PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2558

บรรยง พงศ์พานิช:การบินไทย และICAO


มีคนเขียนตำหนิถึงขั้นด่าทอผมในเรื่องการบินไทย และICAO กระจายตามไลน์ทั่วไป (ไม่ระบุชื่อคนเขียน)
ตอนแรกผมไม่สนใจเลยครับ แต่มีการขยายผลค่อนข้างมาก จนมีหนังสือพิมพ์ที่ไม่รับผิดชอบบางฉบับนำไปลง
ประกอบกับมีเรื่องราวอันเป็นเท็จอยู่ด้วย จึงมีเพื่อนอยากให้ชี้แจง
ขอชี้แจงดังนี้นะครับ...
ผมไม่เห็นมีสาระเลยครับ สรุปท่านคิดว่า ควรสงวนน่านฟ้าไว้เพื่อการบินไทยจะได้สบายๆเหมือนแต่ก่อน ซึ่งผมรับรองว่าถ้าทำอย่างนั้น วันนี้เราไม่มีTourist 25 ล้านคน ประชาชนต่างจังหวัดคงยังต้องแออัดอยู่ในรถทัวร์ ในรถไฟ การพัฒนาภูมิภาคสะดุด
ส่วนเรื่องAccentureที่เขียน เป็นเท็จแน่ๆ เพราะเราจ้างเขามาปรับปรุงการจัดซื้อจัดจ้าง และเขาได้ค่าจ้าง 20%ของส่วนที่พิสูจน์ได้ชัดเจนว่าประหยัดได้ (ไม่ใช่กินหัวคิวจัดซื้อใดๆ) และเพียงเดือนเดียวก็ประหยัดได้กว่าสามร้อยล้านจากการจัดซื้อ In Flight Entertainment (IFE)อย่างเดียว เลยได้ค่าจ้าง 60 ล้านเต็มเพดาน แล้วก็ถูกสั่งให้หยุดทำงาน(เสียดายครับไม่งั้นอาจประหยัดได้อีกเยอะ) ...ไม่ทราบเรื่องนี้ไปเหยียบตาปลาใครเข้า เลยปั้นเรื่องเท็จมาดิสเครดิตผม
การบินไทยบินอยู่ 60 เส้นทาง มีกำไรแค่ 16 ขาดทุนมาหกไตรมาสติด ไม่ให้หด จะให้ขยายหรือครับ เงินทุนจากห้าหมื่นกว่าล้าน เหลือไม่ถึงสามหมื่น ถ้าไม่หด ก็ต้องเอาภาษีมาอุด แล้วไปขอให้ท่านสมหมายขึ้นภาษี เอาไหมครับ เอาแต่ด่า หามีข้อเสนอไม่
ถ้าไม่ซื้อเครื่องบินช่วงที่ผมอยู่ วันนี้ฝูงบินจะมีอายุเฉลี่ยเกิน 20 ปี ไม่ต้องโดน ICAO คนก็อาจจะไม่นั่ง แล้วก็ที่ซื้อก็เพราะมีกำไรเกือบสองหมื่นล้านในสองปี กับไปเพิ่มทุนได้เงินมาอีกหมื่นห้าพันล้าน
เรื่อง"Open Sky Policy"เป็นประโยชน์แน่ๆ แต่การที่ใครจะมาเอาประโยชน์มิชอบนั้นก็ต้องว่าไปตามกม. กับเรื่องไร้ประสิทธิภาพของกรมการบินพลเรือนเป็นเรื่องต่างหาก แต่เอามาผูกเพื่อด่าผม ไม่เห็นเกี่ยวกันเลย สงสัยมีคนกลัวว่าจะมาคุมเข้มเรื่องจัดซื้อจัดจ้างอีก เลยต้องเตะสกัดไว้ก่อน
ไม่ต้องกลัวเลยครับ มีคนขอให้ผมกลับไปเป็นกรรมการ เป็นประธานฯ ซึ่งก็ได้ปฏิเสธไปแล้ว แต่เรื่องจัดซื้อ ยังไงก็ต้องแก้ถ้าไม่อยากเจ๊ง
ท่านอ้างตัวเป็นตัวแทนคนการบินไทย ผมก็ขออ้างตัวเป็นตัวแทนประชาชนไทย เรียกร้องให้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง จะมาขอแค่"Close Sky for THAI" คงไม่มีใครเขายอมหรอกครับ
ส่วนบทความที่ไร้คนรับผิดชอบก็อยู่ข้างล่างนี้นะครับ.......
เมื่อวาน นำบทความ "คุณบรรยง พงษ์พานิช" ที่โพสต์ fb เรื่อง ICAO กับการบินของไทยเผยแพร่ ทำให้วันนี้ ได้รับอีเมล์จาก "กัปตันโยธิน ภมรมนตรี" ด้วยข้อมูลอีกด้านหนึ่ง
การรักษาโรคชนิด "ตัดรากต้องใช้ยาขม" ฉันใด การปฏิวัติระบบราชการ โดยเฉพาะธุรกิจการบินของไทย ก็ฉันนั้น
ดังนั้น อีเมล์จากกัปตันโยธิน ถือเป็น "ยาขม" ที่ซูเปอร์บอร์ด รวมทั้งท่านนายกฯ ควรกลั้นใจดื่ม ถ้าต้องการให้ประเทศไทยพ้นสภาพ "คนป่วยถาวร"
Jothin Pamon-Montri
เรียน คุณเปลว สีเงิน
ผมได้อ่านข้อความของคุณในหัวข้อ ระบบราชการ ถ้าไม่ล้าง ประเทศล้ม พอดีใน Line ผม ได้อ่านข้อความและเห็นอีกมุมมองจึงถือโอกาสส่งมาให้คุณเปลวได้อ่านด้วย
ด้วยเคารพ
กัปตันโยธิน ภมรมนตรี
อุทาหรณ์เรื่องการตรวจสอบของ ICAO และแผนปฏิรูปการบินไทย "หดตัวเพื่อการเติบโต" ของนายบรรยง พงษ์พานิช FB 13 ก.พ. 14 มี.ค. และ 29 มี.ค.58
ต้นเหตุของการตรวจสอบเข้มข้นของ ICAO ที่เป็นปัญหาในปัจจุบันนั้น คือต้องมองย้อนกลับไปศึกษาสิ่งที่ทุกรัฐบาลในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาได้ดําเนินนโยบาย "Open Sky Policy" (ที่นายบรรยงไม่เคยกล่าวถึง) สนับสนุนให้เกิดสายการบินของเอกชนรายย่อยๆ โดยเฉพาะสายการบินต้นทุนตํ่า Low Cost Airlines ขึ้นมาใหม่
พร้อมใบอนุญาตประกอบการบินมากมายตั้งแต่ปี 2548 ทําให้ขาดความน่าเชื่อถือในมุมมอง ICAO ในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของประเทศไทยโดยรวม
นโยบาย "Open Sky Policy" เปิดน่านฟ้าเสรีดังกล่าว ได้เริ่มขึ้นในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่ได้เอาเรื่อง "Open Sky Policy" เป็นข้ออ้างเพื่อการลงทุนกับ AirAsia ในขณะนั้น
รัฐบาลทักษิณได้เปลี่ยนกฎหมายการร่วมทุนการจัดตั้งสายการบินของประเทศไทยจาก % สัดส่วนเดิม 70/30 สมัย TG/SAS มาเป็น 51/49 เพื่อรองรับการลงทุนใน AirAsia
โดยมี "บริษัท กุหลาบแก้ว" ที่มี คุณพงศ์ สารสิน เป็นประธานอยู่ไม่กี่วัน เป็นผู้ถือส่วนต่าง 2% นอกเหนือจากสัดส่วน 49/49 ระหว่างทักษิณและ AirAsia
ท่าน "ลาออก" เพราะคงเห็นแล้ว "อาจผิดกฎหมาย" และอาจเห็นประเด็นการขายชาติ จากการใช้เครื่องบิน B737 ธงชาติมาเลเซีย และนักบินสัญชาติมาเลเซียมาบินภายในประเทศไทย
ทุกรัฐบาลในรอบ 10 ปี ได้ให้การสนับสนุนการเกิดของสายการบินต้นทุนตํ่าของเอกชน ทําให้ "กรมการบินพลเรือนไทย" ขาดประสิทธิภาพในการควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยตามหลักสากล ICAO
ประกอบกับเป็นช่วงที่มีกลุ่ม "ข้าราชการระดับสูง" ที่รับใช้อดีตนักการเมืองหลายคน เช่น ประธานบอร์ด นายอําพน กิตติอําพน, นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม และนายคณิศ แสงสุพรรณ ได้บริหารนโยบายการบินไทยผิดพลาด ขาดทุนในช่วง 2551-2557 เสียหายมหาศาล "ค่อนแสนล้านบาท" แล้ว
แต่รัฐบาลนี้ ก็ยังมอบหมายให้ "นายอารีพงศ์" นั่งเป็นประธานบริษัทต่อไป และยังเป็นประธานฟื้นฟูฯ ซึ่งถือเป็นตลกในการดําเนินธุรกิจ จึงหมดความน่าเชื่อถือ
โดยเฉพาะความเสียหายจากการซื้อเครื่องบินเกินความจําเป็น "ซื้อมาจอด" การดัดแปลงเครื่องบินคาร์โกจากคําแนะนําของบริษัทที่ปรึกษา LEK เดิม และการสนับสนุนจัดตั้งสายการบิน "ไทยสมายล์" ขึ้นมาใหม่ เพื่อหวังจะมาแทนที่การบินไทยในลักษณะ "แม่ตายได้ แต่ลูกห้ามตาย"..แตะต้องไม่ได้..
การบริหารผิดพลาดดังกล่าวได้สร้างภาระทางการเงินและหนี้สินสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากข่าวรอยเตอร์ปรากฏไปทั่วโลก ลดประสิทธิภาพในการแข่งขัน เจตนาลดบทบาทและความสําคัญของ "การบินไทย" ที่เคยมีผลประกอบการดี...เป็นสายการบินหลักของรัฐและสายการบินแห่งชาติ จนกลายเป็นเด็กพิการ ป่วยหนักในปัจจุบัน ถึงขนาดที่นายบรรยงได้เคยกล่าวเสียดสีใน FB 13 ก.พ.58 ไว้ว่า...
"เราไม่เห็นต้องมีสายการบินแห่งชาติเลย"...และ Voice TV เองก็เคยเปิดประเด็นในหัวข้อเดียวกัน เพราะนายบรรยงเป็นคน pro-สายการบินเอกชน แต่ไม่ pro-สายการบินรัฐ
การ "หดตัว" ลดขนาด ตัดเส้นทางของการบินไทย ตามที่นายบรรยง "ซูเปอร์บอร์ด" และบริษัทรับจ้างที่ปรึกษาใหม่ BAIN ที่ขาดการยอมรับจากพนักงานการบินไทย ได้กําหนดแผนการหดตัวต่างๆ ไว้แล้วนั้น ยิ่งจะทําให้การบินไทยอ่อนแอลง
เป็นการแก้ไขที่ผิดทาง สุดท้ายจะเป็นข้ออ้างในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นเอกชน เช่นเดียวกับ ปตท. (และนายบรรยงก็คงนั่งเป็นประธานบริษัท ซูเปอร์โฮลดิง แบบเดียวกับเทมาเส็ก ที่รวบรัฐวิสาหกิจเข้าไว้ทั้งหมด)
ปัญหา ICAO และแผน "หดตัว" การบินไทยกําลังจะเป็นบทพิสูจน์การดําเนินนโยบายที่ผิดพลาดทั้งหมด อาจมีผลกระทบในวงกว้างเสียหายกับประชาชนคนไทยและประเทศไทยในด้านการท่องเที่ยว การค้า การลงทุน ส่งออก และภาพลักษณ์ของประเทศ ในเมื่อสายการบินเอกชนของไทยจะถูกต่างประเทศแบน "ห้ามบิน" เพราะขาดความปลอดภัย
ส่วน "การบินไทย" ที่มีมาตรฐานสูงกว่า ต่างประเทศได้ให้ความเชื่อถือและมีภาพลักษณ์ที่ดีกับการบินไทยอยู่แล้ว แต่กลับถูกภาครัฐของไทยทําสิ่งที่ตรงกันข้ามคือ "ทุบตี" การบินไทยให้ "หดตัว" Shrink for Other Airlines to Grow
"หด" เพื่อให้สายการบินเอกชนโตแทน สุดท้ายแล้ว ประเทศไทยอาจสูญเสียทั้งขึ้น-ทั้งล่อง ถ้ารัฐบาลยังไม่รีบตระหนักในเรื่องนี้
ใน 10 ปีของการสนับสนุนนโยบาย "Open Sky Policy" เปิดน่านฟ้าเสรี (ที่นายบรรยงไม่เคยกล่าวถึง) กรมการบินพลเรือน ได้เร่งออกใบอนุญาตให้สายการบินสัญชาติไทยมากมายถึง 46 สาย ใครมีทุนหน่อยก็สามารถจัดตั้งสายการบินใหม่ได้ไม่ยาก ชวนต่างประเทศมาหุ้นหาประโยชน์ในประเทศไทยก็ยังทําได้
เช่น "นกสกู๊ต" ของนกแอร์ ที่มีต่างชาติสิงคโปร์ถือหุ้นอยู่ 49% และมีไลเซนพร้อมนักบินสัญชาติสิงคโปร์และเครื่องบินเก่าใช้แล้ว 14 ปี จากสิงคโปร์แอร์ไลน์ เป็นต้น
โดยเฉพาะ "กลุ่มทุนนักการเมือง" และ "ทุนสีเทา" ที่มีอิทธิพล จนกรมการบินพลเรือนต้อง "หลับหูหลับตา" ออกใบอนุญาตให้แถวดอนเมือง เพราะอิทธิพลกดดันในนาม "นโยบายสนับสนุนเอกชน" ของทุกรัฐบาลตามนโยบาย "Open Sky Policy"
"กรมการบินพลเรือน" จึงละเลยการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยสากลของ ICAO เพราะขาดงบประมาณและขาดกำลังคน ไม่สามารถตรวจสอบสายการบินต้นทุนตํ่าใหม่ๆ ที่มาขอใบอนุญาตได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นที่มาและผลกระทบของปัญหา ICAO ในปัจจุบัน
หากรัฐบาลตั้งใจจะแก้ไขปัญหานี้จริง นอกเหนือจากการยกเครื่องกรมการบินพลเรือน โดยการเพิ่มงบกําลังคนและแก้กฎหมายอย่างที่ทราบกันในปัจจุบันแล้ว ควรจะ:
1.ทบทวนใบอนุญาตประกอบการบินของสายการบินที่ "บินบ้าง-ไม่บินบ้าง" มีประวัติทางด้านความปลอดภัย ปัญหาการเงิน และในช่วงทบทวนนี้ "ห้ามเพิ่มเที่ยวบินและจุดบิน"
สําหรับสายการบินที่ไม่ได้ผ่านการฝึกอบรมการบินแบบ CAT II และ ETOPS ให้ถอนใบอนุญาตในการทําการบินเช่นนี้
2.รัฐบาลต้องทบทวนและลดความเสี่ยงจากนโยบายเปิดน่านฟ้าเสรี "Open Sky Policy" โดยคํานึงถึงประโยชน์สูงสุดและหาจุดสมดุลของประเทศเป็นหลัก มิใช่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง "โดยเฉพาะ"...แถวดอนเมือง
3.ต้องทบทวนนโยบาย "หดตัว" การบินไทย ปรับทัศนคติเกี่ยวกับสายการบินแห่งชาติที่มีคุณภาพและศักยภาพอยู่แล้ว ให้หันมา "สร้างการบินไทยให้แข็งแรง"
ใช้คนมีความรู้ "มืออาชีพ" อย่างแท้จริงมาบริหาร อย่าใช้บริษัทที่ปรึกษาที่ "ขาดความน่าเชื่อถือ" และมีเจตนาแอบแฝงตัดเส้นทางบินต่างๆ และ "นักฉวยโอกาส" ที่หาผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องโดยการ "ไม่พูดความจริงทั้งหมด" ในสื่อสาธารณะ
และที่สําคัญคือ การใช้บริษัทที่ปรึกษา เช่น BAIN หรือ LEK ต้องถือว่าเป็นความรับผิดชอบของผู้รับคําปรึกษาและผู้อนุมัติให้ดําเนินการ เช่นประธานบอร์ดและกรรมการ คือผู้รับผิดชอบตามกฎหมายในกรณีที่เกิดความเสียหาย
4.หยุดใช้บริการของ "กลุ่มข้าราชการที่รับใช้นักการเมืองในอดีต" ที่ทําให้การบินไทยเสียหายมหาศาลในปัจจุบัน คือ นายอำพน, นายอารีพงศ์, นายคณิศ
5.นายบรรยง พงษ์พานิชเอง เคยมีประวัติในการบินไทยที่ไม่สวยงาม เนื่องจากเป็น "ผู้ร่วมอนุมัติซื้อเครื่องบิน" สร้างภาระหนี้ล่วงหน้าสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์
และมีส่วนอนุมัติการดัดแปลง "เครื่องบินคาร์โก" จนล้มเหลวต้องหยุดบินเอาเครื่องไปขายต่อ และ
สุดท้าย เป็นผู้เสนอบริษัท Accenture นายหน้าจัดซื้อจัดจ้างเข้ามาในบริษัทการบินไทย กินหัวคิว 30% ในสมัยที่ท่านนั่งเป็นกรรมการบริษัทอยู่ 30 เดือน ระหว่างปี 2552-2554
ท่านเป็นคนโม้ ออกสื่อเก่ง เขียนเก่ง แต่พนักงานการบินไทยไม่อาจรับฟังความคิดเห็นโม้ๆ ของท่านได้ เพราะท่านได้เคยเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายในการบินไทยและรัฐวิสาหกิจอื่น
วันนี้ การตรวจสอบของ ICAO กําลังย้อนศรคําพูดนายบรรยง พงษ์พานิช FB 13 ก.พ.58 ที่เหน็บการท่องเที่ยวไว้ว่า..
"แต่ที่ผมงง...ก็คือกระทรวงท่องเที่ยว ที่ออกมาต้านไปด้วย ไม่อยากให้การบินไทยงดมาดริด กับมอสโก กลัวนักท่องเที่ยวไม่สะดวก...."
ซึ่ง "รมต.คมนาคม" ท่านก็เคยกล่าวถึงท่องเที่ยวก่อนหน้านั้น 4 ก.พ.58 แบบเดียวกันว่า...
"เรื่องยกเลิกเส้นทางบินมาดริดและมอสโกนั้น การท่องเที่ยวอาจมองผิวเผินในประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว แต่ในเชิงลึกแล้ว บริษัทการบินไทยมีผู้เชี่ยวชาญและวางแผนมาอย่างดีแล้ว จึงขอให้การบินไทยเดินหน้าตามแผนที่กําหนดไว้ คือให้ยกเลิกทั้ง 2 เส้นทางบิน ที่ทําให้การบินไทยประสบปัญหาการขาดทุน..."
แต่..วันนี้ คนไทยมองเห็นชัดแล้วว่า การยกเลิกเส้นทางบินคือการทําลายอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ...ตรงกันข้ามกับที่นายบรรยงเคยเขียนโอ้อวดไว้ว่าเป็นเรื่องเล็ก..
ทั้งหมดจึงเป็นที่มาของ อุทาหรณ์ ICAO ด้วยประการทั้งปวง
ด้วยความห่วงใยในนโยบายการบินของชาติโดยรวม...
31 มีนาคม 2558
อืมมมม....สงกรานต์นี้ ทำผมร้อนไปด้วยซะล่ะมั้ง กับอีเมล์ "เช็ดทุกเม็ด" ฉบับนี้.

ไม่มีความคิดเห็น: