PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ขัดกันเอง

ขัดกันเอง


กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันน้ำลายแตกฟอง

กรณีที่ประชุม สนช.ลงมติ “ปล่อยผี” ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน ซึ่งมีปัญหาขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญถึง 7 คน ให้ดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบวาระ 9 ปี

อ้างเหตุผลชวนมึนงง เพื่อให้ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่ปราบปรามทุจริตอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดผลสำเร็จในระยะยาว

หากจะมีการสรรหา ป.ป.ช.ใหม่ อาจจะทำให้การปราบคอร์รัปชันชะงักงัน??

จึงเห็นสมควรแก้ไขหลักการให้ประธาน ป.ป.ช. และกรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งครบวาระ 9 ปีเสียก่อน

แล้วจึงเริ่มกระบวนการสรรหา ป.ป.ช.ชุดใหม่ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญต่อไป

“แม่ลูกจันทร์” กราบเรียนว่ามี สนช.ลากตั้งลงมติเห็นชอบให้ประธาน ป.ป.ช.และกรรมการ ป.ป.ช.ที่มีคุณสมบัติขัดต่อรัฐธรรมนูญสามารถต่อวีซ่าไปยาวๆ 9 ปี

โดยมีคะแนนโหวตสนับสนุน 197 เสียง

แต่มีคะแนนโหวตคัดค้านเพียงเสียงเดียว

อย่างไรก็ดี แม้ผลจากการลงมติของที่ประชุม สนช.จะเอื้อประโยชน์ให้กรรมการ ป.ป.ช.ที่มีคุณสมบัติขัดรัฐธรรมนูญทั้ง 7 คนให้ดำรงตำแหน่งต่อไปพร้อมหน้าพร้อมตา

แต่เชื่อว่าเป้าหมายที่ต้องการอุ้มจริงๆ น่าจะอยู่ที่คนคนเดียว...

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช.คนปัจจุบันที่เคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง

ลูกน้องสายตรงของรองนายกฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

เหตุผลที่ต้องอุ้ม “พล.ต.อ.วัชรพล” นั่งเก้าอี้ประธาน ป.ป.ช.ต่อไปยาวๆ คงไม่จำป็นต้องอธิบายให้มากเรื่องมากความ

แต่ประเด็นที่ “แม่ลูกจันทร์” ขออนุญาตแหย็มเพิ่มเติมคือแม้ที่ประชุม สนช.จะเห็นชอบให้ยกเว้นไม่ต้องนำประเด็นคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของกรรมการ ป.ป.ช.ที่กำหนดในร่าง พ.ร.บ. ป.ป.ช.ฉบับใหม่ไปใช้บังคับกับประธานและกรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน

แต่...ยังมีรัฐธรรมนูญอีก 2 มาตรา ยังคาอยู่เป็นก้างขวางคอ

รัฐธรรมนูญมาตรา 202 ที่กำหนดลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการองค์กรอิสระ

และรัฐธรรมนูญมาตรา 212 ที่กำหนดคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.โดยตรง

ถึงแม้เสียงข้างมากของ สนช.ลากตั้งจะลงมติยกเว้นพิเศษให้กรรมการ ปปช.ชุดนี้อยู่ยาวจนครบวาระ 9 ปี
แต่เมื่อรัฐธรรมนูญทั้ง 2 มาตราข้างต้นยังมีผลบังคับใช้ประธาน ป.ป.ช.และกรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 7 คน จึงยังมีคุณสมบัติขัดรัฐธรรมนูญเหมือนเดิม

ดังนั้น การที่ สนช.แก้ไข พ.ร.บ.ป.ป.ช. (ซึ่งเป็น ก.ม.ลูก) ไปขัดแย้งกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ (ซึ่งเป็น ก.ม.แม่) จึงเกิดปัญหาตามมา

สุดท้ายปัญหาคุณสมบัติ ป.ป.ช.คงต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ

แต่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับตีความประเด็นนี้หรือไม่ “แม่ลูกจันทร์” ยังไม่ค่อยแน่ใจ

เพราะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนก็มีปัญหาคุณสมบัติเหมือนกัน

เฮ้อ...เรื่องมันยุ่งตรงนี้แหละโยม.

"แม่ลูกจันทร์"

ไม่มีความคิดเห็น: