
ตามท้องเรื่องมาถึงตอนที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังเดินหน้าทวงแค้น
เอาคืนยุทธการ “เซ็ตซีโร่” ด้วยการเทกแอ็กชั่นจัดประชุมผู้อำนวยการเลือกตั้งทั่วประเทศ
ปล่อยไทม์ไลน์ จัดเลือกตั้ง ส.ส.ได้ในเดือนสิงหาคม 2561 และลากตั้ง ส.ว.ได้ในเดือนมิถุนายนปีหน้า
นัยว่ามัดคอกดดันกันในที ตามจังหวะล้อกับเสียงทักดักคอของคนยี่ห้อประชาธิปัตย์รีบดักทางถ้าไม่เป็นไปตามไทม์ไลน์ กกต.แสดงว่า รัฐบาลทหาร คสช.ส่อยื้อเลือกตั้ง
อีกทางหนึ่งก็เป็นนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ มืองานปรองดองของ คสช.ที่โยนทุ่น “เงื่อนไขพิเศษปรองดอง” โยงเรื่องของ “น้องปู” อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร “ล่องหน” หลบคำพิพากษาคดีจำนำข้าว เป็นดีลอำนาจเพื่อนำไปสู่การแตะมือกันหลังเลือกตั้งเป็นรัฐบาลแห่งชาติ
เรียกแขกให้ฝ่ายต้านยุทธการฮั้ว ตีปี๊บประจานเกมเกี้ยเซียะ
หรือการที่คนระดับ น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาและกรรมการ ป.ป.ช.ออกมาชี้ช่องให้ญาติเหยื่อต่อสู้คดีสลายชุมนุมกลุ่มเสื้อแดง นปช.เมื่อปี 2553
ที่ศาลฎีกายกฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯในฐานะผู้อำนวยการ ศอฉ.
โยนบ่วงรัดคอ “อภิสิทธิ์–สุเทพ” ยังไม่รอดปลอดภัย ชะตากรรมยังป้วนเปี้ยนๆอยู่หน้าคุก แบบพวกที่มีส่วนทำให้บ้านเมืองวิกฤติจนเกือบรัฐล่มสลาย
นี่คือหมากเกมซ่อนเงื่อน ดักคอ ตีกัน กดดัน หวังผลได้ทั้งทุบฝ่ายตรงข้ามและล่อเป้าฝ่ายเดียวกัน
แกะรอยตามกันเหนื่อย เพราะโจทย์พันกันมั่วไปหมด
แต่ที่แน่ๆด้วยประการทั้งหมดทั้งปวง ณ เบื้องนี้ แรงกดทับตกไปอยู่ที่ “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช.
แบกหลังแอ่นหนักกว่าใครเพื่อน
และเหมือนทุกอย่างจะไหลย้อนกลับมาเข้าตัวหัวหน้า คสช.ทุกช็อต
ไม่ว่าจะปรากฏการณ์ “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” ที่ศาลพิพากษายกฟ้อง โดยเบื้องหลังมีการแฉเรื่องของผลประโยชน์นัวเนียกับ “บิ๊กสีกากี” ตามกระแสเกี่ยวโยงกับพลตำรวจเอก กับอีกหนึ่งพลตำรวจตรีที่มีบารมีมากกว่าพลตำรวจเอก มีเอี่ยวกับการไล่ทุบบริษัทเอกชนแล้วแกล้งเล่นบทมวยล้มต้มคนดู
แต่จุดสำคัญมันโยงคำสั่งตรงจาก “นายกฯลุงตู่” ในการจัดการขบวนการทัวร์ราคาถูกตามที่รับปากกับรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ที่ต่างก็เสียหายมหาศาลจากทัวร์ศูนย์เหรียญ
งานนี้คนหนีไม่พ้นความรับผิดชอบก็คือ “นายกฯลุงตู่”
สถานการณ์เดียวกับการใช้มาตรา 44 ปิดเหมืองทองคำใหญ่ในพื้นที่จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก ที่กำลังมีการกระพือกระแสเอกชนต่างชาติเดินหน้าฟ้องร้องค่าเสียหายนับหมื่นล้าน
ก็มีการมุ่งเป้าความรับผิดชอบไปที่ “นายกฯลุงตู่” ในฐานะผู้ออกคำสั่ง
หรือการยกเครื่องแรงงานต่างด้าวที่เป็นจุดทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก โจทย์ก็ย้อนมาที่ “นายกฯลุงตู่”
แม้แต่การจัดระเบียบฟู้ดสตรีทที่เป็นโครงการของกรุงเทพมหานครภายใต้การนำของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม.ที่มีเสียงวิจารณ์ว่ากระทบชีวิตความเป็นอยู่ของพ่อค้าแม่ค้า และประชาชนระดับล่าง โดยไร้มาตรการรองรับ ทำให้เศรษฐกิจฐานรากสะดุด
กระแสก็พาลด่า “นายกฯลุงตู่” และรัฐบาล คสช.
นั่นก็คือแรงสะท้อนกลับของ “อำนาจพิเศษ” ที่กระแทกตรงถึง พล.อ.ประยุทธ์
และนี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนที่ “นายกฯลุงตู่” น่าจะต้องเริ่มคิด
จากข้อเสนอที่หลายฝ่ายเรียกร้องมาเป็นระยะในการปรับ ครม.ลดโควตารัฐมนตรีท็อปบูต
ตามจังหวะเดินเข้าเหลี่ยมยุทธศาสตร์นำร่องสู่โหมดปรองดอง ถ้าจะมีการเปิดทางให้นักบริหารมืออาชีพจากทุกภาคส่วน รวมถึงนักการเมืองเข้ามาเสริมทีมบริหารของรัฐบาล
เพื่อปั่นเนื้องาน เข้าถึงชาวบ้าน ลดแรงเสียดทานมวลชนขั้วขัดแย้ง
ยกระดับความชอบธรรมของรัฐบาลเฉพาะกิจเพื่อการปฏิรูปใหญ่ประเทศ
โดยที่ยังไม่ต้องเลือกตั้งก็มี “รัฐบาลแห่งชาติ” ได้.
ทีมข่าวการเมือง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น