PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2560

วิทยา แก้วภราดัย รับมีคนใน ปชป.ไม่พอใจ กปปส. และโมเดลไหนที่จะไฟท์”ระบอบทักษิณ” ?

ยังไม่มีใครที่พูดอย่างชัดเจนได้ว่า กปปส. ที่กลับเข้าพรรคประชาธิปัตย์ ตกลงแล้วจะ “ราบรื่น” – ชื่นมื่นหรือไม่?
แต่จากปาก นายวิทยา แก้วภราดัย อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช ที่เป็น 1 ใน กปปส. ที่กลับเข้าพรรค ก็ออกมายอมรับว่า เป็นเรื่องปกติ ที่มีความหลากหลาย ความแตกต่างกันในพรรค ขนาดคน 2 คนอยู่ด้วยกันก็ยังคิดต่างกันเลย นับประสาอะไรกับคนอีกเป็นร้อยคนในพรรคเดียวกัน ความแตกต่างทางความเห็นและทัศนคติก็เป็นเรื่อง “ปกติ”
: หลายคนจับตาดูปฏิกิริยาหลัง กปปส.+ปชป. นัดพบปะดื่มกาแฟแล้วมองว่ายังไม่ลงรอย มีความเห็นอย่างไร
ภายในระดับพรรคมีการพบปะพูดคุยสนทนากันเป็นประจำอยู่แล้ว และในกรณีที่ถูกพูดถึงนี้ น่าจะมาจากบรรยากาศก่อนพบกัน เนื่องจากคนโน้นคนนี้ต่างออกมาแสดงความคิดเห็น ซึ่งล้วนแล้วเป็น “ความคิดเห็นส่วนตัว” ที่มีการเสนอพูดกันผ่านสื่อ ย้ำว่าเป็นความคิดส่วนบุคคลไม่ใช่ “ท่าทีของพรรค” เพราะพรรคยังมีท่าทีไม่ได้ ตามคำสั่งห้ามของประกาศ คสช.
และการที่พวกผมไปออกต่อสู้ข้างนอกเป็น กปปส. แล้วกลับมาในเข้าพรรคไม่ใช่เรื่องแปลก-ใหม่ โดยใน 9 คนที่ออกไปต่อสู้นอกข้างนอก ผู้ที่ลั่นวาจาจะไม่กลับเข้ามาสู่สนามแล้วมีเพียงคนเดียว คือ “นายสุเทพ เทือกสุบรรณ” นอกนั้นผมและพวกรวม 8 คนที่เหลือไม่เคยบอกว่าผมจะเลิกหรือผมจะลาออกจากพรรค ไม่มีใครเคยพูดเลย
แต่อาจจะมีบางคนเห็นว่าพวกผมออกไปต่อสู้แล้ว “อาจจะมีท่าทีไม่เหมือนพรรค” ไม่อยากให้เข้ากลับมาก็เป็นเหตุผลของคนคนนั้น ซึ่งต้องไปถามคนเหล่านั้นที่มีความคิดเห็นเช่นนี้ดู แต่จะใช้คำว่าไม่ราบรื่นไม่ลงรอยไม่ได้ เพราะความคิดไม่เหมือนกันมี และมีเยอะมาก จะให้คิดเหมือนกันได้ต้องแลกเปลี่ยน ต้องถกกัน ต้องรอปลดล็อกจาก คสช. ให้การหารือกันได้ ฉะนั้น จะใช้คำว่าไม่ราบรื่นคงไม่ใช่
และต้องยอมรับว่าธรรมเนียมของพรรคประชาธิปัตย์ที่ปฏิบัติกันมา คือเวลาคัดสรรคนลงแข่ง หรือกระทั่งมาเป็นกรรมการบริหารพรรค ต้องมีการต่อสู้ชิงชัย-นำเสนอวิสัยทัศน์กันจริงๆ แล้วเลือกกันภายใน ไม่ใช่ให้ “นายทุนพรรคเลือก” ไม่ใช่มี “เจ้าของพรรค” มีลิสต์รายชื่อจะส่งใครไปเป็นหัวหน้า ใครรอง ใครเตรียมเป็นรัฐมนตรี พรรคนี้ทำไม่ได้ ต้องต่อสู้กันภายใน
: แนวคิดนายกฯ คนนอก เอาด้วยหรือไม่
ผมไม่ได้ค้าน และถ้ามีความเป็นไปได้ สามารถยอมรับได้ใน “สถานการณ์ที่จำเป็น” แต่ถ้าหากพรรคการเมืองต่างๆ สามารถกำหนดทิศทางตัวเอง ประเด็นนี้ตรงนี้ได้ก็ต้องทำเป็นจุดเริ่มต้นทำกัน แต่ถ้าเป็นไปไม่ได้ ทำไม่ได้ ต้องดูความเหมาะสมในเวลานั้นอีกครั้งว่าจะใช้ช่องทางใด ไม่สามารถพูดวันนี้ได้ ต้องรอให้เกิดสถานการณ์ที่นำไปสู่เหตุการณ์เหล่านั้นขึ้นก่อน
ผมไม่ได้แทงกั๊กนะ เพราะว่าบ้านเมืองเราเป็นอย่างนั้น และผมในฐานะที่เคยผ่านสถานการณ์แบบนั้นมาสมัยผมต่อสู้ช่วงเดือนตุลา ก่อนเข้าสู่การเลือกตั้งปี 2521-2522 ต้องมีการประนีประนอมระหว่างเผด็จการทหารกับประชาธิปไตย พรรคการเมืองอยู่ร่วม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในช่วงระยะเวลานั้นถึง 8 ปี ต้องเชิญท่านมา ซึ่งพวกผมเองก็ผ่านมาแล้วทุกยุคของเผด็จการ ทั้งเผด็จการทหารยึดอำนาจ ผมก็ต่อสู้มา หรือเผด็จการรัฐสภาและระบบทุนนิยมมีการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมรับไม่ได้ก็ต้องต่อสู้ ฉะนั้น หากสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่านจำเป็นต้องมีผู้นำนอกมาก็เป็นสิ่งที่ผมรับได้
: ข้อเสนอ “วันชัยโมเดล” รวม 3 ฝ่าย อภิสิทธิ์ (ปชป.) สุเทพ (กปปส.) พล.อ.ประยุทธ์ (คสช.)
ข้อเสนอรวม 3 ฝ่าย ผมคิดว่าชื่อของคุณสุเทพต้องตัดออกไว้ก่อน เพราะเป็นคนเดียวที่ประกาศจะเลิกยุ่ง ยุติบทบาทในสนามการเมือง แต่เขาอาจจะออกมาให้ความคิดความเห็นทางdkiเมืองได้ ทำกิจกรรมคล้ายเอ็นจีโอได้ และในสังคมบ้านเรามีเยอะแยะที่ไม่ใช่นักการเมือง และคุณสุเทพคงเป็นประเภทนั้น ซึ่งผมขอตอบว่าเมื่อพวกผมในฐานะ กปปส. ที่อยู่ในพรรคประชาธิปัตย์แล้วนั้น พวกผมต้องอยู่ภายใต้ความเห็นร่วมกันกับพรรค
ถ้าในอนาคตพรรคมีความคิดเห็นเอาด้วยกับประเด็นไหนข้อเสนอไหน ถ้าพวกผมเห็นร่วมได้ก็ต้องเป็นไปตามมติพรรค แต่ถ้าหากเห็นด้วยไม่ได้ก็ต้องออกจากพรรคไป การตัดสินใจสนับสนุนหรือไม่นั้น จะมาตัดสินใจตอบวันนี้ไม่ได้เพราะวันนี้พรรคการเมืองยังตั้งหลักไม่ได้ ตามประกาศ คสช. ห้ามไว้เช่นกัน ถ้าปลดล็อกพรรคการเมืองเริ่มตั้งหลักมีโอกาสปรึกษาหารือกันตอนนั้นจะความคิดเห็นกันมาได้ข้อสรุปชัดเจน
ซึ่งที่ผ่านมาก็มี ส.ส. หลายคนทั้งจากฝั่งเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์เองที่คิดเห็นไม่เหมือนกันแล้วก็ออกจากพรรคต้นสังกัดไปหาพรรคใหม่อยู่ มีตัวอย่างให้เห็นอยู่มาก
และส่วนตัวก็เชื่อว่า พรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้อยู่มั่นคงสถาพร และคาดว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในครั้งต่อไปจะมี ส.ส. ฝั่งพรรคเพื่อไทยออกจากพรรคอีกจำนวนมาก เพราะคิดว่าถ้าอยู่ร่วมต่อสู้ไป “นายใหญ่” คงไม่รอดถูกไล่บี้อีก ลูกน้องกระเจิง ย้ายพรรค หรือไม่ก็ตั้งพรรคเองจำนวนมาก
ซึ่งขอย้ำว่าความเห็นส่วนตัว 10 ปีที่ผ่านมา พิสูจน์แล้วว่า คุณทักษิณ ชินวัตร-ระบบทักษิณยังคงอยู่เวลานี้ อยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่เป็นทุนนิยมสามานย์ เป็นความเสียหายเกิดขึ้นยากจะไล่หรือจัดการให้หมดจด ไล่ยากกว่าเผด็จการทหารอีกด้วยซ้ำ เพราะเผด็จการทหารทำอะไรได้ไม่มาก หากมีความทุจริตก็จะทำให้ไปเร็วมากกว่าระบบทุนนิยม
สำหรับอีกหนึ่งข้อเสนอของ คุณพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่เสนอให้พรรคการเมืองและนักการเมืองทุกคนลุกขึ้นมาต่อสู้กับทหาร โดยรวมเป็นหนึ่งเดียวกันนั้น ความเห็นส่วนตัวผมเคารพความเห็นของคุณพิชัย แต่เฉพาะพรรคเพื่อไทยตราบใดที่อยู่ภายใต้กำกับโดยอดีตนายกฯ ทักษิณ ส่งคนมาเป็นตัวแทนผู้นำก็มาจากตัวแทนคนในระบบทักษิณ นโยบายก็ทักษิณ ส่วนตัวผมประนีประนอมด้วยไม่ได้ ส่วนตัวผมไม่เอาด้วยแน่ๆ
: คิดว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้จริงในปี 2561 หรือไม่?
ตามปฏิทินเวลาและเงื่อนไขต่างๆ ผมว่าน่าจะเกิดเลือกตั้งขึ้นตามนั้น ส่วนที่บอกว่าไม่เกิดกันนั้นน่าจะเป็นการพยากรณ์ เพราะอีกปีกว่าๆ ตามปฏิทินโรดแม็ป ผมก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง จะมีการเผา มีเหตุการณ์ไม่สงบ หรือในระดับการเมืองระหว่างประเทศ จะมีเหตุการณ์นานาชาติ หรือว่ามีสงคราม ในต่างบ้านต่างเมืองหรือไม่ ล้วนส่งผลทั้งสิ้นในเรื่องนี้ เพราะหากเกิดขึ้นแล้วย่อมมีเหตุมีผลเปลี่ยนแปลงระยะเวลาการเลือกตั้งอยู่แล้ว และถึงเวลานั้นประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจเอง แต่หากพวกที่ต้องการอยู่ยาวอยากยืดเวลาอยู่ในอำนาจยาวออกไป อยากอยู่นานๆ แบบไร้เหตุผล โดยเฉพาะเผด็จการทหารหากอยู่ต่อในลักษณะไม่มีเหตุผลจะเสี่ยงมาก
: 3 ปี คสช. อะไรที่ยังคิดว่าน่าเสียดายที่มีโอกาสแต่ไม่ได้ทำ?
ต้องบอกว่า “การปฏิรูปตำรวจ” ยังไม่เกิดขึ้นจริงจังทั้งที่มีโอกาส เราจะเห็นได้ว่ายังเป็นจุดที่มีปัญหา เช่นเดียวกันคือ “ปฏิรูปการศึกษา” ที่ยังไม่เป็นรูปธรรม และสิ่งสำคัญที่สุดคือ “การปฏิรูประบบราชการ” รัฐบาลต้องทำอย่างจริงจัง เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และพวกผมก็เสนอให้ข้าราชการทุกคน “ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สิน” เพราะตำแหน่งหน้าที่ของพวกคุณต้องทำให้โปร่งใสด้วย
: ความปรองดองจะไม่มีวันเกิดขึ้นในสังคมนี้ได้จริง?
เป็นอีกเรื่องสำคัญที่รัฐบาลต้องทำให้ได้ ต้องใช้เวลาเยียวยาแก้ไขปัญหาที่ยืดเยื้อมายาวนาน ถึงรัฐบาลจะออก “กฎหมายนิรโทษกรรม” ไม่ได้ แต่มันก็มีช่องกฎหมาย (เช่นในอดีต) ใช้อำนาจทางฝ่ายบริหารผ่านองค์กรตำรวจ-อัยการ ในการยุติคดีที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ เช่น ปี 2518 เคยมีการใช้ถอนฟ้องชาวนาที่มาชุมนุมใน จ.ลำพูน หรือในยุคของ พล.อ.เปรม ก็เคยใช้วิธีลักษณะนี้ในคดีที่คาบเกี่ยวการเมือง ให้ยุติซะ แต่ไม่ใช่คดีทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่ใช่คดีฆ่าคนหรือทำให้มีผู้เสียชีวิต จ้างวานฆ่าใคร บรรยากาศจะคลี่คลาย
ฉะนั้น หากเป็นไปได้ รัฐบาลควรหาจุดที่ลงตัวดู

ไม่มีความคิดเห็น: