
คิวล่าสุดที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกาศมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 14 กันยายนเป็นต้นไป
กฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งฉบับแรก จากจำนวน 4 ฉบับลุล่วงไปแล้ว
รอลุ้นฉบับที่ 2 ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่อยู่ระหว่างรอการประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายตามมา
แต่ไม่ได้หมายความว่า เค้าลางโรดแม็ปเลือกตั้งปลายปี 2561 จะมีความชัดเจนขึ้น
มิหนำซ้ำแนวโน้มขอต่อโปรโมชั่นอยู่ยาวของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กลับมาลือกระหึ่มหนาหูอีกครั้ง
ตามสัญญาณจากฝ่ายอำนาจพิเศษที่ยังแบ่งรับแบ่งสู้ ไม่กล้าการันตีเต็มปากว่า ฝ่ายการเมืองจะได้กลับสู่สนามเลือกตั้งตามโปรแกรมที่กำหนดหรือไม่
ในจังหวะแท็กทีมสอดรับกันของคีย์แมน คสช. ตั้งแต่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ออกลีลาแทงกั๊ก ไม่มั่นใจจะได้เลือกตั้งปลายปีหน้า
ยกกฎหมายลูกเป็นข้ออ้างไม่รู้จะเสร็จทันตามกำหนดหรือไม่
อาการเดียวกับ “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธาน สนช. ที่ออกลูกพลิ้วเรื่องกรอบเวลาเลือกตั้ง จะต้องดูเงื่อนเวลาการพิจารณากฎหมายลูกประกอบกันไปด้วย เพราะไม่ได้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ สนช.เพียงอย่างเดียว ยังมีตัวแปรอื่นๆเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ในกรณีที่มีผู้เห็นแย้งกับร่างกฎหมายลูก
เด้งเชือกไม่ให้มีข้อผูกมัดจะปล่อยนักการเมืองคืนสังเวียนเมื่อไร
อย่างที่เห็นๆใน พ.ร.บ.คณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ต้องเสียเวลาผ่านขั้นตอนการปรับปรุงทบทวนเนื้อหากฎหมายจากกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
กว่าจะเสร็จสมบูรณ์ครบถ้วนทุกขั้นตอนก็กินเวลาโรดแม็ปไปได้เรื่อยๆ
ฝ่ายการเมืองหัวหมุน เจอเหลี่ยมแท็กติกกฎหมายลูก ทอดเวลาให้จวนเจียนโรดแม็ปเลือกตั้งมากที่สุด
ยังไม่นับรวมกฎหมายลูก 2 ฉบับสุดท้ายที่เป็นไฮไลต์สำคัญอย่าง ร่าง พ.ร.บ.การได้มา ซึ่ง ส.ว. และ ร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีโปรแกรมส่งให้ สนช.พิจารณาช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้
ก็หนีไม่พ้นช็อตหวาดเสียวเจอเหลี่ยมประวิงเวลา สุ่มเสี่ยงกระทบโรดแม็ป
ตามที่ระดับ “ซือแป๋กฎหมาย” นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. ยังบ่นหนักใจเรื่องระยะเวลาการพิจารณากฎหมายลูก 2 ฉบับสุดท้ายของ กรธ.ที่อาจเหลือเวลาแค่ 30 วัน
กรธ.อยู่ในภาวะไฟลนก้น จวนเจียนกับเดดไลน์ที่ต้องยกร่างกฎหมายลูกให้เสร็จภายใน 240 วัน
โรดแม็ปแต่ละขั้นตอนต้องลุ้นกันช็อตต่อช็อต จะทันตามตารางเวลาหรือไม่
แนวโน้มต้องลุ้นกันหืดจับทุกขั้นตอน
นั่นยังไม่นับรวมเงื่อนไขน่าหวาดเสียว กรณี สนช.คว่ำร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. หรือการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่ส่งผลกระทบยื้อโปรแกรมหย่อนบัตรเลือกตั้งออกไปยาวๆ
ต้องกลับไปเริ่มกระบวนการยกร่างกฎหมายใหม่ หมิ่นเหม่ต่อปัญหาทางกฎหมายตามมา
ทั้งประเด็นใครจะเป็นผู้ยกร่างกฎหมายลูก และกรอบเวลาทำงาน รอบใหม่ ที่ไม่ได้ระบุชัดไว้ในรัฐธรรมนูญ
โดยเฉพาะเนื้อหาในร่างกฎหมายลูกหลายประเด็นที่ประเดิมใช้เป็นครั้งแรก อาทิ วิธีการนับคะแนนแบบใหม่ในการคำนวณเก้าอี้ ส.ส. หลักเกณฑ์การส่งผู้สมัคร การเฟ้นหาผู้สมัคร ส.ว.ที่เลือกไขว้กันไปมา ระหว่างกลุ่มอาชีพ
ทำไปทำมาส่อเค้าสร้างความวุ่นวายสับสนในสนามเลือกตั้ง อาจถูกหยิบยกเป็นข้ออ้างให้ สนช.ที่ส่วนใหญ่เป็นขุนทหารฉีกกฎหมายลูก ต้องไปเริ่มนับหนึ่งกันใหม่
กลายเป็นไฟต์บังคับ ตีตั๋วให้ “บิ๊กตู่” อยู่ครองอำนาจต่อ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นตามรูปการณ์ปัจจุบันที่กองทัพมีแต้มต่ออยู่เหนือฝ่ายการเมืองหลายขุม วางโครงข่ายอำนาจผ่านทางรัฐธรรมนูญ กฎหมายลูก คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ
ผูกขาดคุมทิศทางบริหารประเทศไว้ทุกช่องทาง
ยังไม่นับรวมการวางขุมกำลังกองทัพคอยระวังหลังไว้อีกทาง
ไม่ว่าจะเลื่อนหรือไม่เลื่อนเลือกตั้ง ทหารยังกุมอำนาจทุกอย่าง เหมือนเดิม.
ทีมข่าวการเมือง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น