PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2560

การปรองดองกลับมาอีกแล้ว โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

การปรองดองกลับมาอีกแล้ว โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์



เรื่องของความปรองดองกลายเป็นเรื่องที่กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง แม้ว่าความปรองดองรอบนี้จะไม่ได้เป็นเรื่องของความเห็นด้วย หรือขานรับมากนัก จากกรณีของข้อสงสัยที่มีต่อเจ้าตัวตุ๊กตานำโชคที่เรียกว่า “น้องเกี่ยวก้อย”

อธิบายง่ายๆ ก็คือ เรื่องของการปรองดอง ที่เท่ากับ (น้อง/การ) เกี่ยวก้อย นั้นอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด

ฟันธงหรือเรียนตรงๆ ก็คือ “ฐานคติ” ที่เกี่ยวกับความปรองดองของรัฐ หรือคณะทหาร หรือคณะ
รัฐประหารที่มีต่อความปรองดองก็คือเชื่อว่า ฝ่ายต่างๆ ที่สร้างปัญหาให้กับบ้านเมืองนั้น เป็นปัญหาในตัวเอง

คือเป็นพวกที่ไม่ยอม (มีความ) เข้าใจที่ถูกต้องในการอยู่ร่วมกัน

การไม่เข้าใจว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร อาจแบ่งเป็นสี่ด้าน

หนึ่ง คือพวกที่เป็นคนไม่ดี มีผลประโยชน์แอบแฝง

สอง คือพวกที่เชื่อตามคนอื่น ถูกชักจูงได้ง่าย โดยเฉพาะพวกที่ถูกชักจูงในแบบแรก

สาม คือพวกที่มีความเชื่อที่ผิดพลาด แบบที่ใช้สิทธิเสรีภาพเกินขอบเขต

สี่ คือพวกที่ไม่รักชาติบ้านเมือง ขาดจิตสำนึกของความเป็นชาติ

ผมไม่ได้บอกว่าเรื่องทั้งสี่เรื่องนี้ไม่จริง แต่ยังมีอีกด้านหนึ่งที่คนไม่ค่อยพูดกัน

นั่นคือฐานคติของรัฐเองนั้นก็เป็นปัญหา นั่นคือไม่ใช่ผู้ที่สร้างความขัดแย้งคือประชาชนแต่ละฝ่ายเท่านั้น
แต่ตัวรัฐเองที่พยายามสถาปนาตัวเองเป็น “คนกลาง” ก็เป็นปัญหา มีวิธีคิดที่เป็นปัญหา

ความปรองดองนั้นไม่ควรจะถูกคิดง่ายๆ แค่เป็นสิ่งที่ถูกสั่งการลงมาได้

นั่นหมายความว่า ความปรองดองนั้นสั่งไม่ได้จากคนนอก แต่ต้องมาจากความเข้าใจระหว่างกันของแต่ละฝ่ายมากกว่า

ดังนั้นถ้าฝ่ายที่พยายามเดินหน้าปรองดองไม่รู้จักฟังและเข้าใจทั้งสองฝ่าย โอกาสที่จะปรองดองนั้นก็จะยากอยู่สักหน่อย

คนกลางจึงต้องทำตัวให้เป็นกลาง ความเป็นกลางที่สำคัญคือการทำให้ทุกฝ่ายยอมรับอำนาจนำของตนเองจากความเข้าใจ และความเข้าใจไม่ใช่เรื่องของคำสั่ง

ความเข้าใจควรมาจากความสามารถที่จะไปนั่งอยู่ในใจของแต่ละฝ่าย ไม่ใช่การทำให้ฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าฉันเข้าข้างอีกฝ่ายหนึ่งมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง

นอกจากนั้นความปรองดองนั้นอาจไม่ได้มีลักษณะที่เป็นขั้นตอนและเดินไปข้างหน้าอย่างเป็นระบบระเบียบ

แต่อาจมีลักษณะที่หมุนวน มีก้าวหน้า มีถดถอย มีขึ้น มีลง

ความสำคัญของการปรองดองไม่ใช่แค่การยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น และจะเกิดขึ้น (เช่น หมายถึงว่าจะได้รับความยุติธรรมแค่ไหน) แต่หมายถึงการยอมรับในลักษณะของการ “ปลดปล่อย” ทุกข์ที่ตัวเองแบกไว้อย่างยาวนาน

ไม่มีความคิดเห็น: