PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2561

ผ่าเหลี่ยมกฎหมายดึงจังหวะ “ขยับ” โรดแม็ปเลือกตั้ง : หน่วงเวลา หวังผลชัวร์

ผ่าเหลี่ยมกฎหมายดึงจังหวะ “ขยับ” โรดแม็ปเลือกตั้ง : หน่วงเวลา หวังผลชัวร์


อากาศแปรปรวนทั่วโลก กรุงเทพฯต้องเจอกับภาวะขมุกขมัว

เหมือนหมอกควันปกคลุมตลอด 2–3 วัน

ผลจากปรากฏการณ์สภาพอากาศนิ่ง และชั้นอากาศผกผันใกล้พื้นดิน ทำให้มลพิษทางอากาศเกิดการสะสมตัวในปริมาณมาก แนวโน้มเกินมาตรฐาน ถึงขั้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

ทำให้คุณภาพอากาศใน กทม.ที่แย่อยู่แล้ว ยิ่งเลวร้ายไปกันใหญ่
ในขณะที่บรรยากาศทางการเมืองก็ตกอยู่ในภาวะฝุ่นควันตลบอบอวล กับปรากฏการณ์ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ที่มีการปรับแก้มาตรา 2 จากร่างเดิมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้บังคับใช้หลังพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

นั่นหมายถึงเงื่อนไขที่ส่งผลให้โรดแม็ปเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป

จากเดิมที่ “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. ยืนยันระหว่างการเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา จะประกาศกำหนดวันเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน 2561 และทำการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน ปลายปีเดียวกัน

มันจึงต้องนับปฏิทินเวลาเพิ่มไปอีกอย่างน้อย 3 เดือนเป็นอย่างต่ำ

เบื้องต้นเลย ฟังจากเหตุผลอย่างเป็นทางการของคณะกรรมาธิการ สนช.ที่ยืนยันการเลื่อนเวลาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ออกไป 90 วัน เพื่อให้สอดคล้องกับคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 รวมถึงให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่เตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และให้พรรคการเมืองมีเวลามากพอ ในการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งเบื้องต้น หรือไพรมารีโหวต

จัดให้ตามที่นักการเมืองเรียกร้อง กลัวจะเตรียมตัวเลือกตั้งไม่ทัน

ขณะเดียวกัน ก็มีการแจกแจงโดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ที่อธิบายบนเวทีตอบข้อซักถามสื่อมวลชนในงานสื่ออยากรู้ รัฐบาลอยากเล่า ที่ทำเนียบรัฐบาล

โดยยืนยันถึงแม้จะเลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรออกไป 90 วัน ก็จะไม่ได้ไปกระทบกับวันเลือกตั้งยาวนานมากนัก

คงอยู่ในระหว่าง 1 เดือนหรือเดือนเศษเท่านั้น

ถ้าไม่มีเหตุพลิกผัน ภายในเดือนมิถุนายน คสช.ก็จะเชิญหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคการเมือง กกต. คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มาประชุมเพื่อหารือกำหนดโรดแม็ปเลือกตั้งซึ่งจะเป็นโรดแม็ปสุดท้ายของประเทศ และเป็นโรดแม็ปที่ชัดเจนที่สุดว่า พร้อมจะเลือกตั้งเมื่อใด

พร้อมประกาศวันเลือกตั้งให้คนไทยรู้ทั้งประเทศ

ว่ากันตามนี้ มันก็แค่เทคนิคทางกฎหมาย การผ่อนคลายเงื่อนบังคับตามความจำเป็น
ไม่ใช่เรื่องของเหลี่ยมจงใจดึงเกมชัดเจนสักเท่าไหร่

เหนืออื่นใด ก็ยังมีปมเงื่อนเวลาที่ไม่มีใครกำหนดได้ สถานการณ์ที่นายวิษณุได้สั่งการให้กระทรวงวัฒนธรรมเตรียมการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้พร้อม

กระบวนการเปลี่ยนผ่านแผ่นดินยังไม่แล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์ ทำให้การเลือกตั้งยังลงวันเวลาไม่ได้
ตามปัจจัยสถานการณ์นอกเหนือการเมือง

เรื่องของเรื่อง มันก็มีแค่นักการเมือง นักวิชาการ ขบวนการต้านรัฐบาล คสช.เสียเป็นส่วนใหญ่ ที่ส่งเสียงโหวกเหวกโวยวาย อาละวาดฟาดหาง

ตั้งป้อมขวางยุทธการ “สมคบคิด” ยื้อเลือกตั้ง

ดักทาง “นายกฯลุงตู่” และขุมอำนาจ คสช.ส่อเบี้ยวสัญญาประชาคมที่ประกาศไว้

แต่สังเกตว่า ภาคธุรกิจยังนิ่ง นักลงทุนไม่ได้สะดุ้งสะเทือนอะไรกับการเลื่อนเลือกตั้งออกไปตามเงื่อนไขการบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.

เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจภาพรวมกำลังติดลมบน

ส่วนปฏิกิริยาจากต่างประเทศ ท่าทีสหรัฐอเมริกา และชาติในสหภาพยุโรป ก็มีการเทกแอ็กชั่นตามฟอร์มในการเรียกร้องให้ประเทศไทยกลับสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยโดยไว

แต่ก็ยังมีสร้อยทิ้งท้าย เร็วสุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เปิดช่องไว้ให้หายใจ ไม่ได้บีบบังคับกันหน้าดำหน้าเขียว ตามอารมณ์พี่เบิ้ม สหรัฐฯ ชาติตะวันตก ก็เข้าใจบริบทประชาธิปไตยไทยนิยมมากกว่าที่ผ่านมา

ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการประคองผลประโยชน์เกมการเมืองโลกมากกว่า

ส่วนประชาชน ชาวบ้านร้านตลาดทั่วไปก็ไม่ได้หืออือกับการยื้อเลือกตั้ง ฟังจากเสียงคนส่วนใหญ่ยังชอบที่บ้านเมืองสงบภายใต้การบริหารของรัฐบาล คสช. ไม่มีม็อบมาป่วนเมือง ทำมาหากินได้ตามปกติ

ที่สำคัญกำลังได้รับอานิสงส์จากมาตรการอัดฉีด

“แก้จน” ของรัฐบาล
ตามปรากฏการณ์ใส่เกียร์ห้า เดินหน้าเต็มสูบ ล่าสุดที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน

เพื่อบูรณาการขับเคลื่อนการทำงานในระดับพื้นที่ตามแนวทางประชารัฐ

โดยนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธานกรรมการ รองนายกฯทั้งหมดเป็นรองประธาน คณะรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ ทั้งหมด 61 คน

และยังมีการแยกย่อยเป็นคณะกรรมการระดับจังหวัด อำเภอ ไปจนถึงทีมขับเคลื่อนการพัฒนา
ประเทศไทยตามโครงการไทยนิยมยั่งยืนระดับตำบล ที่ให้นายอำเภอทุกอำเภอแต่งตั้งทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน จำนวน 7–12 คน

โดยมีองค์ประกอบคือ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานด้านความมั่นคง ปราชญ์ชาวบ้าน จิตอาสา “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” เป็นชุดปฏิบัติงานในพื้นที่ในการแก้ปัญหาในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงในพื้นที่หมู่บ้าน เป็นชุดปฏิบัติงานในพื้นที่ในการสร้างความตระหนักรู้ถึงบทบาทหน้าที่ของประชาชนในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ปูพรม “ไทยนิยม” ทั่วทุกตารางนิ้วประเทศไทย

เป็นจังหวะต่อเนื่องกับยุทธการ “คิกออฟ” แก้จน ที่ พล.อ.ประยุทธ์และกัปตันทีมเศรษฐกิจอย่างนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ เร่งเครื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ตามโปรแกรมที่ “ลุงตู่” และทีมงานเดินสายตรวจราชการต่างจังหวัดถี่ยิบ แจกเงิน แจกที่ดินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ฝึกทักษะอาชีพระยะยาว

ตั้งเป้าให้ประเทศไทยพ้นขีดเส้นความยากจนให้ได้ในปี 2561

แสดงถึงยุทธศาสตร์ “แก้จน” อย่างเป็นระบบ

ขณะเดียวกันก็แทรกคิวแฝงในการล้างระบบหัวคะแนนของนักการเมือง เคลียร์อิทธิพลของนักเลือกตั้งอาชีพ ลดแรงเสียดทานของกองเชียร์เสื้อสีต่างๆ

ในบทที่ “รัฏฐาธิปัตย์” อย่าง “ลุงตู่” ทำได้เนียนกว่านักการเมืองด้วยซ้ำ

และจุดนี้เอง น่าจะเป็นจุดแปรผัน ทำให้กระแสยื้อเลือกตั้งไม่ได้ทำประชาชนส่วนใหญ่แตกตื่นอะไร

เพราะถึงตรงนี้ เดินตาม “ลุงตู่” ก็ยังชัวร์กว่าไปลุ้นสถานการณ์หลังเลือกตั้ง ที่ยังไม่รู้จะถอยหลังลงเหวอีกหรือไม่ ในเมื่อหัวเชื้อความขัดแย้งยังแฝงอยู่เต็มไปหมด

ทั้งหมดทั้งปวง ผู้นำอำนาจพิเศษไม่ได้ทำตัวเหมือนเผด็จการรุ่นพี่ในอดีต

ตรงกันข้าม มีการทำการบ้านเป็นอย่างดีมาตลอดหลายปี เพราะมีบทเรียนมาแล้วตั้งแต่วิกฤติปี 2549
ตามปรากฏการณ์ปล่อยเลือกตั้งเร็ว โดยที่ไม่ได้มีการเตรียมแผนรองรับ ก็จะได้ผลลัพธ์แบบยุค พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกฯ ที่เปิดไฟเขียวให้ลงสนามแค่ผ่านปีแรกของรัฐบาล ก็เป็นพรรคพลังประชาชนชนะถล่มทลาย ได้นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี

หรือถัดมาก็เป็นยุคที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่โชว์แมนทิ้งเก้าอี้นายกฯก่อนกำหนดเวลา แล้วก็ต้องแพ้ยับเยินให้พรรคเพื่อไทย ได้นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทยคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีประสบการณ์ลงสนามการเมืองแค่ 49 วัน

นี่คือปัญหายาก โจทย์หินของฝ่าย คสช. ฆ่ากระแส “ทักษิณ” ไม่ตายง่ายๆ

ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ การได้ “หน่วง” เวลาออกไป ในจังหวะที่ “ลุงตู่” ก็เดินหน้าตุนแต้ม “รีเทิร์น” อีกรอบ

มันก็ทำให้ผลชัวร์กว่ารีบปล่อยเลือกตั้งแน่นอน.

“ทีมการเมือง”

ไม่มีความคิดเห็น: