PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

เลือกตั้งพม่าอาทิตย์นี้

04112558 เลือกตั้งพม่าวันอาทิตย์นี้: เต็งเส่ง-อองซานซูจีคู่หูคู่แข่ง
โดย : กาแฟดำ
อีกไม่กี่วันเลือกตั้งใหญ่ของพม่า ที่คนทั้งโลกกำลังจับตาดูอย่างใกล้ชิด
เพราะเป็นก้าวย่างที่จะตัดสินว่า เพื่อนบ้านด้านตะวันตกของเรา จะก้าวเข้าสู่ความเป็น “ประชาธิปไตย” ได้มากน้อยเพียงใด
การหย่อนบัตรวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ ท้ายที่สุดก็กลายเป็นการแข่งขัน ระหว่างประธานาธิบดีเต็งเส่ง และผู้นำฝ่ายค้านอองซานซูจีเท่านั้น
ตัวละครอื่น ๆ ก็ถอยฉากกันออกไปคนละก้าวสองก้าว เพราะนี่คือการให้ประชาชนตัดสินว่าจะให้ใครบริหารประเทศ : ทหารหรือพลเรือน หรือจะให้เป็นรัฐบาลผสมระหว่างอำนาจเก่ากับอำนาจเรียกร้องประชาธิปไตย?
พรรครัฐบาล USDP (Union Solidarity and Development Party) มีมติแล้วว่าจะสนับสนุนให้นายพลเต็งเส่ง เป็นประธานาธิบดีต่อหากพรรคได้เสียงข้างมากในสภา (โดยมีโควตาที่นั่งให้ทหารแล้ว 25% ก่อนจะมีการหย่อนบัตรด้วยซ้ำ)
เต็งเส่ง เคยอ้อม ๆ แอ้ม ๆ เรื่องจะอยู่ต่อในตำแหน่งนี้หลังเลือกตั้งหรือไม่ แต่มาถึงวันนี้ก็ไม่มีความขวยเขินใด ๆ อีกต่อไป เพราะเกมนี้ต้องบอกกล่าวกับประชาชนให้ชัดเจน ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ
พรรค NLD (National League for Democracy) ของอองซานซูจี ก็ยืนยันว่าถ้าประชาชนลงคะแนนเสียงให้พรรคฝ่ายค้านชนะอย่างท่วมท้น ก็จะตั้งรัฐบาลเองเพื่อบริหารประเทศแน่นอน
แต่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งพม่ารู้ว่าภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับที่ยังไม่มีการแก้ไขนี้ อองซานซูจี มิอาจเป็นประธานาธิบดีได้ ดังนั้นหากหย่อนบัตรให้พรรคของเธอแล้วเธอจะเป็นผู้นำได้หรือ?
อองซานซูจี บอกกับประชาชนระหว่างการหาเสียงนอกเมืองย่างกุ้งเมื่อไม่นานมานี้ว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ต้องลังเล เพราะหากพรรค NLD ชนะการเลือกตั้ง ได้เสียงข้างมากในสภา และไม่ว่าพรรคจะตั้งให้ใครเป็นประธานาธิบดี “ดิฉันก็จะเป็นหัวหน้าของรัฐบาลที่พรรค NLD จัดตั้งอยู่ดี”
พูดอย่างนี้เธอต้องการจะให้ความมั่นใจกับชาวบ้านที่สนับสนุนเธอ ไม่ให้หวั่นเกรงว่าคะแนนที่ให้พรรคเธอจะเป็นการ “เสียของ” เพราะอย่างไรเสียแม้โดยกฎหมายแล้วเธอจะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไม่ได้ แต่เธอก็ป่าวประกาศให้รู้โดยทั่วกันว่าไม่ต้องห่วง ถ้าประชาชนเทคะแนนให้ แม้เธอจะไม่มีตำแหน่งประธานาธิบดี แต่เธอก็จะเป็น “ผู้นำ” ของประเทศอยู่ดี
พรรครัฐบาลหาเสียงกับประชาชนด้วยการบอกว่า พรรค USDP เป็นผู้ริเริ่มกระบวนการนำพาประเทศเข้าสู่การปฏิรูปเพื่อประชาธิปไตย
ขณะที่พรรค NLD ตอกย้ำว่าพม่าจะต้อง “เปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์”
พม่ายังไม่มีการทำโพลล์เพื่อสำรวจความเห็นของประชาชนทุกระยะ แต่องค์กรบางแห่งที่ทำการประเมินแนวโน้มของประชาชน ก็ยังเชื่อว่าพรรคฝ่ายค้านของอองซานซูจี จะได้คะแนนในคูหาเลือกตั้งมากกว่าพรรครัฐบาล
ประเด็นอยู่ที่จะชนะมากหรือชนะน้อย
ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 1990 พรรค NLD ได้คะแนนนิยมท่วมท้น เกิน 80% ของจำนวนบัตรที่หย่อนวันนั้น แต่กองทัพไม่ยอมรับมติมหาชนครั้งนั้น ประกาศไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง และปกครองประเทศด้วยระบบเผด็จการทหารจนเกิดการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่การปฏิรูปการเมืองอันนำมาสู่การเลือกตั้งในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้
คราวนี้ทหารคงจะไม่กล้า “ปฏิวัติเงียบ” หากผลการเลือกตั้งไม่เป็นที่พอใจของฝ่ายตน อองซานซูจีก็คงจะหาทาง “ปรองดอง” กับกองทัพหากผลการเลือกตั้งออกมาให้พรรคเธอชนะ แต่ไม่ถล่มทลายถึงขั้นที่พรรค NLD ได้เกิน 80% เหมือนครั้งที่แล้ว
เต็งเส่งกับอองซานซูจี เป็น “คู่หู” ในการเปิดกระบวนการปฏิรูปเมื่อทั้งสองพบกันครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 2011 ด้วยคำประกาศว่าจะนำพาประเทศสู่ประชาธิปไตย
วันนี้ ทั้งสองมาเป็นคู่แข่งในเวทีการเมืองด้วยก้าวย่างใหม่ตามกติกาการเลือกตั้ง
แต่ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร ก็เป็นหน้าที่ของ เต็งเส่ง กับ อองซานซูจีที่จะต้องจัด “สมการ” การเมืองหลังเลือกตั้งให้สามารถก้าวไปข้างหน้า สงบศึกกับชนชาติพันธุ์ทุกกลุ่มอย่างถาวร และสร้างฐานแห่งเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างมั่นคง
เพราะทหารพม่าย่อมตระหนักว่าเส้นทางสู่การปฏิรูปมาไกลถึงขั้นนี้ มิอาจจะหวนกลับไปสู่ระบอบเผด็จการได้อีกต่อไปแล้วอย่างแน่นอน
และไม่ว่าผลเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร อองซานซูจี ก็จะยังเป็น “ตัวละครเอก” ตัวหนึ่งของการเมืองพม่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น: