PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ย้อนปรากฏการณ์อำนาจพิเศษ“ยกเครื่อง”ประเทศ : ปฏิรูปอืด สตาร์ตไม่ติด

ย้อนปรากฏการณ์อำนาจพิเศษ“ยกเครื่อง”ประเทศ : ปฏิรูปอืด สตาร์ตไม่ติด

ดีกรีความขัดแย้งของโลกใบนี้ ต้องสังเวยด้วยชีวิตและเลือดเนื้อหนักขึ้นทุกวัน

ล่าสุดขบวนการก่อการร้ายก่อเหตุขับรถตู้พุ่งชนผู้คนย่านกลางเมืองบาร์เซโลนา แหล่งท่องเที่ยวสำคัญระดับโลกของประเทศสเปน ทำให้มีคนตาย 13 ศพ บาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก

โดยกลุ่มก่อการร้ายไอเอสออกมาประกาศอยู่เบื้องหลังการก่อการร้าย

ตัดฉากมาที่เมืองไทย ก็มีสถานการณ์ที่กลุ่มโจรใต้ แนวร่วมขบวนการบีอาร์เอ็นอาละวาดปล้นรถจากจังหวัดสงขลา ไปก่อเหตุคาร์บอมบ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

สุมไฟความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ศาสนาไม่ให้ดับง่ายๆ

ในขณะที่ผลตกค้างจากความแตกแยกทางการเมือง นาทีแห่งการลุ้นระทึกคืบเข้ามาทุกขณะ
เข้าสู่ห้วงสัปดาห์สุดท้าย นับถอยหลังวันพิพากษา 25 สิงหาคม 2560

วันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดตัดสินคดีสำคัญ 2 คดีในวันเดียวกัน
คดีแรกกรณีการทุจริตโครงการระบายข้าวในโครงการรับจำนำแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจีโดยมิชอบ ที่มีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ และพวกเป็นจำเลย

อีกคดีกรณีการปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายจากการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ซึ่งแถลงปิดคดีด้วยลายลักษณ์อักษรไปแล้ว

เดิมพันชะตากรรมของลูกข่าย “ทักษิณ”

รอดไม่รอด คุกไม่คุก ถึงตรงนี้คนที่ตกเป็นจำเลยคงกินไม่ได้นอนไม่หลับ

และโดยเงื่อนไขสถานการณ์ที่เร้าไปกับบรรยากาศแห่งความระทึกอกระทึกใจ ก็เป็นความเคลื่อนไหวของฝ่ายความมั่นคง คสช.ที่ต้องขยับเตรียมพร้อมรับสถานการณ์

ประชุมหน่วยข่าว เกาะติดกันแบบวันต่อวันตามรูปการณ์ต่อเนื่องกับการที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ร่อนหนังสือถึงกระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทยในการจับตาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะแฝงการระดมมวลชนเข้ามาให้กำลังใจอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงในวันพิพากษาคดีจำนำข้าว

ข้อมูลการข่าวย่อมมีน้ำหนักตามสถานะขององค์กร

สอดคล้องกับการที่ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก เลขาธิการ คสช. ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบ (กกล.รส.) ได้สั่งหน่วยทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ให้เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวการชักชวนมวลชนในพื้นที่รับผิดชอบของตัวเอง ห้ามละสายตา

ประเมินมวลชนมาให้กำลังใจ “ยิ่งลักษณ์” ประมาณ 1-2 พันคน

แต่จุดสำคัญ เป็นห่วงมือที่สามจะแทรกเข้ามาก่อสถานการณ์

ในขณะที่เบอร์หนึ่งฝ่ายความมั่นคงอย่าง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม ก็แสดงความมั่นใจว่าไม่น่าจะมีเหตุวุ่นวายบานปลาย

ใช้แค่กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลสถานการณ์ก็พอ

โดยเฉพาะการอารักขาความปลอดภัยคณะตุลาการศาลฎีกาฯ

ไม่ถึงขั้นซีเรียส แต่ก็ไม่กล้าประมาท

นั่นก็เพราะยุทธศาสตร์ของอีกฝ่าย ผลพวงจากแอ็กชั่นของอดีตผู้นำหญิงและเครือข่ายพรรคเพื่อไทยในการสื่อสารกับมวลชนผู้สนับสนุน เรียกคะแนนสงสาร ขอความเห็นใจ

ยืนยันในความบริสุทธิ์ของตัวว่าไม่ได้ทำอะไรผิด

อิทธิฤทธิ์ของ “น้ำตานารีพิฆาต” มันมีอานุภาพมากกว่าอาวุธสงคราม

แน่นอนผลทางคดีก็สุดแท้แต่ศาลจะพิจารณาตัดสิน

แต่จุดที่ห้ามกันไม่ได้ก็คืออารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในสังคม ตามรูปการณ์ที่ประเมินได้ล่วงหน้า ไม่ว่าผลของคดีจะออกมาผิดหรือ

ไม่ผิด ก็หนีไม่พ้นต้องมีฝ่ายที่ไม่พอใจกับผลคดีที่ตัวเองตั้งธงไว้ในใจไม่ต่างจากแผ่นดิน ไหว ต้องมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาแน่

และโดยปรากฏการณ์ภายหลังผลการตัดสินคดีจำนำข้าวนี่แหละ จะเป็นตัวชี้วัดห้วงเปลี่ยนผ่านวิกฤติการเมืองประเทศไทย

จะก้าวพ้นหลุมดำความขัดแย้ง หรือถอยหลังกลับวังวนเก่า

ตามเงื่อนไขสถานการณ์ที่โยงกับการ “ปรองดอง” ที่รัฐบาล คสช.ได้ดำเนินกระบวนการจัดทำ “สัญญาประชาคม” คืบหน้าอย่างเป็นรูปเป็นร่างมากกว่ารอบที่แล้วๆมา

จะได้นำไปใช้หรือเก็บใส่ในลิ้นชัก

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น โดยเงื่อนไขตามโปรแกรมการปฏิรูปประเทศที่เป็นไฟต์บังคับของรัฐบาลทหาร คสช.ก็ยังต้องเดินหน้าตามสัญญาประชาคมจากการขอสิทธิใช้อำนาจพิเศษจากประชาชน

ถึงตรงนี้ผ่านปีที่ 3 เข้าสู่ปีที่ 4 ยังมีความเป็นนามธรรมมากกว่าจับต้องได้

เหมือนพายเรือวนอยู่ในอ่าง

ล่าสุดมีการประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆจำนวน 11 คณะตาม พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 ประกอบด้วย

1.ด้านการเมือง นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธาน 2.ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน นายกฤษฎา บุญราช ประธาน 3.ด้านกฎหมาย นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน

4.ด้านกระบวนการยุติธรรม นายอัชพร จารุจินดา ประธาน 5.ด้านเศรษฐกิจ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธาน 6.ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายรอยล จิตรดอน ประธาน

7.ด้านสาธารณสุข นพ.เสรี ตู้จินดา ประธาน 8.ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ นายจิระชัย มูลทองโร่ย ประธาน 9.ด้านสังคม นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ประธาน

10.ด้านพลังงาน นายพรชัย รุจิประภา ประธาน 11.ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน

ตามโควตาทั้งหมด 120 คน มีกำหนดระยะในการดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 5 ปี

ดูตามรายชื่อก็มีแต่คนเก่าๆ ชื่อเดิมๆ หน้าซ้ำๆ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) อดีตคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฯลฯ

วนอยู่ในทีมงานแม่น้ำ 5 สายที่กระโดดลง “เรือแป๊ะ” มาตั้งแต่ต้น

นั่นก็ไม่แปลกที่จะไร้เสียงขานรับจากสังคม ในอารมณ์ผู้คนไม่รู้สึกถึงความแปลกใหม่

ยิ่งเป็นอะไรที่ฟังจาก พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แจกแจงภารกิจคณะกรรมการปฏิรูปทั้ง 11 คณะจะต้องติดตามการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ รัฐสภา ศาล กระทรวง กรม องค์กรอิสระ และหน่วยงานอื่นๆ จากนั้นทำรายงานเสนอ ครม.และรัฐสภาให้ทราบถึงการดำเนินการ

แต่ถ้าหน่วยงานใดไม่ทำตามคณะกรรมการปฏิรูป จะมีการเจรจาพูดคุยเพื่อขอทราบเหตุผลว่า ทำไมถึงไม่ทำ ถ้าสามารถรับฟังได้ก็ค่อยว่ากัน แต่ถ้าเห็นว่าไม่เหมาะสมก็ให้รายงานนายกฯ หรือรายงานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่จะแต่งตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ ดำเนินการกับหน่วยงานเหล่านั้นได้
สถานะลอยๆ ภารกิจคลุมเครือ อำนาจหน้าที่ไม่ชัดเจน

เอาเข้าจริงก็แค่ตั้งขึ้นมาตามที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น

และคนที่สะท้อนภาพได้ตรงที่สุดก็คือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่วิจารณ์แบบแรงๆเลยว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปดูแล้ววนไปวนมา

จนสังคมเกิดอาการสำลักการปฏิรูปแล้ว

นั่นก็เพราะย้อนปรากฏการณ์ปฏิรูปภายใต้อำนาจพิเศษ การเดินหน้ายกเครื่องประเทศตั้งแต่หลังการรัฐประหาร คสช.มีการตั้งคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปไม่รู้กี่คณะต่อกี่คณะ

เฝือไปหมด จำแทบไม่ได้

ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการย่อยในคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)
ยังไม่นับปลีกย่อยอย่างคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ คณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาแห่งชาติ ฯลฯ
งานซ้ำซ้อน ย้อนไปย้อนมา

นั่นไม่เท่ากับว่า โดยกระบวนการของการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปชุดต่างๆต้องสิ้นเปลืองทั้งเรื่องของเวลา และเงินภาษีประชาชน

แต่ถึงตรงนี้ก็ยังไม่ได้ผลผลิตอะไรที่สัมผัสจับต้องได้เป็นชิ้นเป็นอัน

ปฏิรูปยังอืด สตาร์ตไม่ติด.

“ทีมการเมือง”

ไม่มีความคิดเห็น: