PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2558

บทวิเคราะห์ "ดิโพลแมต" ถ้าไทยยื้อเลือกตั้งอีก สหรัฐคงจะตอบโต้หนักกว่าเดิม

วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2558 เวลา 08:45:00 น

วันที่ 11 ส.ค. เดอะดิโพลแมต เว็บไซต์ข่าววิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศ เผยแพร่บทความวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา โดยนายชอว์น ดับเบิลยู. คริสพิน ว่า ภายหลังมีสัญญาณว่าการเลือกตั้งของไทยมีแนวโน้มจะเลื่อนจากปี 2559 ไปเป็นปี 2560 อาจทำให้สหรัฐอเมริกาตอบโต้ไทยหนักกว่าการคว่ำบาตรความร่วมมือและความช่วยเหลือด้านการทหาร รวมถึงการทูต จากกรณีก่อการรัฐประหาร

ดิโพลแมตตั้งข้อสังเกตว่า หลังจากวุฒิสภาสหรัฐเพิ่งลงมติรับรองการแต่งตั้งนายเกล็น เดวีส์ อดีตผู้แทนพิเศษด้านนโยบายเกาหลีเหนือ เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยคนล่าสุดเมื่อสัปดาห์ก่อน มีความเป็นไปได้ว่า การส่งทูตมาไทยไม่ใช่การลดความตึงเครียด แต่จะเพิ่มแรงกดดันให้รัฐบาลไทยเร่งคืนอำนาจแก่ประชาชน
 
ท่าทีนี้จะไม่เหมือนในยุคที่นายราล์ฟบอยซ์เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย และมีสัมพันธ์อันดีกับกองทัพและกลุ่มชนชั้นสูง ที่ไม่ได้แสดงท่าทีต่อต้านการรัฐประหารในปี 2549

สำหรับยุคของนางคริสตี เคนนีย์ เอกอัครราชทูตหญิงสหรัฐ เห็นได้ชัดถึงการยึดแบบแผนตามระบอบประชาธิปไตย ประกอบกับความชื่นชมที่มีต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาการเลือกตั้ง จึงไม่แปลกที่นางเคนนีย์ปฏิเสธการเข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาในช่วงแรก แม้ต่อมาจะเข้าหารือกับบุคคลอื่นในรัฐบาล แต่เป็นไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ที่มีกับไทยมากกว่า ในฐานะที่ไทยเป็นพันธมิตรหลักของนโยบายต่อสู้กับการก่อการร้าย

นายเมอร์เรย์ ฮีเบิร์ต ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และนานาชาติ (ซีเอสไอเอส) เสนอแนะต่อคณะอนุกรรมาธิการสภาผู้แทนสหรัฐเมื่อเดือนมิ.ย. ว่า หากการเลือกตั้งของไทยเลื่อนออกไปจากเดือนก.ย.2560 รัฐบาลควรย้ายจุดศูนย์กลางที่ตั้งของหน่วยงานการพัฒนาระหว่างประเทศ หน่วยสอบสวนกลาง และศูนย์บัญชาการปฏิบัติการต่อต้านการค้ายาเสพติด ออกจากกรุงเทพฯ ไปยังชาติอื่นในอาเซียน รวมถึงแต่งตั้งทูตพิเศษว่าด้วยกิจการในไทย แยกกับตำแหน่งเอกอัครราชทูต เพื่อหารือและเป็นตัวกลางเจรจากับรัฐบาลทหารไทยโดยตรง ซึ่งนายราล์ฟ บอยซ์อาจเหมาะสมกับหน้าที่นี้ที่สุด

นายเดสมอนต์ วอลเตอร์ ผู้แทนอาวุโสกระทรวงกลาโหมสหรัฐระหว่างปี 2555-2558 ระบุว่า เพนตากอนต้องการใช้การทูตเพื่อยุติความขัดแย้งกับกองทัพไทยเช่นกัน หลังจากความพยายามกดดันให้รัฐบาลทหารคืนอำนาจแก่ประชาชน ส่งผลกระทบอย่างมากต่อกระบวนการทางความมั่นคงของทั้งสองประเทศ เมื่อไทยหันไปสานสัมพันธ์ทางทหารกับจีน

กรณีที่รัฐบาลไทยจะซื้อเรือดำน้ำมูลค่า 36,000 ล้านบาทจากจีนนั้น นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า การให้บริการหลังการขายและการซ่อมบำรุงเรือดำน้ำจะเป็นช่องทางให้จีนพัฒนายุทธศาสตร์เข้าถึงฐานทัพเรือสัตหีบและอ่าวไทยมากขึ้นขณะที่คำสั่งระงับซื้อเรือดำน้ำชั่วคราวของพล.อ.ประยุทธ์อาจเกิดจากการเล็งเห็นความกังวลของสหรัฐในจุดนี้แต่ถ้าถูกคว่ำบาตรอีกอาจผลักดันให้รัฐบาลทหารยิ่งถลำลึกไปตามกลยุทธ์ของจีน

ที่มา ข่าวสดออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: