PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2559

ธีรยุทธ:กม.การเมืองคนจนความเหลื่อมล้ำ

06042559  บทความฉบับเต็มของอ.ธีรยุทธ  บุญมี 
กฎหมาย การเมือง คนจน ความเหลื่อมล้ำและการพัฒนา ธีรยุทธ บุญมี
คนจนคือเบี้ยทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
 ปัญหาคนจนซึ่งก็คือปัญหาประชาชนไทยนั่นเอง การสำรวจสถิติทุกหนยืนยันว่าคนไทยส่วนใหญ่เป็นคนจน ปัญหาคนจนไม่ได้เกี่ยวข้องกับกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว แต่เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมจนเกิดบทสรุปว่า “คนจนติดคุก” “คนโกง คนรวยไม่ติดคุก” (เพราะหลุดคดีหรือหนีไปต่างประเทศ) และยังเกี่ยวพันกับปัญหาใหญ่ของประเทศอีกหลายด้าน เช่น กระบวนทัศน์ของชนชั้นมีอำนาจของไทยต่อชาวบ้านหรือคนจนซึ่งเป็นปัญหาสังคม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ของบ้านเรามายาวนาน อีกด้านซึ่งสำคัญอย่างยิ่งคือมิติการกำหนดแผนพัฒนานโยบายหลักของประเทศ หรือแผนการขับเคลื่อนประเทศทั้งหมดว่าทำไปเพื่อใคร ใครแสวงประโยชน์ ใครเสียประโยชน์ เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศชาติหรือชาวบ้านทั่วไปหรือไม่
 โดยภาพรวมทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ชาวบ้านไทยมีฐานะเป็นเพียงเบี้ยในกระดานพัฒนาเศรษฐกิจ กระดานสังคมและการเมือง ที่ถูกเสียละเพื่อให้เม็ด ม้า เรือ โคน อยู่ในตำแหน่งที่ดีขึ้น มั่นคงขึ้น
 เบี้ยทางเศรษฐกิจ การพัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์มี 2 ช่วงใหญ่ ๆ ในช่วงแรกชาวบ้านส่วนหนึ่งมีบทบาทเป็นผู้หักร้างถางพงสร้างที่ทำกินทั่วประเทศเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ อีกส่วนเป็นกรรมกรโรงงาน และแรงงานตามไร่มัน ไร่ปอ ไร่อ้อย ซึ่งค่าแรงต่ำ จนมีศัพท์เรียกว่าแรงงานทาสหรือโรงงานนรกขึ้นตามหน้าหนังสือพิมพ์ รัฐบาลยังจงใจกดรายได้ชาวนา กรรมกร ให้อยู่ในระดับต่ำ โดยนโยบายเก็บค่าพรีเมียมข้าวส่งออก เพื่อให้ราคาข้าวในประเทศต่ำ ผู้ได้ประโยชน์คือนายทุนและคนอื่นทั่วไปเพราะค่าครองชีพต่ำ ในช่วงปัจจุบันซึ่งเศรษฐกิจประเทศขยายตัวเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกเต็มที่ รัฐซึ่งผูกขาดการจัดการทรัพยากร เส้นทางคมนาคมขนส่ง การค้าขายปลีก-ส่ง ก็มุ่งที่การขยายตัวเติบโตทางเศรษฐกิจ เปิดทางให้ทุนต่างประเทศ ทุนเอกชน และรัฐวิสาหกิจ (ซึ่งควบคุมโดยนักการเมือง เทคโนแครต และทุนการเมือง) เป็นผู้เสวยประโยชน์จากทรัพยากร พลังงาน แร่ธาตุ ประมง การสื่อสาร คมนาคม ค้าปลีก โดยชาวบ้านและท้องถิ่นได้ผลตอบแทนน้อยมาก สูญเสียทรัพยากรทำกิน แต่เสวยทุกข์จากมลภาวะ ร้านค้าย่อย อาชีพ และวิถีชีวิตชุมชนพังทลาย นอกจากนี้นโยบายเปิดกว้างแก่แรงงานประเทศเพื่อนบ้าน ก็เป็นการจงใจให้ค่าแรงงานในประเทศต่ำ เพื่อโอบอุ้มอุตสาหกรรมในประเทศให้ไม่ต้องใช้ความพยายามในการแข่งขันหรือยกระดับตัวเอง คนไทยชั้นกลางชั้นสูงทั่วไปพอใจเพราะยังได้บริโภคของราคาไม่แพง มีแรงงานใช้ในบ้าน ส่วนชนชั้นล่างอยู่ในสภาพชีวิตที่เสื่อมโทรมเลวร้ายลงตลอดเวลา เช่น ต้องเดินทางไปกลับที่ทำงานไกลขึ้นเรื่อย ๆ ทานอาหารที่มีสารพิษ สารเคมีตกค้างหรือผสม บริโภคของปลอม เช่น ลูกชิ้นเทียม ไส้กรอกเทียม เนื้อสัตว์ อาหารทะเลเทียม น้ำดื่มสะอาดเทียม ยาเทียม การศึกษาเทียม ฯลฯ
เบี้ยทางสังคมการเมือง การเป็นเบี้ยก็คือการขาดอำนาจทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง สังคมประชาธิปไตยคือสังคมที่ทุกคนมีสิทธิ อำนาจ กล้าแสดงสิทธิและความรับผิดชอบของตนเองอย่างเต็มที่ ทัดเทียมกัน ในความเป็นจริงของสังคมที่เป็นประชาธิปไตยทั่วโลกไม่ได้อยู่กับหลักการหรือตัวบทกฎหมาย
ลอย ๆ แต่อยู่ที่ความเข้มแข็งของทั้งกลไกรัฐ กลไกกฎหมาย กลไกสังคมและชุมชน ถ้ากลไกไม่ทำงาน เราเป็นบุคคลโดด ๆ ก็ไม่กล้าใช้สิทธิขอข้อมูลข่าวสารเพื่อตรวจสอบคอร์รัปชั่น เพราะเจ้าหน้าที่ไม่ให้ความร่วมมือ เสียเวลาค่าใช้จ่าย ไม่กล้าฟ้องร้องเรื่องคอร์รัปชั่นเพราะกลัวอำนาจมืด ไม่กล้าว่ากล่าวรถตู้ วินมอเตอร์ไซค์ หาบเร่แผงลอยรุกล้ำเกินเลย ผู้มีอำนาจรุกป่า ชายหาด ชายน้ำ ลำคลอง ฯลฯ เพราะกลัวถูกรุมซ้อมหรือยิงทิ้ง ที่บ้านเรามีปัญหาชุมนุมประท้วงมาเกือบตลอด 30 ปี นับจากเหตุการณ์พฤษภาคม ก็เพราะสาเหตุที่กลไกต่าง ๆ ดังกล่าวไม่ทำงานและเสื่อมทรามเลวร้ายลงเรื่อย ๆ
การที่คนไทยไม่มีลักษณะเป็นปัจเจกบุคคลที่หวงแหนสิทธิ เคารพเสรีภาพ ก็เพราะการด้อยอำนาจ จึงมีคติหรือค่านิยมที่เป็นเบี้ยล่าง เป็นข้า เป็นบ่าว ใต้ร่มโพธิ์ร่มไทรของเจ้านาย ดังคติ “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า ข้าพึ่งเจ้า บ่าวพึ่งนาย” และ “ข้าคับแค้นแสนประดาษในชาตินี้ ไม่มีที่พึ่งพาอนาโถ ทั้งสิ้นทุนสูญขาดญาติโย เที่ยวเซโซบัดสีนี่กระไร” ต้องหาที่พึ่งพาผู้อุปถัมภ์เพื่อการอยู่รอดมาทุกยุคสมัย
การตกเป็นเบี้ยล่างในเครือข่ายอุปถัมภ์จึงทำให้ตัวตน วิถีชีวิตของชาวบ้าน เป็นเสมือนของเล่นเชิงนโยบายของรัฐไทยและผู้กำหนดนโยบายมาตลอด เช่นถูกมองเป็นที่มาของปัญหาของการซื้อเสียง เป็นสภาวะป่าเถื่อนล้าหลังต้องพัฒนา ต่อมาก็ถูกมองเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีชีวิตที่สมถะเรียบง่าย ประเพณีวัฒนธรรมที่มีค่า ฯลฯ ส่วนในทางการเมืองก็ถูกมองเป็นฐานเสียง เป็นตลาดของสินค้าประชานิยม
 ฉะนั้นการแก้ปัญหาคนจึงไม่ใช่การมาถกเถียงประเด็นกฎหมายอย่างเดียว เพราะถึงที่สุดแล้วก็คือการปฏิรูปการเมือง กฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายและอื่น ๆ ของประเทศ ซึ่งสังคมไทยพูดกันจริงจังเกือบ 30 ปีแล้ว มีการชุมนุมใหญ่ ประท้วงใหญ่ จนถึงการปฏิวัติรัฐประหารหลายหน ครั้งแรกคือการเกิดพลังสีเขียวกดดันให้มีการลงมติทางรัฐสภาเพื่อให้มีการปฏิรูปและเกิดรัฐธรรมนูญปี 2540 ขึ้น ส่วนช่วงต่อมาเป็นการชุมนุมที่เริ่มยืดเยื้อและรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับจนเกิดรัฐประหาร 2549 และรัฐธรรมนูญ 2550 ขึ้น การชุมนุมมวลมหาประชาชน 2-3 ล้านคน เกิดรัฐประหาร 2557 และกำลังร่างรัฐธรรมนูญ 2559 อยู่ในปัจจุบัน แต่ปัญหาก็ยังหนักหน่วงรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

คสช. ยังไม่ได้ปฏิรูปประเทศ และมีแนวโน้มไม่สำเร็จ แต่ยังไม่สายสำหรับการเริ่มปฏิรูป
พลเอกประยุทธ์กล่าวแบบใช้สามัญสำนึกว่า การปฏิรูปมีหลายด้านมาก เป็นเรื่องยากต้องใช้เวลา 
10-20 ปี จึงจะสำเร็จ ซึ่งเป็นเรื่องถูกต้อง กล่าวโดยสามัญสำนึกเช่นกันเราเห็นว่าการปฏิรูปใช้องค์ประกอบ 4 อย่างคือ (1) ความรู้เรื่องการปฏิรูป (2) บุคลากรที่จะขับเคลื่อนการปฏิรูป (3) ความมุ่งมั่น เจตจำนง (political will) ที่จะทำการปฏิรูป (4) ศาสตร์และศิลป์ในการปฏิรูป
สองข้อแรกกล่าวได้ว่าเรามีพร้อม เพราะได้มีการเคลื่อนไหวชุมนุม มีการศึกษาหลายชุด เช่น ของ สกว. ในปี 2538 ของนายอานันท์ ปันยารชุน ปี 2553 สมัชชาเพื่อการปฏิรูปของ นพ. ประเวศ วะสี ปี 2553-2556 เป็นต้น ส่วนความมุ่งมั่นในการปฏิรูปอาจมีปัญหาโดยเฉพาะในส่วนผู้นำ เพราะรัฐบาลจากการเลือกตั้งไม่เต็มใจทำ เพราะขัดผลประโยชน์ตัวเอง และอ้างว่าการเป็นรัฐบาลเลือกตั้งหรือรัฐบาลผสมอ่อนแอ ไม่สามารถทำภารกิจใหญ่คือการปฏิรูปได้ ส่วนผู้นำทางทหารนั้นแม้จะมีความพร้อมเรื่องอำนาจ ก็กระอักกระอ่วนที่จะนำพาการปฏิรูปเพราะ (ก) ทหารไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญที่จะตัดสินว่าควรจะปฏิรูปอะไร อย่างไร (ข) ไม่ได้เชื่อมโยงบุคลกรวงการต่าง ๆ กว้างขวางพอจะเลือกใช้ได้อย่างวางใจ (ค) มองว่าเป็นปัญหาใหญ่ ต้องใช้เวลายาวนานเกินกว่าที่ทหารจะรับผิดชอบได้ และ (ง) กองทัพก็อยู่ในระบบราชการที่จะถูกกระทบจากการปฏิรูปเช่นกัน แม้จะไม่ใช่ระดับเข้มข้นเท่าพรรคการเมืองหรือตำรวจ ในที่สุดทหารก็จะหมดกำลังใจที่จะทำการปฏิรูปได้
ส่วนในข้อวิธีการ ศาสตร์และศิลป์ของผู้นำในการปฏิรูป ผมเชื่อว่านักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทั่วไปบอกได้ว่าควรจะปฏิรูปอะไร แต่บอกไม่ได้ว่าจะปฏิรูปอย่างไร ศึกษาจากประวัติศาสตร์บอกเราว่า การปฏิรูปของทุกประเทศที่สำเร็จนั้นไม่ได้เกิดจากบุคคลธรรมดา แต่เกิดจากขบวนการของคนทั้งสังคม แต่ก็มักมีบุคคล คณะบุคคล ระดับประวัติศาสตร์หรือรัฐบุรุษเป็นผู้นำ เช่น คณะปฏิรูปเมจิของญี่ปุ่น การปฏิรูปด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ต่อต้านคอร์รัปชั่น ต่อต้านการผูกขาด ฯลฯ ในยุคชุบทองของอเมริกา มีผู้นำหลายคน เช่น รูสเวลท์ นักธุรกิจอุตสาหกรรม เช่น ร็อกกี้เฟลเลอร์ คาร์เนกี นักปฏิรูปธุรกิจและสังคม เช่น มิแนรวา 
ทาร์เบลล์ กลุ่ม Muckraker ที่ขุดคุ้ยทุจริตนักการเมืองและกลุ่มธุรกิจ ฯลฯ 
ส่วนในบางประเทศเป็นผลงานของบุคคลที่เป็นผู้นำโดดเด่น ใช้ความมุ่งมั่น ความมีศิลปะในการใช้บุคลากร ทรัพยากร การเลือกวิธีการ เป้าหมาย และการใช้อำนาจที่ตนเองมีในแต่ละขั้นแต่ละตอน เช่น เดอโกลของฝรั่งเศส รัชกาลที่ 5 และจอมพลสฤษดิ์ (มิได้หมายถึงการยกย่องว่าจอมพลสฤษดิ์เป็นผู้มีศีลธรรม คุณธรรมที่ดี) ซึ่งศาสตร์และศิลป์ดังกล่าวทำให้ประชาชน ข้าราชการ นักธุรกิจ เชื่อมั่นคล้อยตาม ทำให้อุดมคติ ความคิด ค่านิยมที่รักชาติ รักประชาธิปไตย มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ปักหลัก เป็นการปฏิรูปที่ถาวรของประเทศได้ ปัญหาจึงอยู่ที่คณะ คสช. โดยเฉพาะพลเอกประยุทธ์ ว่าจะคาดหวังบทบาทฐานะของตัวเองอย่างไร

ข้อเสนอการปฏิรูปในบางประเด็นที่เกี่ยวกับคนจน
 นักวิชาการเสนอประเด็นปฏิรูปได้ แต่เสนอว่าทำอย่างไรไม่ได้ เพราะไม่ใช่ผู้ปฏิบัติ ไม่ใช่ผู้ใช้อำนาจ จึงไม่สามารถประเมินผล ไม่สามารถปรับเปลี่ยนผลักดันให้ถูกจุดได้ มีข้อเสนอคร่าว ๆ ไม่กี่ประเด็นดังต่อไปนี้
 1. ปัญหาภัยพิบัติของชาติ เช่น น้ำท่วมภัยแล้ง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่เกิดซ้ำซ้อนติดต่อกัน ทั้งที่เรามีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญและความรู้อยู่เต็มเปี่ยม มีคณะกรรมการระดับชาตอที่ดูแลเรื่องน้ำอยู่แล้ว ปัญหาอยู่ที่จุดใด การใช้อำนาจผิด ๆ ของนักการเมือง การขาดประสิทธิภาพผูกขาดอำนาจของข้าราชการิการใช้ความรู้วิธีทำงานผิด ๆ ของนักวิชาการ? นายก ฯ ควรใช้อำนาจของตนตั้งกรรมการยุทธศาสตร์ระดับชาติที่นำเสนอข้อมูล คำแนะนำที่เป็นอิสระ โปร่งใส ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง สอบถาม รับฟังความเห็นจากสาธารณะเป็นประจำ
 2. ปัญหาทรัพยากรสำคัญของประเทศ ตั้งแต่ พลังงาน น้ำ ไฟ ลม อากาศ บก ทะเล ซึ่งนับวันจะทวีคุณค่ามากขึ้น เรายังไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือ หรือสังคมเกิดความเชื่อถือได้เลย เช่น การประมูลคลื่นความถี่
ของ กสทช. ที่ผ่านมา ได้ราคาประมูลสูงขึ้นมาก เนื่องจากมีข้อกำชับจากศาลปกครอง และมีหน่วยงานอิสระ TDRI เข้าไปช่วยเสนอแง่คิดและวิธีการใหม่ ๆ จึงสร้างข้อแคลงใจว่าที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐทำชาติสูญเสียประโยชน์ไปมากน้อยเพียงไร มีการสมคบคิดเอื้อผลประโยชน์แก่เอกชนหรือไม่ ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายต่าง ๆ ก็เป็นกลไกรัฐที่มีความเฮงซวยเป็นลำดับสองของประเทศ เพราะคุมวงเงินรวมกันเกือบล้านล้านบาท แต่ไม่เคยมีงานวิจัยของตัวเองหรืองานวิจัยที่น่าเชื่อถือได้นำมาเผยแพร่ต่อสาธารณชน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าท่านได้ปกปักรักษา หรือดำเนินงานเพื่อประโยชน์สูงสุดในทรัพยากรที่ท่านรับผิดชอบอยู่หรือไม่
 3. สิ่งที่เฮงซวยเป็นลำดับหนึ่งของประเทศ คือ ระบบคมนาคมขนส่งโดยรวมของประเทศ ซึ่งหลังจากวางรากฐานมาดีพอสมควรตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เมื่อเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจก็ผิดทิศผิดทางมาตลอด หัวใจของข้อผิดพลาดก็คือ ไม่ได้มุ่งรับใช้ภาคสาธารณะหรือประชาชน แต่รับใช้ความต้องการทางเศรษฐกิจของทุนอุตสาหกรรม มุ่งสร้างคนเพื่อสนองธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ นายทุนธุรกิจก่อสร้างของนักการเมือง อุตสาหกรรมรถยนต์ภายในและนอกประเทศ การขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟ รถเมล์ จึงถูกทอดทิ้ง จังหวัดส่วนใหญ่ของประเทศไม่มีระบบรถเมล์หรือรถสาธารณะที่ดีหรือเพียงพอ เกือบไม่มีบริการขนส่งสาธารณะที่จะให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติ แหล่งประวัติศาสตร์ สวนสาธารณะ ในบ้านเราเลย ไม่มีการเชื่อมต่อแบบบูรณาการระหว่างรถไฟ รถเมล์ รถไฟฟ้า รถใต้ดิน สนามบินกรุงเทพ ฯ และต่างจังหวัด ที่มีมาตรฐานพอ งานด้านนี้ซูเปอร์บอร์ดที่ คสช. ตั้ง น่าจะรื้อแผนต่าง ๆ มาปรับปรุงได้ 
 4. ประเด็นสุดท้าย คือ ปัญหาความมั่นคงของประเทศไทยในสถานการณ์โลก ซึ่งจะทวีความเข้มข้นซับซ้อน ซึ่งผู้เขียนพิจารณาว่าจะเป็นปัญหาร้ายแรงที่สุดของประเทศในอนาคต การปฏิรูปในมิตินี้โดยหลักคิดการระดมสรรพกำลัง ความรู้ความคิดที่เหมาะสมในระดับชาติ เพื่อศึกษาขบคิดแนวทาง นโยบาย ปัญหานี้ มากกว่าจะให้เป็นภาระผูกขาดของกระทรวงต่างประเทศหรือสภาความมั่นคงแห่งชาติแต่ฝ่ายเดียว
 หัวใจสำคัญที่สุดของการปฏิรูปก็คือการส่งเสริม สนับสนุน สร้างเครือข่ายกลไกอำนาจ และค่านิยมความรับผิดชอบของภาคสังคมและชุมชนขึ้นมา เพื่อถ่วงดุลกับการใช้อิทธิพลอำนาจเกินขอบเขตกติกาของทั้งนักการเมือง ข้าราชการ และกลุ่มอิทธิพล การแก้ปัญหาหาบเร่แผงลอย วินมอเตอร์ไซค์ ได้อย่างยั่งยืนนั้น แก้ได้โดยอำนาจของชุมชนและการปกครองท้องถิ่น โดยไม่จำเป็นต้องใช้การรัฐประหารหรือมาตรา 44 แต่อย่างใด
 นอกจากนี้หัวใจของการปฏิรูปอื่น ๆ ก็ต้องเน้นการบริการชาวบ้านและภาคสาธารณะเป็นมิติที่ขาดไม่ได้

ไม่มีความคิดเห็น: