความเข้าใจให้ได้เสียก่อนว่า อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 นั้นโดยแท้จริงแล้วเป็นของประชาชน
มาตรา 68 บัญญัติว่า บุคคลจะใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์
ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทาง
ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้
ในกรณีที่บุคคลใดหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนถึงการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว
เมื่อพิเคราะห์มาตรา 68 ดังที่ได้ยกมาแล้วจะเห็นได้ชัดเจนว่า มาตรา 68 เป็นสิทธิที่ให้อำนาจแก่ประชาชนเป็นหลักเพราะประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ ส่วนศาลรัฐธรรมนูญเป็นเพียงองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยเมื่อมีคำร้องขึ้นมา และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วมีผลเป็นที่สุด
ตามหลักกฎหมายเยอรมันเรียกว่าอำนาจของประชาชนเป็นประธานแห่งสิทธิ ส่วนอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญเป็นอุปกรณ์แห่งสิทธิ ซึ่งทั้งสองอำนาจนี้ต้องประกอบกัน มิเช่นนั้นสิทธิย่อมไม่ได้รับการบังคับใช้อย่างสมบูรณ์
ตามหลักกฎหมายสหรัฐอเมริกา ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานในคดี Marbury v.Madison ว่า ศาลสูงสุดของสหรัฐย่อมมีอำนาจในการวินิจฉัยปัญหาเรื่องสิทธิตามรัฐธรรมนูญเมื่อไม่ได้บัญญัติไว้ให้ชัดเจนว่าเป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรใด เพราะมิฉะนั้นการบังคับใช้สิทธิและอำนาจตามรัฐธรรมนูญจะไม่สมบูรณ์
แต่ตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่เสนอมานี้ตัดอำนาจในการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นองค์กรที่จะมีการบังคับใช้สิทธิไปเลย แต่ไปให้เป็นอำนาจของอัยการสูงสุด หากอัยการสูงสุดไม่เสนอ ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีอำนาจทำอะไรทั้งสิ้น
ผลกระทบในเรื่องนี้คงไม่ใช่การคานอำนาจระหว่างอัยการสูงสุดกับศาลรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการยึดอำนาจตามมาตรา 68 ของประชาชนทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้อำนาจนี้ให้ไปถึงองค์กรตุลาการเพื่อทำหน้าที่พิทักษ์การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้
ผู้เขียนยอมรับว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 68 เขียนไว้บกพร่องและมีช่องโหว่ในการตีความเพราะให้อัยการสูงสุดเป็นผู้รับเรื่อง แต่ไม่ได้เขียนขั้นตอนต่อไปว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร และถ้าอัยการสูงสุดไม่ทำอะไรหรือไม่เห็นด้วยจะต้องทำอย่างไร เพราะโดยหลักการแล้วเรื่องจะยุติแค่อัยการสูงสุดไม่ได้เนื่องจากองค์กรอัยการเป็นเพียงองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่องค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการ ซึ่งในปัญหาดังกล่าวนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยอุดช่องโหว่ไว้แล้วว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องรอหรือฟังความเห็นของอัยการสูงสุด
อย่างไรก็ตามหากไม่เห็นด้วยกับการวินิจฉัยอุดช่องโหว่ของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว และต้องการจะแก้ไขมาตรา 68ให้ชัดเจนในเรื่องอำนาจหน้าที่ของอัยการสูงสุดว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร ก็ย่อมอยู่ในวิสัยที่จะทำได้ด้วยการถอนร่างมาปรับปรุงแก้ไขใหม่ให้ถูกหลักการแล้วจึงเสนอใหม่เช่นนี้ ผู้เขียนคิดว่าผ่านฉลุยแน่
แต่ที่หักดิบใช้เทคนิคทางกฎหมายตัดตอนให้อำนาจหยุดอยู่ที่อัยการสูงสุดเช่นนี้เป็นการยึดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ
น่ะใช่แน่ แต่ที่ใช่ยิ่งกว่าคือยึดอำนาจของประชาชนครับ
ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย

ไม่มีความคิดเห็น: