PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

สถาบันกษัตริย์ญี่ปุ่น เทพเจ้าที่ไร้อำนาจ?

ข่าวลือเรื่องการสละราชสมบัติของจักรพรรดิญี่ปุ่น ทำให้คนไทยหันมาสนใจเรื่องราวของราชวงศ์ญี่ปุ่น ราชวงศ์ที่สืบทอดมายาวนานที่สุดในโลก และเป็นจักรพรรดิองค์เดียวในโลกยุคปัจจุบัน แต่จักรพรรดิทรงเป็นเพียงตำแหน่งเทพเจ้าที่ไร้อำนาจ เปรียบเหมือน "นกน้อยในกรงทอง"

ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวในโลกปัจจุบันที่ยังมีสมเด็จพระจักรพรรดิ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ มีเพียงพระมหากษัตริย์

ความแตกต่างระหว่างสมเด็จพระจักรพรรดิกับพระมหากษัตริย์ อยู่ที่พระราชอำนาจในการปกครองในอดีต กล่าวคือ สมเด็จพระจักรพรรดิมีพระราชอำนาจเหนือจักรวรรดิ เช่น จักรวรรดิญี่ปุ่น จักรวรรดิจีน จักรวรรดิรัสเซีย จักรวรรดิออสเตรีย ฯลฯ ส่วนพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจเหนือรัฐหรือประเทศ เช่น ประเทศไทย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับสมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่น

สมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นในรัชกาลปัจจุบัน นับเป็นรัชกาลที่ 125 สืบพระราชสันตติวงศ์ต่อเนื่องมาในพระราชวงศ์เดียว ข้อนี้ถือเป็นความพิเศษของสถาบันสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่น ในจักรวรรดิอื่นๆ มีการต่อสู้แย่งชิงพระราชบัลลังก์ ผลัดเปลี่ยนพระราชวงศ์ไม่รู้กี่ครั้งแล้วก็ล่มสลายไป ในขณะที่พระราชวงศ์ญี่ปุ่นยืนยงต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

แต่จักรพรรดิไม่ได้ทรงมีพระราชอำนาจเด็ดขาด ทรงมีสถานะเป็นเทพเจ้าในร่างมนุษย์ เป็นผู้นำทางศาสนา อาจจะถึงขั้นว่าเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ แต่อำนาจการปกครองตกอยู่ในมือของโชกุนและเจ้าเมือง

โชกุนไม่ปลงพระชนม์สมเด็จพระจักรพรรดิ เพราะสมเด็จพระจักรพรรดิทรงเป็นเทพในความเชื่อของคนญี่ปุ่น การปลงพระชนม์จะทำให้ผู้คนลุกฮือขึ้นต่อต้าน แต่การควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดอยู่ในวิสัยที่กระทำได้ ขอแค่พระองค์ไม่ขัดขืนอำนาจของโชกุน พระองค์ก็จะทรงเป็นที่เคารพสักการะต่อไปได้เรื่อยๆ

อำนาจการปกครองญี่ปุ่นกลับมาอยู่ในพระราชอำนาจของสมเด็จพระจักรพรรดิอีกครั้งภายหลังการปฏิรูปรัชสมัยสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ ญี่ปุ่นจึงกลายเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์และเป็นจักรวรรดิอย่างแท้จริง ในยุคเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนารัฐ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้สำเร็จในไทยจากการปฏิรูป รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง
จักรพรรดิเมจิ ผู้ทรงสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นในญี่ปุ่น ทรงมีนโยบายการปฏิูปประเทศให้ทันสมัย รวมอำนาจเข้าสู่สถาบันกษัตริย์เช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในช่วงเวลาประมาณ 100 ปีหลังจากนั้น สถาบันสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นได้รับการพัฒนาอย่างถึงขีดสุด สถานะของพระองค์ถูกขับเน้นความสำคัญมากขึ้นในฐานะของผู้สืบเชื้อสายมาจากเทพเจ้า ได้รับสิทธิขาดในการปกครองเหนือจักรวรรดิทั้งมวล ทรงอยู่เหนือคนธรรมดา เวลาพูดจาต้องใช้ภาษาพิเศษ คนธรรมดาจะแตะต้องพระวรกายไม่ได้ แม้แต่จะยืนทับพระฉายาของพระองค์ก็ไม่ได้ เป็นบาปหนัก

ช่วงต้นสมัยโชวะ เชื่อกันว่าสมเด็จพระจักรพรรดิทรงมีมหิทธานุภาพมาก คนธรรมดาจะมองพระองค์โดยตรงไม่ได้ รัศมีของพระองค์จะทำให้ตาบอด หากพระองค์เสด็จผ่านที่ใด ประชาชนต้องก้มหน้ามองดิน

ปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม สหรัฐฯเข้ามาจัดการการเมืองภายในญี่ปุ่น ตอนแรกก็มองว่าสมเด็จพระจักรพรรดิโชวะเป็นอาชญากรสงคราม แต่การจับกุมพระองค์ไปลงโทษ อาจทำให้คนญี่ปุ่นกว่าค่อนประเทศฆ่าตัวตายตามพระองค์ เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายจนสหรัฐฯจะควบคุมญี่ปุ่นได้ยาก แต่จะให้สมเด็จพระจักรพรรดิมีพระราชอำนาจมากอย่างเมื่อก่อนนี้ก็ไม่ได้

ในปีถัดจากสงครามโลกยุติลง สหรัฐฯจึงสั่งให้สมเด็จพระจักรพรรดิโชวะทรงประกาศยอมรับว่าพระองค์ไม่ได้เป็นเทพ พระองค์ทรงเป็นคนเดินดินธรรมดา ไม่ต่างจากประชาชนโดยทั่วไป

สมเด็จพระจักรพรรดิทรงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่น ทรงเป็นที่เคารพสักการะ อยู่เหนือการเมือง ในขณะเดียวกันก็ต้องอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของรัฐบาล จะทรงทำอะไรเองตามพระราชหฤทัยไม่ได้ หากจะเสด็จออกมหาสมาคมหรือมีพระราชดำรัสออกสื่อก็ต้องส่งร่างให้รัฐบาลตรวจ จะเสด็จไปไหนมาไหนก็ต้องแจ้งให้รัฐบาลทราบ ไม่ต่างจากในยุคโชกุน

สถาบันสมเด็จพระจักรพรรดิในสมัยโชวะ อยู่ก้ำกึ่งระหว่างความจังรักภักดีและความเกลียดชังครับ คนส่วนใหญ่น่าจะยังจงรักภักดีต่อสถาบันฯ ในขณะที่คนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม เช่น ในโอะกินะวะและไซปัน ก็มองสถาบันในแง่ลบ สมเด็จพระจักรพรรดิโชวะไม่ได้รับการต้อนรับจากคนในพื้นที่นั้นเลยตลอดรัชสมัยของพระองค์

สถานะของสถาบันฯ เพิ่งเริ่มฟื้นตัวอีกครั้งในช่วงปลายสมัยโชวะ ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยเฮเซ (รัชกาลปัจจุบัน) สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะทรงพยายามใกล้ชิดกับประชาชนนับตั้งแต่ครั้งแรก ที่ขึ้นครองราชย์ ทรงมีพระราชดำรัสด้วยถ้อยคำธรรมดา เป็นภาษาที่เข้าใจง่าย แตกต่างจากสมเด็จพระบรมชนกนาถที่แม้ประกาศพระองค์เป็นปุถุชน แต่ยังตรัสด้วยภาษาที่เข้าถึงยากสำหรับคนทั่วไป
จักรพรรดิอะกิฮิโตะและจักรพรรดินีมิชิโกะ เสด็จเยี่ยมประชาชนที่ประสบภัยจากแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อปี 2011
 สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะเสด็จเยี่ยมเยือนประชาชนในภูมิภาคต่างๆ โดยจะทรงประทับบนพื้นเสมอกับประชาชนธรรมดา ทรงยอมรับความผิดของพระราชวงศ์ญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกด้วยการตรัสแสดงความ รับผิดชอบต่อความสูญเสียของทุกฝ่าย แม้พระราชจริยจัตรของพระองค์ไม่ได้ช่วยลบภาพความโหดร้ายของญี่ปุ่นในยุคนั้น แต่ก็ช่วยให้สถานะของสถาบันฯ เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม
จักรพรรดิอะกิฮิโตะและจักรพรรดินีมิชิโกะ ทรงกล่าวยอมรับความผิดพลาดของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง

จนถึงตอนนี้ คนรุ่นใหม่ที่เกิดมาในสมัยเฮเซ อาจไม่ได้เคารพสักการะสมเด็จพระจักรพรรดิเสมือนเทพเหมือนอย่างเมื่อก่อน แต่ก็ยังมีคนที่คิดว่าพระองค์เป็นสัญลักษณ์ที่สืบทอด “ความเป็นญี่ปุ่น” ต่อเนื่องจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน คนญี่ปุ่นส่วนหนึ่งมองว่าสถาบันฯ กับประเทศญี่ปุ่นมีอายุเท่ากัน เป็นตัวแทนของกันและกันได้ ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปก็เหมือนว่า “ญี่ปุ่น” ไม่ครบองค์

เรียบเรียงจากบทความในแฟนเพจ ญี่ปุ่นโดยสังเขป : Japan in a Nutshell
ที่มา : http://news.voicetv.co.th/world/388869.html

ไม่มีความคิดเห็น: