PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ให้เยอะเกิน

ให้เยอะเกิน


โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินอู่ตะเภาแบบไร้รอยต่อ ระยะทาง 260 กม. วงเงินลงทุน 2 แสนล้านบาท
กำลังเป็นเค้กชิ้นใหม่ที่กลุ่มทุนขาใหญ่จ้องสะง่อมกันตาเป็นมัน
เพราะใครที่ได้รับเลือกให้ลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงสายนี้ นอกจากได้รับสัมปทานยาวมากถึง 50 ปี
รัฐบาล คสช.จะยกที่ดินทำเลทองย่านมักกะสันอีก 140 ไร่ให้ไปพัฒนาเชิงธุรกิจ สร้างศูนย์การค้า โรงแรมหรู ศูนย์ประชุมนานาชาติ อาคารสำนักงาน ร้านค้า ปลอดภาษี ฯลฯ อีก 50 ปี
บวกที่ดินไข่แดงศรีราชาอีก 30 ไร่ให้ไปต่อยอดโครงการพัฒนาเชิงพาณิชย์ระยะยาว
แค่นั้นยังไม่จุใจ รัฐบาลยังให้สิทธิ พิเศษพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานี รถไฟความเร็วสูงตลอดเส้นทางอีก 9 สถานี
แถมได้สัมปทานเดินรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์อีก 50 ปี พร้อมสิทธิใช้พื้นที่สถานีรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ (พญาไท-สุวรรณภูมิ) เพื่อพัฒนาหากำไรระยะยาว
“แม่ลูกจันทร์” กราบเรียนว่าไม่เคยเห็นโครงการสัมปทานโครงการไหนได้รับประเคนสิทธิประโยชน์จากรัฐบาลมากเท่าโครงการนี้มาก่อนเลย
ยิ่งกว่านั้น เนื่องจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้ถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก หรือ “อีอีซี” ซึ่งรัฐบาล คสช.ได้เสนอสิทธิประโยชน์ล่อใจอีกมากมายก่ายกอง
ดังนั้น เอกชนผู้ได้รับสัมปทานลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน นอกจากได้สิทธิประโยชน์บานแห้วที่รัฐบาลเสนอให้แล้ว
ยังจะได้รับสิทธิประโยชน์จากโครง การอีอีซีเพิ่มอีกตามกติกา
เช่น...สิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 15 ปี
สิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินอีก 99 ปี
และสิทธิประโยชน์อื่นๆอีกบานตะไท
ดังนั้น ไม่ว่ากลุ่มทุนยักษ์รายใดจะได้สัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินไปครองจากรัฐบาล
ย่อมได้สิทธิประโยชน์ 2 เด้ง โกยกำไรสะดือปลิ้นไปอีก 50 ปีด้วยประการฉะนี้แล
อย่างไรก็ดี “แม่ลูกจันทร์” เห็นด้วยกับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
เพราะจะทำให้การขนส่งผู้โดยสารจากสนามบินสู่สนามบินสะดวกรวดเร็วครบวงจร
แต่ “แม่ลูกจันทร์” ไม่เห็นด้วย...ที่รัฐบาลประเคนสิทธิประโยชน์ให้เอกชนผู้รับสัมปทานมากมโหฬารเกินความจำเป็น
ไม่เห็นด้วย เพราะเหตุผล 3 ประการคือ
1, ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำกับโครงการอื่นๆของรัฐบาลเอง
2, การที่รัฐบาลเวนคืนที่ดินชาวบ้านไปให้เอกชนผู้รับสัมปทานพัฒนาเชิงธุรกิจหากำไรผิดหลักนิติธรรม
3, การกระหน่ำสิทธิประโยชน์ให้เอกชนผู้ลงทุนมากเกินไป ทำให้ผลประโยชน์ ที่รัฐพึงได้...เหลือก้อนเล็กนิดเดียว!!
“แม่ลูกจันทร์” ย้ำว่าจากข้อมูลเบื้องต้น โครงการนี้ รฟท.จะได้ผลตอบแทนจากเอกชนผู้รับสัมปทานประมาณ 1 หมื่นล้านบาทถึง 2 หมื่นล้านบาทในระยะเวลา 50 ปี
ถ้าเอา 50 ปี ไปหารผลตอบแทน 2 หมื่นล้านบาท เท่ากับรัฐจะได้ผลตอบแทนจากเอกชนปีละ 400 ล้านบาทเท่านั้นเอง
ผลตอบแทนปีละ 400 ล้านบาทเทียบกับสิทธิประโยชน์มากมายที่รัฐบาลประเคนให้เอกชนผู้รับสัมปทานยาวถึง 50 ปี
มันคุ้มค่าหรือไม่...ช่วยหาคำตอบให้รัฐบาลกันเถอะโยม??
"แม่ลูกจันทร์"

ไม่มีความคิดเห็น: