PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2558

ย้อนรอย ยุบพรรคการเมือง ฝีมือศาลรธน.

ย้อนรอยผลงาน 'ศาลรัฐธรรมนูญ'

โดย ASTVผู้จัดการรายวัน
23 พฤศจิกายน 2556 06:05 น.
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
ย้อนรอยผลงาน 'ศาลรัฐธรรมนูญ'

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- ปฏิเสธไม่ได้ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นที่มา ส.ว. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยในรูปใดรูปแบบหนึ่ง เพราะแม้ศาลจะบอกว่าเป็นการแก้ไขกฎหมายที่มิชอบ แต่ไม่ได้ตัดสินยุบพรรค และไม่มีการเพิกถอนสิทธิ 312 ส.ส.-ส.ว. ซีกรัฐบาล ซึ่งเป็นผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย ก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลเพื่อไทยจะสามารถลอยตัวพ้นมลทินแต่อย่างใด
      
       ในทางกลับกันองค์กรหรือกลุ่มต่างๆ สามารถนำผลพวงจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปยื่นร้องทุกข์กล่าวโทษ 312 ส.ส.-ส.ว. ตลอดจนนายกฯรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้ ซึ่งผลการวินิจฉัยของ ป.ป.ช.ก็อาจจะส่งผลสะเทือนถึงพรรคเพื่อไทยได้เช่นกัน
      
       ทั้งนี้ หากย้อนไปดูการทำหน้าที่ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมาของศาลรัฐธรรมนูญก็จะพบว่ามีทั้งผลงาน และความผิดพลาด แต่ประเด็นที่เป็น 'ตราบาป' และตามหลอกหลอนศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งคนไทยทั้งประเทศมาถึงวันนี้เห็นทีจะหนีไม่พ้นคำตัดสินใน'คดีซุกหุ้นภาค 1' ซึ่งทำให้ 'ทักษิณ ชินวัตร' บุคคลที่ได้รับการจัดอันดับให้เห็น 1 ใน 5 ผู้นำ 'เลว' ของโลกขึ้นมาผงาดในเวทีการเมืองไทย และใช้อำนาจโกงกิน บ่อนทำลายทุกองค์กรทุกสถาบันที่ขัดขวางการ 'กินรวบ' ประเทศของเขา โดยครั้งนั้นศาลรัฐธรรมนูญใช้วาทกรรม 'บกพร่องโดยสุจริต' มาเป็นข้ออ้างในการวินิจฉัยว่าทักษิณไม่มีความผิดในกรณีซุกหุ้น ทั้งนี้เพราะมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนที่ไม่ยึดหลักกฎหมาย แต่ตัดสินตามกระแสของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศที่สนับสนุนทักษิณ ต้องการให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลไทยรักไทยต่อไป ไม่อยากให้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองด้วยข้อหายื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ เพราะเชื่อว่าทักษิณคือนักธุรกิจเลือดใหม่ที่อยากจะเข้ามาทำงานรับใช้ประเทศชาติและประชาชนจริงๆ อีกทั้งหลงเชื่อในคำหวานของทักษิณที่นั่งยันนอนยันว่า 'รวยแล้วไม่โกง' !!
      
       ส่งผลให้ศาลรัฐธรรมนูญนำคะแนนเสียงที่ไม่วินิจฉัย 2 เสียงไปรวมกับ อีก 6 เสียงที่วินิจฉัยว่า ทักษิณไม่ได้กระทำผิด จึงทำให้ทักษิณรอดพ้นความผิด ทักษิณจึงชนะคดีไปด้วยคะแนน 8 ต่อ 7 ทั้งๆที่ตามหลักการแล้วจะนำคะแนน 2 เสียงที่ไม่วินิจฉัย ไปรวมกับคะแนนเสียงที่วินิจฉัยว่าทักษิณไม่ได้กระทำผิดไม่ได้ เพราะ 2 เสียงที่ไม่วินิจฉัยเปรียบเสมือนการงดออกเสียง ดังนั้นทักษิณต้องถูกตัดสินว่ามีความผิดด้วยคะแนนเสียง 7 ต่อ 6
      
       ส่วน 'ผลงาน' ของศาลรัฐธรรมนูญที่ถูกพูดถึงมากที่สุดก็คือการพิจารณา 'คดียุบพรรค' โดยเฉพาะการยุบพรรคการเมืองที่อยู่ภายใต้แบรนด์ 'ทักษิณ' ถึงสองครั้งสองครา คือทั้งพรรคไทยรักไทย ที่ถูกตัดสินยุบพรรคไปเมื่อเดือน 30 พ.ค.2550 และพรรคพลังประชาชนที่ถูกยุบไปเมื่อเดือน 2 ธ.ค. 2551 โดยทั้งสองครั้งล้วนเกิดจากความผิดในกรณีทุจริตการเลือกตั้งทั้งสิ้น
      
       อย่างไรก็ดี หากพูดถึงคดียุบพรรคแล้วไม่ได้มีเฉพาะพรรคในเครือทักษิณเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายพรรคที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค และคงต้องแบ่งเหตุการณ์ออกเป็นสองช่วงด้วยกัน คือคดียุบพรรคการเมืองเนื่องจากการเลือกตั้ง 2 เมษายน พ.ศ. 2549 และคดียุบพรรคการเมืองอันเนื่องมาจากการเลือกตั้งปี 2550
      
       สำหรับคดียุบพรรคการเมืองเนื่องจากการเลือกตั้ง 2 เมษายน พ.ศ. 2549 นั้นถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ เพราะเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีพรรคการเมืองถูกตัดสินยุบพรรค โดยมีพรรคการเมืองที่ถูกยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคถึง 5 พรรคด้วยกัน ได้แก่ พรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย พรรคแผ่นดินไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า
      
       โดยคดียุบพรรคทั้ง 5 พรรคนั้น เริ่มจากที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น ร้องเรียนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า พรรคไทยรักไทยได้จ้างพรรคการเมืองขนาดเล็กลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อหนีเกณฑ์ 20 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังได้ปลอมแปลงเอกสารฐานข้อมูลสมาชิกพรรค พรรคไทยรักไทยจึงร้องเรียนกลับว่าถูกพรรคประชาธิปัตย์จ้างพรรคเล็กใส่ร้ายพรรคตน ซึ่ง กกต. มีความเห็นว่าทั้ง 5 พรรค กระทำความผิดตามมาตรา 66 ของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 และได้ส่งสำนวนต่ออัยการสูงสุดเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องทั้ง 5 พรรค ซึ่งสุดท้ายตุลาการรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีความผิดในทุกข้อกล่าวหา ส่วนอีก 4 พรรคมีความผิดจริง จึงมีคำสั่งให้ยุบพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคพัฒนาชาติไทย พรรคแผ่นดินไทย และพรรคไทยรักไทย รวมทั้งให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคทั้ง 4 พรรค มีกำหนด 5 ปีด้วย
      
       ทั้งนี้ ในส่วนของคดียุบพรรคไทยรักไทยนั้น ผู้ร้องได้ระบุว่า พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย ร่วมกันให้เงินสนับสนุนแก่พรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ลงแข่งขันกับผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทยเพื่อหลีกเลี่ยงการที่จะต้องมีคะแนนเสียงถึงร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้น และร่วมกันสนับสนุนให้มีการตัดต่อเปลี่ยนแปลงข้อมูลการเป็นสมาชิกของพรรคพัฒนาชาติไทย ที่เป็นสมาชิกไม่ครบ 90 วัน ให้ครบ 90 วัน อันเป็นการช่วยเหลือและสนับสนุนให้มีการปลอมเอกสาร เป็นการกระทำให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และเป็นการกระทำอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรือขัดต่อกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 66 (1) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความผิดคามคำร้องจริงจึงมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักไทย และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยทั้ง 111 คน เป็นเวลา 5 ปี จึงเป็นที่มาของคำว่า 'บ้านเลขที่ 111'
      
       ส่วนคดียุบพรรคการเมืองที่เกิดจากการเรื่องตั้งปี 2550 นั้นเป็นคดีที่พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคพลังประชาชน (2 ใบแดง) ถูกฟ้องเป็นจำเลยอันเนื่องมาจากกรณีทุจริตการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปีดังกล่าว โดย คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีความเห็นว่าทั้ง 3 พรรคกระทำความผิดตามมาตรา 237 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 มาตรา111 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 94 (1) (2) และมาตรา 95 กกต.จึงได้ส่งสำนวนต่ออัยการสูงสุดเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองทั้ง 3 พรรค
      
       สำหรับกรณีของพรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคชาติไทย ในการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งของนายสุนทร วิลาวัลย์ รองหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคมัชฌิมาธิปไตย และนายมณเฑียร สงฆ์ประชา รองเลขาธิการพรรคชาติไทยนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินไปในทิศทางเดียวกันคือวินิจฉัยให้ยุบพรรคและตัดสิทธิเลือกตั้งแก่กรรมการบริหารพรรคคนละ 5 ปี
      
       ขณะที่คดียุบพรรคพลังประชาชนนั้นเกิดจากปัญหาในการซื้อเสียงของนายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ส.ส.แบบสัดส่วน กระทั่ง ถูก กกต.ให้ใบแดง เนื่องจากพบว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งที่จังหวัดเชียงราย โดยมีนายชัยวัฒน์ ฉางข้าวคำ กำนัน ต.จันจว้า อ.แม่จัน เป็นพยานคนสำคัญ ซึ่งจากหลัง กกต.มีมติ นายยงยุทธได้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ประธานสภาโดยไม่ลาออก เมื่อขั้นตอนขึ้นสู่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ศาลได้วินิจฉัยว่านายยงยุทธให้เงินกับกำนัน อ.แม่จัน ทั้ง 10 คนเพื่อให้ช่วยซื้อเสียงจริง จึงพิพากษายืนตามมติของ กกต. และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของนายยงยุทธเป็นเวลา 5 ปี และเนื่องจากนายยงยุทธเป็นกรรมการบริหารพรรค กกต.จึงดำเนินการต่อ โดยสรุปสำนวนส่งให้อัยการสูงสุด เพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เสนอให้ยุบพรรคพลังประชาชน ซึ่งสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่านายยงยุทธ เป็นนักการเมืองหลายสมัย มีฐานะเป็นถึงรองหัวหน้าพรรค และเป็นอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ย่อมต้องเพิ่มความเข้มงวดที่จะไม่กระทำการใดๆ อันฝ่าฝืนกฎหมาย แต่นายยงยุทธ ติยะไพรัช กลับกระทำผิดเสียเอง จึงมีคำสั่งให้ยุบพรรคพลังประชาชน
      
       ทั้งนี้คำสั่งยุบพรรคและตัดสิทธิทางเมืองทั้ง 3 พรรคดังกล่าวนั้น ส่งผลให้มี ส.ส.ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี รวมทั้งสิ้น 109 คน ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า 'บ้านเลขที่ 109' นั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น: