PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ตีกันเอง

ตีกันเอง

อจ.มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. บ่นอู้อี้เป็นหมีกินผึ้งว่าร่าง ก.ม.ลูกที่ทุ่มเททำมาอย่างดี

โดน สนช.ลากตั้ง เอาไปผ่าตัดแปลงเพศจนผิดรูปผิดทรง

เป็นต้นเหตุให้การทำคลอด ก.ม.ลูก หลายฉบับเดินหน้าไม่สะดวกโยธิน

“แม่ลูกจันทร์” กราบเรียนว่าปัญหาขัดแย้งระหว่าง กรธ.ของ อจ.มีชัย กับ สนช.ลากตั้งของ นายพรเพชร วิชิตชลชัย มีต้นเหตุจากร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

ซึ่งกำหนดให้ผู้ว่าการ สตง.มีอำนาจตรวจสอบทุจริตเจ้าหน้าที่ของ ป.ป.ช.

เหตุผลเนื่องจาก ป.ป.ช.มีอำนาจตรวจสอบทุจริตทุกหน่วยงาน

แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.เกิดทุจริตเสียเอง จะตรวจสอบอย่างไร??

หากให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบกันเองก็อาจเปิดช่องให้ซูเอี๋ยกัน??

อจ.มีชัย จึงกำหนดให้ผู้ว่าการ สตง.สามารถตรวจสอบทุจริตคนใน ป.ป.ช.เพื่อให้เกิดความโปร่งใสไร้ข้อครหานินทา

แต่ปรากฏว่า สนช.มีมติให้ตัดประเด็นนี้ทิ้งไปทั้งยวง

โดยอ้างเหตุผล (กำปั้นทุบดิน) ว่าการให้อำนาจผู้ว่าการ สตง.ตรวจสอบทุจริตคนใน ป.ป.ช.จะเป็นการ “ก้าวล่วง” อำนาจ ป.ป.ช.

ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ตรวจสอบทุจริตโดยตรง

เมื่อ กรธ.กับ สนช.มีความเห็นขัดแย้งกันจึงทำให้ร่าง ก.ม.ลูกฉบับนี้ ยังไม่คลอดออกมาเป็นตัว

(หมอตำแยดันทะเลาะกันเอง)

อย่างไรก็ดี “แม่ลูกจันทร์” เห็นด้วยกับ กรธ.ของ อจ.มีชัย ที่กำหนดให้ผู้ว่าการ สตง.สามารถตรวจสอบทุจริตคนใน ป.ป.ช.เป็นการถ่วงดุลซึ่งกันและกัน

เพราะ เมื่อ ป.ป.ช.มีอำนาจตรวจสอบ ทุจริตหน่วยงานอื่นๆทั่วประเทศ

ป.ป.ช.ก็ควรยินยอมให้หน่วย งานอื่นตรวจสอบทุจริตตัวเองได้เช่นเดียวกัน

ถ้ามองมุมกลับ การที่ สนช.ตัดประเด็นนี้ทิ้งไปจะทำให้ ป.ป.ช. กลายเป็นองค์กรอิสระแห่งเดียวที่อยู่เหนือการตรวจสอบถ่วงดุล

“แม่ลูกจันทร์” ไม่ฟันธงว่าปัญหาขัดแย้งระหว่าง กรธ.กับ สนช.ลากตั้ง (เด็ก คสช.ทั้งคู่) จะลงเอยอย่างไร

ดูแนวโน้มน่าจะยืดเยื้อไปอีกยาว

ปัญหาขัดแย้งต่อมาคือ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการ ป.ป.ช.

ซึ่ง กรธ.ของ อจ.มีชัย ทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว

แต่เนื้อหาที่ออกมาไม่ถูกใจ กรรมการ ป.ป.ช.

เรื่องง่ายจึงกลายเป็นเรื่องยาก เรื่องสั้นจึงกลายเป็นเรื่องยาว

ประเด็นสำคัญคือ ร่าง พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับใหม่ กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ต้องตรวจสอบกรณีทุจริตแต่ละเรื่องให้เสร็จภายในเวลา 2 ปี

ฝ่าย ป.ป.ช.มองว่าการเขียน ก.ม.ประเด็นนี้ เป็นการกดดันให้ ป.ป.ช.ต้องเร่งสอบทุจริตให้เสร็จตามกรอบเวลา

อาจทำให้การตรวจสอบทุจริตไม่รอบคอบรัดกุม

อืมม์...เหตุผลของ ป.ป.ช.ก็มีน้ำหนักน่ารับฟัง

แต่ “แม่ลูกจันทร์” เห็นด้วยกับ อจ.มีชัย เพราะการกำหนดกรอบเวลาไต่สวนให้เสร็จภายใน 2 ปี แก้ปัญหาคดีคั่งค้างใน ป.ป.ช.สุมเป็นกองโต

ล่าสุด ป.ป.ช.มีคดีทุจริตค้างท่ออีกกว่า 2,000 คดี

ทำให้คดีทุจริตหลายคดีถูกปล่อยให้หมดอายุความ

ถ้าไม่คุมเข้มซะบ้าง...เดี๋ยวก็เละตุ้มเป๊ะเหมือนเดิม.

“แม่ลูกจันทร์”

ไม่มีความคิดเห็น: