PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ญี่ปุ่นเสนอธาตุใหม่"นิฮอนเนียม"

ชาวญี่ปุ่น เสนอชื่อธาตุใหม่ลำดับที่ 113 “นิฮอนเนียม (Nh)” ให้เวลา 5 เดือน ฟันธงใช้ชื่อ ส่วนทีมรัสเซียและสหรัฐเสนอชื่อธาตุลำดับที่ 115, 117 และ 118 ว่า มอสโกเวียม (Mc), เทนเนสซีน (Ts) และออแกนนิสซัน (Og) ตามลำดับ
ในขณะที่ผมไปร่วมงานเลี้ยงต้อนรับสำหรับงานเวิร์คช็อปของอาเซียน-ญี่ปุ่นเกี่ยวกับนวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ STS ASEAN-JAPAN Workshop on Innovation, Science and Technology for Sustainable Development ที่จะจัดขึ้นวันศุกร์ที่ 10 มิ.ย. ณ บ้านพักท่านทูตญี่ปุ่น นั้น ท่านทูตได้กระซิบบอกผมเกี่ยวกับเรื่องที่น่าตื่นเต้นเรื่องหนึ่ง “ชาวญี่ปุ่นจะประกาศเสนอชื่อธาตุใหม่ของโลก ว่า นิโฮเนียม”
ย้อนกลับไปเมื่อต้นปีที่ผมโพสท์ (ดู goo.gl/Oe069G) เกี่ยวกับของขวัญปีใหม่สำหรับประชาคมโลก คือ นักวิทยาศาสตร์ในญี่ปุ่น รัสเซียและอเมริกา ได้รับสิทธิในการเสนอชื่อธาตุค้นพบใหม่ 4 ชนิด ในตารางธาตุ ในลำดับที่ 113, 115, 117 และ 118 ตามกติกาของสหภาพเคมีบริสุทธิ์และเคมีประยุกต์ระหว่างประเทศ หรือ IUPAC (ไอยูแพ็ก) ทำให้ตารางธาตุแถวที่ 7 มีธาตุครบถ้วนสมบูรณ์ มาวันนี้นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนั้น ได้เสนอชื่อมาเพื่อทำประชาพิจารณ์แล้ว โดยให้เวลา 5 เดือนถึง 8 พฤศจิกายน 2559
ชาวญี่ปุ่น ได้เสนอชื่อ “นิฮอนเนียม (nihonium)” มีสัญลักษณ์ว่า Nh สำหรับธาตุลำดับที่ 113 ที่ค้นพบที่สถาบัน RIKEN ในญี่ปุ่น ซึ่งนับว่าเป็นธาตุแรกของชาวเอเชีย โดยคำว่า นิฮอน (Nihon) หรือนิฮอง にほん(日本)เป็นชื่อเรียกประเทศญี่ปุ่น และหมายถึง ‘ถิ่นกำเนิดของดวงอาทิตย์’ ซึ่งชื่อ นิฮอนเนียมได้รับการเสนอชื่อเพื่อเป็นความภาคภูมิใจของชาวญี่ปุ่นและชาวเอเชีย โดยหัวหน้าคณะทีมวิจัย ศาสตราจารย์โคซูเกะ โมริตะ ใช้โอกาสนี้ในการเชิดชูเกียรติการค้นหาธาตุลำดับที่ 43 ของมาซาตากะ โอกาวา ในปีค.ศ. 1908 ซึ่งเขาได้พยายามตั้งชื่อว่า นิปอนเนียม แต่ต่อมาพบว่าธาตุดังกล่าว เป็นธาตุลำดับที่ 75 คือ รีเนียม (rhenium) ซึ่งศาสตราจารย์โคซูเกะหวังว่า การค้นพบนี้จะแทนที่ศรัทธาของชาวโลกที่สูญเสียไปจากเหตุการณ์นิวเคลียร์ที่ฟูกูชิม่าได้
ส่วนธาตุลำดับที่ 115 และ 117 ได้รับการเสนอชื่อโดยคณะนักวิจัยนิวเคลียร์จากสถาบันความร่วมมือด้านวิจัยนิวเคลียร์แห่งเมืองดุบนาประเทศรัสเซีย ห้องปฏิบัติการแห่งชาติโอคริดจ์ในสหรัฐอเมริกาและมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ โดยเสนอชื่อธาตุลำดับที่ 115 ว่า “มอสโกเวียม (moscovium)” มีสัญลักษณ์ว่า Mc เพื่อเป็นเกียรติให้กับพื้นที่มอสโกที่เป็นที่ตั้งของสถาบันวิจัยร่วมที่ทดลองเครื่องแยกอนุภาคกับเครื่องเร่งอนุภาคในห้องแล็ป Flerov และธาตุลำดับที่ 117 ว่า “เทนเนสซีน (tennessine)” มีสัญลักษณ์ว่า Ts เพื่อเป็นเกียรติกับย่านเทนเนสซี ซึ่งเป็นที่ตั้งของห้องปฏิบัติการแห่งชาติโอคริดจ์ มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์และมหาวิทยาลัยเทนเนสซีแห่งเมืองนอกซ์วิลล์ ในสหรัฐอเมริกา
ในขณะที่ธาตุลำดับที่ 118 ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือของทีมจากสถาบันร่วมวิจัยนิวเคลียร์แห่งเมืองดุบนา ประเทศรัสเซีย กับห้องปฏิบัติการแห่งชาติลอเรนซ์ลิเวอร์มอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับการเสนอชื่อว่า “ออแกนนิสซัน (oganesson)” ใช้สัญลักษณ์ว่า Og เพื่อเป็นเกียรติให้กับศาสตราจารย์ Yuri Oganessian ที่ทุ่มเทให้กับงานวิจัยธาตุหนัก โดยเฉพาะการสังเคราะห์ธาตุในแถวที่ 7 ของตารางธาตุ
สังเกตได้นะครับว่า การค้นพบทั้งหมดนี้มาจากความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งผมเห็นตรงกันว่าความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ในลักษณะเป็นจุดที่สร้างความสัมพันธ์ทางการทูตได้อย่างดี โดยเราชาวกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กำลังสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในลักษณะนี้ ภายใต้โปรแกรม “การทูตเชิงวิทยาศาสตร์ หรือ Science Diplomacy”
ความร่วมมือแบบนี้กำลังจะทำให้เกิดธาตุแถวที่ 8 ในตารางธาตุ ซึ่งเขากำลังทำงานกันอย่างหนักครับ
เครดิตข้อมูลจาก http://iupac.org/elements.html

ไม่มีความคิดเห็น: