PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2561

แย่กว่าเดิม

แย่กว่าเดิม


ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งเป็นกฎหมายลูกฉบับสุดท้องน้องสุดท้ายที่รอคิวประกาศใช้ตามโรดแม็ป คสช.

คาดว่าที่ประชุม สนช.ลากตั้งจะเร่งทำคลอดร่าง ก.ม.ลูกฉบับสุดท้ายให้เสร็จทันเส้นตาย วันที่ 26 มกราคมที่จะถึงนี้แน่นอน

คงไม่มีใบสั่งให้เตะถ่วงอย่างที่หลายฝ่ายหวั่นเกรง

“แม่ลูกจันทร์” ชี้ว่า “ไต๋เด็ด” ของ ร่าง ก.ม.ลูกฉบับนี้คือ กติกาเลือกตั้ง ส.ส.แบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” ซึ่งมีความพิสดารพันลึกยิ่งกว่าการเลือกตั้ง ส.ส.ทุกครั้งในรอบ 84 ปี

นับตั้งแต่มีการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งแรกของประเทศไทยเมื่อปี 2476 เป็นต้นมา

สาระสำคัญ คือ กำหนดให้มี ส.ส.จำนวน 500 คน ลดที่นั่ง ส.ส.เขตจาก 400 คน เหลือ 350 คน และเพิ่มโควตา ส.ส. บัญชีรายชื่อจาก 100 คน เป็น 150 คน

กำหนดให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวเลือก ส.ส.เขตได้เขตละหนึ่งคน

จากนั้นจึงนำคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.เขตทั้งประเทศไปคำนวณสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่ออีกที

แต่ที่พิลึกกึกกือคือ พรรคใดได้ที่นั่ง ส.ส.เขตมาก จะถูกตัดที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคนั้นให้ลดลง

พูดง่ายๆ ยิ่งได้ ส.ส.เขตมากเท่าไหร่ก็จะได้ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อน้อยลงๆ

เพื่อกีดกันไม่ให้มีพรรคการเมืองใดได้ที่นั่ง ส.ส.เกินครึ่งสภาฯ

ถือเป็นกติกาเลือกตั้งที่ขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างสิ้นเชิง

เพราะคะแนนเสียงที่ประชาชนเลือกพรรคหนึ่ง ดันถูกเอาไปบวกให้อีก พรรคหนึ่ง (ซึ่งเขาไม่ต้องการเลือก) ได้โควตา ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มฟรีๆ

ถือว่าเป็นกติกาเลือกตั้ง ส.ส.ที่ห่วยกระตุกอย่างแรง

“แม่ลูกจันทร์” กราบเรียนว่านอกจากกติกาเลือกตั้ง ส.ส.จะออกแบบเพื่อเปิดช่องให้มี “นายกฯคนนอก” ไว้แบบไม่แนบเนียน

ล่าสุด ยังมีการแก้ไข “กติกาการหาเสียง เลือกตั้ง ส.ส.” ที่ย้อนยุคกลับไปอีกหลายสิบปี

คือ ยกเลิกบทบัญญัติที่ห้ามไม่ให้ผู้สมัครเลือกตั้ง ส.ส. จัดให้มีมหรสพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นดนตรีลูกทุ่ง หมอลำ ลิเก ลำตัด หนังตะลุง ฯลฯ เพื่อจูงใจประชาชนให้ไปฟังการปราศรัยหาเสียงของตัวเอง

โดยอ้างเหตุผลที่ยกเลิกข้อห้ามเรื่องนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สมัครเลือกตั้ง ส.ส.สามารถจัดมหรสพการแสดงรื่นเริงต่างๆ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ชาวบ้านตื่นตัวไปฟังการปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งมากกว่าเดิม

อืมม์...เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่เข้าแก๊ปเอาซะเลย

“แม่ลูกจันทร์” ขอคัดค้านการยกเลิกข้อห้ามผู้สมัครจัดดนตรี การแสดงมหรสพเพื่อจูงใจให้ชาวบ้านไปฟังการหาเสียงของตัวเอง

เพราะการจัดมหรสพ ดนตรีลูกทุ่ง ลิเก หมอลำ ฯลฯ เป็นการให้อามิสสินจ้าง ทางอ้อม เพื่อซื้อใจประชาชนหวังผลการ เลือกตั้งโดยตรง

ทำให้ผู้สมัคร ส.ส.ที่มีเงินถุงเงินถัง พรรค การเมืองใหญ่ทุนหนา มีเงินจ้างวงดนตรี หรือ จัดมหรสพให้ชาวบ้านดูฟรีๆ ย่อมได้เปรียบผู้สมัคร ส.ส.ที่เงินน้อยกว่าทุกประตู

เป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.อย่างชัดเจน

แถมยังสวนทางรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ตีปี๊บโฆษณาเป็นรัฐธรรมนูญ “ฉบับปราบโกง”

เพราะเมื่อเปิดช่องให้ทุ่มเงินจ้างมหรสพเพื่อหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. ก็เท่ากับเปิดช่องให้นักการเมืองทุจริตถอนทุน

“แม่ลูกจันทร์” ยํ้าว่า การห้ามผู้สมัครเลือกตั้ง ส.ส. จัดจ้างมหรสพเพื่อจูงใจให้ประชาชนลงคะแนนให้ตัวเอง เป็นบทบัญญัติสำคัญที่มีบังคับใช้มาหลายสิบปี

มีโทษจำคุก แจกใบแดง และตัดสิทธิ เลือกตั้งทีเดียว

น่าแปลกใจที่คณะกรรมาธิการของ สนช.มีมติให้ยกเลิกกฎเหล็กเรื่องนี้ โดยอ้างเหตุผลเชยๆ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนตื่นตัวในการเลือกตั้ง ส.ส.ตามระบอบประชาธิปไตย (ครึ่งใบ)

เออแฮะ...เรื่องแย่ๆตั้งเยอะแยะไม่ยกเลิก กลับไปยกเลิกเรื่องดีๆ

เอาเถอะ...เอาที่พระคุณท่านสบายใจก็แล้วกัน.

“แม่ลูกจันทร์”

ไม่มีความคิดเห็น: