PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2561

เข้าเหลี่ยมได้ตีเนียน

ยังเกิดแรงกระเพื่อมไม่หยุด

คิวอีนุงตุงนังต่อเนื่องของร่างกฎหมายลูกหลายฉบับที่ยังวุ่นวายไม่ลงตัว

ตามซีนล่าสุด ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กลายเป็นเรื่องวุ่นๆถูกครหาแอบลักไก่ลงมติลับ แก้ไขสาระสำคัญให้กฎหมายมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว 90 วัน

ผิดแปลกจากกฎหมายทั่วไปที่มักให้มีผลบังคับใช้วันรุ่งขึ้นถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ถูกตั้งข้อสังเกตจงใจยืดเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกไป กระทบโรดแม็ปเลือกตั้งอาจต้องขยับจากเดือน พ.ย.นี้ ออกไปเป็นต้นปี 2562

เกมยื้อหย่อนบัตรคืนประชาธิปไตยกลับมากระหึ่มหนาหูอีกรอบ

จริงหรือไม่จริงยังไม่รู้ เพราะฝ่ายที่เกี่ยวข้องพากันดาหน้าปฏิเสธมติลับ ซ่อนเงื่อน

ยื้อเวลาเลือกตั้ง

แต่อย่างน้อยก็เริ่มเห็นสัญญาณความผิดปกติในคิวกฎหมายลูกที่มีปัญหาประดังขึ้นมาพร้อมๆกัน

ไม่ใช่แค่คิวร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.ฉบับเดียว ยังมี ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ก็ส่อเค้าวุ่นวายไม่แพ้กัน

เพราะตั้งท่าโละหลักการของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปลี่ยนโมเดลการเลือก ส.ว.ตามเสียงเชียร์ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หลายคนที่ขอแปรญัตติ จากการเลือกไขว้ระหว่างกลุ่มอาชีพเป็นเลือกกันเองในกลุ่มวิชาชีพ และลดกลุ่มอาชีพของผู้สมัคร ส.ว.จาก 20 กลุ่ม เหลือ 15 กลุ่ม

แง้มช่องให้เกิดการฮั้วเลือกสมาชิกสภาสูงมีโอกาสง่ายขึ้น ทลายกลไกเลือกไขว้ที่ กรธ.วางไว้แน่นหนา เพื่อสกัดการบล็อกโหวต

ในคิวที่ กรธ.ออกมาแสดงความเป็นห่วงการเลือกกันเองภายในกลุ่มอาชีพไม่สามารถป้องกันการฮั้วได้
พากันออกตัวล่วงหน้า หากเกิดปัญหาฮั้วเสียงโหวตกันขึ้นมา ห้ามมาโทษ กรธ.

2 กฎหมายลูกสำคัญเกี่ยวกับการเลือกตั้งถูกสร้างเงื่อนไขให้เกิดปัญหาขึ้นมาพร้อมกันช่วงปลายโรดแม็ปที่จะให้เลือกตั้งปลายปี

ต่อเนื่องจาก ร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่ถูก 32 สมาชิก สนช.เข้าชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความบทเฉพาะกาล การต่ออายุให้กรรมการ ป.ป.ช.ที่มีลักษณะต้องห้ามขัดรัฐธรรมนูญได้วีซ่านั่งทำงานต่อไป เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

แม้แต่กฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจาก สนช.ไปแล้ว ก็ยังไม่ราบรื่น มีเรื่องให้ติดๆขัดๆ

ก็เลี่ยงไม่ได้ที่ฝ่ายอำนาจพิเศษจะถูกตั้งคำถามในทำนองมีเจตนายื้อการเลือกตั้ง โดยอาศัยเหลี่ยมข้อกฎหมายมาเป็นเครื่องมือเตะถ่วง

ตามที่มือกฎหมายระดับแนวหน้าของประเทศอย่าง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. และ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประสานเสียงรับลูกการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ออกไป 90 วัน สามารถดำเนินการได้ เพื่อให้มีเวลาเตรียมตัวคลี่คลายปัญหาที่ไม่คาดคิด

ปฏิทินเลือกตั้งปลายปี 2561 ที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เคยการันตีความแน่นอน ไปๆมาๆกลับไม่ชัวร์ขึ้นมาดื้อๆ

ผูกโยงเข้ากับกรณีที่ “บิ๊กตู่” ร่ายจดหมายด้วยลายมือตัวเองส่งถึง ครม. เนื้อหาส่วนหนึ่งเล่าถึงสถานการณ์บ้านเมืองที่ยังมีกลุ่มนักการเมือง และสื่อจ้องโค่นล้มรัฐบาลในช่วงนี้

สอดรับข้อมูลของเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)

ยอมรับพบการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักการเมืองและผู้มีส่วนได้เสียทางการเมืองพยายามล้มกระดานรัฐบาลในช่วงใกล้เลือกตั้ง

สบช่องได้โอกาสตีเนียนลากยาว จากเงื่อนไขทางข้อกฎหมายที่ยังคลุมเครือ และสถานการณ์บ้านเมืองที่ยังไม่เรียบร้อย

แม้ คสช.ยังกุมแต้มต่อ แต่หากเด้งเชือกยื้อเงื่อนเวลาเลือกตั้ง ไม่เดินตามสัญญาที่รับปากไว้ ย่อมเจอแรงเสียดทานจากเวทีทั้งในและนอกประเทศหนักหน่วงขึ้นแน่ๆ

ในภาวะที่ยิ่งอยู่นาน ย่อมแบกรับแรงกดดันมากขึ้น โอกาสเจ็บตัวยิ่งมีมากขึ้นตามไปด้วย

อย่างที่เห็นๆปมเรื่องนาฬิกาหรู โรดแม็ปเลือกตั้งที่เปลี่ยนไปมา หรือเรื่องเศรษฐกิจปากท้องชาวบ้านล้วนมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่น สั่นคลอนศรัทธาประชาชนที่มีต่อรัฐบาล

ยืดเวลาลากยาวไม่ใช่เรื่องยาก แต่ที่ลำบากกว่าคือ จะประคองต้นทุนไม่ให้หดหายได้หรือไม่!!!

ไม่มีความคิดเห็น: