PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2560

กฎหมายน้ำที่ถูก 'ปั้นน้ำเป็นตัว'

ก็น่า "สมน้ำหน้า" รัฐบาล คสช. ......
เก่งแต่ขน "พวก-พ้อง-น้อง-พี่" มาเต็มทุกซอกหลืบรัฐบาล!
คงนึกละซีท่า..........
ขึ้นชื่อว่าทหาร "รู้ทุกทิศ-เก่งทุกทาง"?
ถูกสื่อประเภท "ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ" แปลงสาร-บิดประเด็น ในเรื่อง "พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ" เข้าหน่อย
เป็น "ปลาแถกดอน" ไปเลยมั้ยล่ะ?!
"นายวรศาสน์ อภัยพงษ์" อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงวันก่อน
ว่า "ร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช.กำหนดการใช้น้ำไว้ ๓ ประเภท"
ประเภทที่ ๒..........
"ใช้น้ำเพื่อประกอบธุรกิจการเกษตร, เลี้ยงสัตว์ และเพื่อการพาณิชย์ เสียค่าน้ำอัตราลูกบาศก์เมตรละไม่เกิน ๕๐ สตางค์"
เท่านั้นแหละ "เข้าร่องแข้ง" นวัตกรรมสื่อสร้างสรรค์ ที่จ้อง "จวกทุกดอก"
ขยำเป็น "หยดคำคุณภาพ" แพร่สื่อทันที........
รัฐบาลออกกฎหมาย "เก็บภาษีน้ำ" คนทำไร่-ทำนา!?
เท่านั้น ไม่แค่ไฟไหม้ทุ่ง ไหม้เกือบถึงมุ้งนายกฯ ลุงตู่เลยทีเดียว
ประเทศไทย ด้วยประชากรกว่า ๖๕ ล้านคน
เป็นประเทศเกษตรกรรม มีพื้นที่การเกษตรเกือบ ๑๕๐ ล้านไร่
อยู่ในพื้นที่ชลประทานเพียง ๓๐ กว่าล้านไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลาง ภาคตะวันออก
ที่เหลืออีก ๑๒๐ กว่าล้านไร่ ...........
เป็นพื้นที่ "นอกเขตชลประทาน" ส่วนใหญ่เป็นแถบอีสาน
ชาวบ้านทำเกษตรกันแบบ พึ่งฝนหลวงบ้าง พึ่งนางแมวบ้าง พึ่งแหล่งน้ำธรรมชาติบ้าง สุดแต่ฟ้าฝนจะบันดาลบ้าง
เมื่อรับรู้ข่าวสารบิดเบือน ใครบ้างล่ะที่ไม่เกลียด-ไม่โกรธ ไม่อยากไล่รัฐบาล
ที่เขาเกิดจากท้องพ่อ-ท้องแม่ เพิ่งมีรัฐบาลนี้แหละ เก็บภาษีน้ำจากชาวไร่-ชาวนา!
สื่อโทรทัศน์ สื่อโซเชียล สื่อหนังสือพิมพ์ เมื่อสดับ "ประเด็นแสร้ง" แทนที่จะศึกษาก่อนว่า
แท้จริงแล้ว............
ร่าง พ.ร.บ.แต่ละมาตรามีเนื้อหาอย่างไร แผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำของรัฐบาลเป็นอย่างไร? และกฎหมายฉบับนี้ ............
อยู่ในขั้นตอนแค่ปั้นดินเป็นเค้าโครง หรือเสร็จแล้ว เตรียมประกาศใช้ อย่างที่ปั่นข่าว-ปั่นกระแสกัน?
ผมดูอยู่หลายวัน ว่ารัฐบาลทหารเขาจะรีบ "ตัดไฟแต่ต้นลม" กันยังไง?
ก็เห็นแต่นายพลเฉย.........?
มาวัน-สองวันนี้ ดูฝ่ายแปลงสารจะ "จุดติด" กลุ่มเกษตรกร โดยเฉพาะชาวไร่-ชาวนา ชักขยุกขยิก
ยิ่งพวกอาชีพรับจ้างปลุกระดมนำเกษตรกรออกมาเรียกร้องด้วยแล้ว ถือว่า ประเด็นนี้เป็นประเด็น "ส่งเสริมอาชีพ" เขาโดยตรง!
เรื่องนี้น่ะ พูดกันตรงๆ........
ถึงไม่ได้ศึกษาเรื่องราว เพียงทุกคนใช้ "สติตรอง" ด้วยสามัญสำนึก แทนฟังอะไรปุ๊บ แล้วเชื่อปั๊บ
ก็พอจะเบรกตัวเอง ไม่ให้ไหลตามไปทันทีได้ ว่า...........
"ไม่มีรัฐบาลไหนในโลก บ้าที่จะเก็บภาษีการใช้น้ำ ทำไร่-ทำนา-ทำสวน จากชาวบ้านหรอก"!
นี่ยังโชคดีนะ "นายพีระศักดิ์ พอจิต" รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
ยกคณะลงพื้นที่ พบปะรับฟังความคิดเห็นและการเสนอประเด็นปัญหาจากชาวบ้าน ที่ "มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์" วันก่อน
ท่านเซฟทีคัต "ตัดก่อนตาย" ให้ชาวบ้านได้เข้าใจในข้อเท็จจริง ว่า
ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำที่พูด-ที่เอะอะ โครมครามกันอยู่ขณะนี้ ยังอยู่ในขั้น "ฟักเป็นตัว"
คือยังอยู่ในชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณา ประมาณต้นปี ๒๕๖๑ โน่นแหละ จะเสร็จ
หลักการและสาระสำคัญ คือ ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ "รวมอยู่ที่เดียวกัน"
สำหรับข่าวที่ออกมาว่า "จะเก็บภาษีน้ำจากเกษตรกร"
รองประธาน สนช. "ยืนยัน ๑๐๐%" ว่าไม่มีรัฐบาลไหนจะเพิ่มค่าใช้จ่ายให้เกษตรกร
มีแต่จะลดค่าใช้จ่าย .........
เพื่อลดต้นทุนให้เกษตรกร จะได้มีกำไรในผลผลิต
ยกเว้น "เกษตรกรรายใหญ่" ที่มีพื้นที่เป็น "หลักพัน-หลักหมื่นไร่" ว่าสมควรเก็บหรือไม่ รวมทั้ง "โรงงานอุตสาหกรรม" ด้วย?
ซึ่งตามปกติ เขาก็เก็บอยู่แล้วตามกฎหมายน้ำบาดาล
แต่การเก็บค่าน้ำจากเกษตรกรรายย่อย ทั้งรัฐบาลและ กมธ.ไม่มีความคิดนี้
พูดจาหนักแน่นขนาดนี้แล้ว
แต่นายพีระศักดิ์ ยังเกรงชาวบ้านจะวางใจไม่สนิท ถึงขั้นประกาศไปเลยว่า.........
"ขณะนี้ มีการกระจายข่าวทั่วประเทศ ว่ารัฐบาลเสนอกฎหมายเก็บภาษีน้ำจากเกษตรกร
ขอยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้
เพราะไม่มีรัฐบาลไหนอยากเพิ่มภาระให้เกษตรกร มีแต่จะช่วยลดภาระ
ผมขอเอาหัวเป็นประกัน........
ถ้ากฎหมายนี้ออกจาก สนช.แล้วมีการเก็บภาษีน้ำจากเกษตรกร ผมกับครูหยุย (วัลลภ ตังคณานุรักษ์) จะขอลาออกจาก สนช."
ครับ "ครูหยุย" ไปร่วมเวทีด้วยกัน
นอกจากหัวคุณพีระศักดิ์ เลยได้แถมมาอีกหัว เป็นเครื่องบัตรพลีซ้าย-ขวา "ค้ำประกัน"
ว่า "หัวเด็ด-ตีนขาด" สนช.ไม่ผลิตกฎหมายทำร้ายเกษตรกรอันเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศแน่นอน
๙๙.๙๙% สรุปได้ว่า.............
ดรามา เรื่อง "เก็บภาษีน้ำเกษตรกร" ชัดเจน จบ!
เพื่อความแน่ใจอีกครั้ง ..........
วันนี้ (๒ ต.ค.๖๐) คอยฟัง "พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์" สมาชิก สนช.
ในฐานะ "ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ" ท่านแถลงแจงแจกชัดๆ อีกก็ได้
ความจริง กฎหมายฉบับนี้ จะๆ กันมาเป็นสิบปีแล้ว แต่ก็แค่จะๆ ไม่ได้ลงมือทำซักที
มารัฐบาล คสช.นี่แหละ ทุกคนก็เห็นแล้ว บ้านเรา ทั้งแล้ง-ทั้งท่วม-ทั้งขาด-ทั้งเกิน เกิดทุกปี
สงครามแย่งน้ำทำนา สงครามผลักน้ำไปท่วมที่อื่น เห็นเป็นประจำ ถ้าไม่หาทาง "บริหาร-จัดการ" น้ำ
"สงครามน้ำ" จะเกิดเป็น "สงครามสังคม" แน่นอน!
อยากสรุปสาระหลักให้เข้าใจตรงกัน ใน พ.ร.บ.นี้ เขาแยกการใช้น้ำเป็น ๓ ประเภท
๑.ใช้น้ำเพื่อการดำรงชีพ คือประชาชนทั่วไป ไม่ต้องเสียค่าใช้น้ำ
๒.เพื่อธุรกิจการเกษตร, เลี้ยงสัตว์ และเพื่อการพาณิชย์ เสียค่าน้ำอัตราลูกบาศก์เมตรละไม่เกิน ๕๐ สต.
๓.กิจการขนาดใหญ่ สนามกอล์ฟ, โรงไฟฟ้า, นิคมอุตสาหกรรม และธุรกิจขายน้ำดิบเชิงพาณิชย์ จะเก็บค่าน้ำลูกบาศก์เมตรละ ๓ บาท
ประเภท ๑ และ ๓ ไม่เป็นปัญหา เข้าใจกันอยู่แล้ว
ประเด็นปัญหาตรง "ประเภท ๒" ที่ว่า........
"ประกอบธุรกิจการเกษตร, เลี้ยงสัตว์.....เสียค่าน้ำลูกบาศก์เมตรละไม่เกิน ๕๐ สตางค์" นี่แหละ!
เป็นร่างที่ใช้คำ "ทำให้เกิดศรีธนญชัย" ขึ้นมากมาย!
อธิบายก็ยาว ขอบอกว่า เป็นแค่ "หุ่นขึ้นแบบ" เดี๋ยว กรธ.เขาไปตกแต่งขั้นสุดท้ายกันเอง
คือทำให้มีกรอบชัดเจนลงไป แค่ไหนคือการทำเกษตร และแค่ไหนเป็นธุรกิจการเกษตร ขืนใช้คำครอบจักรวาล ตีความกันไม่จบ
หลักสำคัญที่เกษตรกรต้องยึดในเรื่องนี้ คือ.......
เกษตรกรในประเภท ๒ แยกเป็น ๒ ส่วน คือ พื้นที่เกษตรกรรมในเขตชลประทาน และนอกเขตชลประทาน
ใครที่ทำเกษตรในเขตชลประทาน "ไม่เกี่ยวประเภท ๒" ใช้น้ำได้ฟรีเหมือนเดิม มีประมาณ ๑๒๐ ล้านไร่
ที่เหลือเป็น "พื้นที่นอกเขตชลประทาน" นั่นแหละ อยู่ในการใช้น้ำประเภท ๒
แต่ไม่ได้หมายความว่า กฎหมายนี้ออกมาเพื่อเก็บ "ภาษีน้ำ" คนทำเกษตรนอกเขตชลประทานนะ
เขาออกมาเพื่อ "คุ้มครองสิทธิ์" คนทำเกษตรนอกเขตชลประทานต่างหาก!
งงกันละซี....?
คืออย่างนี้ นอกเขตชลประทาน จะเกิดการแย่งน้ำแหล่งธรรมชาติกันประจำ ชาวบ้านที่ทำเกษตรทั่วๆ ไปจะเสียเปรียบ "พวกขาใหญ่"
พวกทำเกษตรเป็นร้อยๆ พันๆ ไร่ ซึ่งนั่นเข้าข่ายธุรกิจ-อุตสาหกรรม
พวกนี้ จะแย่งน้ำชาวบ้านเอาไปใช้ มีหนอง-คลอง-บึง สาธารณะตรงไหน ชาวบ้านแค่ "วัก-ตัก-สูบ" ตามฐานานุรูป
แต่พวกร้อยๆ พันๆ ไร่ เล่นใช้เครื่องกล "ดูด" หรือขุดทางเบี่ยง เอาน้ำส่วนใหญ่ไปใช้เอง
จำได้มั้ยล่ะ คนจีนมาเช่าที่ดินแถวๆ ภาคเหนือปลูกกล้วยหอมเป็นร้อย-เป็นพันไร่
"ดูดน้ำ" จากแหล่งสาธารณะไปใช้เกลี้ยง!
หรืออย่างบึงบอระเพ็ด แทนที่เกษตรกรระดับ "ทำมาหากิน" จะได้ใช้น้ำบ้าง กลับถูกพวก "ธุรกิจการเกษตร" เป็นพญานาคดูดเรียบ
เนี่ย...แบบนี้แหละ.........
พวกธุรกิจการเกษตรที่ใช้น้ำธรรมชาตินอกเขตชลประทาน "ต้องจ่าย" บ้าง เพื่อนำเงินส่วนนี้ไปสร้างสรรค์แหล่งน้ำเพื่อความเป็นธรรมต่อสังคมพื้นที่
พอเข้าใจกันกระมัง?
ทุกอย่างอยู่ในขั้น "ต้นร่าง" อย่าเพิ่งทึกทักจริงจัง ยิ่งเรื่องค่าน้ำด้วย ไม่มีหรอกในตัวกฎหมาย
เป็นเรื่อง ครม.ต้องออกกฎกระทรวงเมื่อกฎหมายใช้แล้ว ตัวเลขต้องผ่านความเห็นชอบคณะกรรมการบริหารทรัพยากรน้ำ ที่นายกฯ ประยุทธ์เป็นประธานก่อน
และที่สำคัญ ก่อนเป็นกฎหมาย ต้องไปถามความเห็นประชาชนในพื้นที่ก่อนว่า "เอาแบบนี้หรือไม่เอา"
จบนะ....
เรื่อง "ปั้นน้ำเป็นตัว"!

ไม่มีความคิดเห็น: