PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

‘ลุงกำนัน’ กับ ‘เจ๊หน่อย’

‘ลุงกำนัน’ กับ ‘เจ๊หน่อย’


จากลานอนุสาวรีย์ย่าโม โคราช ที่กว้างจนทำให้มวลชนดูโหรงเหรง ล่าสุดต้องกลับเข้ามาจัดเวทีในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้ภาพดูอุ่นหนาฝาคั่งขึ้นมาบ้าง

สะท้อนถึงการปรับยุทธศาสตร์ของขบวนการ “คนอยากเลือกตั้ง”

ยังไม่สามารถดึงมวลชนใหม่ๆเข้ามาร่วมแจมกับมวลชนหน้าเดิมๆที่หน่วยความมั่นคงฟันธงว่าเป็นกลุ่มคนเสื้อแดง นปช. กองเชียร์ “ทักษิณ” เป็นส่วนใหญ่

สอดรับกับภาพของ “เสี่ยไก่” นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีคนดัง สายตรงดูไบ ที่โผล่มาร่วมแจม
เรื่องของเรื่อง “หัวเชื้อ” ชนวนจุดไฟมันยังเจือจาง

หลังจากที่ “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. ประกาศย้ำความชัดเจน จะไม่มีการคว่ำกฎหมายลูก ทั้งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ

ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และร่าง พ.ร.บ.การได้มาซึ่ง ส.ส. เพื่อยื้อเลือกตั้งออกไป

กุญแจสำคัญของโรดแม็ปมันอยู่ตรงนี้

แม้จะมีปรากฏการณ์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติคว่ำกระดาน 7 กกต.ใหม่ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้การเลือกตั้งเร็วหรือช้า เพราะรัฐธรรมนูญยังกำหนดให้ กกต.ชุดเดิมมีอำนาจเต็มในการทำหน้าที่

และอันที่จริง หากมองในมุมของการยกระดับความชัวร์ เพื่อรองรับการเลือกตั้งใหญ่

“ลุงตู่” เลี่ยงไม่พ้นไฟต์เดิมพัน ก็ต้องไม่ปล่อยให้เสียของ

มันก็เป็นอะไรที่สอดคล้องกัน กับเหตุอ้างอิงเบื้องหลังการติดเบรกที่ว่ากันว่า สนช.ส่วนมากยังไม่เชื่อมั่นผู้ได้รับการเสนอชื่อ กกต.ชุดใหม่ ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของสาธารณชน เป็นอาจารย์ เป็นที่ปรึกษากฎหมายเอกชน และยังไม่เคยแสดงฝีมือการทำงานให้เป็นที่ประจักษ์

ไม่มีหลักประกันจะถูกนักการเมืองเขี้ยวๆเจาะเข้ามาแทรกแซง

ที่สำคัญยังส่อมีปมวุ่นๆในส่วนของผู้ได้รับการเสนอชื่อจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 2 คน ที่ สนช.เกรงว่าจะมีผู้ไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยขั้นตอนการสรรหา อาจจะเกิดความวุ่นวายตามมา

ตามรูปการณ์ถ้าปล่อยผ่านไป น่าจะเสียหายมากกว่า

เอาเป็นว่า กระบวนการสรรหา กกต.ใหม่ไม่ได้มีผลโดยตรงกับการเลือกตั้งเร็วหรือช้า ตามสถานการณ์มันก็แค่ถูกหยิบเอามาเป็นเงื่อนไขตีปี๊บ

บีบ “ลุงตู่” ไม่ให้ลากเกมเกินโรดแม็ปมากเกินไป

เพราะตามเงื่อนสถานการณ์จริงๆการเมืองน่าจะคลายล็อกตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ดีเดย์ที่ คสช.ประกาศให้มีการจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่กับ กกต.

โอกาสได้เห็นความชัดเจนของตัวละครสำคัญทางการเมือง

เบื้องต้น กระแสโฟกัสไปที่ “ลุงกำนัน” นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิ กปปส. ที่ส่อชิ่งจากพรรคประชาธิปัตย์ มาตั้งป้อมค่ายใหม่ในนามพรรคมวลมหาประชาชนฯ

ที่น่าจับตาก็คือ จะมีคนใจถึงแห่ตามไปซักกี่คน

เพราะถึงตรงนี้ อดีต ส.ส.ปักษ์ใต้ยังไม่มีใครแสดงตัวแสดงตนชัดเจน

ตามเหลี่ยมแสบๆแบบที่นายวัชระ เพชรทอง จอมแฉประชาธิปัตย์ ประกาศเบิ้ลบลัฟดักทาง พร้อมอาสาลงสมัครในพื้นที่ภาคใต้แทนคนที่ลาออกไปอยู่กับพรรค กปปส.ของ “ลุงกำนัน”

นั่นก็เพราะภาคใต้ ใครชิ่งประชาธิปัตย์จะ “สอบตก” ให้เห็นมาเยอะ

แต่มาถึงตรงนี้ ถอยหลังไม่ได้แล้ว สถานการณ์บีบให้เดินหน้า อย่างน้อยก็หวังชื่อชั้นของ “ลุงกำนัน”
และยี่ห้อกปปส. น่าจะเจาะคะแนนคนรุ่นใหม่ในเขตเมืองภาคใต้แบ่งกับประชาธิปัตย์ที่ยึดฐานคนรุ่นเก่า
เอาแต้มมารวมกับฝ่ายที่หนุน “ลุงตู่” เบิ้ลเก้าอี้ผู้นำไปสู่การปฏิรูป

ขณะที่อีกฟาก ก็จับสัญญาณความคึกคักที่กระฉอกออกมาจากค่ายเพื่อไทย ตามจังหวะที่ “นายใหญ่” พา “น้องปู” บินโฉบมาเช็กขุมกำลังที่ยังจงรักภักดี

มีแนวคิดการแตกป้อมค่ายรบแบบกองโจรสู้ทหาร

ล่าสุดก็มีปรากฏการณ์ที่ “เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เจ้าแม่เมืองกรุง พรรคเพื่อไทย ชง “พิมพ์เขียว” 3 ข้อ วัดใจ “นายใหญ่” สรุปใจความสั้นๆ ต้องทำสัญญาประชาคมกับประชาชน

ถ้าเลือกพรรคเพื่อไทยแล้วจะไม่ทำให้เกิดความวุ่นวายหรือความขัดแย้งในบ้านเมืองอีก

นั่นหมายถึงการตัดเกมนิรโทษกรรมสุดซอย ใช้มวลชนเสื้อแดงเป็นฐานต่อรองอำนาจ

มันก็คาดการณ์ได้ ข้อเสนอของเจ้าแม่เมืองกรุง หักมุมกับ “ทักษิณ” ที่อิงกับสายฮาร์ดคอร์

ก็มีโอกาสที่ “เจ๊หน่อย” จะต้องแหกค่ายแบบ “ลุงกำนัน”.

ทีมข่าวการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น: