PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

สถานการณ์ข่าว13ก.พ.58

ความมั่นคง

พล.อ.อุดมเดช ยืนยัน ม.112 มีความจำเป็น ใช้ปกป้องสถาบัน ไม่ละเมิดสิทธิ์ ปชช. มอบ มทภ.1 เร่งทำความเข้าใจกลุ่มเคลื่อนไหว

พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวก่อนเดินทางไปเป็นประธานในพิธีปิดการทดสอบยิงปืนทางยุทธวิธีภายในกองทัพบก ณ สนามยิงปืนทางยุทธวิธี ศูนย์การทหารม้า จังหวัดสระบุรี ถึงการเชิญผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศประจำประเทศไทยมาชี้แจงการทำงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า ทางผู้ช่วยทูตได้มีความเข้าใจกับสถานการณ์ในไทย โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้กฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีความจำเป็นต้องใช้เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ที่คนไทยทุกคนเคารพรัก รวมถึงการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย โดยยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการไปละเมิดสิทธิมนุษยชนส่วนบุคคลของประชาชน

ส่วนกรณีที่มีบุคคลที่โดนเรียกตัวเข้าปรับความเข้าใจแล้วกลับไปเคลื่อนไหวหรือมีการโพสต์ข้อความผ่านทางโซลเชียลอีกนั้น จะพยายามทำความเข้าใจต่อไป โดยจะสั่งให้แม่ทัพภาคที่ 1 ได้ดำเนินการตรวจสอบและทำความเข้าใจต่อไป
-------------------
โฆษก ทบ. แจง กลุ่มต้านแก้ไข มาตรา 46 พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร ชี้ ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก กล่าวถึงกรณีที่มีกลุ่มองค์กรสิทธิ์แถลงคัดค้านการแก้ไข มาตรา 46 พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 ที่ คณะรัฐมนตรีได้เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ให้อำนาจทหารมีอำนาจสั่งขังพลเรือนโดยไม่มีองค์ตุลาการในการตรวจสอบว่า กลุ่มองค์กรสิทธิ์ดังกล่าวยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งมีสาระสำคัญของกฎหมาย คือ จะมีผลบังคับกับเฉพาะทหาร หรือบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารเท่านั้นและเป็นการให้อำนาจกับผู้บังคับบัญชาเฉพาะเหตุจำเป็นหรือมีเหตุสุดวิสัยเท่านั้น เช่น กรณีเรือรบไปปฏิบัติราชการในต่างประเทศ  หรือ เหตุแห่งคดีเกิดขึ้นในพื้นที่บริเวณชายแดนที่หน่วยทหารยังติดพันการรบ ซึ่งการที่ผู้บังคับหน่วยทหารจะไปร้องขอให้ศาลสั่งขังยังไม่สามารถทำได้ หากไม่ดำเนินการใดจะเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรมในองค์กรทหาร

สำหรับคดีตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 พนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งก็คือตำรวจ จะเป็นผู้มีอำนาจสอบสวนผู้ต้องหาพลเรือน กรณีถ้ามีเหตุสุดวิสัยจำเป็นไม่สามารถนำผู้ต้องหาไปศาลทหารได้ภายในเวลา 48 ช.ม. ก็เป็นเรื่องของทางตำรวจที่จะต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาเอง และเมื่อเหตุจำเป็นสุดวิสัยสิ้นสุดลง ทางตำรวจก็ต้องนำตัวผู้ต้องหาไปขออำนาจศาลทหารในการสั่งขังต่อไป ซึ่งกรณีนี้จะไม่เกี่ยวหรือเชื่อมโยงกับอำนาจการควบคุมของผู้บังคับบัญชาทหารแต่อย่างใด

ทั้งนี้ จึงไม่อยากให้บางบุคคลนำเสนอข้อมูลด้วยทัศนคติแนวคิดแบบดั้งเดิมในลักษณะที่มีข้อมูลไม่ครบ เพราะบางครั้งอาจส่งผลให้สังคมสับสน เข้าใจผิดได้

//////////////
กมธ.ยกร่าง

สนช.-สปช. ทยอยเข้าสภาเตรียมประชุม กมธ. ขณะการรักษาความปลอดภัยเข้มงวด ด้าน กมธ.ยกร่างฯ นัดพิจาณณาข้อคิดเห็นปฏิรูปช่วงบ่าย

บรรยากาศความเคลื่อนไหวที่รัฐสภาเช้านี้ มีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณประตูเข้า-ออกอย่างเข้มงวด แม้จะไม่มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เนื่องจาก นาย

พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้สั่งงดการประชุมในวันนี้ เนื่องจากไม่มีวาระค้างการพิจารณา

อย่างไรก็ตาม สมาชิก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีภารกิจประชุมกรรมาธิการคณะต่างๆ อาทิ คณะทำงานจัดทำข้อมูลการปฏิรูปการศึกในพื้นที่

จังหวัดชายแดนใต้ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. ... คณะกรรมาธิการการบริหารราชแผ่นดิน และคณะอนุกรรมาธิการตรวจรายงานการประชุม

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เริ่มทยอยเดินทางมาสภาเพื่อเตรียมประชุมแล้ว

ทั้งนี้ ในส่วนของคณะกรรมาธิยกร่างรัฐธรรมนูญ จะประชุมในเวลา 13.00 น. เพื่อพิจารณาข้อเห็นเห็นจากคณะกรรมาธิการปฏิรูปทั้ง 18 คณะ ก่อนที่จะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ภาค 4 การปฏิรูป

และสร้างความปรองดองเป็นรายมาตราต่อไป
-------------------
"ถวิลวดี" ย้ำ นำความเห็น ปชช.ที่มีหลากหลายไปพิจารณาครบถ้วน หลังยกร่างรายมาตราเสร็จ นำไปสอบถามความพึงพอใจอีกช่วง เม.ย. นี้

ดร.ถวิลวดี บุรีกุล กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะ ประธานอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เปิดเผยกับ สำนักข่าว INN ว่า ในการเปิดเวทีรับฟังความคิด

เห็นหลาย ๆ เวทีที่ผ่านมา ได้รับความคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่หลากหลาย และเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญเป็นอย่างมาก รวมถึงเป็นประโยชน์กับการปฏิรูปประเทศในอนาคตด้วย

พร้อมกับยืนยันว่า ทุกความเห็นถูกนำมาประกอบการพิจารณาทั้งสิ้น

ส่วนการประชุม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในวันนี้จะเป็นการพิจารณาในส่วนของเนื้อหา ความเห็นการปฏิรูปประเทศ ที่ถูกส่งมาจาก 18 คณะกรรมาธิการของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งถือว่ามี

ความสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับการนำมาเขียนเป็นรายมาตรา ในภาค 4 การปฏิรูปและสร้างความปรองดองต่อไป

ทั้งนี้ ดร.ถวิลวดี ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า ในส่วนของเวทีรับฟังความเห็นนั้น จะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยสัปดาห์นี้จะจัดที่ จ.อุดรธานี ส่วนสัปดาห์ต่อไป ที่ จ.สงขลา, สุรินทร์, พิษณุโลก, ชลบุรี และ

กรุงเทพฯ จากนั้นก็จะมีการเปิดเวทีเพื่อนำร่าง รธน. ที่มีการพิจารณารายมาตราเสร็จแล้ว ไปสอบถามความเห็นของประชาชนต่อไปในช่วงเดือน เม.ย. เป็นต้นไป
-----------------------
กมธ.ยกร่างฯ เตรียมพิจารณาข้อเสนอปฏิรูป 18 คณะ ทบทวนเนื้อหารายมาตรา เริ่มลงรายละเอียดภาค 4 สัปดาห์หน้า

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมาธิการยกรัฐธรรมนูญ ที่จะมีขึ้นในช่วงบ่ายวันนี้ ว่า จะเป็นการทบทวนร่างรัฐ

ธรรมนูญเป็นรายมาตราในส่วนที่ได้มีการพิจารณาไปแล้ว พร้อมกันนี้ จะนำความเห็นและข้อเสนอแนะจากคณะกรรมาธิการปฏิรูปทั้ง 18 คณะมาพิจารณา โดยไม่อนุญาตให้สื่อเข้าร่วมสังเกตการณ์

ทั้งนี้ จะเริ่มพิจารณาเป็นรายมาตราในภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง ซึ่งมี 2 หมวด คือ การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม และการสร้างความปรองดอง ในวัน

จันทร์ 16 ก.พ. นี้

อย่างไรก็ตาม สำหรับในภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดองนั้น ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย
-------------------------
นายกฯ ปาฐกถาพิเศษ ย้ำ ปีนี้ รบ.จะพาประเทศพ้นขัดแย้ง ขอทุกภาคส่วนร่วมมือ เตรียมพร้อม ปชต.ไม่กลับสู่วังวนเดิม ไร้ทุจริต ไม่ปรองดองคนผิด

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้เดินทางเข้ามาปฏิบัติงานที่ทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่ในช่วงเช้า โดยได้เป็นประธานเปิดงานและกล่าว
ปาฐกถาพิเศษในการสัมมนาทางวิชาการประจำปีของการใช้พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 ในหัวข้อเรื่อง "ข้อมูลข่าวสารกับความโปร่งใสในการบริหารงานภาครัฐ" ตึก
สันติไมตรี ซึ่งมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รวมถึงข้าราชการส่วนต่าง ๆ เข้าร่วมจำนวนมาก ท่ามกลางมาตราการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวปาฐกถาพิเศษว่า ในปี 2558 เป็นปีที่รัฐบาลจะนำพาประเทศพ้นความขัดแย้งและขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันเพื่อนำประเทศพ้นวิกฤตต่าง ๆ เช่น เรื่องการลดความขัดแย้ง การทุจริต กระบวนการทางกฎหมาย ต้องเตรียมความพร้อมเรื่องประชาธิปไตยไม่ให้กลับมาวังวนเดิม ซึ่งนโยบาย 11 ด้าน มีความคืบหน้า โดยเฉพาะการบริหารราชการแผ่นดินไม่ให้เกิดการทุจริต

อย่างไรก็ตาม รัฐบาล และ คสช. มีการดำเนินงานใน 3 เรื่อง คือ การบริหารราชการแผ่นดินปกติ การปฏิรูปประเทศในระยะต่าง ๆ และ การรักษาความสงบและสร้างความปรองดอง แต่ไม่ใช่การปรองดองกับคนที่กระทำความผิด และขอให้ยอมรับกลไกทางกฎหมาย อีกทั้งการขับเคลื่อนงบประมาณต้องสุจริตโปร่งใส
----------------------
คำนูณ แจงขั้นตอน ประชุม กมธ.ยกร่างฯ วันนี้ พิจารณาข้อเสนอปฏิรูป 18 กมธ. สปช. ไม่ลงเนื้อหารายมาตรา 

คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในช่วงบ่ายวันนี้ว่า เป็นการประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้า ข้อเสนอแนะในหมวดการปฏิรูปจากคณะกรรมาธิการปฏิรูปของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทั้ง 18 คณะ ซึ่งจะต้องดูว่าในแต่ละคณะจะมีเนื้อหาที่เสนอเข้ามาอย่างไร ผลเป็นอย่างไร

โดยคณะกรรมาธิการส่วนใหญ่ได้มีการขอเพิ่มเติมรายละเอียดเนื้อหาเล็กน้อยในบางประเด็น และขณะนี้คณะกรรมาธิการปฏิรูป ทั้ง 18 คณะ ได้เริ่มทยอยส่งข้อเสนอมาบ้างแล้ว และจะต้องส่งมาให้ภายในวันนี้ ส่วนการประชุมวันนี้จะไม่มีการพูดคุยใน ภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง เพราะจะต้องดูรายละเอียดความคืบหน้าของกรรมาธิการปฏิรูปทั้ง 18 คณะก่อน

อย่างไรก็ตาม จะมีการเริ่มลงรายละเอียดเป็นรายมาตราในภาค 4 วันจันทร์ที่ 16 ก.พ. นี้
-----------------------
"น.พ.ชูชัย" แจงขั้นตอนพิจารณาเนื้อหาปฏิรูปบัญญัติ ใน รธน.ย้ำความเห็น ปชช.สำคัญที่สุด น้ำอ้อย ขอเขียนกลาง รายงาน 

น.พ.ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะผู้รับผิดชอบเรื่องการปฏิรูป ได้ชี้แจงถึงขั้นตอนการพิจารณาในส่วนของการปฏิรูปทั้ง 18 ด้าน ซึ่งก่อนหน้านี้ คณะกรรมาธิการปฏิรูปแต่ละด้าน ได้เสนอประเด็นมาด้านละ 20-40 ประเด็น ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะบัญญัติข้อเสนอทั้งลงในรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงมีการหารือกันและขอปรับลดประเด็นต่าง ๆ จนเหลือ8-9 ประเด็น และล่าสุดเมื่อนำเข้าสู่การหารืออีกครั้ง เพื่อให้เกิดความกระชับมากขึ้น จึงรวบรวมประเด็นโดยให้แต่ละด้านเสนอได้ไม่เกิน 3 ประเด็น

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุด ในเรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยังเป็นในส่วนของการรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาการยกร่างรัฐธรรมนูญ
---------------
น.พ.ชูชัย เห็นด้วยทำประชามติ รธน.ใหม่ ขณะ คำนูณ เผย ยกร่างที่พัทยา ถกผู้นำการเมือง และสถาบันการเมือง

น.พ.ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะผู้รับผิดชอบเรื่องการปฏิรูป กล่าวถึงการทำประชามติ ว่า ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ ยังไม่ได้มีการพูดคุยกันในเรื่องดังกล่าว แต่ส่วนตัวเห็นว่า ควรมีการทำประชามติ เพราะเชื่อว่าจะเป็นสัญญาณที่ดีถึงการยอมรับรัฐธรรมนูญจากประชาชน เช่นเดียวกันกับบทลงโทษที่อาจมีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ถึงการดำเนินการปฏิรูปที่จะมีผลผูกพันในอนาคต

ขณะที่ นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการเดินทางไปเก็บตัวคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่จังหวัดชลบุรี ระหว่างวันที่ 23-28 กุมภาพันธ์ นี้ ว่า จะเป็นการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราในส่วนที่แขวนไว้ และจะพิจารณาในส่วนของภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดี และสถาบันการเมืองหมวด 1 ระบบผู้แทนที่ดีและผู้นำการเมืองที่ดี ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญ และอยู่ในความสนใจของทุกภาคส่วน
///////////////////
เคลื่อนไหวนายกฯ

นายกฯ มีกำหนดเปิดงานปาฐกถาพิเศษ "ข้อมูลข่าวสารกับความโปร่งใสในการบริหารงานภาครัฐ" ก่อนร่วมประชุม คกก.พัฒนาระบบนวัตกรรมประเทศ

ความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. วันนี้ ในเวลาประมาณ 09.00 น. นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษในการสัมมนาทางวิชาการประจำปีของการใช้พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 ในหัวข้อเรื่อง "ข้อมูลข่าวสารกับความโปร่งใสในการบริหารงานภาครัฐ" ที่ ตึกสันติไมตรี

ขณะที่ในเวลาประมาณ 13.30 น. นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศครั้งที่ 1/2558 ที่ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี
----------------------
ม.ล.ปนัดดา ชี้ จิตสำนึกสำคัญที่สุดทำบ้านเมืองสงบสุข ข้าราชการที่ดีต้องคานอำนาจการเมืองเพื่อความอยู่รอดของประเทศ

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เดินทางมาเป็นประธานในการนำเสนอผลงานวิจัยกลยุทธ์การขับเคลื่อนค่านิยมหลักของไทย 12 ประการ สู่การปฏิบัติในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร วิภาวดีรังสิต

พร้อมกันนี้ ม.ล.ปนัดดา ได้กล่าวปาฐกถา ว่า การศึกษาไม่จำเป็นต้องท่องจำ แต่เป็นหน้าที่ครู อาจารย์ ที่จะต้องทำให้เด็กเข้าใจ รวมถึงต้องอบรมให้เด็กมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของไทยที่คนรอบข้างต่างชื่นชม และสิ่งสำคัญคือการทำให้ประเทศกลับมามีความสมัคคี ยุติความแตกแยกทางการเมือง และการทุจริตคอร์รัปชั่น ดำรงไว้ซึ่งความมีเกียรติของชาติไทย เพราะบ้านเมืองจะสบงสุขได้ จิตสำนึกถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด

พร้อมทั้งย้ำว่า ข้าราชการที่ดีมีหน้าที่คานอำนาจของนักการเมือง ไม่ยอมรับสินบน เพื่อความอยู่รอดของประเทศ และรักษาไว้ซึ่งระบบเกียรติศักดิ์
-----------------------
นายกฯ ปัดตั้งธงคดีจำนำข้าว "ยิ่งลักษณ์" ขอเวลา จนท.ล่ามือระเบิด ขณะปมสัมปทานปิโตรเลียม ให้ ก.พลังงานทำความเข้าใจกลุ่มเห็นต่าง 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ปฏิเสธว่า ทางรัฐบาล และ คสช. ไม่มีการตั้งธงเรื่องคดีโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ส่วนกรณีที่เมื่อวานนี้ตนเองเปิดเผยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมต่อสู้คดีนั้น เป็นการพูดเมื่อตอนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังเป็นรัฐบาล

พร้อมกันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลงชื่อชะลอการเปิดสัมปทานปิโตเลียม รอบที่ 21 ว่า จะให้ทางกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือกับกลุ่มผู้คัดค้าน เพื่อหาทางออกร่วมกัน ซึ่งการพูดคุยกันด้วยข้อเท็จจริงว่าหากในอนาคตเกิดปัญหาด้านพลังงานจะทำอย่างไร แต่ยืนยันว่าจะต้องมีการเปิดสัมปทานดังกล่าวในวันที่ 18 ก.พ. นี้ไปก่อน ซึ่งข้อตกลงยังมีการปรับเปลี่ยนได้บางส่วน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการหาตัวผู้ก่อเหตุลอบวางระเบิดบริเวณทางเชื่อมรถไฟฟ้าหน้าห้างสยามพารากอนว่า ขออย่าเร่งรัดในเรื่องนี้ โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังตรวจสอบอยู่
---------------------
นายกฯ ออกจากทำเนียบแล้ว ไปประชุม คกก.พัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

ความเคลื่อนไหวที่ทำเนียบรัฐบาล ขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาลเพื่อเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ ครั้งที่ 1/2558 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี

ขณะที่บรรยากาศตลาดน้ำวิถีไทย คลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งจัดขึ้นเป็นวันที่ 2 เริ่มมีประชาชนทยอยเดินทางมาเที่ยวชมงานบ้างแล้ว โดยตลาดบกจะเปิดให้ประชาชนซื้อของกิน ของใช้ ในเวลา 11.00 น. - 20.00 น. ส่วนตลาดน้ำเปิดในเวลา 15.00 น.- 20.00 น. ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่เทศกิจคอยดูแลและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่เดินทางมาร่วมงานด้วย
--------------------
ทูตฝรั่งเศส พบ หม่อมอุ๋ย ร่วมมือสร้างรถขนส่งมวลชน ยัน เดินหน้าร่วมยื่นประมูลสำรวจปิโตรเลียม รอบ 21

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ให้การต้อนรับ นายตีแยรี วีโต (H.E. Thierry VITEAU) เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย ในการเข้าเยี่ยมคารวะ โดย รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ฝรั่งเศส มีความสนใจที่จะร่วมลงทุนเกี่ยวกับการก่อสร้างรถไฟความเร็วปานกลางรูปแบบเดียวกับที่ไทยร่วมลงทุนกับจีน และญี่ปุ่น เนื่องจากมีความถนัด แต่ฝ่ายไทย ได้ดำเนินการมีความคืบหน้าไปมากแล้ว จึงแนะนำให้ฝรั่งเศส มาร่วมลงทุนด้านการวางระบบการเดินรถขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร หากภาคเอกชนของฝรั่งเศส มีความสนใจก็สามารถร่วมแข่งขันกับเอกชนไทยได้ ทั้งนี้ ฝรั่งเศส ได้ยืนยันจะเดินหน้ายื่นซองสำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 21 ในนามบริษัท โทแทล จำกัด และพร้อมยื่นซองแข่งขันภายในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ นี้ ซึ่งข้อมูลล่าสุดมีบริษัทที่สนใจซื้อซองประมูล 13 ราย

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างการแก้ไขหลักเกณฑ์ในพระราชบัญญัติปิโตรเลียม โดยยกเลิกระบบสัมปทาน มาเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต ซึ่งต้องเจรจากับเอกชนที่ร่วมสัมปทานในแหล่งสำรวจ 3 บ่อใหญ่ ที่เคยสำรวจแล้วพบปิโตรเลียม
-------------------------
เกษตรกรพอใจ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เผย นำเข้าน้ำมันถั่วเหลือง 1.5 ล้านตัน

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร  เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ว่า ในวันนี้ ที่ประชุมมีมติอนุมัติให้นำเข้าน้ำมันถั่วเหลือง ในปริมาณ 1.5 ล้านตัน ทั้งนี้ ใน 1 ปี สามารถนำน้ำมันถั่วเหลืองที่ผลิตภายในประเทศ 5 หมื่นตัน ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการ เนื่องจากปริมาณการใช้อยู่ที่ 2 ล้านตัน แต่มีเงื่อนไขให้ซื้อน้ำมันภายในประเทศให้หมดก่อน ในราคา 15-18 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเกษตรกรก็มีความพอใจ ซึ่งเป็นการอนุมัติในทุกปีอยู่แล้ว
/////////////////////////////
ปปช.คดีชินวัตร

ป.ป.ช.ยันเป็นธรรม คดี "สมชาย" สลายม็อบ ปัดจ้องทำลายตระกูลชินวัตร โต้พยายามยื้อเวลา "อภิสิทธิ์"

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณี นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งข้อสังเกตการทำงานของ ป.ป.ช. ไม่ยึดหลักนิติธรรมในการฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยตัวเอง ว่า ป.ป.ช. ทำงานทุกอย่างโดยยึดหลักกฎหมาย และทำตามหน้าที่ เมื่ออัยการสูงสุดไม่สั่งฟ้องคดีนี้ แต่ ป.ป.ช.เห็นว่าพยานหลักฐานมีความสมบูรณ์เพียงพอที่เอาผิดนายสมชายได้ ก็ย่อมมีสิทธิ์ยื่นฟ้องคดีเองได้ พร้อมทั้งยืนยันว่าการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. ไม่มีเรื่องประเด็นทางการเมือง หรือต้องการทำลายคนตระกูลชินวัตรเข้ามาเกี่ยวข้อง ยึดพยานหลักฐานเป็นหลัก

ส่วนคดีการสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. ปี 53 สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ล่าช้า เนื่องจากคดีดังกล่าวยังมีความไม่สมบูรณ์ ป.ป.ช. ต้องรอฟังคำสั่งศาลเรื่องการชันสูตรพลิกศพ และต้องดูรายละเอียดข้อกฎหมายเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้รอบคอบ ไม่มีสองมาตรฐาน

ไม่มีความคิดเห็น: