PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2561

ผู้เล่นก็ไม่พร้อมลงสนาม

ผู้เล่นก็ไม่พร้อมลงสนาม


อภินิหารทางกฎหมายเสร็จสิ้นไปอีกด่าน

ตามคิวที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติให้ความเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 213 เสียง

เสียง สนช.มาแบบท่วมท้น ไม่มีแตกแถว ไฟเขียวขยายระยะเวลาบังคับใช้กฎหมายลูกดังกล่าวออกไป 90 วัน นับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ยืดเวลาแบบพอหอมปากหอมคอ ไม่บ้าจี้ยื้อยาวไปถึง 120 วัน ให้ถูกด่าหนักขึ้น

และล่าสุดส่อเค้าเป็นลูกติดพัน ขยายผลมาถึง ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ให้ขยายระยะเวลาบังคับใช้กฎหมายออกไปเช่นกัน เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับกฎหมายลูกเลือกตั้ง ส.ส.

แท็กทีมกรุยทางช่วย “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ต่อวีซ่าอำนาจไปอีกอย่างน้อย 3 เดือน

ตรงกับที่ “กูรูกฎหมาย” นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แย้มโปรแกรมหย่อนบัตรเลือกตั้งรอบใหม่ อาจถูกขยับออกไปเป็นช่วงประมาณเดือน ก.พ.2562

หลังจากที่ต้องคอยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องโรดแม็ปเลือกตั้งอยู่เรื่อยๆในทิศทางที่ คสช.ต้องคลายล็อกทีละขั้น ค่อยๆเปิดหน้าไพ่ทีละใบ เพราะไม่รู้จะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นอีกข้างหน้า

นั่นหมายถึงโรดแม็ปใหม่ เลือกตั้งต้นปีหน้าก็ยังไม่ชัวร์จะใช่คำตอบสุดท้ายหรือไม่ ต้องลุ้นกันต่อไปตามสไตล์ประชาธิปไตยแบบไทยนิยม

จะมีตัวแปรอื่น อาทิ สนช.คว่ำกฎหมายลูก การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมาย หรือเงื่อนไขพิเศษที่เหนือความคาดหมาย เขยื้อนตารางเลือกตั้งออกไปอีกหรือไม่

โรดแม็ปคืนประชาธิปไตยยังวุ่นวาย อีนุงตุงนัง ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันสร้างความมั่นใจ ฤกษ์เลือกตั้งของจริงจะเกิดขึ้นเมื่อใด

ภาพลักษณ์ด้านความเชื่อมั่นของผู้นำ คสช.ถดถอย ถูกครหาด้านความน่าเชื่อถือ

แรงปะทะรอบด้านพุ่งใส่ “บิ๊กตู่” หลังคิวเลือกตั้งไม่มาตามนัด เบี้ยวสัญญาที่รับปากไว้

ตามปฏิกิริยาภายนอกประเทศอย่างคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย และโฆษกสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยที่กำลังจับตาจุดยืนเรื่องการเลือกตั้งของไทย

แสดงท่าทีอยากให้ประเทศไทยจัดการเลือกตั้งภายในเดือน พ.ย.2561 ตามกำหนดเดิม เพื่อกลับสู่เวทีประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด

เวทีโลกหันมาทวงสัญญาโรดแม็ปกดดันประเทศไทยอีกครั้ง บีบผู้นำ คสช.ให้ทำงานยากขึ้น

ยังไม่นับรวมแรงเสียดทานในประเทศ ที่พรรคการเมืองใช้จังหวะผสมโรงเขย่ารัฐบาล โจมตีปฏิบัติการ “สมคบคิด” แบ่งบทกันเล่น โดยอาศัยเหลี่ยมกฎหมายยื้อเวลาเพื่อสืบทอดอำนาจ

แต่ในทางตรงข้าม นักเลือกตั้งเองก็แอบโล่งใจไม่น้อยที่ได้อานิสงส์ยื้อเวลาบังคับใช้กฎหมาย 90 วัน
ช่วยให้มีเวลาสำรวจตรวจสอบสถานะสมาชิกพรรค การเลือกเฟ้นผู้สมัครระบบไพรมารีโหวตตามกติกาใหม่อย่างรอบคอบ ไม่ต้องฉุกละหุก รีบแต่งตัวขึ้นสังเวียนโดยที่ยังไม่พร้อม

ที่เห็นออกแอ็กชั่นโหวกเหวกโวยวาย แค่ตีกิน สร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง ดิสเครดิตฝั่งตรงข้าม

อย่างที่เห็นๆ 2 พรรคใหญ่ “เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์” ก็ยังมีร่องรอยความไม่ลงตัวภายในพรรค

ในส่วนพรรคเพื่อไทยยังต้องระทึกชนักปักหลัง มีคดีจ่อขึ้นเขียงมากมาย อาทิ คดีจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง

คดีเข้าชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมโดยมิชอบ

ยังจัดทัพไม่ได้ เพราะทั้งระดับหัวแถว ผู้เล่นแถวสอง แถวสาม ต่างติดร่างแหอยู่ในขั้นตอนพิจารณาคดีของ ป.ป.ช.

ขณะที่ยี่ห้อประชาธิปัตย์ติดปัญหาปลาสองน้ำ มีทั้งกลุ่มที่สนับสนุนและไม่สนับสนุนผู้นำ คสช. แย่งชิงการนำในพรรคกันฝุ่นตลบ

ฝั่งก๊วน กปปส. “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ และทีมงาน มีคดีกบฏและก่อการร้ายติดตัว ต้องลุ้นใจหายใจคว่ำจะรอดวิบากกรรมหรือไม่

ผู้เล่นของฝ่ายการเมืองมีแผลติดตัวกันถ้วนหน้า เจอรุกไล่ล้างกระดาน ในยามที่ คสช.คอนโทรลกลไกอำนาจรัฐและกติกาได้เบ็ดเสร็จ เป็นผู้กุมอำนาจตัวจริง

ถึงเวลาสนามเลือกตั้งเปิดยังไม่รู้จะเหลือรอดมากี่คน!!!

ทีมข่าวการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น: