PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2558

คสช.ล้างผิด ถอดถอน?

นฤตย์ เสกธีระ : คสช.ล้างพิษ?
วันที่ 07 มกราคม พ.ศ. 2558
คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
วันที่ 8 มกราคม และวันที่ 9 มกราคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. มีวาระพิจารณาคดีถอดถอน
วันที่ 8 มกราคม เริ่มกระบวนการถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และ นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ในข้อหาเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550
วันที่ 9 มกราคม เริ่มกระบวนการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในข้อหาไม่หยุดยั้งนโยบายจำนำข้าว จนทำให้เกิดความเสียหาย
ผมไม่แน่ใจว่าการตัดสินใจนำเรื่องถอดถอนเข้าสู่การพิจารณาดังกล่าวจะมีผลออกมาเช่นไร
ประการแรก ไม่แน่ใจว่าเมื่อ สนช.พิจารณาแล้วผลการโหวตจะออกมาเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้ถูกกล่าวหา
ทั้งนี้ ผลการลงมติถอดถอนจะต้องใช้เสียง 3 ใน 5 ของ สนช. ซึ่งถ้าดูเสียงโหวตในวันที่รับเรื่องถอดถอนแล้วเห็นว่า ยากที่จะถอดถอนใครได้
แต่ถ้าดูเสียงโหวตวันเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีที่ออกมาเอกฉันท์ ก็มีทางเป็นไปได้ที่ สนช.จะโหวตได้ตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด
ประการสอง ไม่แน่ใจว่าเมื่อ สนช.โหวตออกมาแล้ว จะส่งผลต่อ "พิษร้าย" ที่แพร่กระจายอยู่ในประเทศไทยอย่างไร
"พิษร้าย" ที่ว่านี้ขึ้นอยู่กับว่าใครจะให้คำนิยาม
ฝ่ายที่เชียร์ให้ถอดถอน มองว่า "พิษร้าย" คือระบอบทักษิณที่ต้องถูกล้าง
แต่อีกฝ่ายมองว่า "พิษร้าย" คือ "ความไม่ยุติธรรม"
การล้างพิษคือการทำให้ทุกอย่างยุติลงด้วยความเป็นธรรม
แต่เมื่อมองดูกระบวนการถอดถอนที่กำลังเกิดขึ้นแล้ว รู้สึกหนักใจแทน สนช. เพราะงานนี้มีแต่ "เจ๊า" กับ "เจ๊ง"
ทั้งนี้ ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา คือ นายสมศักดิ์และนายนิคมยืนยันว่า ทุกอย่างทำไปตามหน้าที่ เช่นเดียวกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ยืนยันว่า ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้
ความจริงการต่อสู้ระหว่างนายสมศักดิ์ นายนิคม รวมไปถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับอีกฝ่ายหนึ่ง หากอยู่ในกระบวนการปกติตามรัฐธรรมนูญปี?50 ยังถือว่าเป็นเรื่องปกติ
ปกติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด แม้การต่อสู้ระหว่างอำนาจสภาล่าง กับอำนาจสภาบนจะดุเดือด แม้ความขัดแย้งระหว่างคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร กับสภาบนหรือวุฒิสภาจะเข้มข้น
แต่ถือว่าเป็นการต่อสู้ทางการเมืองตามกติการัฐธรรมนูญในวิถีประชาธิปไตย
แต่หลังวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 รัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่มีแล้ว
ทั้งนายสมศักดิ์ นายนิคม และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ คืออดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อดีตวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญปี?50 ส่วนผู้ที่ทำหน้าที่ตัดสิน คือ สนช. ซึ่งมาจากการสรรหาของหัวหน้า คสช.
กฎหมายที่ใช้ในปัจจุบันนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เรื่อยไปจนถึงพระราชบัญญัตินั้น คสช.ล้วนแล้วแต่มีความเกี่ยวข้อง
เพราะ คสช.มีอำนาจเบ็ดเสร็จ จะใช้หรือจะเลิกกฎหมายฉบับใดก็ได้ จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอย่างไรก็ได้
สถานการณ์เช่นนี้ทำให้มองเห็นว่า การถอดถอนครั้งนี้ ฝ่ายยึดอำนาจเป็นผู้ตัดสิน ส่วนฝ่ายถูกยึดอำนาจเป็นผู้ถูกตัดสิน
ดังนั้น การถอดถอนในสถานการณ์เช่นนี้ จึงล่อแหลมต่อข้อกล่าวหาว่า "ไม่ยุติธรรม" เป็นอย่างยิ่ง
งานนี้ไม่รู้ สนช.คิดอย่างไร และไม่ทราบว่า คสช.คิดอะไร
แต่ไม่ว่าผลจะออกมาเช่นไรก็ "เจ๊า" กับ "เจ๊ง"
เจตนาของ คสช.ที่ต้องการ "ล้างพิษ" ให้กับประเทศ พอมาเจอเรื่องนี้เข้า คงต้องลุ้นว่าผลถอดถอนที่ออกมาแล้วจะช่วยล้างพิษ หรือช่วยแพร่พิษกันแน่


ไม่มีความคิดเห็น: