PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ศาลอุทธรณ์สั่งยึดทรัพย์นางภคินี สุวรรณภักดี มารดานายอรรถวิชช์

ศาลอุทธรณ์สั่งยึดทรัพย์นางภคินี สุวรรณภักดี มารดานายอรรถวิชช์ เป็นที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง3รายการ ในคดีปล่อยกู้หนี้เน่า สูญ4.2พันล้าน
เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีที่พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของ นางภคินี สุวรรณภักดี มารดานายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ผู้คัดค้านที่ 1 น.ส.อรภัค สุวรรณภักดี บุตรสาวนางภคินี ผู้คัดค้านที่ 2 นายอรรถวิชช์ ผู้คัดค้านที่ 3 และนายนัฐพงศ์ สุวรรณภักดี บุตรชายนางภคินี ผู้คัดค้านที่ 4 ตกเป็นของแผ่นดิน กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ตรวจสอบพบว่านางภคินี ขณะเป็นกรรมการให้สินเชื่อชุดบริหารธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) อนุมัติสินเชื่อให้ลูกหนี้กลุ่มนายสุเทพ เจริญพรพาณิชกุล มียอดหนี้ค้างชำระ 4,278,000,000 บาท ขณะที่มียอดสินเชื่อรวม 8 บัญชี เป็นเงิน 5,195,000,000 บาท เป็นการทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารพาณิชย์ และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สิน 4 รายการ ได้แก่ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง 3 รายการ หลักทรัพย์บริษัทอินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) 333 หุ้น รวมมูลค่า 6,765,300 บาท พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง 3 แปลง เขตบางเขน ตกเป็นของแผ่นดิน ส่วนหลักทรัพย์ 333 หุ้นให้คืนแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ต่อมาผู้คัดค้านทั้ง 4 ยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ขณะผู้คัดค้านที่ 1 เป็นคณะกรรมการพิจารณาให้สินเชื่อชุดบริหารของธนาคารมหานครฯ ได้อนุมัติสินเชื่อให้ลูกหนี้กลุ่มนายสุเทพกับพวก โดยไม่มีการวิเคราะห์ฐานะการเงินของกลุ่มลูกหนี้ทั้งที่มีฐานะไม่น่าเชื่อถือ ไม่มีการเรียกหลักประกันให้คุ้มหนี้เป็นการกระทำโดยทุจริตทำให้เกิดความเสียหายแก่ธนาคาร โดยธนาคารยังไม่ได้รับชำระหนี้คืน เป็นเงิน 4,278,000,000 บาท นอกจากนี้ ยังพบความผิดปกติในการให้สินเชื่อแก่กลุ่มบุคคลอื่นในทำนองเดียวกัน
ต่อมามีการดำเนินคดีอาญากับผู้คัดค้านที่ 1 ฐานหลบหนีหมายจับในคดีอาญา ของศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อปี 2549 จากการตรวจสอบของ ปปง.พบว่าผู้คัดค้านที่ 1 มีทรัพย์สินประเภทที่ดินและหลักทรัพย์หลายรายการที่ได้มาหลังการกระทำผิดโดยไม่ปรากฏว่ามีเงินเพียงพอที่จะซื้อที่ดินและไม่ปรากฏหลักฐานการชำระค่าที่ดิน มูลค่าของที่ดิน ไม่สอดคล้องกับฐานะและรายได้ของผู้คัดค้านที่ 1 ในส่วนทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2-4 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้คัดค้านที่ 1 และได้รับโอนทรัพย์สินจากผู้คัดค้านที่ 1 จึงเป็นผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้คัดค้านที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ปปง. พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคสาม ที่บัญญัติว่าให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดซึ่งผู้คัดค้านที่ 2-4 ได้รับโอนมาโดยไม่สุจริต
ผู้คัดค้านทั้ง 4 จึงมีภาระพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว แต่พยานหลักฐานของผู้คัดค้านทั้ง 4 ที่นำสืบมาไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะหักล้างข้อสันนิษฐานได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ที่ดินหรือทรัพย์สิน 3 รายการของผู้คัดค้านทั้ง 4 เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือรับโอนมาโดยไม่สุจริต และมีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืน

Source : Matichon

ไม่มีความคิดเห็น: